เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 19 กันยายน 2562 รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงก่อตั้ง ‘คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ หรือ ครช. ซึ่งเป็นคณะทำงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 28 องค์กร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม และภาคประชาชน 

อนุสรณ์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการกล่าวเปิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของสังคม สะท้อนถึงการจัดการทางอำนาจระหว่างบุคคล สถาบัน และกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ที่แตกต่างว่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นผลผลิตของความสัมพันธ์ทางอำนาจหลักของสังคมในเวลานั้น ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนชัดเจนถึงการขยายตัวของ ‘พลังทางจารีต’ ที่เอื้อต่อการครอบงำของชนชั้นปกครอง และบีบให้ประชาชนมีอำนาจน้อยลงเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ จากการตอบกระทู้ในสภาของฝ่ายรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ตอบคำถามที่สาธารณะสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้อนุสรณ์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เหตุใดจึงทำให้รัฐธรรมนูญของประเทศไทยถึงดูไร้ค่า และถูกฉีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เกิดขึ้นในช่วงที่สิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน การทำประชามติมีความไม่ยุติธรรม การรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังนำไปสู่ระบบการเลือกตั้งที่แปลกพิสดารที่ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้กัน อย่าง ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาโดย คสช. มีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาที่เต็มไปด้วยความน่าเคลือบแคลงสงสัย

ดังนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดของ ครช. คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นอย่างรวดเร็วที่สุด โดย ครช. เป็นการรวมกลุ่มขององค์กรทางสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา อาชีพ ตลอดจนระบบคุณค่า แต่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันหนึ่งเดียวคือ เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยแท้จริง 

แผนงานของ ครช. ในช่วงเดือน กันยายน – ธันวาคม 2562 จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ขั้นตอน ในขั้นตอนที่หนึ่งคือ มุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในสังคมต่อความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และสร้างแรงกระตุ้นให้สังคมตระหนึกถึงความสำคัญในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และทำโพลสำรวจความเห็นนักศึกษาจากหลายสถาบันว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าต้องการ มองว่าควรแก้ในประเด็นอะไร ด้วยกลไกหรือวิธีการใด

ขั้นตอนที่สอง นำข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนแรกมารวบรวม นำเสนอ และแสวงหาการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง ผ่านการจัดเสวนากลุ่มปัญหา การจัดกิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนเสวนากับภาคธุรกิจและสาขาอาชีพ

ขั้นตอนที่สาม มองหากลไกหรือวิธีการในการนำข้อมูลที่ได้มาแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะจัด ‘มหกรรมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมาชิกกลุ่ม New Gen พรรคประชาธิปัตย์ และตัวแทนจากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กินความถึงอำนาจของ สมาชิกวุฒิสภา และเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางทำประชามติ 

ในด้านสมาชิกวุฒิสภา เขาเสนอให้ปรับอำนาจของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ลง ให้สอดคล้องกับความยึดโยงจากประชาชน หรือให้ยกเลิกวุฒิสภาไปเลย และเปลี่ยนมาใช้ระบบสภาเดี่ยว ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใช้ระบบนี้ ข้อดีคือจะช่วยลดงบประมาณ และขั้นตอนการทำงานภายในสภา

 ด้านแนวทางการทำประชามติ เขามองว่าไม่จำเป็นต้องมีแค่ รับ-ไม่รับ แต่ให้การลงประชามติมีทางเลือกอื่นๆ เช่น กรณีทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้หลายฝ่ายลองร่างออกมามากกว่าแค่ 1 ฉบับ และประชาชนสามารถออกเสียงเลือกได้มากกว่าแค่ฉบับเดียวหรือไม่รับเลยก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเมืองที่สร้างสรรค์ มองถึงผลประโยชน์โดยรวมของสังคมมากกว่าแค่เฉพาะกลุ่ม

ด้าน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนจากสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบัน นักเรียน นิสิต นักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไปทางไหนก็มีแต่คนคุยเรื่องการเมือง นับว่าเป็นเรื่องดี และควรผลักดันต่อ ซึ่งส่วนตัวแล้ว เขาไม่เคยคิดว่าสังคมไทยจะเดินมาถึงจุดนี้

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยจะมุ่งผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นที่ใกล้ตัว เช่น การเกณฑ์ทหาร นโยบายการศึกษา ทั้งนี้ทางสหภาพฯ มองว่า เยาวชนและคนรุ่นใหม่ควรมีสิทธิ์มีเสียงในการออกความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มของตน

ต่อมาทั้ง 28 องค์กรได้ผลัดกันแสดงวิสัยทัศน์ จุดยืน และเป้าหมาย ต่อการรวมกลุ่มในครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม และภาคประชาชน

ภาคนักวิชาการ

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล – รับผิดชอบสำรวจและเก็บข้อมูลจากนักศึกษาตามแผนงาน ว่ามีความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไร กระบวนการแก้ไขและได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตลอดจนโมเดลรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในประเทศอื่นๆ 

เครือข่ายนักวิชาการราชภัฏราชมงคลเพื่อพลเมือง – จะมุ่งรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และความเกี่ยวโยงกันระหว่างปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ โดยจะพยายามมุ่งเน้นเรื่องปากท้องเป็นหลัก

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (ครส.) – รับผิดชอบสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาจากทั้งหมด 30 มหาวิทยาลัย โดยจะรวบรวมจาก 3,000 ตัวอย่าง สำรวจในมิติของความกระตือรือร้นทางด้านการเมือง หรือความเป็น active citizen ของนักศึกษา ความรู้ ความเข้าใจในปัญหาสังคม รัฐธรรมนูญ และความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีคำถามปลายเปิด ให้ผู้เข้าร่วมลองตั้งฉายาให้แก่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – มุ่งหวังที่จะทำให้เรื่องที่เคยดูเป็นเรื่องยุ่งยาก ไกลตัว อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเมือง กลายเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการจัดเสวนา หรือโครงการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เครือข่ายนักวิชาการศึกษานโยบายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนศ.จชต.) – หนึ่งในเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดจะทำการจัดเวทีสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ภายใน-นอกกลุ่ม โดยจะแบ่งเป็นทั้งหมด 3 เวที ได้แก่ เวทีที่หนึ่ง พูดถึงการพัฒนาและปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เวที่ที่สอง เสียงสะท้อนจากผู้ได้รับความรุนแรง กรณีครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ตากใบ วิธีการป้องกันความรุนแรงผ่านทางรัฐธรรมนูญ และเวทีที่สาม กฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรง

ภาคนักศึกษาและนักกิจกรรม

สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) – เริ่มจากรายงานว่า ปัจจุบัน นิสิต นักศึกษา และนักเรียน เริ่มมีความรู้ ความเข้าใจและความสนใจเกี่ยวกับการเมืองและรัฐธรรมนูญมากขึ้น ซึ่งทางสหภาพมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนต่อไป 

เป้าหมายสูงสุดของ สนท. คือ ขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นที่พวกเขาเกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ การเกณฑ์ทหาร และการศึกษา

องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี (2P2D) – เริ่มจากผลของการสำรวจการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พบว่าชาวปัตตานีส่วนใหญ่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาตระหนักดีถึงที่มาซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย อีกสาเหตุหนึ่งหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีวิถีชีวิตที่คลุกคลีกับทหารมาอย่างยาวนาน

 ทั้งนี้ 2P2D จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับ ครช. ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นในพื้นที่ และเป็นกระบอกเสียงของคนในพื้นที่ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลุ่มโกงกาง – ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งพวกเขากล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า โครงการ EEC มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มสร้างผลกระทบและมลพิษให้กับชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนที่พวกเขาอยู่ ทั้งนี้ โครงการ EEC ปราศจากการรับฟังวามคิดเห็นและข้อเรียกร้องจากชุมชน

ภาคประชาชน

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) – รับหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาธิการของ ครช. โดยอาสาใช้พื้นที่หน้าเว็บไซต์และเพจของ iLaw เป็นพื้นที่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาการเสวนาของทุกเวทีและทุกกลุ่ม และในช่วงปลายปีจะมีโครงการเชิญชวนให้ประชาชนเขียนเรียงความ ในหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญในฝัน’ ส่งเข้ามา 

สมัชชาคนจน – เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสมาชิกอยู่จำนวนมาก และเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง แนวทางหลักของกลุ่มสมัชชาคนจนคือต้องการทำให้ประชาธิปไตยกินได้ แต่พวกเขากล่าวว่า ในบริบทของปัจจุบัน รัฐธรรมนูญไม่เพียงไม่ส่งเสริมปัญหาปากท้องของประชาชน หากยังปิดกั้นโอกาสและลิดรอนสิทธิในการทำมาหากินและชีวิตของประชาชน อาทิ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2562 พวกเขาจึงเดินหน้าลงพื้นที่ และจัดเวทีให้ความรู้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั้งยังมีการเชิญพรรคการเมืองมาร่วมรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากชาวบ้าน

โดยภายในเดือนตุลาคม กลุ่มสมัชชาคนจนจะนัดรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน – มุ่งผลักดันทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ ยกเลิกประกาศ-คำสั่งของ คสช., ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากความไม่เป็นธรรม, ผลักดันให้เกิดการตรวจสอบภาครัฐ และปฎิรูปกองทัพ

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) – ต้องการผลักดันให้ชาวบ้านและชุมชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาประกาศคำสั่งของ คสช.ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนและธรรมชาติ โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่อาศัย

ขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ขปท.) – เป็นการรวมกลุ่มกันของ 5 เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอปอ.) เครือข่ายแรงงานเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ (ครปส.) และกลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.) โดยจะมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม และขยายการรับรู้ให้กับชาวบ้านถึงความเชื่อมโยงระหว่าง รัฐธรรมนูญ สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) – มองว่ากลุ่มแรงงานค่อนข้างเป็นกลุ่มที่ตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มแรงงานถูกกดทับ 

โดยกลุ่มแรงงานจะใช้วิธีปราศรัยขยายความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับพี่น้องแรงงานตามนิคมอุตสหากรรม และหน้าโรงงานต่างๆ 

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย – สมาชิกในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเดิม โดยในขณะนี้กลุ่มดังกล่าวกำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด 3 เรื่อง หนึ่ง ล่ารายชื่อเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สอง รวมแกนนำเสื้อแดงเพื่อทำการระดมสมอง สาม ยื่นเรื่องให้ฝ่ายค้านเสนอเพื่อทำประชามติ 

กลุ่ม 24 มิถุนายนฯ ต้องการผลักดันในประเด็นที่ค่อนข้างก้าวหน้า อาทิ ให้มีการเลือกตั้งทางตรง โดยแบ่งออกเป็น เลือกตั้งคณะรัฐมนตรีทั้งชุด และเลือกตั้ง ส.ส., ยกเลิกระบบสภาคู่, เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด, กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น, ยกเลิกศาลทหาร, ให้มีการก่อตั้งเขตการปกครองพิเศษ รวมถึงสนับสนุนให้เพื่มสิทธิ เสรีภาพ และพื้นที่ในการแสดงออก

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) – เน้นการทำข้อมูลที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยจะเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเพจของกลุ่ม และผลักดันให้เกิดความรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ

เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า – กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันขึ้นจากความไม่พอใจในเนื้อหา ที่มา และการทำประชามติที่ไม่เป็นธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาควิชาการ 

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้าได้รวบรวมข้อมูล และศึกษารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วิธีการแก้ไข รวมถึงเปิดเพจในเฟซบุ๊กเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และรับข้อเสนอจากประชาชน

 ทางกลุ่มยึดหลักการที่แสดงถึงความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ ได้แก่ กติกาที่เป็นกลาง, ทำให้ประเทศก้าวหน้า และสอดรับกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยทางกลุ่มแบ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกเป็นทั้งหมด 3 หมวด ได้แก่

  1. รูปแบบ – รัฐธรรมนูญต้องถูกเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และไม่มีความยาวเกินไป

  2. กระบวนการที่ได้มา – รัฐธรรมนูญต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต้องมีความพยายามหาจุดร่วมไม่ใช่จุดตัด อาทิ การทำประชามติไม่จำเป็นต้องมีแค่การโหวต รับ-ไม่รับ แต่ให้มีตัวเลือกในทางอื่น เช่น ให้มีร่างรัฐธรรมนูญถึง 4 ฉบับ และประชาชนสามารถเลือกรับทุกร่าง หรือไม่รับสักร่างก็ได้

  3. เนื้อหาสาระ – อาทิ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ง่ายขึ้น ยกเลิกระบบสองสภา หรือปรับอำนาจวุฒิสภาให้สอดคล้องกับความยึดโยงกับประชาชน 

 

Tags: , , , ,