ถ้าไม่เดินห้างแล้วจะไปไหนดี? คำถามทำนองนี้ยังมีให้ได้ยินอยู่เป็นระลอก เมื่อพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะหรือพื้นที่ที่เปิดให้คนได้มาใช้สอยร่วมกันนั้นช่างน้อยนิด ใครที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจโชคดีมีทางเลือกมากหน่อย แต่คนที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ หรือเมืองเล็กคงนึกภาพกันแทบไม่ออก
หากเรื่องแบบนี้เกิดกับผู้ใหญ่ บางคนอาจไปโคเวิร์กกิ้งสเปซสักที่ หรือเล่นใหญ่หน่อยก็ออกไปหาพื้นที่เที่ยวอื่นๆ เสียเลย แต่กับเด็กๆ ที่ยังไม่มีรายได้ จะแก้เรื่องนี้อย่างไรดี
ยิ่งกับเด็กวัยมัธยมซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อดูเหมือนทางที่พวกเขาเลือกในแต่ละก้าว จะส่งผลต่ออนาคตข้างหน้า ยิ่งชวนให้สงสัยว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายไปทางไหน
มาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบี บอกกับเราว่า “จากการสำรวจ ปัญหาของเด็กๆ ชุมชนค่อนข้างคล้ายกันทุกพื้นที่ ส่วนใหญ่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำไม่คอยมีเวลาเลี้ยงลูก ทำให้เด็กหากิจกรรมทำเอง สุ่มเสี่ยงที่จะไปข้องเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี และยังมีเด็กจำนวนมากที่ติดเกมใช้เวลาว่างไปกับสิ่งที่อาจไม่เกิดประโยชน์”
“เรามองปัญหานี้เป็นโอกาส ว่าถ้ามีพื้นที่ให้เด็กได้มาเรียนรู้ ได้มาใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกันก็คงจะดี” มาริสาเล่าจุดเริ่มต้นของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดย ทีเอ็มบี ที่ที่พวกเขานิยามว่าอยากให้เป็นสถานที่ที่เด็กมาแล้วได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อที่จะค้นพบศักยภาพในตัวเอง
ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดย ทีเอ็มบี ก่อตั้งแห่งแรกบนถนนประดิพัทธ์ เมื่อปี 2553 โดยมีเป้าหมายเพื่อคืนสิ่งดีๆ ให้สังคมอย่างยั่งยืน บนแนวคิดของการสอนจับปลาแทนการให้ปลา ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปะและทักษะชีวิตให้แก่เด็กๆ ในชุมชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมี 5 ศูนย์ ได้แก่ ประดิพัทธ์, ประชาอุทิศ, จันทน์, บางกอกน้อย และล่าสุดคือศูนย์นี้ คือ สมุทรปราการ ซึ่ง 4 ศูนย์ก่อนหน้านี้ได้ก่อตั้งในกรุงเทพครบ 4 มุมเมืองของกรุงเทพแล้ว
“จึงเป็นที่มาว่าศูนย์ที่ห้า เราอยากทำนอกกรุงเทพฯ บ้าง แล้วจะที่ไหนดี ผู้บริหารก็ให้แนวคิดว่าน่าจะไปที่ปริมณฑลก่อน เพราะว่าอาสาสมัครและทีมงานสามารถดูแลได้ทั่วถึง จนมาลงตัวที่ปากน้ำ จ.สมุทปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งความต้องการในการใช้พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์เด็กๆ ในชุมชน รวมถึงการเดินทางที่สะดวกกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” มาริสาเล่า
ส่วนเด็กที่จะเข้ามาเรียนที่ศูนย์นี้ได้ จะมีเกณฑ์อายุ 12-17 ปี และอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ครัวเรือนไม่มากนัก โดยในกระบวนการคัดเลือก นอกจากจะมีการสัมภาษณ์เด็กแล้ว ยังมีการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ไปพร้อมๆ กับการอธิบายสร้างความเข้าใจถึงโครงการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ด้วย
“เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า มีแนวคิดอย่างไร โดยให้เขามาเห็นสถานที่จริงว่าสถานที่แห่งนี้จะช่วยปลูกฝังทักษะอะไรบ้างให้แก่ลูกหลานของคนในชุมชน นอกจากเด็กๆ จะเป็นผู้รับแล้วที่แห่งนี้จะปลูกฝังและฝึกให้เด็กๆ ได้เป็นผู้ให้อีกด้วย”
ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล ที่ปรึกษาโครงการไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ ผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบหลักสูตรเล่าว่า “ในช่วงแรก มีทีมวิจัยสำรวจว่าเด็กอยากเรียนอะไร นอกเหนือจากวิชาในห้องเรียน โดยวิชาเหล่านั้นต้องผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต จึงออกมาเป็นวิชาพื้นฐานของทุกศูนย์ คือ วิชาศิลปะ เทควันโด มวยไทย เต้น ร้องเพลง กีตาร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาเด่นของแต่ละศูนย์ จะจัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการของคนในพื้นที่ของแต่ละศูนย์ หากเด็กเรียนจบมาแล้วไม่มีโอกาสเรียนต่อ ต้องไปทำงาน เขาจะไปทำอะไรได้บ้าง อย่างที่ประดิพัทธ์ เกิดจากการพูดคุยกันว่าย่านนี้เป็นจุดศูนย์รวมของอาหาร เด็กในชุมชนส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กที่พ่อแม่ขายอาหารหรือเป็นลูกจ้าง จึงเลือกวิชาเด่นเป็นเรื่องการทำครัวและเบเกอรี่ เพื่อให้เขาสามารถทำเป็นอาชีพได้ในอนาคต”
“ที่ประชาอุทิศก็มีวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น เพราะย่านนั้นเป็นย่านของโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ แถวถนนจันทน์ เราก็จะเห็นว่าเด็กจะแต่งตัวจัดกว่าเด็กย่านอื่น มีความเป็นแฟชั่นนิสต้าสูงกว่า ประกอบกับได้เจอเด็กบางคนที่ทำเรื่องคอสเพลย์ เราก็เลยตัดสินใจเปิดวิชาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่นที่นั่น ส่วนบางกอกน้อย จุดเด่นคือธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองเก่า เลยมีวิชาการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนยั่งยืนเกิดขึ้น”
“และสำหรับที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า สมุทรปราการ เราจะไม่ศึกษาบริบทของชุมชนอย่างเดียว แต่เริ่มหันมาสนใจศึกษาองค์รวมด้วย เราดูว่าเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้เขาสนใจอะไร เราก็เห็นว่า เด็กยุคใหม่สนใจเรื่องของการมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจนมากขึ้น แล้วก็ใช้เทคโนโลยีได้เก่ง เราเลยคิดว่าที่นี่เราจะเปิดวิชาที่ทำให้เขาสามารถเอาอัตลักษณ์ออกมาโชว์ให้คนอื่นเห็น เพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง ผ่านการใช้สื่อดิจิทัล ที่ปกติเขาอาจใช้ในทางที่ไม่ดี” ศักดิ์ชัยเล่าถึงที่มาของวิชาสื่อสารสร้างสรรค์ ที่เป็นวิชาเด่นของศูนย์สมุทรปราการ
ทั้งนี้ ถ้าถามถึงหัวใจของการเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ศักดิ์ชัยตอบว่า “การสอนเป็นแค่วิธีการอย่างหนึ่ง แต่เป้าหมายหลัก คือ การจุดประกายให้เด็กๆ เกิดพลังผลักดันที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนามุมมองชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ไปจนถึงการนำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ไปพัฒนาชุมชนและสังคมรอบข้างให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
“ผมรู้สึกว่าเด็กวัยรุ่น เขาต้องการหาสังคม มันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เขากำลังจะเปลี่ยนผ่านวัย คนทุกคนวันนี้เริ่มขาดทักษะในการมี human touch ร่วมกัน ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า จะทำสิ่งนั้นให้กับเด็กๆ นั่นคือการมีสังคมใหม่ การมาอยู่ที่นี่เขาจะเริ่มเห็นมุมมองใหม่ เขาก็จะมีที่ทางของตัวเองได้ เป็นการเกิดสังคมใหม่ๆ ขึ้นที่นี่” ศักดิ์ชัยย้ำและบอกว่า การที่เด็กๆ ได้มาเจอครู ได้เห็นวิธีการที่ครูดูแลเพื่อน หรือเพื่อนดูแลเพื่อน จะทำให้เขาได้รู้จักการให้ การเสียสละ และรู้จักการใช้ชีวิตที่แท้จริงในสังคม
นอกจากการสำรวจบริบทชุมชนและบริบทของวัยรุ่นแล้ว ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ยังมีการเอาบริบทของสังคมเข้ามาด้วย ที่ปรึกษาด้านการออกแบบหลักสูตรอย่างศักดิ์ชัย เล่าว่า “นอกจากการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตและรู้จักใช้พลังอย่างสร้างสรรค์ ยังต้องมีการส่งต่อ หรือที่เรียกว่า Pay It Forward โดยเด็กจะต้องลงไปทำงานกับชุมชนเป็นเวลา 1-3 เดือน โดยมีโจทย์ว่า ต้องทำงานเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้น”
“เราไม่ได้สอนให้เด็กต้องเก่ง แต่สอนให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตในแบบของตัวเองอย่างมีความสุข ใช้พลังอย่างสร้างสรรค์ เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันชุมชนและสังคมไนทิศทางที่ดี”
“ที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เราเปิดโอกาสให้กับเด็กชุมชนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า เป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้เด็กๆ เหล่านี้ได้เจอสังคมใหม่ๆ สร้างความภูมิใจในตัวเอง สร้างการยอมรับให้กับคนรอบข้างและเติมเต็มจิตใจเขาด้วยการเป็น “ผู้ให้”
ฉะนั้น สิ่งที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า อยากบอกและสะท้อนแนวคิดให้กับคนในสังคม คือ ที่นี่เราไม่ได้ต้องการสร้าง เด็กที่เก่งที่สุด หรือต้องได้ที่ 1 แต่เราต้องการเตรียมความพร้อมทั้งความรู้และจิตใจ ให้เด็กคนนึงได้รับการยอมรับและได้มีโอกาสใช้ชีวิตแบบเด็กธรรมดาๆ คนนึง เพราะเราเชื่อว่า “การเป็นเด็กธรรมดา คือสิ่งที่สวยงาม” มาริสากล่าวสรุป
Fact Box
ศูนย์เรียนรู้ ไฟ-ฟ้า เปิดทำการ วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 11.00 -19.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.30-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.tmbfoundation.or.th