ภาพฝันที่ประเทศไทยจะมี Ministry of Truth แบบในนิยาย 1984 ผลงานของจอร์จ ออร์เวล เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลตั้งศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์มาคอยกำหนดว่า เรื่องไหนจริง เรื่องไหนปลอม 

และล่าสุด หลังสื่อไทยโดนสังคมรุมถล่มจากกรณี live เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ทำให้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  ใช้โอกาสนี้ประกาศว่า “หลังจากนี้คงต้องไปหาวิธีจัดระเบียบสื่อ และควบคุมโซเชียลมีเดีย อาจต้องพิจารณาสื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียว ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการนำเสนอข่าวช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤต”

ไม่เพียงแค่รัฐบาลเท่านั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยเอง ได้แถลง ในที่ประชุมของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจเข้าร่วมด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินนโยบายรัฐบาล ติดตามเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ตลอดจนอาจมีการใช้มาตรการ ‘ตรวจยึดทรัพย์สิน’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐใช้วิธีให้สื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียวผูกขาดการให้ข้อมูลการรายงานข่าวต่างๆ ในช่วงสถานการณ์วิกฤต เราลองย้อนสำรวจถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ว่าเมื่อรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ภายใต้การปฏิบัติงานของรัฐ เป็นผู้ให้ข่าว ให้ข้อมูลจนนำไปสู่ประเด็นที่อาจเรียกได้ว่าเฟคนิวส์ การให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่ที่เกิดแฮชแท็กในสังคมออนไลน์ว่า #รัฐบาลโป๊ะแตก นั้นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาจินตนาการถึงวันที่หากรัฐจะเป็นกลายมาเป็นผู้ผูกขาดข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง การรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตแต่เพียงผู้เดียว 


1. นายกฯ บอก ไม่มีคนไทยในอู่ฮั่นบอกอยากกลับประเทศ 

ช่วงเดือนแรกที่ทั่วโลกค่อยๆ รู้จักฤทธิ์ของโคโรนาไวรัส หรือ โควิท-19 รัฐบาลแต่ละประเทศก็ร่วมมือกันวางมาตรการเพื่อป้องกันโรคระบาดไม่ให้ลุกลาม ไม่ว่าจะเป็น 1) การคุมเข้มการเดินทางข้ามประเทศที่คัดกรองและควบคุมคนจากประเทศจีนซึ่งเป็นต้นทางของโรคเป็นพิเศษ หรือ 2) พาตัวพลเมืองของประเทศตนที่ติดค้างในเมืองอู่ฮั่นกลับประเทศ 

ประเทศไทยโดยวิจารณ์หนักว่า ไม่ว่าจะข้อหนึ่งหรือข้อสอง ไทยก็ดำเนินการแสนช้า 

หนำซ้ำ ในกรณีพาคนไทยจากอู่ฮั่นกลับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาพูดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ว่า ไม่มีคนไทยร้องขอสถานทูตว่าจะขอเดินทางกลับ 

คนที่ตามข่าวก็คงจะเป็นงง เพราะเรื่องนี้สวนทางกับรายงานข่าวของช่อง 3 ที่สัมภาษณ์นักศึกษาแพทย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่นซึ่งเล่าว่า ในกรุ๊ปไลน์คนไทยในอู่ฮั่นที่มีคนไทยอยู่ 67 คน ทุกคนส่งเรื่องร้องขอแล้วว่าจะกลับประเทศไทย และเตรียมตัวส่งโลเคชั่นเพื่อให้ทางการไปรับตัวกันหมดทุกคนแล้ว 

2. ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้รู้ล่วงหน้าหนึ่งวัน ว่าสหรัฐจะสังหารซูไลมานี

บางคนชอบที่ได้เป็นคน ‘วงใน’ เรื่องนี้คงรวมไปถึง ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่บอกว่า เขาได้รู้แผนว่าสหรัฐฯ จะใช้โดรนสังหารพลเอก คาเซม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ของอิหร่าน ก่อนวันที่สหรัฐฯ จะปฏิบัติการล่วงหน้าหนึ่งวัน โดยนายดอนอ้างต่อผู้สื่อข่าวว่า ทางการสหรัฐฯ ประสานมายังไทย 1 วันก่อนปฏิบัติการ

เรื่องนี้ทำเอาคนอ่านข่าวถึงจะอึ้ง ว่าถ้าจริง ก็ไม่น่าจะอยู่ในขนบทางการทูตที่เอาเรื่องสำคัญมาเปิดเผย เพราะอาจถูกมองว่าสมคบคิด ส่วนถ้าเป็นเรื่องเท็จ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะโอ้อวดว่าได้รู้เรื่องนี้ก่อนชาวโลก

เพื่อแก้เกมนี้ บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงต่างประเทศ จึงออกมาชี้แจงภายหลังว่า เรื่องราวนี้เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ยืนยันว่าไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบก่อนแต่อย่างใด 

3. ‘ดีอีเอส’ ประสานเฟซบุ๊ก ปิดการใช้งานผู้ร้ายกราดยิงที่โคราช

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกราดยิงที่โคราช ซึ่งมีการรายงานข่าวว่าคนร้ายใช้การไลฟ์เฟซบุ๊กและติดตามการเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งต่อมามีการปิดการใช้งานของเฟซบุ๊กของคนร้าย โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวว่า ทางกระทรวงได้ประสานงานกับเฟซบุ๊กเพื่อปิดกั้นการใช้งานเฟซบุ๊กของคนร้าย 

แต่หลังจากนั้นทางเฟซบุ๊กได้ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยระบุว่า “เรารับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางการสื่อสารภายในของเราเท่านั้น และได้ปิดเพจของผู้ก่อเหตุในทันที ก่อนที่จะมีการประสานงานกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหลังจากนั้น จึงเรียนมาเพื่อทราบและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านสื่อมวลชนจะพิจารณาในการให้ความร่วมมือเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกต้องดังกล่าว” 

 

4. อนุทิน ‘ย้ำ’ เรือซีบอร์น โอเวชั่น มีกำหนดเทียบท่าไทยอยู่แล้ว 

หลากหลายเรื่องราวในสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัส ที่ทำให้ประชาชนสับสนกับข้อมูลที่เกิดขึ้น หนึ่งในประเด็นที่กลายเป็นที่จับตามองและต้องการหาความจริงก็คือ กรณีของเรือซีบอร์น โอเวชั่น ที่เข้ามาจอดในท่าเรือภูเก็ต ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีแผนมาที่ประเทศไทย และก่อนหน้านี้ก็ถูกปฏิเสธให้เทียบท่าจาก 3 ประเทศ

โดยเรื่องนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่าเรือซีบอร์น โอเวชั่น มีตารางเข้าไทย มีการยืนยันการเทียบเรือ พร้อมข้อมูลผู้โดยสารชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันในทวิตเตอร์กลับผุดแฮชแท็ก #SeabournOvation พร้อมกับ #รัฐบาลโป๊ะแตก ขึ้น พร้อมข้อมูลตารางการเดินเรือซีบอร์นโอเวชั่นเองที่เริ่มต้นจากฮ่องกงและไปจบที่สิงคโปร์ ซึ่งไม่มีประเทศไทยในการเทียบท่าในกำหนดการเดินทางนั้น 

5. โครงการ 30 บาทฯ ไม่สมบูรณ์ รู้! เพราะค้น Google มา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยพูดในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 บอกว่า โครงการ 30 ยังรักษาทุกโรคไม่สมบูรณ์ ซึ่งปรากฏว่า เนื้อหานั้นไม่เป็นความจริง โดยมีการเปิดเผยในภายหลังว่า ข้อมูลที่นายกฯ พูดนั้น ได้มาจากการเสิร์ชกูเกิลด้วยคำว่า ‘ข้อเสียของบัตรทอง’ ซึ่งเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ขายยาและให้คำแนะนำด้านสุขภาพออนไลน์ แต่ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาก่อนว่าถูกต้องหรือไม่

เรื่องนี้ เพจ  ‘Gossipสาสุข’ เคยออกมาชี้แจงว่า ประเด็นต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีนำมาพูดนั้น คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในระหว่างการนั่งสนทนาที่ Asia Society ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21 – 27 กันยายน เกี่ยวกับการใช้กูเกิลหาความรู้ว่า “วันนี้อยากรู้อะไร ก็เปิดดูจากเว็บไซต์ Google อยากรู้เรื่องอะไร ก็กดชื่อท่านเข้าไป และมันก็ออกมา…พวกเรานักบริหารจะเปิด Google เป็นส่วนใหญ่ ประชาชนจะไม่ค่อยเปิด นั่นแหละทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น เพราะเขาไม่เรียนรู้ไง เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง”

6. ประยุทธ์ ไม่เชื่อหน้ากากอนามัยขาดตลาด แนะนำให้ไปซื้อที่โรงงาน

จากกรณีที่มีผู้สื่อข่าวสอบถามนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ขอความคิดเห็นเรื่องหน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งเป็นประเด็นข่าวที่มีการกล่าวถึงในโซเชียลมีเดียพร้อมภาพถ่ายป้ายประกาศของหมดในร้านเกือบทุกร้าน และมีการกักตุนไว้ขายในราคาแพง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า หน้ากากอนามัยไม่ขาดตลาด พร้อมแนะนำให้นักข่าวไปซื้อที่โรงงานซึ่งผลิตได้วันละล้านๆ ชิ้น

ต่อมาทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ได้เดินทางไปหาซื้อหน้ากากอนามัยตามโรงงานตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ถึง 3 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรีและปทุมธานี ก่อนจะได้รับคำตอบว่า ไม่มีสินค้า ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ องค์กรเภสัชฯ ได้เปิดขายหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน ราคาชิ้นละ 1 บาท ตามมาด้วยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลเปิดขายหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนในราคาชิ้นละ 2.50 บาท ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขายและราคาแพง จนมีการยกเลิกการขายในที่สุด 

7. สมองมีอยู่ 84,000 เซลล์ ไม่มีคอมพิวเตอร์ไหนเก่งกว่าสมองเรา

ในวันที่ 16 มกราคม ณ ห้องประชุมคุรุสภา เนื่องในโอกาสวันครู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวโดยมีใจความตอนหนึ่งซึ่งกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมต่อมาว่า “ทุกอย่างมันอยู่ในหัวผม สมองมีอยู่ 84,000 เซลล์ ไม่มีคอมพิวเตอร์ไหนเก่งกว่าสมองเรา ไม่ใช่สมองผมคนเดียว สมองท่านด้วย อย่าให้มันใช้งานไม่ครบ…” 

ต่อมาดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ว่า เซลล์สมอง มีกว่า 1 แสนล้านเซลล์ ไม่ใช่แค่ 8.4 หมื่นเซลล์ โดยสมองมนุษย์ ประกอบด้วยร่างแหของเซลล์ที่เชื่อมโยงกัน และการทำงานร่วมกันของเซลล์เหล่านี้ ทำให้เกิดทั้งความจำ ความคิด และสติสัมปชัญญะ

Tags: , , , , , ,