ปัจจุบัน จังหวัดระยองเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 3,075 แห่ง มีส่วนสำคัญในการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานมากถึง 196,000 คน ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของประชากรจังหวัดระยอง พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาเป็นเวลา 15 ปีซ้อน
ด้วย ‘ทำเล’ ของพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงของประเทศ สามารถเชื่อมต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งแรงงานและวัตถุดิบ รวมไปถึงตำแหน่งที่อยู่ติดกับอ่าวไทย อันเป็นช่องทางเข้าออกสำคัญในการส่งสินค้าทางทะเล ดังนั้น ชายฝั่งภาคตะวันออกในระยองจึงได้รับความสนใจจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่อยากจะเข้ามา ‘เพิ่มขีดศักยภาพทางเศรษฐกิจ’ ให้กับพื้นที่อยู่เสมอ
ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ คือสิ่งที่ถูกแลกมากับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระยะยาวนานัปการ กระทั่งในปัจจุบัน ระยองได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่ลักลอบทิ้งของเสียจากอุตสากรรมมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
เราชวน ‘ภาราดร ชนะสุนทร’ ประธาน ‘กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน’ และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านของอำเภอบ้านค่าย มาบอกเล่าประสบการณ์ของเขาในฐานะนักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนภาคประชาสังคมถิ่นระยอง
ภาพระยองในความทรงจำ ก่อนหน้าที่จะมีนิคมอุตสาหกรรม มีหน้าตาเป็นอย่างไร พอจำได้ไหม
หากย้อนไปสัก 40-50 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าในด้านของความเจริญ พัฒนาการเมืองของระยองในสมัยนั้นคงไม่อาจสู้ความสะดวกสบายที่มีอยู่ในสมัยนี้ แต่ในด้านความสุข สำหรับผมถือว่ามีมากทีเดียว ทั้งในด้านของความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นทำกิน ขณะที่ผมยังเป็นเด็ก เพียงลงไปที่คลองหลังบ้าน เราก็ได้ปลามาแล้ว 4-5 ตัว เหมือนมีเซเว่นฯ มีโลตัสเป็นของเราเองส่วนตัว นำมาประกอบอาหารได้เลยโดยไม่ต้องเสียเงิน
ไหนจะสภาพเศรษฐกิจและสังคมยุคก่อน ที่เอื้อให้ครอบครัวเพื่อนฝูงสามารถอยู่กันพร้อมหน้าได้ ต่างจากเศรษฐกิจสมัยนี้โดยสิ้นเชิง ปัจจุบันเริ่มมีแรงงานจากนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้าแข่งขันกับแรงงานพื้นถิ่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเริ่มแยกย้าย กระจัดกระจายกันออกไปคนละทิศละทาง บ้างก็ย้ายไปหางานทำที่อื่น กลายเป็นแรงงานพลัดถิ่น
จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเข้ามามีบทบาทของนิคมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนระยองไปแล้วตลอดกาล ในแง่ที่ว่าวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกันในสังคมเกษตรกรรมกำลังค่อยๆ เลือนหายไป
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยองเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร
เริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณสิบกว่าปีก่อน ที่ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเสียเป็นอันดับแรก ตอนนั้นพวกเราจึงเริ่มเขาไปตรวจสอบว่าน้ำเสียด้วยสาเหตุจากอะไร จนพบว่าไม่ใช่แค่การปล่อยน้ำเสียออกจากนิคมโดยตรงอย่างที่เราคาดคิดกันเท่านั้น แต่เป็นการเน่าเสียของน้ำอันเป็นผลจาก ‘ขยะอุตสาหกรรม’ ที่ถูกลักลอบฝังกลบเอาไว้ในพื้นที่ใกล้แหล่งทำกิน
ขยะอุตสาหกรรมเหล่านี้ต่างจากขยะอินทรีย์จากครัวเรือนที่เราเห็นกันบ่อยจนคุ้นเคยตา นอกจากจะไม่สามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรและไม่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติได้ มันยังก่อให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใกล้เคียง
ตัวอย่างเช่น กรณีบ้านหนองพะวาที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำเป็นกรดจากการปนเปื้อนสารเคมีมานานหลายปี ทำให้ปลาลอยตายไม่เหลือ ส่วนพืชผลทางการเกษตรในละแวกใกล้เคียงมูลค่ากว่าพันล้านเสียหาย คิดเป็นสวนยางไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ และที่นาประมาณ 40 ไร่ ในปัจจุบัน ชาวบ้านแทบไม่มีหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูพื้นที่ส่วนนี้กลับมาได้ในเวลาอันใกล้นี้เลย
ภาพความเดือดร้อนชัดเจนขนาดนี้ เหตุใดภาครัฐจึงนิ่งเฉยอยู่ได้โดยไม่เร่งตรวจสอบ
ถามว่าการตรวจสอบมีไหม ต้องตอบว่ามี แต่ความล่าช้าของหน่วยงานราชการที่เข้ามาตรวจสอบถือเป็นปัญหาสำคัญ ผมไม่อยากจะกล่าวโทษหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ขอยกตัวอย่างกรณีที่โรงงานปล่อยน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น จนผมต้องส่งหนังสือคำร้องขอให้เข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยด่วน แต่กลับใช้เวลานานถึง 14 วัน กว่าจะลงพื้นที่มาตรวจ
ถามว่ากลิ่นเหม็นจะยังอยู่ให้ตรวจที่ตำแหน่งเดิมหรือ หลายครั้งเมื่อผู้ประกอบการเขารู้ว่าเราทำหนังสือแจ้ง เขาก็เข้ามาทำลายหลักฐาน ใช้น้ำสะอาดชะล้างไปหมดแล้ว
หรือในบางกรณีก็ยืนยันกลับมาว่าตรวจพบ แต่กลับดำเนินการแก้และจำกัดขอบเขตปัญหาได้ล่าช้าเกินไป จนในที่สุดปัญหาก็แพร่กระจายเป็นวงกว้างกว่าเดิมจนยากจะควบคุม
เมื่อเป็นแบบนี้แล้วชาวบ้านอยู่กันอย่างไร สุขภาพได้รับผลกระทบบ้างไหม
อย่างที่เราเห็นกันว่า อุตสาหกรรมมุ่งมาที่ระยองและภาคตะวันออก สิ่งที่กังวลมากที่สุดก็คือหากการปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไปสู่ร่างกายของชาวบ้านในชุมชน จนในที่สุดกลายเป็นว่าคนระยองรุ่นต่อๆ ไปจะต้องถูกบีบให้เป็น ‘ผู้เสียสละ’ แบกรับผลกระทบจากขยะอุตสาหกรรมให้กับคนทั้งประเทศ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลในระยองสร้างเท่าไรก็ไม่พอ เราได้ยินคำว่า ‘เต็ม’ อยู่ตลอด ชวนให้ตั้งคำถามว่า
1. โรครุมเร้า ปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมีผลกระทบมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้หรือเปล่า สุดท้ายแล้ว คนระยองที่ทำงานมาตลอดชีวิต โดยหวังว่าจะใช้ชีวิตสุขสบายในช่วงบั้นปลาย จะต้องเอาเงินนั้นไปรักษาตัวหมดหรือ?
2. ในเมื่อเปิดรับแรงงานข้ามถิ่น แรงงานข้ามชาติเข้ามา จนมีประชากรแฝงคิดเป็นร้อยละ 74% ของประชากร แต่เหตุใดเราจึงมีโรงพยาบาลรัฐเท่าเดิม ใครอยากจะเข้ารักษาทีหนึ่งก็ต้องเจอกับคิวยาวเหยียด จนบางครั้งเราไม่รู้เลยว่ากำลังไปรักษา หรือกำลังไปตายที่โรงพยาบาล
เขาว่ากันว่าคนระยอง ‘รวยที่สุดในประเทศ’ อ้างอิงจากตัวเลข GDP ต่อหัวภายในจังหวัดที่สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมา 15 ปีซ้อน คุณเห็นด้วยไหม
ภาครัฐ หน่วยงาน และสื่อกระแสหลักหลายเจ้าเขาก็ว่ากันว่าอย่างนั้น จึงก่อเกิดเป็นภาพจำว่าคนระยองร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยอานิสงส์จากโครงการต่างๆ และนิคมอุตสาหกรรมที่ผลักดันโดยภาครัฐในยุค Eastern Seaboard ที่มีขึ้นในสมัยของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ปี 2523-2531)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังมองไม่ออกเลยว่า GDP รายหัวที่ว่ากันว่าตกหัวละประมาณ 8 หมื่นบาทต่อเดือน จะตกมาถึงมือของคนระยองจริงอย่างที่เขาว่าได้อย่างไร ในเมื่อมองไปรอบตัว ผมก็ยังคงเห็นชาวบ้านคนระยองแท้ๆ จำนวนมากทำงานหาเช้ากินค่ำ คนที่แทบไม่มีจะกิน หรือแม้กระทั่งขอทานก็มีให้เห็น
แต่หากยึดตามคำโฆษณาของโครงการเหล่านี้ คำสัญญาประการหนึ่งของการสร้างนิคม คือการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นไม่ใช่หรือ?
แน่นอนว่าการที่อุตสาหกรรมเข้ามาในระยองมากๆ ได้เปิดช่องทางใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพมากขึ้น เมื่อโรงงานเปิดมาก คนก็หลั่งไหลเข้ามาหางานทำในระยองมาก หากใครมีทุนทรัพย์ คิดจะทำธุรกิจ เปิดร้านค้าก็ย่อมขายของได้มากตาม
แต่อย่าลืมว่าวิถีชีวิตของคนระยองโดยดั้งเดิม หากอยู่ชายทะเลคือทำประมง และหากอยู่บนบกก็คือการทำการเกษตร โรงงานอาจมีส่วนช่วยเรื่องอัตราการจ้างงาน แต่ในระยะยาว แรงงานคนระยองแท้ๆ ที่มีพื้นเพ มีความถนัดในด้านการประมงและการเกษตรกร ย่อมทำงานเหล่านี้ได้ไม่ทน
อีกทั้งการศึกษาของคนท้องถิ่นยังไม่ตรงกับคุณสมบัติของบุคลากรที่โรงงานเปิดรับจริงๆ งานตำแหน่งดีๆ ในโรงงานจึงตกเป็นของคนภายนอกที่มีวุฒิศึกษาและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ สุดท้ายแล้วคนระยองก็ไม่ได้มีงานที่ ‘ยั่งยืน’ ทำจริงๆ
แบบนี้ถือว่าคนระยองได้ไม่คุ้มเสียใช่ไหม?
พูดว่า ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ นี่แหละคือถูกต้อง หากเราได้ประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 100 การันตีได้เลยว่าว่าร้อยละ 80 ของประโยชน์เหล่านี้จะนำมาซึ่งโทษด้วยเช่นกัน
อย่างความฝันเรื่องโรงขยะไฟฟ้าที่ปัจจุบันนี้กำลังทำกันอยู่ เมื่อลงไปดูในพื้นที่ก็จะเห็นปัญหาน้ำเสียเป็นทางเข้าไปในหลายชุมชน ส่งเหม็นจนกินข้าวไม่ได้
ทำไมเราจะต้องมาอยู่กันแบบนี้ ทำไมปู่ย่าตายายให้ผืนแผ่นดินมา แล้วลูกหลานถึงต้องมาเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ จะให้ขายที่หนีก็ทำไม่ได้ เพราะขายราคาตลาดแล้วไม่มีทางได้เงินมากพอไปซื้อที่ใหม่อยู่อาศัย
ปัญหาเหล่านี้มีมากเสียจนพูดกันไม่หมด แต่ผมพูดมากไม่ได้ เพราะหากพูดไป พรุ่งนี้ผมอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่
เหตุใดถึงใช้คำว่า ‘พูดแล้วจะไม่ได้มีชีวิตอยู่’
เรื่องของการถูกข่มขู่และคุกคามมีมาตั้งแต่ผมเริ่มเข้าทำงานต่อสู้เรียกร้องตรงนี้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการโทรมา ตลอดจนขับรถเข้ามาหาถึงบ้าน มาถามนั่นถามนี่บ้าง โน้มน้าวให้วางมือบ้าง บอกให้ผมสนใจแค่หน้าที่ของตัวเองก็พอ
แน่นอนว่าเขาคงไม่พูดตรงๆ ว่าจะฆ่าแกงกัน แต่เขาใช้คำว่าหากเกิด ‘ปัญหาสุขภาพ’ กับคุณขึ้นมา ลูกเมีย ครอบครัว และคนข้างหลังจะอยู่กันอย่างไร จนแม่และพี่น้องของผมเองก็เริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่อยากให้ผมเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง
เมื่อถึงจุดหนึ่งผมบอกกับแม่ว่า อย่างไรสักวันหนึ่งคนเราก็ต้องตาย ไม่ว่าจะป่วยตาย รถชนตาย หรือถูกเอาชีวิต แม่ก็ต้องเสียใจเหมือนกัน ต่างกันตรงที่หากเข้ามาต่อสู้ เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เรายังสามารถทำประโยชน์ สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้บ้าง ก่อนที่จะเอาร่างกายของเราขึ้นไปอยู่บนเชิงตะกอน
ผมรู้ตัวเองดีว่าได้เดินมาในเส้นทางที่เสี่ยงมากและต้องพร้อมที่จะตายอยู่ทุกวินาที เลยมีโอกาสเตรียมรูปถ่ายและอัตชีวประวัติสำหรับอ่านในงานศพเอาไว้ ส่วนบ้านช่องทุกวันนี้ก็แทบจะไม่ได้ล็อกหน้าต่าง ล็อกประตูอีกแล้ว เพราะคิดว่าอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด
ขอเพียงแค่ได้รักษาแผ่นดินนี้เอาไว้ ได้ส่งให้คนรุ่นต่อไปในแบบที่ผมได้รับมา ผมไม่อยากส่งแผ่นดินที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี น้ำเสีย และขยะให้กับลูกหลานในอนาคต ในชีวิตที่เหลือ ผมจึงอยากทำคุณประโยชน์เท่าที่ความสามารถจะทำได้
หมายเหตุ: บทความสัมภาษณ์ชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network ภายใต้โครงการ USAID Mekong For the Future
Tags: ขยะ, Cityscape, EEC: FROM HERE TO ETERNITY, ขยะอุตสาหกรรม, Environment, EEC, ระยอง