นอกจากคิวบา แอฟริกา และปารีสแล้ว ‘ปัมโปลนา’ เมืองทางเหนือของสเปนยังเป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีความหมายต่อนักเขียนผู้นี้ นิยายเรื่อง The Sun Also Rises ของเขาก็เกิดขึ้นจากที่นี่
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) มักเอนกายพิงพนักเก้าอี้หน้าบาร์ ที่มีขวดไวน์และคอนญักวางเรียงรายรอต้อนรับลูกค้านักดื่ม มันคือภาพและบรรยากาศที่นักเขียนอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ชื่นชอบ
รูปปั้นขนาดเท่าตัวจริงของเขายังคงตั้งตระหง่านอยู่บริเวณด้านหน้าคาเฟ่ อิรุนญา สถานที่โปรดปรานของเฮมิเวย์ (1899-1961) ในปัมโปลนา ที่แห่งนี้ เขาไม่เพียงใช้เวลาในแต่ละวันนานหลายชั่วโมงหมดไปกับการดื่มและพูดคุยเท่านั้น หากยังนำเรื่องราวของคาเฟ่ไปเขียนลงในนิยายเรื่องดัง The Sun Also Rises จนคล้ายเป็นอนุสรณ์อีกด้วย
ว่ากันว่า ความรักที่เฮมิงเวย์มีต่อปัมโปลนานั้นยาวนานตลอดชั่วชีวิตของเขา เฮมิงเวย์รักสัตว์ ไวน์ ผู้หญิง และการตกปลา ซึ่งทั้งหมดนั้นเขาสามารถพบได้ในปัมโปลนาที่เดียว
นักเขียนอเมริกันเดินทางไปที่นั่นทั้งหมด 9 ครั้ง เพื่อเข้าร่วมในเทศกาลวิ่งวัวกระทิง ‘ซาน แฟร์มิน’ (San Fermin) การเดินทางครั้งแรกในปี 1923 นั้นเขาไปขณะยังหนุ่มแน่น แต่ลุ่มหลงในประเพณีวิ่งวัวกระทิงและนักสู้วัวกระทิง ด้วยความคลั่งไคล้ในความคิดเกี่ยวกับความกล้าและความตาย ที่เขาค้นพบได้ในปัมโปลนา
นิยายเรื่อง The Sun Also Rises ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ตีพิมพ์ออกมาในปี 1926 และสร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่ชาวอเมริกันพลัดถิ่นที่ต้องเดินทางจากปารีสไปยังปัมโปลนาเพื่อสัมผัสประเพณีวิ่งวัวกระทิงให้เห็นกับตา พร้อมทั้งตระเวนดื่มตามบาร์แบบครบสูตร
“มันเป็นนิยายเศร้าเกี่ยวกับคนหลงทาง ที่มีแรงบันดาลใจมาจากตัวตนคนจริงๆ” นักวิจารณ์กล่าวขานถึงในยุคสมัยนั้น
ฮวนนิโต ควินตานา (Juanito Quintana) เพื่อนของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เป็นเจ้าของโรงแรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาสู้วัวกระทิง เขาคือต้นแบบของตัวละคร ‘ฮวนนิโต มอนโตยา’ ในนิยายของเขา ในช่วงทศวรรษ 1920s เฮมิงเวย์เองก็พักค้างอยู่ในโรงแรมกินตาน่า (Quintana) บ่อยครั้ง มันเป็นโรงแรมที่เคยมีทำเลอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคาเฟ่ อิรุนญา บริเวณจัตุรัสปลาซา คาสติโญ
“มันช่างรื่นรมย์ เวลาหลบแสงแดดเข้ามาในร่มเงาของชายคาอาคาร ที่เป็นแนวอาเขตรอบลานจัตุรัส” เขาเขียนไว้ใน The Sun Also Rises และถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะไม่มีโรงแรมดังกล่าวแล้ว ทว่าแนวอาเขตบริเวณลานจัตุรัสยังคงมีอยู่ และยังคงเสน่ห์ไว้เช่นเดิม
แต่แม้เฮมิงเวย์จะพร่ำพรรณนาชื่นชมปัมโปลนามากเท่าใด คนท้องถิ่นกลับไม่ได้ซาบซึ้งตาม หากมีความรู้สึกทั้งรักและเกลียดอยู่ในที เพราะคนที่นั่นส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านหนังสือของเขา พวกเขาจดจำได้เพียงเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์จากทศวรรษ 1950s ที่วันๆ ชอบขลุกตัวอยู่แต่ในบาร์และดื่มกินอย่างเมามาย
เฮมิงเวย์เคยรักปัมโปลนามากกว่าปัมโปลนารักเขาเสียอีก แต่ถึงอย่างนั้น ประชากรที่นี่ก็ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรกับการเอาชื่อของเขามาทำธุรกิจ ชื่อของเฮมิงเวย์มีให้เห็นทั่วไป ทั้งร้านขายของ ร้านอาหาร หรือบาร์คาเฟ่ เทศบาลยังจัดทัวร์ตามรอยของเขาด้วยซ้ำ อีกทั้งที่ด้านหน้าสนามสู้วัวกระทิงยังมีอนุสรณ์สถานของเขาเพื่อเชิดชูเกียรติ
ไม่กี่เมตรถัดจากคาเฟ่ อิรุนญา เป็นที่ตั้งของโรงแรม ลา แปร์ลา (La Perla) ซึ่งป่าวโฆษณาว่านักเขียนชื่อดังเคยเข้าพักในห้องสวีทของโรงแรมหลายครั้ง หากใครต้องการห้องดั้งเดิมที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนในช่วงเทศกาลสู้วัวกระทิงละก็ จะต้องจ่ายค่าห้องพักกว่า 2,000 ยูโร (ราว 77,000 บาท) ต่อคืน แต่ความเป็นจริงที่ว่า เฮมิงเวย์เคยมาพักที่โรงแรมลา แปร์ลา หรือไม่ ไม่มีใครสามารถยืนยันได้
นักเขียนผู้เป็นตำนานสร้างชื่อปัมโปลนาให้เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก เทศกาลวิ่งวัวกระทิง ซาน แฟร์มิน (นักบุญอุปถัมภ์เมือง) ในแต่ละปีจะมีผู้คนไหล่บ่ากันมาอย่างคับคั่ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะเทศกาลเช่นนี้ไม่ได้จัดขึ้นทุกวัน
“ฟิเอสตาเริ่มขึ้นแล้วจริงๆ” จาค็อบ ‘เจค’ บาร์นส์-ตัวตนของเฮมิงเวย์ในนิยาย กล่าวอย่างตื่นเต้น “มันดำเนินไปทั้งวันและคืน ตลอดเจ็ดวัน ทุกคนเต้นรำและดื่มมิได้พัก”
ครั้นเมื่อเส้นผมของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เริ่มเป็นสีดอกเลา เป็นเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์และรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เดินทางกลับไปที่เมืองหลวงของแคว้นนาบาร์ราอีกครั้งในปี 1959 เขาถึงกับตระหนก ที่ในช่วงงานเทศกาลไม่ได้มีนักท่องเที่ยวแค่หยิบมือเดียวอย่างที่เคยพบเห็น แต่กลับมีจำนวนถึง 40,000 คน เขาเขียนเล่าอย่างสะท้อนใจเป็นบทความให้กับนิตยสารไลฟ์
นอกเหนือจากนั้นแล้ว เขาพบว่า ปัมโปลนาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก อีกทั้งยังพรรณนาออกตัวตามแบบฉบับเฮมิงเวย์ “ไวน์ยังรสชาติดีเหมือนเดิม อาหารก็เยี่ยมยอดเหมือนเก่า …ไม่มีใครแพ้กัน”
ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ยังคงมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเยือนปัมโปลนาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อร่วมฉลองเทศกาล และเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีวิ่งวัวกระทิง…ไม่ว่าจะมีคนบาดเจ็บหรือล้มตายก็ตาม
อ้างอิง:
Fact Box
เทศกาลวิ่งวัวกระทิง ที่ปัมโปลนา ผู้เข้าร่วมวิ่งจะแต่งกายด้วยชุดสีขาว ผูกผ้าพันคอสีแดง เพื่อดึงดูดสายตาของวัวกระทิง ช่วงเช้าของวันงานจะมีการปล่อยวัวกระทิงจากคอกในเมือง ให้วิ่งไปตามเส้นทางซึ่งเป็นตรอกแคบ ระยะทางราว 850 เมตร โดยมีบรรดาผู้กล้าร่วมวิ่งไปพร้อมกับวัวกระทิงอย่างอลหม่าน จากนั้นในช่วงบ่ายงานจะย้ายเข้าสู่สนามกีฬาสู้วัวกระทิง ซึ่งมีมาทาดอร์ นักสู้วัวกระทิง รอประลองความกล้ากับวัวกระทิงอยู่ เทศกาลนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับแต่อดีต ในแต่ละปีมักจะมีนักท่องเที่ยวหลายคนได้รับบาดเจ็บ ทั้งจากถูกวัวกระทิงเหยียบหรือขวิด
The Sun Also Rises เฮมิงเวย์เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเดินทางไปเยือนปัมโปลนา และการเข้าร่วมประเพณีวิ่งวัวกระทิงครั้งแรก ในเทศกาล ซาน แฟร์มิน ก่อนเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 1925 ในวาเลนเซีย แล้วย้ายไปแมดริด ซานเซบาสเตียน ร่างแรกของต้นฉบับเสร็จวันที่ 6 กันยายนที่ปารีส ฤดูหนาวในปีเดียวกัน เขานำต้นฉบับฉบับร่างไปปรับแก้และตัดทอนที่มอนทาโฟน-ทาล ในออสเตรีย ก่อนเสร็จสมบูรณ์ และจัดส่งให้แม็กซ์เวลล์ เพอร์กินส์ (Maxwell Perkins) ที่สำนักพิมพ์สคริบเนอร์ นครนิวยอร์ก ในเดือนเมษายนปี 1926 ทุกวันนี้ The Sun Also Rises ยังนับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ปี 1998 โมเดิร์น ไลบรารี ได้บรรจุนิยายเรื่องนี้ไว้ในลิสต์ ‘หนังสือนิยายภาษาอังกฤษ 100 เรื่องที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20’ เป็นลำดับที่ 45
ฤดูร้อนปี 1959 ที่ปัมโปลนา แคว้นนาบาร์รา คือช่วงเวลาที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์พบความสุขครั้งสุดท้ายของชีวิต เขาเดินทางกลับไปที่นั่นครั้งสุดท้ายในวันที่ 6 กรกฎาคม เพื่อหวนรำลึกถึงความหลังครั้งวัยหนุ่ม และเดินทางต่อไปฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีที่มาลากา ก่อนเข้ารับการบำบัดทางจิต-รักษาด้วยเครื่องช็อคไฟฟ้า และจบชีวิตลงด้วยปืนล่าสัตว์ ในตอนเช้าของวันที่ 2 กรกฎาคม 1961 ภายในบ้านพักที่เคตชัม รัฐไอดาโฮ สี่วันต่อมามีพิธีฝังศพของเขา เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับที่เทศกาลวิ่งวัวกระทิงในปัมโปลนากำลังเริ่มต้นขึ้น