สหภาพยุโรปขู่ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าที่ให้แก่กัมพูชา ฐานทำประชาธิปไตยถอยหลัง ถ้ารัฐบาลฮุน เซนไม่ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน สินค้าที่ส่งไปขายอียูปีละเกือบ 1.9 แสนล้านบาทจะต้องถูกเก็บภาษี นับเป็นไม้แข็งที่มีพลังกดดันไม่น้อย

รัฐมนตรีการค้าของสหภาพยุโรป เซซีเลีย มาล์มสตรอม ประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่า อียูพร้อมที่จะระงับสิทธิพิเศษของกัมพูชาที่เคยส่งสินค้าไปขายในประเทศสมาชิกอียูได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เพื่อลงโทษรัฐบาลพนมเปญที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และทำให้ประชาธิปไตยถดถอย

การทบทวนสถานะของกัมพูชา และการตัดสินใจใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ว่านี้ จะใช้เวลาดำเนินกระบวนการราว 1 ปี นั่นหมายความว่า ภายในประมาณเดือนตุลาคมปีหน้า กัมพูชาจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกสิ่งทอและรองเท้า

เมื่อถูกเก็บภาษี สินค้าของกัมพูชาจะมีราคาขายสูงกว่าของประเทศคู่แข่งอื่นๆ อย่างเช่น บังกลาเทศ นั่นย่อมทำให้กัมพูชาสูญเสียตลาดในอียู และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงอุตสาหกรรมในประเทศ คนงานและสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของฮุน เซนจะต้องเดือดร้อนนับล้านคน

การขู่คว่ำบาตรของอียู จึงนับว่ามีพลังกดดันมากทีเดียว

 

ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข

สิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) ที่กัมพูชาได้รับนี้ เป็นส่วนหนึ่งในความริเริ่มของอียูที่จะช่วยเหลือประเทศที่มีการพัฒนาระดับต่ำสุด นโยบายดังกล่าวเรียกว่า ‘Everything but Arms’ (EBA) ซึ่งประเทศที่ได้รับจีเอสพีสามารถส่งสินค้าไปขายในตลาดอียูได้ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ โดยปลอดภาษีนำเข้าและไม่จำกัดโควต้านำเข้า

แต่จีเอสพีนี้ไม่ใช่ ‘ของฟรี’ แต่เป็นความช่วยเหลือที่มีเงื่อนไข ประเทศผู้ได้รับย่อมมีพันธะต้องทำตามกฎกติกา ค่านิยม บรรทัดฐานต่างๆ เช่น เรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา กัมพูชาได้รับประโยชน์นี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อปีที่แล้ว กัมพูชาส่งออกไปยังตลาดยุโรปเป็นมูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 186,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นพวกเครื่องนุ่มห่มกับรองเท้า

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีสัดส่วนในจีดีพีของกัมพูชาถึงร้อยละ 40 อียูเป็นตลาดส่งออกแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ ดังนั้น การผลิตในภาคส่วนนี้จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างมาก และกัมพูชาต้องพึ่งพาตลาดอียูอย่างสูง

ฮุนเซนเข้าเยี่ยมโรงงานเสื้อผ้าในชานกรุงพนมเปญ (ภาพเมื่อ 30 สิงหาคม 2017 โดย STR / AFP)

เมื่ออียูขู่ลงโทษเช่นนี้แล้ว คำถามจึงมีว่า ฮุน เซน ซึ่งครองอำนาจมานาน 33 ปี และเพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภาแม้แต่เสียงเดียวภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม จะยอมโอนอ่อนตามเงื่อนไขของอียูแค่ไหน อย่างไร

เสียงตอบจากพนมเปญ

บนเก้าอี้นายกฯ ตลอดวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปีข้างหน้า ฮุน เซนจะแก้ไข ‘ประชาธิปไตยแต่เปลือก’ ที่เขาฟูมฟักมานานหลายทศวรรษหรือไม่ ยังต้องคอยดูต่อไป อย่างไรก็ดี เจ้าตัวพูดตอบโต้คำประกาศของอียูในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว

“ไม่ว่าพวกนั้นจะเล่นงานกัมพูชาอย่างไร ไม่ว่าจะมาไม้ไหน กัมพูชาจะปกป้องอธิปไตยของชาติอย่างแข็งขัน ผมพูดแล้วพูดอีกว่า อย่าเอาความช่วยเหลือมาแลกกับอธิปไตย อย่าเอาความช่วยเหลือมาแลกกับความสงบของชาติ”

อย่างที่รู้กัน ฮุน เซนมักอ้างความชอบธรรมของระบอบปกครองของเขา ด้วยการหยิบยกระบอบกดขี่ของยุคเขมรแดง และความแตกแยกเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองที่เขมรหลายฝ่ายรบรากัน โดยชูการรักษาเสถียรภาพของบ้านเมืองเป็นผลงานสำคัญ

แล้วถ้าถูกต่างชาติวิจารณ์หรือข่มขู่คุกคาม ผู้นำวัย 66 รายนี้ก็มักปลุกกระแสชาตินิยมเป็นเกราะกำบัง ป่าวร้องว่า มหาอำนาจข่มเหงรังแกประเทศเล็ก เพื่อเรียกแรงสนับสนุนจากประชาชน

นอกจากสุ้มเสียงจากฮุน เซนแล้ว เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาแถลงโต้ว่า คำขู่ของอียูถือว่า “ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง” พร้อมกับบอกว่า กัมพูชาได้พัฒนาประเทศจนเกิดความก้าวหน้ามากมาย แม้ว่าเคยผ่านอดีตอันขมขื่น และได้ทำให้คนนับล้านพ้นจากความยากจน

ฟังเสียงตอบโต้อย่างนี้แล้ว เห็นทีว่า อียูกับกัมพูชาอาจจะต้องคุยกันยาว

ประเด็นที่อียูติดใจก็คือ การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมของกัมพูชา กลับไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม เพราะพรรคกู้ชาติกัมพูชาซึ่งเคยได้คะแนนถึงร้อยละ 40 ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าก็ถูกศาลสั่งยุบพรรค และตัวหัวหน้าพรรคถูกศาลสั่งจำคุกในข้อหาคบคิดกับต่างชาติ คือ สหรัฐฯ ก่อกบฏเพื่อโค่นรัฐบาล แถมยังข่มขู่ประชาชนให้โหวตเลือกพรรคของฮุน เซนด้วย นี่ยังไม่นับการจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ

แรงกดดันของแซงก์ชั่น

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มในกัมพูชาทำให้เกิดการจ้างแรงงานราว 740,000 คน ฮุน เซนเอาอกเอาใจผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ถึงกับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาประเมินจากตัวเลขส่งออกเมื่อปี 2016 ว่า ถ้าต้องจ่ายภาษีนำเข้าให้ยุโรป สินค้าของกัมพูชาซึ่งส่งไปขายอียูเป็นมูลค่า 6,200 ล้านดอลลาร์ฯ จะมีต้นทุนเพิ่ม 676 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 22,150 ล้านบาท

ถ้าเสื้อผ้ารองเท้าจากกัมพูชาแข่งราคากับสินค้าอย่างเดียวกันจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆไม่ได้เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มด้านภาษี คนงานสิ่งทอและแรงงานในกิจการต่อเนื่องก็อาจต้องตกงาน สมมติว่าคนงานแต่ละคนต้องเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัว 1-3 คน ก็จะมีคนเดือดร้อนนับล้าน และส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจภาพรวมเป็นเงาตามตัว

บางเสียงแนะว่าไม่เห็นต้องง้ออียู กัมพูชาส่งของไปขายเมืองจีนก็ได้ แต่ตัวเลขฟ้องว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อปี 2016 จีนนำเข้าจากกัมพูชาเป็นมูลค่าแค่ 609 ล้านดอลลาร์ฯ นับว่าห่างไกลลิบลับจากมูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์ฯ ที่ส่งไปขายอียู

สหภาพยุโรปจะเลิกช่วยกัมพูชาพัฒนาเศรษฐกิจจริงหรือเปล่า อีกไม่นาน ทั้งสองฝ่ายคงขึ้นโต๊ะพูดจากัน ผลหารือจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง:

ที่มาภาพเปิด: ฮุนเซนและภรรยาเยี่ยมโรงงานทอผ้า (ภาพเมื่อ 13 เมษายน 2018 โดย TANG CHHIN SOTHY / AFP)

Tags: , , , , , ,