ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา พื้นที่กรุงเทพมหานครกลับมาอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัยอีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการวางระเบิดในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานความมั่นคง และย่านเศรษฐกิจ รวมถึงอีกหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแม้จะไม่พบการก่อเหตุร้ายก็ตาม

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ การทำความเข้าใจสถานการณ์และรับรู้ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด เพื่อให้ความวิตกกังวลได้คลายตัวลง และเพื่อได้ทบทวนความเป็นไปได้ในที่มาที่ไปของเหตุอุกอาจกลางเมืองหลวง

จาก 15 เหตุด่วน พบระเบิด 7 แห่ง มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย

นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ถึง วันที่ 3 สิงหาคม 2562 มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดและสถานที่ที่มีวัตถุต้องสงสัย รวมกันอย่างน้อย 15 แห่ง ดังนี้

ระเบิดปลอม

1 สิงหาคม 2562 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 พบวัตถุมีลักษณะเป็นกล่องมันฝรั่ง 2 กล่อง ภายในมีวัตถุคล้ายแผงวงจรไฟฟ้าและตลับลูกปืน แต่ไม่มีดินระเบิด จึงไม่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดได้

วัตถุต้องสงสัย

2 สิงหาคม 2562 เวลา 12.08 น. พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณบีทีเอสศาลาแดง ต่อมาเจ้าหน้าที่พบว่าเป็นแค่กล่องเปล่า

2 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น. พบวัตถุต้องสงสัยแอร์พอร์ตลิงค์ หัวหมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่พบว่าไม่ใช่ระเบิด

2 สิงหาคม 2562 เวลา 15.30 น. บริเวณท่าเรือยอดพิมาน พบกระเป๋าต้องสงสัย แต่สุดท้ายชาวต่างชาติออกมารับแล้วว่ากระเป๋าเป็นของตน และสัมภาระภายในมีเพียงสายชาร์จโทรศัพท์ และของเล่นเด็ก

2 สิงหาคม 2562 เวลา 16.47 น. บริเวณป้ายรถเมล์ ถนนพหลโยธินขาออก ตรงข้ามโรงแรมมารวย เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกระเป๋าสัมภาระสีดำ ก่อนตรวจพบในเวลาต่อมาว่าข้างในมีเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น

2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 18.18 น. บริเวณสวนจตุจักร ประตูที่ 28 ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร พบวัตถุต้องสงสัย เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ

2 สิงหาคม 2562 เวลา 18.30 น. หน้าศูนย์การค้าเซนทรัลเวิลด์ ตรงข้ามโรงพยาบาลตำรวจ พบวัตถุต้องสงสัยแขวนไว้กับจักรยาน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ

3 สิงหาคม 2562 พบวัตถุต้องสงสัย บริเวณกำแพงบ้าน ภายในซอยรัชดา 32 ตรงข้ามศาลอาญา จากการตรวจสอบพบเป็นขวดน้ำพันเทปสีดำ

ไฟไหม้

2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 04.45 น. กล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุคล้ายระเบิด มีเปลวเพลิงวาบขึ้นในร้าน Miniso ภายในศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน

2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 5.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้พร้อมกัน 3 จุด บริเวณสถานีดับเพลิงพญาไท(ประตูน้ำ) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ซอยเพชรบุรี และตลาดเฉลิมลาภ ต่อมามีการรายงานข่าวว่า พบชิ้นส่วนระเบิดเพลิง

ระเบิดแสวงเครื่อง

2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 08.36 น. มีเสียงระเบิดสองครั้งบริเวณบีทีเอสช่องนนทรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตึกมหานครบาดเจ็บ รถยนต์บริเวณใกล้เคียงเสียหายและกระจกรถไฟฟ้าบีทีเอสแตกร้าวไปทั้งบาน PPTV รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบกระติกน้ำสีฟ้าและแดง ซึ่งเป็นวัตถุต้องสงสัย คาดว่าน่าจะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง

2 สิงหาคม 2562 เวลา 08.50 น. เกิดเหตุระเบิดภายในถนนพระราม 9 ซอย 57/1 ได้รับบาดเจ็บสอง คน เบื้องต้นพบว่าระเบิดมีลักษณะคล้ายระเบิดปิงปอง ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้น ยังพบปืนปากกาหนึ่งกระบอก และมีดอีกสองเล่ม

2 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. เกิดเหตุการณ์ระเบิดทั้งหมด 4 ครั้ง ในอาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยระเบิด 3 ครั้ง และเก็บกู้ได้ 1 ครั้ง เป็นระเบิดแสวงเครื่องทั้งหมด

  • บริเวณสวนหย่อมอาคารบี 1 ลูก ระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย
  • สวนหย่อม ฝั่งอาคาร กกต. 1 ลูก ระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย
  • บริเวณสระน้ำหน้ากองบัญชาการกองทัพไทย1 ลูก เป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย

2 สิงหาคม 2562 เกิดเหตุระเบิดบริเวณริมถนนป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1 ลูก เป็นระเบิดแสวงเครื่อง ความแรงของระเบิดทำให้พื้นดินบริเวณนั้นยุบตัวเป็นหลุมกว้าง 1 เมตร ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานบอกว่าเป็นเพียงสปอตไลต์แตกเท่านั้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเดินทางมาถึง และพบชิ้นส่วนลูกปราย จึงสันนิษฐานว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง

 

เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ก่อนการระเบิด

2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 9.00 น. เกิดระเบิดขึ้นที่ริมถนนฝั่งตรงข้ามศูนย์บัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก

จากข้อมูลเหตุด่วนที่เกิดขึ้น พบว่า ในพื้นที่ 15 แห่ง พบวัตถุระเบิดใน 7 พื้นที่ มีความเชื่อมโยงกันอย่างน้อย 6 แห่ง โดยแบ่งเป็น ระเบิดแสวงเครื่อง 4 แห่ง คาดว่าเป็นระเบิดเพลิง 2 แห่ง ส่วนระเบิดอีก 1 แห่ง ที่พบบริเวณพระราม 9 มีลักษณะแตกต่าง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 4 แถลงในเวลาต่อมาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักเรียนช่างกลในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า

นอกจากนี้ ในเหตุระเบิดพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย โดย 3 ราย บาดเจ็บจากเหตุระเบิดบริเวณซอยพระราม 9 แยก 57/1 ส่วนอีก 1 คน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี 

“ส่งสัญญาณทางการเมือง” ความเป็นไปได้จากลักษณะการก่อเหตุ

หลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างน้อย 2-3 จุด รวมทั้งกรณีคนร้ายนำวัตถุต้องสงสัยมาซุกไว้ที่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมาก็มีความเชื่อมโยงกัน ยกเว้นเหตุระเบิดที่ถนนพระราม 9 ซอย 57/1 ท้องที่ สน.หัวหมาก อย่างไรก็ตามต้องรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ 

ด้าน รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความคิดเห็นต่อกรณีระเบิดดังกล่าวว่า รูปแบบการก่อเหตุ มีความสอดคล้องกับรูปแบบที่ผ่านมาในภาคใต้ คือ เป็นการก่อเหตุแบบหลายจุดในเวลาไล่เลี่ยกัน, เป็นการก่อเหตุที่ไม่ได้มุ่งผลทำลายชีวิต แต่ต้องการให้เกิดผลทางการเมืองมากกว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาล และเป้าหมายของการโจมตีคือฐานทางเศรษฐกิจ สัญลักษณ์ของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

รุ่งรวี วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุดังกล่าวอาจจะเป็นการตอบโต้กรณีที่ผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบมีอาการสมองบวม หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเพียงหนึ่งวัน ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าอาจถูกซ้อมทรมานในระหว่างนั้น และวันที่เกิดเหตุยังตรงกับการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมพหุภาคีที่เกี่ยวข้อง มีผู้นำจากประเทศมหาอำนาจทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ มาร่วมประชุมด้วย ดังนั้นการก่อเห็นจะช่วยดึงความสนใจทางนานาชาติและสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบให้กับรัฐบาลไทยไปพร้อมๆ กัน

ด้าน กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภัยก่อการร้ายและนักศึกษาปริญญาโทด้านการก่อการร้ายและการเมืองระหว่างประเทศ วิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยเช่นกันว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional – BRN) ในภาคใต้ เนื่องจาก รูปแบบเหตุการณ์มีความคล้ายกับเหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนกลางและตอนบน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการสร้างสถานการณ์โดยฝ่ายรัฐเอง เพราะมองว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากเหตุการณ์นี้คือรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต้องการกุมอำนาจในมือให้เข้มข้นรัดกุมขึ้น และเปิดทางให้มีการใช้อำนาจพิเศษคุมสถานการณ์

จับกุม-สอบสวนแบบปิดลับ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา มีรายงานการจับกุมผู้ต้องสงสัยสองรายซึ่งเป็นชาวจังหวัดนราธิวาส และต้องสงสัยว่านำระเบิดไปวางใต้ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคมและเชื่อมโยงกับการก่อเหตุในวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมาอีกด้วย

ทั้งนี้ มีการสอบปากคำผู้ต้องสงสัยชาย 2 คน ที่ศูนย์สืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เดินทางมาสอบปากคำด้วยตนเอง แต่ทั้งสองยังให้การปฏิเสธ อีกทั้ง เมื่อญาติของผู้ต้องสงสัยทั้งสองคนเดินทางมาเพื่อขอเยี่ยม แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ให้เข้าพบ และไม่มีรายงานว่ามีทนายความเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าว

ด้านญาติของผู้ต้องสงสัย ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ต้องสงสัยไม่น่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เนื่องจากเป็นครูประจำพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่มีความคุ้นต่อสถานที่พอจะกระทำความผิดได้ 

นอกจากนี้ ญาติผู้ต้องสงสัยยังเปิดเผยอีกว่า สิ่งที่กลัวมากที่สุดตอนนี้คือ กลัวเขาจะถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ พร้อมทั้งขอเรียกร้องหน่วยงานทุกหน่วยงานช่วยกันคุ้มครองสิทธิของเขาด้วย เพราะเขายังไม่ใช่ผู้ต้องหา เขาเป็นแค่ผู้ต้องสงสัย

ต่อมามีการเผยแพร่ข้อมูลโดย สุนัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมเปิดเผยแล้วว่าผู้ต้องสงสัยถูกจับภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกสอบสวนที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า จ.ยะลา (ศปก.ตร.ส่วนหน้า จ.ยะลา) 

โดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน แต่ต้องควบคุมตัวในสถานที่ทางการที่เปิดเผย อีกทั้ง การที่เจ้าหน้าจะควบคุมตัวต่อ จะต้องไปขอศาล ครั้งหนึ่งไม่เกิด 7 วัน และคุมตัวต่อเนื่องได้สูงสุด 30 วัน

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตว่า การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนเกิดขึ้นที่ไหน เนื่องจาก หากทั้งสองคนถูกควบคุมตัวที่บช.น. แต่แรก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องพาตัวมาขออำนาจศาลในการฝากขัง แต่กรณีดังกล่าว หากนับตั้งแต่เวลา 2.00 น. ของวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมาก็เกินเวลา 48 ชั่วโมงแล้ว แต่ผู้ต้องสงสัยยังไม่ปรากฎตัว

ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลว่าทั้งสองคนถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศปก.ตร.ส่วนหน้า จ.ยะลา ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่มีการยืนยันว่า ถูกควบคุมอยู่ตั้งแต่แรก หรือถูกส่งตัวไปจากกรุงเทพ เพื่อขอควบคุมตัวต่อเป็นการพิเศษ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้อธิบายต่อสาธารณะแต่อย่างใด

‘จับแพะ-ซ้อมผู้ต้องหา-คดีไม่คืบหน้า” บทเรียนการไขคดีระเบิดของไทย

นับตั้งแต่ ปี 2557 ถึง 2562 ภายใต้การดูแลความสงบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก่อนจะเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็นรัฐบาลคสช. สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้ง มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเฉพาะในกรุงเทพ อย่างน้อย 13 ครั้ง 

โดยครั้งที่สะเทือนขวัญมากที่สุด คือ เหตุระเบิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่มีมีผู้เสียชีวิต 20 คน ผู้บาดเจ็บ 163 คน ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุม ‘อาเดม คาราดัก’ หรือ บิลาล มูฮัมหมัด และตามมาด้วยการจับกุม ‘ยูซูฟู เมียไรลี’ ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ ก่อนจะถูกพาตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษในค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 

ในตอนแรก ทั้งสองคนให้การรับสารภาพ ก่อนจะกลับคำไม่รับสารภาพและนำไปสู่การเปิดเผยครั้งใหญ่ว่า อาเดมถูกซ้อมทรมาน เช่น การกรอกน้ำเย็นใส่จมูก การปิดตา และใช้สุนัขทหารมาเห่ากรรโชกใส่ในระยะประชิด ทั้งเจ้าหน้าที่ยังข่มขู่อาเดมให้รับสารภาพ มิเช่นนั้นจะส่งตัวกลับประเทศจีน แต่การสอบสวนเรื่องการซ้อมทรมานกลับไม่มีความชัดเจนและคืบหน้า

ปัจจุบัน อาเดม และ ยูซูฟู ยังอยู่ในเรือนจำ และต้องต่อสู้คดีอยู่ในศาลทหารมานานกว่า 3 ปี แต่การต่อสู้คดีก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ด้วยจำนวนพยานกว่า 487 ปาก และกระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหาร และความยากลำบากในการแปลภาษา ทำให้มีการสืบพยานไปได้แค่ 8 ปาก และกว่าความจริงจะปรากฏต้องใช้เวลาถึงปี 2565 

อีกคดีที่น่าสนใจ คือ การกวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงกว่า 40 คน ก่อนจะดำเนินคดีกับนักศึกษาและชาวมุสลิมจำนวน 14 ราย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “คดีระเบิดน้ำบูดู”

ในคดีนี้ มีการจับกุมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ จำเลยในคดีนี้ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และหลักฐานสำคัญเป็นเพียงคำรับสารภาพและซัดทอดจากจำเลยคนที่หนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ทนายความของคดีดังกล่าวระบุว่า ในการรับสารภาพ จำเลยอ้างถูกช็อตไฟฟ้า บู๊ททุบหลัง ปืนจ่อหัว แม็กยิงขา ฯลฯ ในค่ายทหาร

อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีการลงโทษจำคุกผู้ต้องหา 9 คน และยกฟ้อง 5 คน โดยมีข้อสังเกตว่า ศาลให้น้ำหนักกับคำให้การซัดทอดของจำเลย แม้ว่าคดีดังกล่าวจะไม่มีประจักษ์พยานที่ชัดแจ้ง ในขณะเดียวกัน ศาลรับฟังคำให้การของจำเลยโดยมองข้ามเรื่องการทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวน พร้อมอ้างเหตุว่าไม่มีหลักฐานอื่นใดมาชี้ชัดว่าจำเลยถูกทำร้ายจริง

จะเห็นได้ว่า ทิศทางการไขคดีในอดีตที่ผ่านมาของรัฐไทยมีความน่ากังวลอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ‘ข้อครหา’ เกี่ยวกับการ ‘ซ้อมทรมาน’ เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจควบคุมตัวเป็นระยะเวลานาน และไม่มีโอกาสให้ญาติหรือทนายความได้เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีผู้บริสุทธิ์โดนจับกุมและไม่มีสิทธิในการประกันตัว ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐดูจะนิ่งเฉยและลอยนวลกับการกระทำดังกล่าว โดยไม่มีการถอดบทเรียนปัญหาเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

ที่มาภาพ: REUTERS / Soe Zeya Tun

Tags: , , ,