ชาวเยอรมันมีชื่อเสียงในเรื่องของความมีวินัยและการตรงต่อเวลา เด็กๆ ทุกบ้านมักได้รับการอบรมบ่มสอน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ให้รู้จักระเบียบวินัยที่สืบสานกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
การนัดหมายของคนเยอรมัน 9 โมงเช้า หมายถึงเวลา 8.55 นาฬิกา (และไม่ใช่ 9.05 นาฬิกา) และนั่นหมายความว่า ถ้าคุณคิดจะได้ใจจากคนเยอรมัน คุณต้องไปถึงที่หมายก่อนเวลานัด 5 นาที หรือแม้กระทั่งการนัดหมายกับเพื่อนฝูง ก็ไม่ควรไปสายเกินกว่า 5 นาที
ฟังดูน่าเครียด แต่จริงๆ แล้วคนเยอรมันมีอารมณ์ขัน เพียงแต่คุณต้องเข้าใจภาษาเยอรมันถึงจะฟังเรื่องขำของคนเยอรมันให้ตลก
ภาษาเยอรมันที่ประชากรโลกใช้เป็นภาษาแม่ในที่ต่างๆ ราว 90-105 ล้านคน และอีกราว 80 ล้านคน ใช้เป็นภาษาที่สอง หลักๆ ในเยอรมนี ออสเตรีย ลิกเตนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อิตาลี (ทิโรลใต้) บางพื้นที่ในเบลเยียม และฝรั่งเศส นอกเหนือจากนั้นยังมีชนกลุ่มน้อยในยุโรปตะวันออก และทางใต้ของทวีปแอฟริกา
Socks and Sandals เยอรมันมาแล้ว!
ภาพลักษณ์ของชาวเยอรมันที่คนไทยหรือประเทศท่องเที่ยวต่างๆ มักคุ้น คือชายมีอายุ (ส่วนใหญ่) สวมถุงเท้าเทนนิสสีขาวและรองเท้าแตะแบบรัดส้น นั่นคือลุคของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ที่มีมาตั้งแต่พวกเขาเริ่มเดินทางออกไปเผชิญโลกกว้างยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงคราม
ถุงเท้าและรองเท้าแตะไม่ได้ถือกำเนิดที่เยอรมนี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการค้นพบเครื่องแต่งกายทรงนี้ในโบราณสถานระหว่างเมืองดิชฟอร์ทและลีมิง ที่นอร์ทยอร์กเชียร์ของอังกฤษ สันนิษฐานว่าชาวโรมันโบราณเคยสวมถุงเท้าและรองเท้าแตะเมื่อราว 2,000 ปีก่อน
คนเยอรมันชอบสวมมันเวลาไปเดินป่าหรือปีนเขา ใช่แล้ว คนเยอรมันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชอบเดินป่า พวกเขานิยมเดินป่ากันมาตั้งแต่ยุคปี 1800s โดยเฉพาะคนในกลุ่มนักคิดนักเขียน และกลับมาบูมในช่วงนาซีครองอำนาจ ทุกวันนี้ ชาวเยอรมัน 68 เปอร์เซ็นต์ ยังคงใช้เวลาวันหยุดหรือวันพักร้อนออกเดินป่าในทุกปี และใช้เงินสำหรับกิจกรรมเดินป่าต่อปีถึงพันล้านยูโร หมดไปกับค่าเดินทาง ที่พัก และอุปกรณ์เดินป่า
ในเยอรมนีมีเส้นทางเดินป่าอย่างเป็นทางการราว 300,000 กิโลเมตร รวมเส้นทางป่า ภูเขา ไร่ไวน์ และชายทะเล
เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างแดน คนเยอรมันจึงไม่ลืมถุงเท้าเทนนิสและรองเท้าแตะรัดส้นติดกระเป๋าไปด้วย อย่างน้อยมันก็ช่วยทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน
Football คือศาสนาหนึ่ง
ในเยอรมนี ฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬาธรรมดา แต่มันคือศาสนา แทบไม่มีชาติไหนในโลกที่คลั่งไคล้ฟุตบอลเท่าคนเยอรมัน และแฟนบอลของแต่ละสโมสรก็มักจะเกลียดขี้หน้ากันอย่างสม่ำเสมอ เวลาทีมสโมสรบาเยิร์นมิวนิกลงสนามในแมตช์สำคัญ ชาวเมืองมิวนิกตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา จะพากันสวมเสื้อสีแดงเพื่อเป็นแรงเชียร์ให้กับทีม
ชาวเยอรมันราว 6.5 ล้านคน เป็นสมาชิกของสโมสรฟุตบอลต่างๆ กว่า 27,000 สโมสรที่มีในประเทศ การแข่งขันใช้ระบบลีก ในปี 1963 เริ่มมีการจัดตั้ง ‘บุนเดสลีกา’ (Bundesliga)
กีฬาฟุตบอลเดินทางถึงเยอรมนีในปี 1873 ภายหลังการก่อตั้ง FA (The Football Association) ที่เกาะอังกฤษ และส่วนใหญ่เริ่มเล่นกันในหมู่นักเรียนมัธยมฯ ก่อนจะเป็นรูปเป็นร่าง และเริ่มก่อตั้งเป็นทีมชาติขึ้นได้ในปี 1900
ความคลั่งไคล้หลงใหลในฟุตบอลของชาวเยอรมันเกิดขึ้นจาก ‘ความมหัศจรรย์ที่กรุงเบิร์น’ ในปี 1954 ที่ทีมชาติเยอรมนีได้ครองแชมป์โลก นักฟุตบอลทั้งทีมได้รับการต้อนรับกลับบ้านอย่างสมเกียรติ นั่นคือจุดรวมใจคนทั้งชาติ ก่อให้เกิดพลัง ความหวังที่จะได้ครองแชมป์โลกครั้งต่อๆ ไปในอนาคต
เยอรมนีมีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่อันดับหนึ่งคือ สนามเวสต์ฟาเลน (Westfalenstadion) ในดอร์ทมุนด์ จุผู้ชมได้ 80,552 ที่ (รวมพื้นที่ยืน) ตามมาด้วยสนามโอลิมปิก (Olympiastadion) ในเบอร์ลิน ความจุ 76,000 ที่ และอัลลิอันซ์ อาเรนา (Allianz Arena) ในมิวนิก ความจุ 71,137 ที่ (รวมพื้นที่ยืน)
แฟนบอลชาวเยอรมันแต่ก่อนเคยดูและเชียร์บอลกันอย่างสงบเสงี่ยม ถือธงและป้ายผ้าสัญลักษณ์ของทีมสโมสรชูขึ้นโบกสะบัดบ้าง หรือเปล่งเสียงตะโกนในช่วงเวลาสำคัญ แต่ภาพเก่าๆ พลิกเปลี่ยนไปในช่วงทศวรรษ 1970s หลังจากได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและอิตาลี
วัฒนธรรมความจลาจลมักเกิดขึ้นหลังการแข่งขันสิ้นสุดลง พวกหนึ่งคือฮูลิแกนส์ (พวกก่อกวนชวนวิวาท) อีกพวกหนึ่งคืออัลตราส์-มูฟเมนต์ (กลุ่มแฟนสโมสรหัวรุนแรง) ที่มักจะหาเรื่องตีกัน เหตุเพราะเชียร์คนละทีม
Money เงินสดคือราชา
คนเยอรมันชอบใช้จ่ายซื้อสินค้าด้วยเงินสด ไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะมีโควิด-19 ระบาดก็ตาม จากกรณีศึกษาของสถาบันการเงินครั้งล่าสุด พบว่ามีชาวเยอรมันเพียง 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ใช้จ่ายในการช้อปปิ้งด้วยบัตรเครดิต นับว่ามีจำนวนน้อยกว่าชาวสวีดิช ที่ใช้นิยมรูดบัตรมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ และชาวนอร์วีเจียน 67 เปอร์เซ็นต์
เหตุผล 5 ข้อ ที่คนเยอรมันนิยมใช้เงินสดมากกว่าเงินอิเล็กทรอนิกส์คือ
1. เงินสดหมายถึงเสรีภาพ และการไม่เปิดเผยตัวตน คนเยอรมันชอบความเป็นส่วนตัว เงินสดถือเป็นสัญลักษณ์ของมูลค่าทรัพย์สินในมือ และสามารถใช้มันจับจ่ายใช้สอยได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของตนเอง ไม่ต้องรู้สึกว่าได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ หรือถูกใครควบคุม
2. เงินสดหมายถึงการควบคุม ตามสุภาษิตของเยอรมันที่ว่า ‘Nur Bares ist Wahres’ หรือเงินสดคือราชา มันสามารถทำให้มองเห็นภาพรวมของการใช้จ่าย อีกทั้งระหว่างการใช้จ่ายด้วยเงินสดยังทำให้รับรู้ถึงความเจ็บปวดกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองได้ทันทีอีกด้วย
3. เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนเยอรมันในการเข้าถึงเงินสด ในเยอรมนี พื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 1,000 คน จะมีตู้เอทีเอ็มให้บริการโดยเฉลี่ย 0.7 ตู้
4. คนเยอรมันสามารถเก็บออมเงินสดได้ด้วยตัวเอง ความที่เป็นคนมัธยัสถ์ ส่วนใหญ่มักจะเก็บเงินไว้ที่บ้านประมาณ 2,000 ยูโร และแบ่งเงินใส่กระเป๋าสตางค์ไว้ใช้สอยเพียง 100 ยูโร นอกจากจะเลี่ยงการจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ไม่พึงประสงค์แล้ว มันยังช่วยให้พวกเขาประหยัดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตอีกด้วย
5. เงินสดยังถูกใช้เพื่อการเรียนรู้วิธีจัดการกับเงิน โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน เงินสดช่วยในการเรียนรู้เพื่อเข้าใจถึงคุณค่าของเงิน ความหมายของการใช้จ่าย การทำงาน และการหาเงิน รวมถึงการกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำไปใช้จริงในชีวิตวันข้างหน้า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความจริงแล้วคนเยอรมันมักไม่ค่อยชอบพูดถึงเรื่องเงินกัน ถ้าเลี่ยงได้พวกเขามักจะเลี่ยง
Small Talk จ๊ะจ๋าแต่ว่าจริงจัง
การทักทายกันด้วยประโยค ‘สวัสดี เป็นไงบ้าง’ หรือ ‘ไปไหนมา’ แบบคนไทยนั้น คนเยอรมันก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ผิวเผินปราศจากความใคร่รู้จริงๆ แบบเรา
คำถามจากปากคนเยอรมันว่า ‘สบายดีไหม’ ไม่เพียงเป็นประโยคแสดงความสุภาพ แต่คนเยอรมันหมายความอย่างนั้นจริงจัง และถ้ามีเวลามากพอสำหรับการสนทนา พวกเขาอาจจะถามรวมไปถึงคนในครอบครัวว่าสุขสบายกันดีไหม หรือมีแผนจะทำอะไรในวันหยุด เป็นต้น และถ้าเป็นไปได้ ระหว่าง Small Talk คนเยอรมันอยากรู้ทั้งข้อเท็จจริง ตัวเลข รวมถึงสถิติ
เวลาที่คนเยอรมันเดินทางกลับจากเที่ยวพักร้อน หัวข้อหลักๆ ที่พวกเขามักอยากเล่าให้เพื่อนร่วมงานหรือคนข้างบ้านฟังสามเรื่องคือ ชายหาด อาหาร และราคาน้ำมัน
เมื่อไรก็ตามที่คุณมีคู่สนทนาเป็นคนเยอรมัน เรื่องที่พวกเขาอาจจะอยากรู้คือ เมืองที่คุณอาศัยอยู่มีประชากรเท่าไร อพาร์ตเมนต์หรือบ้านที่คุณอาศัยอยู่ขนาดเท่าไร (เป็นตารางเมตร) จะดีกว่านั้น ถ้าคุณสามารถบอกได้ว่าในย่านที่คุณอาศัยนั้นค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ราคาเท่าไร
คุยทักทายกับคนเยอรมันไม่ใช่เรื่องยาก แค่ลดทอนความสุภาพมีมารยาทจ๋าลงบ้าง แล้วจดจำข้อมูลรอบตัวเองที่ควรรู้เพื่อตอบคำถามแบบที่คู่สนทนาที่ดีควรทำ เท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://www.facebook.com/dw.kultur/videos/1157123004714455
https://www.ef.de/blog/language/10-dinge-die-du-nur-verstehst-wenn-du-deutsch-bist/
https://www.facebook.com/789839844513554/videos/792146734772085
https://www.dw.com/de/das-wichtigste-%C3%BCber-small-talk-mit-deutschen/av-46381452
Fact Box
- เยอรมนี มีประชากร 83 ล้านคน เป็นชาติหนึ่งที่มีประชากรหนาแน่น พื้นที่ประเทศ 357,582 ตารางกิโลเมตรมีประชากรเฉลี่ย 233 คนต่อตารางกิโลเมตร หนาแน่นที่สุดคือกรุงเบอร์ลิน และที่มากกว่าสิบล้านคนยังมีฮัมบวร์ก มิวนิก และโคโลญ