บรรดาคุณย่าคุณยายหลายท่านคงมีกระเป๋าใบโปรดที่พกไปไหนมาไหนทุกที่ ซึ่งก็เหมือนกับผู้หญิงหลายคนที่ในกระเป๋าใบนั้นเป็นเหมือนดินแดนพิศวง มีสิ่งของมากมายเพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่งสำหรับหลานๆ ที่ยังเป็นวัยอยากรู้อยากเห็นนั้น การได้สืบค้นว่ามีไอเท็มอะไรบ้างในกระเป๋าย่ายาย ยิ่งน่าตื่นเต้นเหมือนล้วงกระเป๋าโดราเอมอน
แต่กระเป๋าของยายอาจเป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าที่คิด เมื่อ ดร.เมแกน มาร์ติน (Meghan Martin) กุมารแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Pediatric ER doctor) ออกมาเตือนเหล่าพ่อแม่ให้ระมัดระวัง ‘Granny’s Purse Syndrome’ หรือ ‘กระเป๋ายายซินโดรม’ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Tiktok แอ็กเคานต์ @Beachgem10 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า โดยมาร์ตินระบุว่า กระเป๋ายายซินโดรมคือการที่เด็กหยิบยารักษาโรคของปู่ย่าตายายมากิน จนเกิดอันตรายต่อร่างกาย
ซึ่งในช่วงเทศกาลที่ครอบครัวได้เดินทางมารวมตัวพบปะกัน ความใกล้ชิดกันของสมาชิกในครอบครัว ประกอบกับความไม่ระมัดระวังที่มากพอของผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้เด็กเล็กๆ หยิบยาของปู่ย่าตายายมากินด้วยความอยากรู้อยากเห็น และได้รับสารพิษจากยาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งสารพัดยามักถูกเก็บอยู่ในกระเป๋า ถูกวางบนชั้นวางต่ำๆ ที่เด็กเอื้อมคว้าได้ หรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เด็กสามารถแกะมาเล่นได้อย่างง่ายดาย
กุมารแพทย์ให้ข้อมูลต่อว่า กระเป๋ายายซินโดรมมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ซึ่งการได้รับสารพิษของเด็กเล็กกว่าร้อยละ 20 มาจากการกินยาของปู่ย่าตายายโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างยาแก้ปวด ยาลดความดันโลหิต หรือยาโรคเบาหวาน
“เนื่องจากขนาดร่างกายของเด็กนั้นเล็กมาก เมื่อเทียบกับขนาดร่างกายของผู้ใหญ่ แม้แต่ยาเม็ดเดียวก็อาจเป็นพิษต่อเด็กได้” มาร์ตินอธิบาย
ทั้งนี้ศูนย์บริการข้อมูลยาพิษและยาเสพติดในลองไอซ์แลนด์ (Long Island Regional Poison and Drug Information Center) ประเทศสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่า อายุเฉลี่ยของเด็กที่ได้รับสารพิษคือ 1 ขวบครึ่ง และส่วนใหญ่เป็นผลมากจากการยาแก้ปวด ยารักษาโรคหัวใจ และยาจิตเวช
ในขณะเดียวกัน ดร. มาร์ยันน์ อามีร์ชาฮี (Maryann Amirshahi) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University School of Medicine) ประเทศสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Parent.com และกล่าวถึงบริบทสังคมอเมริกัน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงที่เด็กจะกินยาของปู่ย่าตายายจนเกิดอันตรายในช่วงเทศกาล
“แม้ว่าพ่อแม่หรือพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกันอาจกินยาที่บ้านให้เด็กเห็นเป็นประจำ แต่สำหรับปู่ย่าตายายมีความเสี่ยงต่อเด็กมากกว่า เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักไม่มีลูกๆ หรือเด็กๆ อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้าน จึงทำให้ไม่ได้เก็บยาให้พ้นมือเด็ก หรือเก็บอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มิดชิด”
ซึ่งหลังจากดร.มาร์ตินได้เผยแพร่คลิปในโซเชียล ก็มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อยากหลากหลายมากถึง 470 ความเห็น อย่างเช่น ‘หลานสาววัย 18 เดือนของฉัน เคยกินยาแก้ปวดของแม่ฉัน มันคือเรื่องที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตฉันเลย’ หรือคุณแม่ที่มาแชร์ว่าตัวเธอตั้งกฎกับลูกๆ ว่า ถ้าเจอยาหล่นอยู่ อย่าไปหยิบมันขึ้น แต่ต้องบอกให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ดูก่อน เพื่อแลกกับเงินสำหรับเอาไปซื้อลูกอม และแม้จะมีบางคนเล่าว่า พ่อแม่สอนตั้งแต่เด็กแล้วว่าอย่ายุ่งกับยาของยาย เพราะมันเป็นอันตราย แต่สำหรับกุมารแพทย์ระบุว่า เด็กเล็กอายุ 12-24 เดือน (1-2 ปี) ยังไม่รู้ความ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจได้ ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง และดูแลอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นวิธีป้องกันอันตรายจากสถานการณ์เด็กเล็กหยิบยามากิน จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรรู้และปฏิบัติ โดยปัจจุบันมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ป้องกันเด็กได้ เมื่อต้องเดินทางไปเยี่ยมลูกหลาน และหากครอบครัวมีเด็กเล็ก อย่าทิ้งยาไว้ในกระเป๋าเดินทาง แต่ควรเก็บยาในที่สูงให้พ้นมือเด็ก แต่ถ้าเป็นยาที่ต้องพกไว้กับตัว ควรระมัดระวังตลอดเวลา ทั้งนี้ลูกๆ ควรคอยดูแล คอยเตือน และกำชับพ่อแม่สูงวัยด้วย
2. อย่าเรียกยาว่า ขนมหรือลูกอม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กกินยาโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะยาเม็ดเล็กๆ ง่ายต่อการหยิบเข้าปากเด็ก จะทำให้เด็กเข้าใจว่าเป็นขนมหรือลูกอมได้
3. หมั่นทำความสะอาดพื้นและโซฟา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มียาหล่นอยู่บนพื้น หรือตามซอกโต๊ะ ซอกโซฟา ซึ่งวิธีการนี้ควรทำเป็นประจำหากมีเด็กเล็กในบ้าน
4. เตือนปู่ย่าตายายเรื่องมาตรการความปลอดภัยในเรื่องยา เพราะเมื่อมีปู่ย่าตายายมาเยี่ยมบ้าน หรือพาลูกหลานไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน ควรอธิบายเรื่องความปลอดภัยในการใช้ยาให้ผู้สูงอายุฟัง เพื่อให้ตระหนักและระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อเด็ก
อย่างไรก็ตาม ยังมีความคิดเห็นใต้คลิปที่น่าสนใจ เช่น อย่าลืมว่านอกจากยารักษาโรคแล้ว ยังมีของอื่นๆ ในกระเป๋าผู้สูงวัยที่เป็นอันตรายอย่างแบตเตอรี่ก้อนเล็กๆ สำหรับเครื่องช่วยฟัง ที่เด็กอาจหยิบเข้าปากได้ รวมไปถึงของอื่นๆ
ในช่วงวันหยุดยาวที่สมาชิกในครอบครัวหลากหลายวัยมารวมตัวกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากกระเป๋ายายซินโดรม วิธีการป้องกันข้างต้นจากกุมารแพทย์จึงเป็นประโยชน์ต่อหลายครอบครัว แต่อย่าลืมว่าสำหรับเด็กเล็กๆ พ่อแม่ควรดูแลลูกไม่ให้คลาดสายตา แม้จะอยู่ในบ้านตัวเองก็ตาม
ที่มา:
– https://www.tiktok.com/@beachgem10/video/7442379847034227999
– https://www.scarymommy.com/parenting/grannys-purse-syndrome
– https://nypost.com/2024/12/04/health/beware-grannys-purse-syndrome-that-could-poison-your-kids/
Tags: Family Tips, Granny's Purse Syndrome, กระเป๋ายายซินโดรม, กระเป๋ายาย, ยารักษาโรค, เด็ก, family