สองข้างทางถนนซอยวิภาวดีรังสิต 5 ระยะทางราว 500 เมตร เต็มไปด้วยป้ายผ้าไวนิลขนาดต่างๆ ซึ่งเป็นฉากหลังของข้อความอันแสดงถึงความไม่พอใจในโครงการขนาดใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้

โครงการที่คนภายนอกรับรู้เพียงว่าเกี่ยวกับระบบการขนส่ง นั่นคือการย้าย ‘หมอชิต 2’ หรือสถานีขนส่งสายเหนือ-อีสาน จากที่ตั้งปัจจุบัน บนถนนกำแพงเพชร 2 กลับไปยังที่เดิมหรือ ‘หมอชิตเก่า’ บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามสวนจตุจักร ซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถและอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส

แต่ป้ายข้อความที่ติดไว้ตลอดแนวสองข้างถนนวิภาวดีรังสิตซอย 5 ทำให้ดูเหมือนว่า การย้ายหมอชิต 2 กลับมายังหมอชิตเก่า อาจจะซ่อนความไม่ชอบมาพากลบางอย่างไว้ และส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านที่นี่อย่างใหญ่หลวง

ข้อความเหล่านั้น เช่น “คัดค้านสร้างทางยกระดับให้นายทุน” และ “เล่ห์เหลี่ยมนายทุน หลอกให้ กทม. สร้างให้ใช้ฟรีๆ”  หรือ “เอากันชัดๆ ย้ายหมอชิตกลับมา เอกชนส้มหล่น ได้ใช้ทางฟรีจาก กทม. ด้วยภาษีประชาชน”

ผู้รังสรรค์เพื่อสะท้อนข้อความเหล่านี้ เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ด้านหลังหมอชิตเก่า ตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตซอย 5 เรียกว่า หมู่บ้าน ซี.เค.อาร์ และชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่บ้านแบบทาวน์เฮาส์ ตามแนวถนนซอยพหลโยธิน 18/1 ซึ่งอยู่ติดกำแพงหมอชิตเก่า

หมู่บ้าน ซี.เค.อาร์ อายุ 48 ปีแล้ว สร้างเมื่อปี 2515 หลังการเปิดบริการหมอชิตเก่าผ่านไป 12 ปี คือปี 2503 ส่วนทาวน์เฮาส์ตามแนวถนนซอยพหลโยธิน 18/1 อายุราว 40 ปี ชาวบ้านหลายคน จึงเป็นผู้ที่อยู่อาศัยย่านนี้มายาวนาน คู่กับความแออัดของรถบัสโดยสารวันละนับพันเที่ยว ที่ใช้เส้นทางซอยวิภาวดี 5 เป็นทางผ่านออกไปยังถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือและอีสาน

จนกระทั่งเมื่อย้ายหมอชิตเก่าออกไปยังที่ตั้งใหม่ — หมอชิต 2 บนถนนกำแพงเพชร 2 เมื่อเดือนเมษายน 2541 เพื่อหลีกทางให้สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ความแออัดย่านนี้เริ่มลดลง แต่หลังมีความชัดเจนว่าหมอชิต 2 จะย้ายกลับมายังหมอชิตเก่า ชาวบ้านที่นี่เริ่มส่งเสียงให้สังคมรับรู้ว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากลซ่อนอยู่ในแผนการย้ายนี้

เดือนมกราคม 2563 ชาวบ้านหลายคนได้รับหนังสือเชิญร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ดินราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ของบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด 

วรินทร กิจทวีสินพูน เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับหนังสือเชิญ เธอเข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมในอาคารซันทาวเวอร์ สิ่งที่เธอรับรู้จากการประชุมในวันนั้นคือ จะมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ดินราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต และคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่  ในพื้นที่ 63 ไร่

ในเอกสารประกอบการประชุมระบุว่า คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่นี้ จะสร้างต่อจากอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอสขึ้นไป 1 อาคาร แบ่งเป็นอาคารด้านทิศเหนือ จำนวน 36 ชั้น และอาคารด้านทิศใต้จำนวน 32 ชั้น มีชั้นใต้ดินร่วมกัน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 810,000 ตารางเมตร

ในคอมเพล็กซ์มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดังนี้ ชั้นบี 2 ถึงชั้น 7 เป็นศูนย์การค้า, ชั้น 3 ถึงชั้น 5 เป็นสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. , ชั้นบี 1 ถึงบี 4 ชั้น 3 ชั้น 6 ถึงชั้น 7 เอ็ม เป็นอาคารจอดรถ, ชั้น 8 เป็นศูนย์ประชุม, ชั้น 13 ถึงชั้น 34 เป็นโรงแรมจำนวน 340 ห้อง, ชั้น 35 เป็นเซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์จำนวน 77 ห้อง และชั้น 14 ถึงชั้น 30 เป็นสำนักงาน 

วรินทร บอกว่า หนึ่งในคำถามที่ตัวแทนบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด ถามชาวบ้าน คือ “เห็นด้วยกับการสร้างคอมเพล็กซ์หรือไม่?” ซึ่งเธอและชาวบ้านคนอื่นในที่นั้น บอกว่า เห็นด้วยหากโครงการนี้จะนำความเจริญมาสู่พื้นที่

แต่คำถามสำคัญที่เธอถามกลับคือ โครงการนี้ จะมีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านที่อยู่ตามแนวถนนซอยวิภาวดีรังสิต 5 หรือไม่? เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวลือมาตลอดว่า รัฐจะเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ รองรับการย้ายหมอชิต 2 กลับมาที่เดิม แต่คำถามนี้กลับไม่มีคำตอบจากที่ประชุมในวันนั้น

กระทั่งกลางปี 2563 ข่าวการย้ายหมอชิต 2 กลับมายังหมอชิตเก่า ปรากฏชัดเจนขึ้น และเริ่มเป็นที่เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ เจ้าของพื้นที่หมอชิตเก่า ให้สัมปทานบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด ทำเป็นคอมเพล็กซ์ โดยก่อสร้างต่อขึ้นจากอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งในคอมเพล็กซ์ จะกันพื้นที่ 110,000 ตารางเมตร ให้บริษัทขนส่ง หรือ บขส. ใช้

ตอนนั้น ยังไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่อยู่หลังหมอชิตเก่ามากนัก แต่ในเดือนสิงหาคม สิ่งที่พวกเขาวิตกกังวลมาตลอดได้เกิดขึ้นจริง

21 สิงหาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 เพื่อใช้ในการสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายทางยกระดับเชื่อระหว่างอาคารอู่จอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า กับถนนวิภาวดีรังสิต โดยเขตที่จะเวนคืนที่ดินมีส่วนแคบที่สุด 100 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 300 เมตร ให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน

เมื่อดูแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา พบว่า แนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน คือพื้นที่ด้านหลังหมอชิตเก่า ยาวตามแนวถนนซอยวิภาวดีรังสิต 5 จนถึงถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางรวมประมาณ 530 เมตร ซึ่งจะมีที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ที่จะถูกเวนคืนไม่น้อยกว่า 35 แปลง 

ในตอนท้ายกฤษฎีกา ระบุเหตุผลในการเวนคืนว่า มีความจำเป็นต้องสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต และการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค 

ชาวบ้านผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบ มีคำถามว่า ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากทางยกระดับนี้ เอกชนเจ้าของโครงการคอมเพล็กซ์ หรือประชาชน แต่ที่เห็นชัดเจนตอนนี้คือ ประชาชนกำลังจะถูกเวนคืนที่ดินบ้านที่อยู่อาศัยมาเกือบ 50 ปี 

วรินทร ย้ำแล้วย้ำอีกว่า หาก บขส. ย้ายจากหมอชิต 2 มาอยู่ในคอมเพล็กซ์ บริเวณหมอชิตเก่า จะได้พื้นที่เพียงแค่ 3 ชั้น คือ ชั้น 3 ถึงชั้น 5 รวมพื้นที่ประมาณ 110,000 แสนตารางเมตร ในขณะที่คอมเพล็กซ์ มีทั้งหมด 36 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 810,000 ตารางเมตร จึงถือได้ว่า บขส. จะได้พื้นที่ในคอมเพล็กซ์ เพียงราว 13 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การสร้างทางยกระดับจากถนนวิภาวดีเข้าสู่คอมเพล็กซ์ ประโยชน์น่าจะตกแก่เอกชนมากกว่าสาธารณะ

“การเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน เพื่อสร้างทางยกระดับเข้าคอมเพล็กซ์ จะพบว่า บขส. ซึ่งเป็นบริการสาธารณะ จะได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่ถึง บขส15 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด จึงไม่น่าใช่ประโยชน์ของสาธารณะ” วรินทร เน้นย้ำ

ที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่เคยรู้ว่า สุดท้ายการย้ายหมอชิต 2 กลับมาที่เดิม จะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการคอมเพล็กซ์ของเอกชน ทั้งยังวางใจมาตลอดว่า การเวนคืนที่ดินคงไม่เกิดขึ้นแล้ว หลายคนจึงปรับปรุงบ้านหลังเก่าให้ดูใหม่ขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

 “ผมเพิ่งรีโนเวทบ้านไปเมื่อปี 2555 หมดไปเยอะ ไม่นึกว่าวันนี้จะอยู่ในแนวเวนคืน” 

ไตรภพ เริงหิรัญ เล่าด้วยความสิ้นหวัง พร้อมระบายความในใจว่า ตอนนี้วางแผนอนาคตครอบครัวไม่ได้ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อ

ส่วนบ้านอีกหลังที่อยู่ติดกับบ้านของไตรภพ ซึ่งอยู่ในแนวเวนคืนเหมือนกัน ได้ทำการรื้อบ้านเก่าแล้วสร้างใหม่เมื่อปี 2549 และเพิ่งรีโนเวทอีกครั้งเมื่อปี 2556 ใช้เงินทั้งสองครั้งราว 10 ล้านบาท ซึ่งอาจต้องละลายหายไปกับการถูกเวนคืน

ที่หนักที่สุดคือ มีบ้านหลังหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง สอบถามผู้คนแถวนั้น ได้ความว่า เจ้าของบ้านเพิ่งรื้อบ้านหลังเก่าออก แล้วสร้างบ้านหลังใหม่ในที่เดิม โดยไม่รู้ว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน

เมื่อไร้ซึ่งทางออก ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  เพื่อขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากทางยกระดับที่จะก่อสร้างไม่ได้จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาจราจร แต่เป็นไปเพื่อสร้างทางเชื่อมต่อให้โครงการคอมเพล็กซ์ของเอกชน ซึ่งเน้นประโยชน์เชิงพาณิชย์มากกว่าบริการสาธารณะ

ในส่วนของ . ซึ่งถือเป็นหนึ่งตัวละครสำคัญที่จะต้องย้ายจากหมอชิต 2 กลับเข้าไปใช้พื้นที่ในโครงการคอมเพล็กซ์ในหมอชิตเก่า ที่จะเริ่มก่อสร้างปี 2564 และคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567 นั้น มาโนช สายชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจเดินรถ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. เผยว่า ผู้บริหาร บขส. ทุกคน มีความเห็นตรงกันว่า ที่ตั้งปัจจุบันคือ หมอชิต 2 มีความเหมาะสม อำนวยความสะดวกผู้เดินทางได้ดีกว่า 

“บขส. เคยศึกษาวิจัยผลกระทบการย้ายสถานีขนส่งกลับไปหมอชิตเก่าว่า จะส่งผลกระทบหลายอย่าง อย่างแรก บขส. มีเที่ยววิ่งรถโดยสารวันละ 1,500-2,000 เที่ยวต่อวัน หากย้ายกลับไปที่หมอชิตเก่า จะยิ่งสร้างปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และจะก่อมลภาวะกระทบประชาชนที่อาศัยอยู่แถบนั้น ที่สำคัญจะต้องมีการเวนคืนที่ดินบางส่วน จะสร้างผลกระทบกับประชาชน” รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. แสดงถึงข้อกังวลต่างๆ หากต้องย้ายกลับไปหมอชิตเก่า

อีกทั้งการนำรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ขึ้นไปรับส่งผู้โดยสารบนอาคาร ผู้บริหาร บขส. ยังมองว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก   

ในที่สุดแล้ว แผนการจะ ‘ย้าย’ หรือ ‘ไม่ย้าย’ หมอชิต 2 กลับไปยังหมอชิตเก่า ไม่ใช่การตัดสินใจของ บขส. แต่เพียงผู้เดียว เป็นการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งแผนต่างๆ ได้ถูกเดินหน้าไปหลายขั้นตอนแล้ว เพียงแต่ว่าผู้เกี่ยวข้องจะมองถึงผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น หรือที่จะเกิดขึ้นในในอนาคตหรือไม่ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ที่วันนี้ต้องขอความเป็นธรรมจากกระบวนการศาลปกครอง

Tags: , , ,