ท่ามกลางความกังวล หลังพบวัตถุต้องสงสัยและระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งเล่าผ่านสเตตัสว่า เธอโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงที่สถานีจตุจักร ขณะผู้คนกำลังเดินไปตามทางเดิน ทันใดนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งก็วิ่งผ่านเธอและคนอื่นๆ ไป เมื่อเห็นดังนั้น ทุกคนต่างเร่งวิ่งตามกันไป เพราะคิดว่าอาจเกิดเหตุร้ายแรง

ก่อนที่เธอคนนั้นจะหันมาและพูดว่า “ไม่มีอะไรค่ะทุกคน นัดแฟนไว้ เลทมากแล้ว เดี๋ยวแฟนด่า” เรื่องราวจบด้วยเสียงหัวเราะของทุกคนในเหตุการณ์ เป็นอุปทานหมู่ให้นำมาเล่าสนุกปากกับเพื่อนและแบ่งปันเฮฮาในโลกโซเชียลเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นหลายแห่ง บริเวณป้ายรถเมล์ ถนนพหลโยธินขาออก ตรงข้ามโรงแรมมารวย เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าตรวจพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกระเป๋าสัมภาระสีดำ ก่อนตรวจพบในเวลาต่อมาว่า ข้างในมีเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น เช่นเดียวกับบริเวณท่าเรือยอดพิมาน ซึ่งสุดท้ายมีชาวต่างชาติออกมารับแล้วว่าเป็นของตน และสัมภาระภายในมีเพียงสายชาร์จแบต และของเล่นเด็ก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความหวาดผวาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิด บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 แต่ในเวลาต่อมาพบว่า ภายในมีเพียงวัตถุคล้ายแผงวงจรไฟฟ้าและตลับลูกปืน แต่ไม่มีดินระเบิด จึงไม่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดได้ และเป็นเพียงระเบิดปลอม 

รุ่งเช้าของวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 5.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้พร้อมกันสามจุด บริเวณสถานีดับเพลิงพญาไท(ประตูน้ำ) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ซอยเพชรบุรี และตลาดเฉลิมลาภ 

เหตุการณ์ในสองช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเหมือนการโหมโรง ก่อนเกิดเหตุระเบิดหลายจุดที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อยสามราย เริ่มต้นที่ถนนพระราม 9 ซอย 57/1 หนึ่งครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อยสองราย บริเวณบีทีเอสช่องนนทรีสองครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บหนึ่งราย ริมถนนป้ายสำนักงานกลาโหมหนึ่งครั้ง และบริเวณรอบศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะสามครั้ง ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่บริเวณศูนย์ราชการนั้น เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้หนึ่งลูกก่อนระเบิดจะทำงาน

อย่างไรก็ดี บนความตื่นตระหนก ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนิยามว่า เป็นความพยายาม “สร้างสถานการณ์” นั้น ก็ทำให้ผู้คนตกใจและมาพร้อมกับข่าวปลอมที่ชวนให้ตระหนกไม่หยุดหย่อน อย่างไรก็ดี วัตถุต้องสงสัยที่พบเห็นนั้น มีหลากหลายลักษณะ ทั้งแบบที่เป็นแค่วัตถุต้องสงสัยเฉยๆ เป็นวัตถุที่ชวนสงสัยว่าเป็นระเบิด และมีสิ่งที่เกิดเป็นปฏิกิริยาระเบิดออกมาได้จริงๆ

ประมวลเหตุการณ์ความวุ่นวาย 1-2 สิงหาคม 2562

ระเบิดปลอม
  • 1 สิงหาคม 2562 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1 พบวัตถุมีลักษณะเป็นกล่องมันฝรั่ง 2 กล่อง ภายในมีวัตถุคล้ายแผงวงจรไฟฟ้าและตลับลูกปืน แต่ไม่มีดินระเบิด จึงไม่สามารถก่อให้เกิดการระเบิดได้

 

วัตถุต้องสงสัย
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 12.08 น. พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณบีทีเอสศาลาแดง ต่อมาเจ้าหน้าที่พบว่าเป็นแค่กล่องเปล่า
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 13.00 น. พบวัตถุต้องสงสัยแอร์พอร์ตลิงค์ หัวหมาก ต่อมาเจ้าหน้าที่พบว่าไม่ใช่ระเบิด
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 15.30 น. บริเวณท่าเรือยอดพิมาน พบกระเป๋าต้องสงสัย แต่สุดท้ายชาวต่างชาติออกมารับแล้วว่ากระเป๋าเป็นของตน และสัมภาระภายในมีเพียงสายชาร์จโทรศัพท์ และของเล่นเด็ก
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 16.47 น. บริเวณป้ายรถเมล์ ถนนพหลโยธินขาออก ตรงข้ามโรงแรมมารวย เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกระเป๋าสัมภาระสีดำ ก่อนตรวจพบในเวลาต่อมาว่าข้างในมีเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 18.18 น. บริเวณสวนจตุจักร ประตูที่ 28 ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร พบวัตถุต้องสงสัย เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 18.30 น. หน้าศูนย์การค้าเซนทรัลเวิลด์ ตรงข้ามโรงพยาบาลตำรวจ พบวัตถุต้องสงสัยแขวนไว้กับจักรยาน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ

 

ไฟไหม้
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 5.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้พร้อมกัน 3 จุด บริเวณสถานีดับเพลิงพญาไท(ประตูน้ำ) ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ซอยเพชรบุรี และตลาดเฉลิมลาภ 

 

ระเบิดแสวงเครื่อง
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 08.36 น. มีเสียงระเบิดสองครั้งบริเวณบีทีเอสช่องนนทรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตึกมหานครบาดเจ็บ รถยนต์บริเวณใกล้เคียงเสียหายและกระจกรถไฟฟ้าบีทีเอสแตกร้าวไปทั้งบาน PPTV รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบกระติกน้ำสีฟ้าและแดง ซึ่งเป็นวัตถุต้องสงสัย คาดว่าน่าจะเป็นระเบิดแสวงเครื่อง
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 08.50 น. เกิดเหตุระเบิดภายในถนนพระราม 9 ซอย 57/1 ได้รับบาดเจ็บสอง คน เบื้องต้นพบว่าระเบิดมีลักษณะคล้ายระเบิดปิงปอง ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้น ยังพบปืนปากกาหนึ่งกระบอก และมีดอีกสองเล่ม
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. เกิดเหตุการณ์ระเบิดทั้งหมด 4 ครั้ง ในอาคารศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยระเบิด 3 ครั้ง และเก็บกู้ได้ 1 ครั้ง เป็นระเบิดแสวงเครื่องทั้งหมด
    • บริเวณสวนหย่อมอาคารบี 1 ลูก ระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย
    • สวนหย่อม ฝั่งอาคาร กกต. 1 ลูก ระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย
    • บริเวณสระน้ำหน้ากองบัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก เป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา พบเหล็กลูกปราย
  • 2 สิงหาคม 2562 เกิดเหตุระเบิดบริเวณริมถนนป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1 ลูก เป็นระเบิดแสวงเครื่อง ความแรงของระเบิดทำให้พื้นดินบริเวณนั้นยุบตัวเป็นหลุมกว้าง 1 เมตร ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานบอกว่าเป็นเพียงสปอตไลต์แตกเท่านั้น จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดเดินทางมาถึง และพบชิ้นส่วนลูกปราย จึงสันนิษฐานว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่อง

 

เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ก่อนการระเบิด
  • 2 สิงหาคม 2562 เวลาประมาณ 9.00 น. พบระเบิดที่ริมถนนฝั่งตรงข้ามศูนย์บัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยอยู่กับความตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ระเบิด ย้อนกลับไปปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 เหตุระเบิด 9 จุดทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่อนุเสาวรีย์ชัย สุขุมวิท คลองเตย ตลอดจนถึงแยกรัชโยธิน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดสามราย และบาดเจ็บมากกว่า 30 ราย  กระจายความหวาดกลัวให้แผ่ซ่านไปทั่วกรุงเทพฯ เปลี่ยนความรื่นเริงของเทศกาลปีใหม่ให้กลายเป็นความโศกเศร้าน่าหวาดหวั่น ผ่านไปนับ 10 ปี เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เกิดเป็นบทวิเคราะห์ที่ไม่มีข้อสรุป บ้างมองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือ บ้างว่าเป็นเรื่องของ “กลุ่มอำนาจเก่า” หรือกระทั่งมองว่าเป็นปัญหาจากความรุนแรงภาคใต้

เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งกำลังชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น การชุมนุมที่ยืดเยื้อได้นำไปสู่สถานการณ์วุ่นวายและรุนแรง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศให้มีพื้นที่ใช้กระสุนจริง ที่ต่อมามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

อ้างอิง:

Tags: , ,