ช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากเวทีเสวนาภาคประชาชน ว่าด้วยเรื่องปัญหาบริเวณ ‘ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา’
ภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบดังกล่าว ตัวแทนคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ทะเลสาบสงขลากำลังเสื่อมโทรมลงตามลำดับ แม้จะมีการทุ่มงบประมาณจากภาครัฐเพื่อดูแล และมีหน่วยงานร่วมกันดูแลอยู่ถึง 20 องค์กร แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาถูกจุด
ต่อมา ร่มธรรม ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ นำปัญหาและความคิดเห็นจากเวทีเสวนาข้างต้นมาอภิปรายต่อสภาผู้แทนราษฎร ก่อนทิ้งท้ายด้วยการเสนอให้เปลี่ยนชื่อทะเลสาบแห่งนี้เป็น ‘ไทยลากูน’ เพื่อความเป็นสากลและสร้างความตระหนักรู้ถึงบริบทระบบนิเวศ
ถึงกระนั้น ข้อเสนอดังกล่าวกลับสวนทางกับความเห็นของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด เช่น
“เอะอะก็จะเสนอเปลี่ยนชื่อ ชื่อเดิมไม่ดีอย่างไร”
“ชาวบ้านเขาเรียกกันมาตั้งนานนม ทำไมต้องเปลี่ยน หรือว่ารังเกียจภาษาไทย”
“เท่ อินเตอร์ แต่ดูเหมารวม ไร้ราก”
เหล่านี้คือตัวอย่างของเสียงตอบรับส่วนใหญ่ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากผู้ใช้โซเชียลฯ บนโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นว่า นอกจากไม่ใช่ทุกฝ่ายที่เห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอดังกล่าว คนไทยยังกังวลว่า ชื่อที่เปลี่ยนอาจบังเอิญลบเลือนตัวตน ความทรงจำ และสำนึกต่อถิ่นที่ของคนในท้องถิ่น
ลากูน (Lagoon) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง’ หรือแหล่งน้ำตื้นที่อยู่ใกล้ชิด แต่ถูกแบ่งแยกออกจากทะเลด้วยตะกอน เนินทราย เกาะสันดอนหรือแนวปะการัง ส่วนใหญ่จะมีทางเปิดสู่ทะเล ต่างจากทะเลสาบปกติตรงที่ทะเลสาบมักจะเป็นแอ่งน้ำที่ลึกกว่า และมีตำแหน่งที่ตั้งไม่ใกล้ชิดกับทะเลเท่ากับลากูน
ปัจจุบัน ลากูนเหลืออยู่เพียง 117 แห่งทั่วโลก โดยลุ่มน้ำที่เราเรียกกันว่า ‘ทะเลสาบสงขลา’ เป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบทะเลสาบแบบลากูนขนาดใหญ่ รองรับทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ผสมผสานปนเปอยู่ตลอดเวลา ในฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำจืดลดน้อยลง น้ำในทะเลสาบจะแบ่งเป็นสามน้ำชัดเจน คือตอนบนเป็นน้ำจืด ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม
เมื่อพิจารณาถึงหลักภูมิศาสตร์ ทะเลสาบสงขลาจึงมีคุณลักษณะที่สมควรถูกจำแนกเป็นลากูนมากกว่าทะเลสาบ ความจริงข้อนี้อาจเป็นเหตุผลให้ ส.ส.จังหวัดพัทลุง ตัดสินใจขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนชื่อ นอกเหนือจากนั้น การปะทะกันระหว่างสำนึกต่อถิ่นที่ของคนสงขลากับคนพัทลุง อาจมีความสำคัญต่อร่มธรรมในฐานะผู้นำของจังหวัดพัทลุงด้วยเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อทะเลสาบสงขลาที่กลายมาเป็นชื่อทางการนี้ มีที่มาจากความชนะในการช่วงชิงความหมายของฝั่งสงขลา เนื่องจากเดิมพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณนี้เคยเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงในฐานะ ‘ทะเลสาบพัทลุง’ และปัจจุบัน คนพัทลุงบางส่วนก็ยังคงเรียกขานสถานที่แห่งนี้ด้วยนามเดิมอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อใหม่ ‘ไทยลากูน’ จะถูกเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจถึงบริบทและความสำคัญที่แท้จริงของระบบนิเวศแห่งนี้ อาจซื่อตรงต่อลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริงมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน ชื่อนี้ก็จะลดทอนความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับท้องถิ่น ทั้งในรอบฝั่งสงขลาและฝั่งพัทลุง
กลายเป็นลากูนที่ไม่มีทั้งชื่อจังหวัดพัทลุงหรือสงขลาห้อยท้ายนามอีกต่อไป แต่กลายเป็น ‘ของไทย’ ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ไม่มีใครแน่ใจว่า สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้มากแค่ไหน และจะช่วยให้คนในประเทศหวงแหนหรือภูมิใจในแหล่งน้ำแห่งนี้ขึ้นมาอย่างที่คาดหวังกันจริงหรือไม่ คงได้แต่ติดตามต่อในอนาคต
อ้างอิง
https://ngthai.com/environment/43597/songkhla-lake
https://mgronline.com/south/detail/9670000002170
Tags: Environment, พัทลุง, ทรัพยากรธรรมชาติ, สงขลา, ทะเลสาบสงขลา, ไทยลากูน, แหล่งน้ำ