ในช่วงที่ซีไอเอทดลองและทดสอบบุคคลที่มีพลังจิต อินโก สวอน คิดค้นวิธีการใช้พลังถอดจิตของเขาเองที่น่าจะเหมาะกับการรวบรวมข่าวกรองให้กับซีไอเอและกองทัพสหรัฐฯ นั่นก็คือ การใช้การถอดจิตไปตามพิกัดที่กำหนด (Coordinate Remote Viewing)

ลักษณะการใช้งานก็คือ ส่งพิกัดให้กับผู้ถอดจิต เพื่อให้ผู้ถอดจิตนั้นไปดูว่า ที่พิกัดนั้นมีอะไร

ดร.ฮาล พัทฮอฟฟ์ ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด เสนอแนวคิดของสวอนให้กับ คิท กรีน ผู้ดูแลโครงการจากซีไอเอฟัง คิท กรีนจึงคิดถึงวิธีที่จะทดลองที่ไม่สามารถ ‘โกง’ ได้ (สังเกตว่าหน่วยข่าวกรองและนักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างยิ่งเพื่อที่จะไม่ถูกหลอก)

ทดลองบอกพิกัด ให้นักถอดจิตอธิบาย

วิธีการที่กรีนคิดขึ้นมาก็คือ เขาถามเพื่อนร่วมงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติการณ์พิเศษของซีไอเอคนหนึ่ง ให้ส่งพิกัดที่อยู่ในความทรงจำของเขาที่กรีนไม่รู้จัก เพื่อให้มั่นใจว่าฝั่งของดร.พัทฮอฟฟ์จะไม่สามารถเดาได้ว่าที่พิกัดนั้นมีอะไรอยู่ แล้วกรีนก็ส่งพิกัดนั้นไปให้ดร.พัทฮอฟฟ์ ส่งต่อให้กับสวอนอีกทีหนึ่งเพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ที่นั่น

สวอนใช้เวลาไม่นานก็ส่งคำอธิบายถึงสิ่งที่เขาเห็นคืนให้กับดร.พัทฮอฟฟ์ จากนั้นดร.พัทฮอฟฟ์ก็เขียนรายงานส่งไปให้กรีนอีกทีหนึ่ง สุดท้าย กรีนก็ส่งคำอธิบายนี้ไปให้เพื่อนหน่วยปฏิบัติการพิเศษดูว่าใช่หรือไม่

เพื่อนของกรีนตอบกลับมาว่า ไม่ตรงเลย หลังจากนั้น กรีนจึงบอกผลลัพธ์กับดร.พัทฮอฟฟ์ว่าผลไม่ถูกต้อง

สิ่งที่ดร.พัทฮอฟฟ์ไม่ได้บอกกับกรีนในตอนแรกก็คือ ดร.พัทฮอฟฟ์ส่งพิกัดนั้นไปให้คนที่อ้างว่ามีพลังถอดจิตได้อีกคนหนึ่ง และให้ข้อมูลที่ตรงกับของสวอน เมื่อดร.พัทฮอฟฟ์เล่าให้กรีนฟังถึงผลที่ตรงกันจากผู้มีพลังถอดจิตทั้งสองคน กรีนจึงสงสัยว่า เพื่อนของเขาอาจจะไม่ได้กลับไปที่แห่งนั้นนาน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง สุดสัปดาห์นั้น กรีนจึงขับรถไปที่พิกัดดังกล่าว พบว่า นอกเหนือจากข้อมูลที่เพื่อนหน่วยปฏิบัติการพิเศษบอกกับเขาแล้ว เมื่อกรีนขับรถต่อไป เขาก็พบกับสถานที่ที่ตรงกับข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้มีพลังถอดจิต

เรื่องนี้ทำให้ทางซีไอเอต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่า มีการแทรกซึมจากสายลับต่างชาติหรือไม่ เพราะสถานที่ที่ผู้ถอดจิตเห็นนั้น เป็นหน่วยงานลับสุดยอดแห่งหนึ่งของกองทัพบกสหรัฐฯ เรื่องนี้จึงทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มสนใจผู้มีพลังจิตเช่นกัน

พลังจิตเพื่อการข่าว

หลังจากนั้น ทางกองทัพสหรัฐฯ จึงเริ่มทดสอบผู้มีพลังถอดจิต โดย ดร.ฮาล พัทฮอฟฟ์จากสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์พลเรือนของกองทัพอากาศที่ชื่อ เดล กราฟฟ์ (Dale Graff) เป็นผู้ทำการทดสอบ

ในครั้งนี้ การทดสอบมีสองส่วน คือส่วนที่ไม่เป็นความลับ เปิดเผยต่อสาธารณะได้ (unclassified) กับอีกส่วนที่ปิดลับ ให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพรับรู้เท่านั้น (classified)

การทดลองแบบที่ไม่เป็นความลับนั้น คือให้ อินโก สวอน กับผู้มีพลังจิตอีกคนหนึ่ง ชื่อ เฮลลา แฮมมิด (Hella Hammid) ตามหาซากเรือที่ล่มในเขตเกาะคาตาลินานอกชายฝั่งเมือง ลอส แองเจลลีส

วิธีการคือ นำแผนที่ทะเลรอบเกาะคาตาลินา ให้สวอนและแฮมมิดใช้พลังจิตที่เรียกว่าการทำดาวซิ่งแผนที่ (map dowsing) เพื่อกำหนดจุดในแผนที่ว่า ตำแหน่งใดมีซากเรือล่มอยู่ ผลการทดลองครั้งนั้นสำเร็จ มีนักข่าวทีวีแห่งหนึ่งบันทึกเทปเพื่อไปออกอากาศด้วย

ส่วนการทดลองที่ปิดลับนั้นคือ ให้กำหนดจุดในบริเวณเมืองซานฟรานซิสโกขึ้นมาหกจุดแล้วใส่ไว้ในซองจดหมายสองชุด นักวิทยาศาสตร์สองคน ซึ่งก็คือดร.พัทฮอฟฟ์และกราฟฟ์จะเลือกซองจดหมายมาหนึ่งซอง เปิดดูว่าเป็นจุดใดในเมืองซานฟานซิสโก จากนั้นจะขับรถเพื่อไปยังจุดนั้น จากนั้นเมื่อถึงเวลาที่กำหนดจึงให้สวอนกับแฮมมิดซึ่งอยู่ในเรือดำน้ำ ระดับความลึกที่ 500 ฟุตและอยู่ห่างออกไปจากอ่าวซานฟรานซิสโก 375 ไมล์ เปิดซองจดหมายชุดที่สองออกทั้งหมด แล้วใช้การถอดจิตเพื่อไปดูที่จุดเหล่านี้แล้วบอกว่า ดร.พัทฮอฟฟ์และกราฟฟ์อยู่ที่จุดใดของซานฟรานซิสโก ผลการทดสอบก็คือทั้งสวอนและแฮมมิดสามารถบอกสถานที่ที่นักวิทยาศาสตร์สองคนอยู่ได้ถูกต้อง

หลังจากนั้น กราฟฟ์จึงกลับไปเขียนรายงานเกี่ยวกับการทดลองนี้ส่งให้กับกองทัพอากาศสหรัฐฯ เพื่อให้พิจารณางบประมาณสำหรับทำการทดลองพลังจิตกับสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด โดยที่กระทรวงกลาโหมเองก็ทราบถึงความพยายามในการทดลองพลังจิตของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นอยู่ด้วย ผลก็คือกระทรวงกลาโหมอนุมัติงบประมาณสำหรับทำการทดลองพลังจิตให้กับกราฟฟ์และดร.พัทฮอฟฟ์ต่อไป

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มอบหมายให้สำนักงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency – DIA) เป็นผู้ดูแลโครงการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังจิต หนึ่งในภารกิจที่เป็นจุดเริ่มต้นการใช้ประโยชน์จากการถอดจิตไปตามพิกัด คือการค้นหาเครื่องบินตูโพเลฟที่ผลิตโดยสหภาพโซเวียต Tu-22 ของกองทัพอากาศลิเบีย ซึ่งตกกลางป่าในประเทศซาอีร์ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก – Democratic Republic of Congo [DRC]) ในปี 1978 หน่วยของกราฟฟ์นั้นมีผู้ที่สามารถถอดจิตได้คนหนึ่งชื่อ โรสแมรี สมิธ ซึ่งได้ร่างภาพคร่าวๆ ของพื้นที่ที่เครื่องบินตก จากนั้นก็ใช้เทคนิคดาวซิงแผนที่ เพื่อบอกพิกัดโดยสังเขป ต่อมาทางซีไอเอและกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ใช้พิกัดที่สมิธบอกเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาและพบกับเครื่องบินในบริเวณใกล้เคียงกัน เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮา (อย่างเงียบ ๆ) ในวงการข่าวกรองของสหรัฐฯ อยู่ช่วงหนึ่ง

จากเหตุการณ์นี้ กราฟฟ์ซึ่งสนใจการใช้พลังจิตเพื่อการข่าวอยู่แล้ว จึงสมัครทุนของซีไอเอเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกราฟฟ์เชื่อว่า พลังจิตนั้นไม่ได้มีอะไรที่เหนือธรรมชาติ แต่เป็นพลังธรรมชาติที่ยังไม่มีใครศึกษาอย่างเป็นระบบ แม้ว่าทางซีไอเอจะให้ทุน แต่หัวหน้าของกราฟฟ์ที่กระทรวงกลาโหมเข้ามาแทรกแซงไม่ให้กราฟฟ์รับทุนของซีไอเอ

จากนั้นกราฟฟ์จึงได้รับการติดต่อโดยตรงจากหน่วยข่าวกรองทหารให้มาร่วมงานด้วย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อ “ประเมินภัยคุกคามที่เกิดจากโครงการพลังงานทางจิตของต่างประเทศ (หรือก็คือของโซเวียตนั่นเอง) ที่มีต่อความมันคงของสหรัฐฯ และเพื่อสำรวจศักยภาพของพลังงานทางจิตเพื่อใช้ในการหาข่าวกรองของสหรัฐฯ” ภายใต้กรมข่าวกรองวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Directorate of Scientific and Technical Intelligence)

กองทัพสหรัฐฯ เดินหน้าจริงจัง เฟ้นหาและฝึกฝนพลังจิต

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจนั้นมาจาก ร้อยตรี เฟรด แอทวอเตอร์ แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ประจำหน่วยข่าวกรอง กองทัพบกสหรัฐฯ ที่ค่ายนายพลจอร์จ มีด (Fort Meade – ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการไซเบอร์ หรือ Cyber Command ของกองทัพบกสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือ National Security Agency [NSA] ซึ่งรับผิดชอบด้านการข่าวอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในรัฐแมรีแลนด์) แนวคิดนั้นก็คือ ผู้ที่มีพลังจิตทั้งหลาย แม้จะเป็นกลุ่มบุคคลพิเศษ แต่พลังเหล่านี้ก็น่าจะมีอยู่ในคนปกติทั่วไปด้วยไม่มากก็น้อย หากกองทัพสามารถระบุได้ว่า อะไรที่เป็นคุณสมบัติพิเศษของคนเหล่านี้ กองทัพก็อาจจะคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน แล้วก็ฝึกฝนคนเหล่านั้นเพื่อดึงความสามารถในการใช้พลังจิตออกมา กองทัพก็จะมีกองกำลังพลังจิตสำหรับการหาข่าวกรองจำนวนมากได้

แนวคิดนี้ ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายในแง่การฝึกกำลังพลปกติของกองทัพ ความพิเศษอยู่ที่ว่า น่าจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นหาผู้มีพลังจิตโดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ และฝึกฝนคนเพื่อให้ใช้พลังจิตได้น่าจะเป็นครั้งแรกของโลก

ร.ต. แอทวอเตอร์เฟ้นหาบุคลากรมาประจำหน่วยข่าวกรองลับใหม่ของเขาด้วยแนวคิดของเขาเอง นั่นคือการสัมภาษณ์ผู้ที่มาสมัครถึงแนวโน้มการมีพลังจิต หน่วยใหม่ของ ร.ต. แอทวอเตอร์นั้น มีชื่อที่กำกวมแม้แต่กระทั่งในหน่วยงานข่าวกรองลับด้วยกันเองว่า “Detachment G” หรือเรียกย่อว่า Det G บุคลากรในหน่วยนั้นมีชื่อรหัสเป็นตัวเลขนำหน้าด้วยชื่อ “Remote Viewer”  

หน่วยนี้เริ่มสร้างชื่อจากหลายเหตุการณ์ เช่น Remote Viewer 001 ได้รับภารกิจให้ถอดจิตเข้าไปดูโครงสร้างหนึ่งริมทะเลที่ได้ภาพมาจากดาวเทียมจารกรรมลับสุดยอด KH-9 จากการประเมินโดยหน่วยเหนือนั้น คาดว่าโครงสร้างนั้นน่าจะเป็นอู่ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่โซเวียตต้องการจะมีมานานแล้ว แต่ Remote Viewer 001 ถอดจิตแล้วเห็นว่า ด้านในนั้นกำลังต่อเรือที่มีครีบเหมือน ‘ปลาฉลาม’ และลักษณะโดยรวมแล้ว น่าจะเป็นเรือดำน้ำ รายงานเหล่านี้ถูกส่งไปให้คณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council – NSC) ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าน่าจะเป็นอู่ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินมากกว่า

หลายเดือนต่อมา เมื่อดาวเทียม KH-9 ผ่าน และถ่ายภาพโครงสร้างนั้นได้อีกครั้ง กลับพบว่าเรือที่ออกจากโครงสร้างนั้น เป็นเรือดำน้ำแบบใหม่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์และบรรทุกขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงจากเรือดำน้ำ (Submarine-launch Ballistic Missile – SLBM)

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ผู้มีพลังถอดจิตผู้หญิงคนหนึ่ง เห็นเหตุการณ์ล้มเหลวในการช่วยตัวประกันจากเหตุการณ์ยึดสถานทูตสหรัฐฯ ที่ประเทศอิหร่าน รายงานเหล่านี้ทำให้หน่วย Det G มีชื่อเสียงและได้รับงานมากขึ้น

เดล กราฟฟ์ ซึ่งตอนนี้ทำงานให้กับสำนักงานข่าวกรองกลาโหมแล้ว มีส่วนร่วมกับปฏิบัติการที่ใช้ข้อมูลจากพลังจิตในอีกรูปแบบหนึ่ง ในปี 1981 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่การลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ โรนัลด์ เรแกน การลอบสังหารสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 การลอบสังหารประธานาธิบดีอียิปต์ อันวาร์ เอล-ซาดัต

สองกรณีแรกผู้ถูกลอบสังหารมีชีวิตรอด แต่ประธานาธิบดีซาดัตโชคไม่ดีเท่า จากนั้นซีไอเอก็ได้ข้อมูลใหม่ว่า ผู้นำลิเบีย พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี วางแผนและส่งทีมมาลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯ (Intelligence Community – IC) หนึ่งในโจทย์นั้นก็คือ ประชาคมข่าวกรองสามารถทำนายได้หรือไม่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีเหตุการณ์สำคัญ (เช่น การลอบสังหาร การลักพาตัว วินาศกรรม เป็นต้น) อะไรเกิดขึ้นบ้าง

สำนักงานข่าวกรองกลาโหมจึงระดมกำลังทั้งหมดที่มีเพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้า หน่วยงานหนึ่งที่ถูกเรียกมาช่วยก็คือ สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ดที่ ดร.ฮาล พัทฮอฟฟ์ วิจัยพลังจิตอยู่นั่นเอง

หนึ่งใน Remote Viewer ของสถาบันฯ ได้ทำนายว่า จะมีเหตุการณ์จับตัวประกันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครหรือหน่วยงานใด

ปรากฏว่าในเดือนธันวาคมปี 1981 นั้นเอง พลจัตวานายหนึ่งซึ่งประจำการอยู่ในประเทศอิตาลี ถูกลักพาตัวไปพร้อมกับภรรยา หน่วย Det G จึงถูกเรียกมาช่วยในการให้ข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่การพิสูจน์ทราบว่านายพลคนดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ไปจนถึงสถานที่ที่นายพลคนดังกล่าวถูกกักขังอยู่ ซึ่งในท้ายที่สุดด้วยข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากหน่วย Det G นี้ก็ทำให้สามารถช่วยเหลือนายพลคนดังกล่าวออกมาได้

ปิดฉากการใช้พลังจิตในหน่วยข่าวกรองสหรัฐ

ปัญหาที่มีในระหว่างปฏิบัติการนี้ก็คือ ระหว่างการหาข้อมูลโดยใช้พลังจิต มีข้อมูลที่ได้เป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในขณะนั้นเลยว่าเป็นจริงหรือไม่ ต้องรอให้เหตุการณ์นั้นผ่านแล้วถึงจะประเมินได้ว่าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ขนาดไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ วัฒนธรรมการทหารของสหรัฐฯ นั้นอยู่บนพื้นฐานของการมี “คู่มือปฏิบัติการภาคสนาม” หรือ Field Manual ในทุกเรื่อง การใช้ประโยชน์จากพลังจิตนั้น หากจะทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ ทางกองทัพก็จำเป็นต้องมีคู่มือปฏิบัติการภาคสนามที่ใช้งานได้จริงที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพนั่นเอง

หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ หน่วยงาน Coordinate Remote Viewing ของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมซึ่งใช้การถอดจิตไปยังพิกัดที่กำหนดนั้น ก็มีหน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทหารติดต่อขอความร่วมมือเข้ามา เช่น สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Agency – DEA) เพื่อหาช่องทางการลำเลียงยาเสพติดเข้ามายังสหรัฐฯ ตามชายแดนระหว่างสหรัฐฯ – เม็กซิโก หรือหน่วยติดตามผู้ร้ายหนีคดี (US Marshals Service) เพื่อติดตามหาว่าผู้ร้ายหนีคดีต่างๆ หลบซ่อนอยู่ที่ใด หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าจับกุมได้

ปฏิบัติการจำนวนมากประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ปฏิบัติการที่สำคัญหนึ่งนั้นทำให้โครงการใช้พลังจิตเพื่อข่าวกรองนั้นต้องยุติลง นั่นก็คือปฏิบัติการเพื่อหาอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD) ในประเทศอิรัก ซึ่งครั้งนี้เป็นสงครามอ่าวครั้งแรกในปี 1991 ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของการถอดจิตลดลงมาก เนื่องจากมีอดีต Remote Viewer จากสำนักงานข่าวกรองกลาโหม ลาออกไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับข่าวกรองและอ้างว่าสามารถหาข้อมูลอาวุธพลังทำลายล้างสูงได้ ซึ่งสหประชาชาติให้ความเชื่อถือเพราะมองว่าเป็นอดีตหน่วยข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แต่สุดท้าย บริษัทนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ และก็ไม่สามารถค้นพบอาวุธเหล่านั้นได้ ประกอบกับที่สำนักข่าวหลายเจ้าพยายามจะเปิดโปงโครงการนี้ว่าเป็นโครงการลวงโลก เพื่อให้มีการล็อบบีในสภาคองเกรส ให้ตัดงบประมาณของหน่วยงานเหล่านี้ทิ้งไป ทำให้ในที่สุด โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังจิตของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐฯ ต้องปิดฉากลง

ในปัจจุบัน ก็ยังมีความพยายามทดสอบพลังจิตกันอยู่ ในบทความตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้าย ซึ่งจะมาเล่าถึงความพยายามเหล่านั้น และข้อสังเกตต่างๆ ที่มีต่อการทำวิจัยในเรื่องพลังจิตเหล่านี้ครับ

Fact Box

เรื่องราวว่าด้วยพลังจิตกับการสืบสวนสอบสวนของรับาลสหรัฐ ปรากฏอยู่ในหนังสือ Phenomena: the secret history of the U.S. Government’s investigations into extrasensory perception and psychokinesis (แปลเป็นไทยได้ว่า ปรากฏการณ์: ประวัติศาสตร์ลับของการสืบสวนสอบสวนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องสัมผัสที่หกและพลังจิตเคลื่อนย้ายวัตถุ) เขียนโดยแอนนี เจค็อบเซน (Annie Jacobsen) เป็นหนึ่งในสี่นักเขียนผู้เข้าชิงรางวัล Pulitzer Prize จากหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติของหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (DARPA – Defense Advanced Research Project Agency) กลุ่มหนังสือประวัติศาสตร์ในปี 2016 (แต่ไม่ได้รางวัล)

Tags: , , , ,