‘คนกลุ่มหนึ่งทำร้าย คนอีกกลุ่มปกป้อง’ วงจรนี้ดำเนินมาอย่างเนิ่นนานในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทว่าปี 2020 นับเป็นอีกปีแห่งความเลวร้าย เมื่อนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต้องสังเวยชีวิตให้แก่คนกลุ่มตรงข้ามกว่า 227 ราย ตามรายงานใหม่ล่าสุดของ ‘Global Witness’ องค์กรเอ็นจีโอระดับโลกที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รายงานระบุว่า การฆาตกรรมเกือบ 1 ใน 3 เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมือง การทำธุรกิจเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การทำเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยการตัดไม้ทำลายป่ามีความเชื่อมโยงกับการฆาตกรรมมากที่สุด มีเกิดขึ้นถึง 23 กรณีในประเทศบราซิล นิการากัว เปรู และฟิลิปปินส์ 

สิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะแถบประเทศนอกทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนียเกือบทั้งหมด รายงานระบุว่า ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ก็เหมือนกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำ และการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวจะทำให้ชุมชนพื้นเมืองมากกว่า 1 ใน 3 ได้รับความเดือดร้อน แม้จะคิดเป็นเพียง 5% ของประชากรโลกก็ตาม

ประเทศแถบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง อันเป็นที่ตั้งของความหลากหลายทางชีวภาพ และผืนป่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลกซึ่งยังรอดพ้นจากการถูกทำลาย กลายเป็นภูมิภาคอันตรายที่สุดสำหรับผู้พยายามต่อต้านการรุกคืบเข้ามาของนายทุน โดยปีที่ผ่านมาประเทศโคลอมเบียมีนักเคลื่อนไหวเสียชีวิตมากกว่า 65 ราย สูงเป็นอันเดับหนึ่ง ตามมาด้วยประเทศเม็กซิโก ที่มีผู้เสียชีวิต 30 ราย อันดับสามคือ ฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิต 29 ราย และบราซิลอยู่ในอันดับ 4 มีผู้เสียชีวิต 20 ราย

คริส แมดเดน (Chris Madden) นักกิจกรรมอาวุโสของ Global Witness เรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังกับการปกป้องนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทต่างๆ ต้องเริ่มให้ความสำคัญกับคนและโลกก่อนผลกำไร ไม่เช่นนั้นทั้งภาวะโลกร้อนและการสังหารนักเคลื่อนไหวจะยังดำเนินต่อไป

“ข้อมูลชุดนี้เป็นเครื่องเตือนใจอีกอย่างหนึ่งว่า การต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นภาระหนักหนาสำหรับบางคนที่เสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องป่าไม้ แม่น้ำ และระบบนิเวศ ที่จำเป็นต่อการรับมือกับภาวะโลกร้อน สิ่งนี้ควรต้องหยุดลง” แมดเดนกล่าว 

นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2015 โดยเฉลี่ยมีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมถูกฆาตกรรม 4 รายต่อสัปดาห์ แต่ตัวเลขที่น่าตกใจนี้อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องด้วยข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นเรื่องความโปร่งใส เสรีภาพสื่อ และสิทธิของพลเมือง ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

เบื้องต้นทางองค์กรได้ร่างข้อเสนอสำหรับรัฐบาลและบริษัทต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงรุนแรงจากการดึงทรัพยากรในอนาคตมาใช้ พร้อมตั้งความหวังกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยุโรปร่างขึ้น ซึ่งกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานของตน ขณะเดียวกันก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ บูรณาการการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่จะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย 

อ้างอิง: 

https://www.theguardian.com/environment/2021/sep/13/murders-environment-land-defenders-record-high

https://www.bbc.com/news/science-environment-58508001

https://www.npr.org/2021/09/13/1036575970/killing-land-climate-environmental-activist-global-witness

Tags: , , , ,