ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นชายผู้ทรงอำนาจที่สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) แต่ครั้นเยอรมนีรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ผู้นำแห่งเยอรมนีตะวันออกกลับต้องถูกนำตัวขึ้นศาล และออกเดินทางลี้ภัยไปประเทศชิลีทันทีที่ได้รับอิสรภาพ
ภาพสุดท้ายของเยอรมนีที่ เอริค โฮเน็กเกอร์ (Erich Honecker) เห็น คือแสงไฟบนรันเวย์ของสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต เขาเหลือบมองผ่านกระจกหน้าต่างตรงที่นั่งหมายเลข 13A ในห้องโดยสารชั้นบนของเครื่องบินโบอิง 747 สายการบินวาริก ของบราซิล ที่เชิดหัวบินขึ้นก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 13 ม.ค. 1993 ชั่วขณะนั้นเขารู้แก่ใจดีว่า เขาจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเหยียบผืนดินประเทศเยอรมนีอีกแล้ว
เขาเบนสายจากกระจกหน้าต่าง เพ่งมองตรงไปข้างหน้าอยู่นาน ก่อนก้มหน้าลงสำรวจกระดาษเอกสารที่กองอยู่บนตัก ชายผู้ได้ชื่อว่าเคยทรงอำนาจที่สุดของเยอรมนีตะวันออกมาตลอด 18 ปี กำลังผละออกจากบ้านเกิดเมืองนอนที่กำลังรวมชาติเป็นปึกแผ่นประเทศเดียว ไม่แสดงออกถึงความรู้สึกใดๆ บนสีหน้า
ในตอนเช้าของวันนั้น เอริค โฮเน็กเกอร์ ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำโมอาบิต ในกรุงเบอร์ลิน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินความไม่ให้ดำเนินคดีฟ้องร้องใดๆ กับจำเลยผู้ป่วยอาการสาหัส ‘ซึ่งอาจเสียชีวิตก่อนการพิจารณาคดีความต่างๆ จะสิ้นสุดลง’ และถึงแม้จะมีการคัดค้านจากฝ่ายอัยการให้ไต่สวนคดีต่อ ทว่าก็ยินยอมให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นอิสระ
เหตุเพราะระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย ทำให้โฮเน็กเกอร์ต้องถูกรั้งตัวไว้นานหลายชั่วโมงในที่คุมขังของตำรวจใกล้สนามบินเทเกล กว่าที่เขาจะได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในสนามบิน เพื่อนั่งเครื่องไปยังแฟรงก์เฟิร์ต ถึงตอนนั้น เป็นอันสิ้นสุดคดีความที่เกี่ยวกับเขา – คดีสุดท้ายที่เขาเผชิญในศาลว่าด้วยความผิดที่เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงผู้หลบหนีบริเวณชายแดนใกล้กำแพงเบอร์ลินถึงแก่ความตาย
แม้ว่า ‘คณะทำงานสะสางคดีอาชญากรรมระดับรัฐบาล’ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษของอัยการที่ชำระคดีความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นในเยอรมนีตะวันออกโดยเฉพาะ ได้ยื่นสำนวนฟ้องพร้อมหลักฐานเอาผิดแน่นหนา ส่งให้ศาลพิจารณาคดีอย่างเร่งด่วน ทว่าหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันหนักแน่นเช่นกันว่า โฮเน็กเกอร์มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เกินสองปี ไม่ทันที่การไต่สวนคดีจะสิ้นสุด
ระหว่างนั่งเครื่องบินจัมโบไปยังอเมริกาใต้ โฮเน็กเกอร์อ่านสำนวนสรุปเกี่ยวกับคดีในศาลที่เขาเพิ่งรอดพ้นมาได้ เนื้อหาของสำนวนฟ้องกล่าวถึงอดีตผู้นำรัฐที่ควรรับผิดชอบต่อความตายของประชาชนนับร้อยคนซึ่งหลบหนีออกจากแดนตะวันออก โดยเฉพาะบริเวณกำแพงเบอร์ลิน
คนที่นั่งถัดจากโฮเน็กเกอร์บนเครื่องบินคือ เคลาส์ เฟสเค (Klaus Feske) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูง อดีตประธานคณะกรรมาธิการสมานฉันท์ ที่เรี่ยไรเงินบริจาคมาเพื่อซื้อตั๋วโดยสารชั้นหนึ่งให้กับโฮเน็กเกอร์ ทั้งเฟสเคและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นนายตำรวจจากเบอร์ลินสองคน คอยกันนักข่าวที่เดินทางติดตามไปกับเที่ยวบินนั้นด้วย
ช่วงหนึ่งของการเดินทาง นักข่าวคนหนึ่งมีโอกาสได้เข้าถึงตัว เอริค โฮเน็กเกอร์ และส่งมอบภาพถ่ายจากอดีตให้เขาเก็บไว้เป็นที่ระลึก โฮเน็กเกอร์หยิบภาพถ่ายขึ้นพิจารณาดูทีละภาพอย่างสนใจ และแสดงความเห็นต่อทุกภาพ ยกเว้นภาพเดียว เป็นภาพที่เขาถ่ายคู่กับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อปี 1987 ที่สนามบินเชินเนเฟลด์ (เบอร์ลินตะวันออก) เขาส่งคืนให้นักข่าวพร้อมทั้งโบกไม้โบกมือเป็นนัยให้เก็บไปห่างๆ ผู้นำสหภาพโซเวียตคนนี้ สำหรับเขาแล้วเปรียบเสมือนสัปเหร่อผู้กลบฝังเยอรมนีตะวันออก
การเดินทางไปเยือนเบอร์ลินตะวันออกของกอร์บาชอฟเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1989 ในวาระครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งประเทศเยอรมนีตะวันออก นับเป็นจุดเริ่มต้นของบทอวสานเยอรมนีตะวันออกเช่นกัน ประชาชนพากันตะโกนร้องแสดงความปรีดา ไม่ใช่ให้กับผู้นำสาธารณรัฐ หากส่งเสียงให้กับ “กอร์บี, กอร์บี” ผู้นำนักปฏิรูปจากเครมลิน สิบวันถัดจากนั้น สมาชิกพรรค SED (Sozialistische Einheitspartei Deutschlands หรือ พรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี) ก็ปลดหัวหน้าพรรค และเปิดกำแพงที่เคยปิดกั้นระหว่างตะวันออกและตะวันตก
นับแต่นั้นมา การผจญภัยอันยาวนานของ เอริค โฮเน็กเกอร์ ก็เริ่มต้นขึ้น – เขาได้รับแจ้งให้ย้ายออกจากที่พำนัก และปลายเดือนธันวาคม 1989 หลังจากเขาเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกจากไตด้านขวาแล้ว หากบาทหลวงจากรัฐบาลชุดเก่าไม่รับเขาเข้าไปพักพิงในคริสตจักร โฮเน็กเกอร์ก็คงกลายเป็นคนไร้บ้าน
ภายหลังการรวมชาติเยอรมนีในวันที่ 3 ตุลาคม 1990 ฝ่ายกฎหมายของเยอรมนีตะวันตกพยายามยื่นฟ้องเอาผิดโฮเน็กเกอร์ข้อหาเป็นเหตุให้คนเสียชีวิต พนักงานสืบสวนไปค้นพบหลักฐานเป็นเอกสาร ‘คำสั่งยิง’ จากปี 1974 ซึ่งลงนามโดยโฮเน็กเกอร์ ขณะดำรงตำแหน่งประธานหน่วยความมั่นคงแห่งชาติ
เพื่อให้โฮเน็กเกอร์หลุดพ้นจากการคุกคาม ในเดือนมีนาคม 1991 อดีตนายทหารซึ่งเคยประจำการในเยอรมนีตะวันออกยื่นมือให้ความช่วยเหลือเขาในการหลบหนีไปยังมอสโก ที่นั่น ทูตของชิลียังยื่นข้อเสนอให้เขาลี้ภัยอีกด้วย เพื่อตอบแทนบุญคุณ ที่เยอรมนีตะวันออกเคยโอบอุ้มผู้ลี้ภัยจำนวนนับพันคนเข้าประเทศ หลังจากกองทัพยึดอำนาจการปกครองจาก ซัลวาดอร์ อัลเลนเด (Salvador Allende) ในปี 1973 แต่สถานการณ์เริ่มบีบคั้นจากรัฐบาลใหม่ของรัสเซีย ภายใต้การนำของบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) ทำให้โฮเน็กเกอร์ต้องเดินทางกลับเบอร์ลินอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 1992 และถูกจับกุมตัวในทันที
วันที่ 12 พ.ย. 1992 ศาลเริ่มไต่สวนคดีความของเอริค โฮเน็กเกอร์ พร้อมจำเลยอีกห้าคน ทั้งหมดเป็นสมาชิกฝ่ายการเมืองของเยอรมนีตะวันออกที่ยังมีชีวิตอยู่ และที่มีส่วนร่วมในคดี ‘คำสั่งยิง’ พลเรือนผู้หลบหนี จำเลยหนึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงเอริค มีลเค (Erich Mielke) ผู้บัญชาการหน่วยความมั่นคงแห่งรัฐ หรือ Stasi ด้วย
โฮเน็กเกอร์ยื่นหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลในมอสโกออกให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1992 ระบุผลวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคมะเร็ง และในเดือนสิงหาคม แพทย์ของโรงพยาบาลในเบอร์ลินยืนยันรับรองอีกครั้ง ทำให้เขาได้รับการยกเว้นจากการตกเป็นจำเลย
ก่อนเครื่องบินจะร่อนลงที่เมืองเซาเปาโลของบราซิล เอริค โฮเน็กเนอร์นำถุงยาออกจากซองกระดาษสีน้ำตาลมาจัดเรียง และแบ่งเป็นจำนวนวันที่ต้องกินลงในกล่องบรรจุ เขานั่งเครื่องบินโบอิง 767 ที่นั่งหมายเลข 1A ต่อไปยังซานติอาโก ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเทเกลในเบอร์ลินราว 22 ชั่วโมง เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย เขาผละออกจากเครื่องบินเป็นผู้โดยสารคนสุดท้าย
สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของชิลีจำนวน 150 คนมายืนต้อนรับ พร้อมโบกธงเยอรมนีตะวันออกผืนเล็กๆ โฮเน็กเกอร์โบกมือตามสัญชาตญาณผู้นำจากประตูทางออกมาที่ฝูงชน เดินผ่านโถงทางเดิน และหยุดสวมกอดมาร์กอต (Margot Honecker) ภรรยาซึ่งเดินทางล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1992
จากสนามบิน โฮเน็กเกอร์ถูกนำตัวไปส่งตรวจสุขภาพที่คลินิกเอกชนในลาส คอนเดส แพทย์ตรวจพบว่า ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ไม่กี่วันต่อมา โฮเน็กเกอร์ก็ย้ายเข้าไปอยู่ในที่พักหลังใหม่ในย่านลา ไรนา เป็นบ้านสองชั้น ห้าห้อง ซ่อนอยู่ด้านหลังกำแพงสีเขียว
เอริค โฮเน็กเกอร์พำนักอยู่ที่นั่นอย่างโดดเดี่ยวอีก 16 เดือน คนใกล้ชิดรายงานว่า เขาคิดถึงบ้านที่เยอรมนี เนื่องจากเขาพูดภาษาสแปนิชไม่เป็น และฟังไม่เข้าใจ อีกทั้งเขายังมีคนรู้จักในชิลีน้อยมาก “แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เป็นอย่างดี” มาร์กอต โฮเน็กเกอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของเยอรมนีตะวันออก บอกเล่า “ก็เอาชนะโรคร้ายของเอริคไม่ได้”
เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1994 พิธีเผาศพของเขาจัดขึ้นที่สุสานกลางของซานติอาโก ภรรยาของเขานำเถ้ากระดูกกลับบ้านที่เยอรมนี แต่ต่อมาก็นำกลับไปฝังที่สุสานเดิม
Tags: Erich Honecker, เคลาส์ เฟสเค, Klaus Feske, เยอรมนีตะวันออก, พรรคคอมมิวนิสต์, เอริค โฮเน็กเกอร์