ประโยคหนึ่งในปาฐกถาโดยเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีชาวสวีเดน กล่าว ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติต่อผู้นำจากหลากหลายประเทศคือ “นิทานก่อนนอนว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไร้ที่สิ้นสุด (fairytales of eternal economic growth)” บางคนถูกปลุกให้ตื่นโดยประโยคดังกล่าว แต่หลายคนย่อมตั้งข้อสงสัยว่าข้อความนี้เป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นเพียงข้อคิดเห็นของเด็กสาวเท่านั้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเปรียบเสมือนดัชนีชี้วัดหลักที่ทั้งผู้นำประเทศ สมาชิกรัฐสภา และประชาชนทุกระดับต่างให้ความสำคัญและให้ความสนใจ จะกลายเป็นเรื่องเล่าที่เปล่ากลวงอย่างนั้นหรือ?

ประเด็นปัญหาของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้น มีการศึกษาอย่างค่อนข้างแพร่หลายพร้อมๆ กับกระแสความกังวลเรื่องผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมจากจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น และการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่กระแสดังกล่าวจะค่อยๆ ก่อรูปร่างเป็นนิยามของ ‘ความยั่งยืน’ ซึ่งเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน เบื่อหรือยังกับคำว่ายั่งยืน?)

หากพิจารณาโดยใช้ตรรกะง่ายๆ ว่าโลกมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรเหล่านั้นก็ย่อมจำกัดเช่นกัน การที่เกรตาจะกล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไร้ที่สิ้นสุดเป็นนิทานก่อนนอน ก็คงฟังดูสมเหตุสมผล แต่หลายคนก็อาจยังไม่ค่อยซื้อความคิดดังกล่าวเท่าไหร่ ถามต่อไปว่ามีการศึกษา หลักฐาน หรือข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้เหตุผลในลักษณะนี้หรือไม่

คำตอบคือมีครับ ซึ่งอาจเริ่มตั้งต้นไปตั้งแต่รายงานฉบับสำคัญที่ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจเติบโตไปอย่างไร้จุดสิ้นสุดจริงๆ หรือ นั่นคือ รายงานเพดานของการเติบโต (The limits to growth) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2515

อะไรคือเพดานของการเติบโต?

รายงานเพดานของการเติบโตเป็นผลการคำนวณจากแบบจำลองการเติบโตชื่อว่า World3 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ 17 ชีวิตในชื่อ Club of Rome พบว่าหากแนวโน้มการเติบโตเป็นเช่นเดิม ประชากรมนุษย์จะเผชิญกับ ‘การลดลงอย่างกะทันหันของจำนวนประชากรและความสามารถในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม’ ในปี พ.ศ. 2615 หรือในหนึ่งศตวรรษหลังจากตีพิมพ์

แต่รายงานดังกล่าวก็ถูกเยาะหยันในช่วงแรกที่ตีพิมพ์ ในฐานะ ‘คำทำนายวันสิ้นโลกที่ไร้แก่นสาร’ แม้ว่าจะมีการจำหน่ายถึง 30 ล้านฉบับและตีพิมพ์มากกว่า 30 ภาษา โดยใช้ข้อมูล เช่น น้ำมันหรือโลหะมีค่า ณ ขณะนั้น แล้วใช้สมมติฐานเรื่องเทคโนโลยี กำลังการผลิต และอัตราการค้นพบแหล่งทรัพยากรแห่งใหม่ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะทำนายอนาคตล่วงหน้าถึง 100 ปี เพราะมีหลากหลายเหตุการณ์ที่ ณ ขณะนั้นยากที่จะคาดถึง เช่น เทคโนโลยีการเจาะแก๊สธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) ซึ่งทำให้มนุษย์เข้าถึงแหล่งพลังงานแห่งใหม่ หรือการมีรถยนต์ไฟฟ้า ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตและปัญญาประดิษฐ์ที่จะเพิ่มศักยภาพการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ให้ก้าวไปไกลมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้เป็น ‘เทคโนโลยีใหม่’ ที่แบบจำลอง ณ ขณะนั้นคาดการณ์ไม่ได้ อันที่จริง เรื่องของการทำนายนั้นอย่าว่าแต่ 100 ปีเลย แค่ปีเดียวก็ยังยากที่จะแม่นยำ และต่อให้แบบจำลอง World3 จะเป็นแบบจำลองที่ซับซ้อนมากแค่ไหน ก็เป็นเพียงภาพอย่างง่ายของโลกแห่งความเป็นจริง แต่หัวใจสำคัญคือแนวคิดที่ว่าการเติบโตไม่ได้เป็นนิรันดร์เพราะโลกมีทรัพยากรจำกัดนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป

หลังจากรายงานเพดานของการเติบโตฉบับแรกเผยแพร่ได้ 30 ปี ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ตีพิมพ์ภาคต่อในชื่อเพดานของการเติบโต: ฉบับปรับปรุง 30 ปี (Limits to Growth: The 30-Year Update) โดยครั้งนี้เสนอภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และปริมาณทรัพยากรที่ถูกใช้เกินขนาด โดยระบุว่าการใช้ทรัพยากร ณ ขณะนั้นทะลุศักยภาพของโลกที่จะเติมกลับให้มีระดับเท่าเดิม โดยในปี พ.ศ. 2542 เราใช้ทรัพยากรเท่ากับโลก 1.2 ใบ คำแนะนำจากรายงานดังกล่าวเน้นการจำกัดการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบและมลภาวะจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจำกัดจำนวนประชากรมนุษย์

เมื่อ พ.ศ. 2554 ดร. กราแฮม เทิร์นเนอ (Dr. Graham Turner) จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ได้รวบรวมข้อมูลสถิติจากหลากหลายแหล่ง เช่น ตัวเลขจากฐานข้อมูลสหประชาชาติ แล้วนำมาพล็อตกราฟเปรียบเทียบกับคำทำนายของรายงานเพดานของการเติบโต สิ่งที่พบนั้นน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อเท็จจริงนั้นคลาดเคลื่อนจากคำทำนายภายใต้สถานการณ์การดำเนินธุรกิจแบบปกติ (business-as-usual) เพียงเล็กน้อย นั่นหมายความว่า เป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่มนุษยชาติกำลังเดินไปบนเส้นทางที่สักวันจะชน ‘เพดานของการเติบโต’ ตามคำทำนาย

กราฟเปรียบเทียบการทำนายโดยรายงานเพดานของการเติบโต (เส้นประ) และงานวิจัยโดย ดร.กราแฮม เทิร์นเนอ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (เส้นทึบ) ประกอบด้วย สถิติเกี่ยวกับประชากร (ซ้าย) สถิติด้านเศรษฐกิจ (กลาง) สถิติด้านสิ่งแวดล้อม (ขวา) ภาพจาก Limits to Growth was right. New research shows we’re nearing collapse

อ่านถึงตรงนี้ ทุกคนคงขมวดคิ้วเพราะนั่นขัดกับความรู้สึกกับหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกก็ดูจะเติบโตได้ราบรื่นแบบมีรอยขีดข่วนนิดหน่อยจากวิกฤติซับไพรม์ หากพิจารณาจากกราฟ กำลังการผลิต ปริมาณอาหาร และจำนวนประชากร ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่เห็นวี่แววของวิกฤติใดๆ ให้ต้องกังวล ส่วนเพดานที่ว่ากันนั้นก็อาจจะไม่มีก็ได้

ไลฟ์สไตล์แบบนี้ ต้องมีโลกกี่ใบ?

เรื่องราวเหล่านี้ฟังดูไกลตัวและเป็นภาษาของ ‘ภาพใหญ่’ จนไม่รู้ว่าปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราจะเอาตัวเองไปวางไว้ตรงไหนของสมการ แต่ไม่ต้องกังวลไปครับ ผู้เขียนมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อคำนวณว่าไลฟ์สไตล์อย่างเราๆ ท่านๆ ใช้ทรัพยากรเกินกว่าที่โลก 1 ใบมีให้หรือไม่

เครือข่ายรอยเท้าโลก (Global Footprint Network) ศึกษาเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินระดับที่โลกสามารถรับได้ กล่าวคือ ใช้แว่นตามองโลกเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ ระบบนิเวศของโลกก็จะสร้างนิเวศบริการ (Ecological Services) ไม่ว่าจะเป็นการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำสะอาด และแหล่งอาหารจากธรรมชาติ เช่น ของป่า และปลาทะเล ซึ่งสร้างจากฐานของทุนธรรมชาติ (Nature Capital) ส่วนการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ เช่น การบริโภคอาหาร พลังงาน รวมถึงการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็เหมือนกับค่าใช้จ่ายของโรงงาน

เมื่อมนุษย์มีการใช้จ่ายมากกว่าที่ธรรมชาติสร้างได้ ผลลัพธ์ที่เคาะจากเครื่องคิดเลขย่อมเป็นตัวแดง นั่นหมายถึงการก่อหนี้ทางนิเวศ (Ecological Debt) ที่มนุษย์จะต้องจ่ายเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรในอนาคตนั่นเอง

วันใช้ทรัพยากรเกินโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1971 จนถึงปัจจุบัน ภาพจาก overshootday.org

เพื่อแปลงแนวคิดดังกล่าวให้ดูจับต้องได้มากขึ้น เครือข่ายรอยเท้าโลกได้ริเริ่มวันใช้ทรัพยากรเกินโลก (Earth Overshoot Day) ที่แตกต่างกันในแต่ละปี เป็นหมุดหมายของวันที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรโลกเทียบเท่าโลก 1 ใบจะรับไหว ส่วนวันที่เหลือนั้นมนุษย์อยู่ได้จากการกู้ยืมทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตของลูกหลานมาใช้นั่นเอง สำหรับปี พ.ศ. 2562 วันใช้ทรัพยากรเกินโลกคือวันที่ 29 กรกฎาคม นับว่าเร็วที่สุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลมา โดยเทียบเท่าได้ว่าหากจะคงการบริโภคในระดับนี้เอาไว้ จำเป็นต้องใช้โลกประมาณ 1.75 ใบ

สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลแบบเฉพาะบุคคล เครือข่ายรอยเท้าโลกก็ได้ทำเครื่องคำนวณคร่าวๆ สำหรับบุคคลว่าไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนจำเป็นต้องใช้โลกกี่ใบ โดยสามารถกรอกข้อมูลเรื่องอาหาร ลักษณะบ้าน การใช้รถยนต์ ฯลฯ เพื่อคำนวณออกมาว่าเราใช้ทรัพยากรมากเกินไปหรือไม่ พร้อมกับคำแนะนำว่าควรจะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไร

ผลลัพธ์จากการคำนวณของผู้เขียนเอง ปรากฎว่าใช้โลกถึง 4.1 ใบ และมีวันใช้ทรัพยากรเกินโลกอยู่ที่ 31 มีนาคม เรียกได้ว่าอยู่ได้ด้วยการก่อหนี้สินล้วนๆ ภาพจาก www.footprintcalculator.org

ขอแบ่งปันแบบไม่รู้สึกเคอะเขินว่า ของผู้เขียนใช้โลกปาไป 4.1 ใบ ซึ่งแน่นอนว่ายังต้องปรับปรุงไลฟ์สไตล์อีกมาก เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเหลือทรัพยากรบนโลกไว้ให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต

แน่นอนครับว่าไม่มีการคำนวณหรือแบบจำลองใดที่ทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ หรือถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่ต้องตั้งคำถาม แต่การศึกษาหลายต่อหลายชิ้นก็ยืนยันคำกล่าวของเกรตาว่า เติบโตทางเศรษฐกิจโดยไร้ที่สิ้นสุดนั้นไม่ต่างจากนิทานก่อนนอน และอาจถึงเวลาที่เราต้องทบทวนว่ายังจะยึดตัวชี้วัดโบราณอย่างจีดีพีเป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนา หรือควรที่จะเปลี่ยนไปสู่ดัชนีชี้วัดที่หลากหลาย ครบถ้วน และตอบโจทย์กับความท้าทายในยุคสมัยที่วิกฤติสิ่งแวดล้อมอาจสำคัญกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

 

Tags: , , ,