หลายปีที่ผ่านมา เอธิโอเปียเปิดบ้านต้อนรับแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง H&M, Guess, Calvin Klein และ Tommy Hilfiger มาตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าต้นทุนต่ำในสวนอุตสาหกรรม ทั้งยังวางแผนกระตุ้นการส่งออกเสื้อผ้ามากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.46 แสนล้านบาท) ต่อปี จากที่ปัจจุบันส่งออกอยู่ที่ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.5 พันล้านบาท)
แต่รายงานของ Stern Center for Business and Human Rights ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ชี้ว่า ชาวเอธิโอเปียในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากลับได้รับค่าแรงต่ำสุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 820 บาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายได้ครอบคลุมความต้องการพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัยและอาหาร
ขณะที่แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคนยาได้ค่าแรง 207 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 6,500 บาทต่อเดือน ส่วนบังกลาเทศ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องค่าแรงต่ำ ได้ค่าแรงอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 3,000 บาท)
รายงานฉบับนี้เก็บข้อมูลจากสวนอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของศูนย์กลางการผลิตที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลเอธิโอเปียตั้งแต่ปี 2014 โดยในบริเวณดังกล่าวมีโรงงานทั้งสิ่งทอและเกษตรแปรรูป มีคนงานตัดเย็บทั้งสิ้น 25,000 คน
รายงานชี้ว่า สาเหตุที่ค่าแรงต่ำเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาลเอธิโอเปียพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้วยอัตราค่าจ้างต่ำสุดในโลก โดยเทียบจากค่าแรงที่ลูกจ้างของรัฐได้รับอยู่เดิม
นักวิจัยชี้ว่า รัฐบาลและเจ้าของโรงงานล้มเหลวในการสร้างสภาพการจ้างงานที่ดี โดยนอกจากค่าแรงต่ำแล้ว คนงานยังเปิดเผยว่าพวกเขาถูกผู้จัดการชาวต่างชาติตะโกนใส่และไม่ได้รับการเทรนด์งานอย่างเหมาะสม นำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า โรงงานตัดเย็บเหล่านี้มีการจ้างคนงานใหม่ทั้งหมดเฉลี่ยทุก 12 เดือนด้วย
สำหรับทางออกของปัญหานี้ นักวิจัยเรียกร้องให้รัฐบาลเอธิโอเปียกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและมีมาตรการเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ
ที่มา
https://edition.cnn.com/2019/05/11/africa/ethiopia-garment-workers-lowest-paid-intl/index.html
https://qz.com/africa/1614752/ethiopia-garment-workers-for-gap-hm-lowest-paid-in-world/
Photographer: Reuters/ Tiksa Negeri
Tags: แฟชั่น, เอธิโอเปีย, ค่าแรง, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, แรงงาน