อุตส่าห์กำลังจะมีเลือกตั้ง แต่หลายคนเริ่มหัวใจงงๆ ชาๆ เมื่อได้ยินคีย์เวิร์ดคำว่า “ส.ว. 250 เสียง” ว่า.. อ้าว! ที่จะไปลงคะแนนกันนี้ เสียงที่ได้มากกว่าจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรอกเหรอ
นั่นเป็นเพราะว่า สภาหลังเลือกตั้งครั้งนี้จะแตกต่างกว่าครั้งไหนๆ แม้จะเลือกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 ที่นั่งตามที่ประชาชนลงคะแนนเลือกมา แต่เวลาที่เลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องให้ ‘ส.ว’ จำนวน 250 คนได้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
แล้ว ส.ว. มาจากไหน? คำตอบคือ มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั่นเอง
พอรู้แบบนี้ก็งงยิ่งเข้าไปใหญ่ เพราะแทนที่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งจะโหวตนายกฯ ได้ แต่กลายเป็นว่า ต้องรวมเสียงของ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งอีก 250 คน มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย
นายกฯ คนต่อไปต้องมาจากอย่างน้อย 375 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียงในสองสภารวมกัน ซึ่งทั้ง 750 คนนี้ 500 คนคือ ส.ส. ที่ประชาชนเราเลือกกันเข้าไป ส่วนอีก 250 คือ ส.ว. ที่ คสช. เลือกเข้ามาเอง
ดังนั้น หากจะคาดการณ์ให้ถึงที่สุด แปลว่าตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีฐานเสียงในมืออย่างน้อย 250 แล้ว ดังนั้นการจะเลือก ส.ส. 500 คนเข้าไป เราต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย
แล้วเราปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร? มันน่าสะเทือนใจก็ตรงที่เรื่อง ส.ว. 250 เสียงนั้นถูกแทรกเพิ่มเป็น “คำถามพ่วง” ที่ถามไว้ตอนลงประชามติรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 ที่ถามเราว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ #ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
พออ่านคำถามแล้ว ต่อให้จบดอกเตอร์มาก็ต้องทวนคำถามซ้ำใหม่สามรอบ ทั้งที่ใจความก็มีอยู่ว่า จะยอมให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีด้วยไหม เท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าถ้าถามคำถามที่ฟังดูเข้าใจง่าย คนจะกาเลือก yes มากเท่าที่เป็นหรือเปล่า
แล้วเราทำอย่างไรดี คงต้องบอกว่า คนที่จะได้เป็นนายกฯ แปลว่าต้องมีเสียงโหวตให้ 375 เสียง ซึ่งไม่น่าจะมีพรรคใดไปถึงตัวเลขนั้น นอกจากต้องอาศัยการรวมคะแนนจากหลายๆ พรรค ดังนั้น จะไปลงคะแนนให้พรรคใด อย่าลืมลองคิดเผื่อไปว่า แล้วเสียงนี้จะตกไปอยู่ที่ 375 เสียงฝั่งใดด้วย
Tags: เลือกตั้ง62, FAQเลือกตั้ง62