เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่คนจังหวัดเชียงใหม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่นควันพิษ PM2.5 ถึงขั้นติดอันดับพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก จนในวันที่ 9 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องสั่งยกระดับให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่วิกฤติ พร้อมประกาศบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา อาทิ การลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟป่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผาสำหรับพื้นที่เกษตร ตลอดจนคำสั่งให้ประชาชน Work From Home เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน และที่สำคัญคือ ให้กระทรวงต่างประเทศหันหน้าเจรจากับประเทศรอบข้างแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันข้ามพรมแดน
ผ่านไปไม่กี่วันหลังจากการประกาศใช้มาตรการ ดูเหมือนว่าสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่จะเริ่มเบาบางลงเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกตลอดวันทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ที่วัดได้อยู่ราวๆ 120-150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทว่าตัวเลขหลักร้อยคือเกณฑ์ที่อยู่ในช่วงระดับสีแดงเมื่อเทียบจากเกณฑ์ของกรมอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ แน่นอนว่าฝุ่นควันอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็น ‘เรื่องใหญ่’ ที่แก้ไม่ได้เสียที และอีกคำถามสำคัญคือ การยกระดับแก้ไขปัญหาในครั้งนี้รัฐลงมือช้าไปหรือไม่?
The Momentum ติดต่อไปยัง ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 ผู้เดินหน้าอภิปรายฯ เรื่องปัญหาฝุ่นควันในสภาฯ เพื่อชี้แจงต้นตอและแนวทางแก้ไข ตลอดจนการทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นควันในเวลานี้
ภัทรพงษ์แจงว่า ต้อตอของฝุ่นควันในขณะนี้ที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือมาจาก 3 ประการหลัก ประกอบด้วย
1. ไฟป่า
2. การเผาจากภาคเกษตรกรรม
3. ฝุ่นข้ามพรมแดน
จากการสำรวจดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนเป็นช่วงที่ภาคเหนือประสบกับปัญหาจุดความร้อน (Hotspot) พุ่งสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ป่าค่อนข้างมาก ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง มีพบจุดความร้อนอยู่บ้างประปราย แต่ก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
“ในจังหวัดที่มีการพบจุด Hotspot ไม่มาก แต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต PM2.5 ต่อเนื่องไม่แพ้ภาคอื่นๆ เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันพิษไม่มีเส้นพรมแดน ข้ามไปมาได้ตลอด ทำให้ภาคเหนือโดยรวมรับปัญหานี้ร่วมกัน”
ไม่เพียงแต่จุดความร้อนในประเทศไทยที่พุ่งสูงขึ้น พื้นที่ตามแนวชายแดนในแถบประเทศเพื่อนบ้านก็สูงเช่นกัน และซ้ำร้ายพื้นที่เหล่านั้นประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘ฝุ่นข้ามพรมแดน’
คงไม่ต้องบอกว่าต้นตอของฝุ่นเหล่านี้มาจากไหน หากไม่ใช่เหล่าบรรดา ‘นายทุน’ ที่เร่งผลิตข้าวโพดเพื่อป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
จากงานวิจัยในปี 2566 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Greenpeace พบว่า ในประเทศเมียนมามีจุดความร้อนที่เกิดจากเผาไร่ข้าวโพดร่วมกว่า 1.5 แสนจุด และเกิดจากภาคเกษตรกรรมอื่นๆ รวมถึงไฟป่า อีก 2.5 แสนจุดทั่วประเทศ ข้อมูลตรงนี้ตรงกับการประเมินของงานวิจัยพื้นที่ภาคเกษตรกรรมของเมียนมาพบว่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องสูญเสียป่าไปกว่า 1 ล้านไร่เพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด และกว่าร้อยละ 40 ของฝุ่นควันข้ามพรมแดนล้วนมาจากพื้นที่ชายแดน
คำถามสำคัญคือ ในขณะที่ประเทศไทยยิ่งมีการคุมเข้มใช้กฏหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเผาไร่โดยเกษตรกรไทย ยิ่งไม่ต่างจากการตราหน้าเกษตรกรไทยเป็นจำเลยของสังคม แต่เมื่อมองกลับยังปัจจัยรอบข้างพบว่า รัฐไม่สามารถควบคุมประเทศเพื่อนบ้านได้ ด้วยเหตุผลเพราะอยู่นอกเหนือกรอบอำนาจกฎหมายไทย ดังนั้นสิ่งเดียวที่รัฐทำได้ต่อปัญหานี้คือ ‘การจำกัดการนำเข้า’
“ในขณะที่เกษตรกรไทยต้องพบกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างหนัก แต่เรากลับเปิดให้มีการนำเข้าอย่างปลอดภาษี โดยไม่คำนึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมเลย ซึ่งเกษตรกรไทยต้องลงทุนในจำนวนที่เยอะ และมีการจัดการดูแลเพื่อให้เข้าเกณฑ์การจัดการเรื่องฝุ่นควัน แต่ต่างประเทศกลับนำเข้าได้ พร้อมเชิญให้นำเข้าในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันก็มีตัวเลขของผู้ประกอบการในไทยที่นำข้าวโพดไปให้ต่างประเทศปลูกและนำกลับเข้ามาแบบปลอดภาษี”
ภัทรพงษ์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม ของทุกปี และข้อจำกัดเพียงไม่กี่ประการสำหรับการนำเข้าคือ ต้องมีใบสุขอนามัยของพืชเพื่อรับรองว่า ข้าวโพดไม่เป็นอันตรายต่อคน หรือสัตว์และพืช ทว่าสิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องการเผาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวโพด ที่พร้อมแปรรูปและส่งกลับมายังประเทศไทย
“ตรงนี้คือจุดที่รัฐบาลดำเนินการผิดเต็มๆ ผมแจ้งในการอภิปรายฯ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปรับแก้ใดๆ ทั้งสิ้น”
แน่นอนว่าหากยกเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตรจะพบว่า ‘การห้ามนำเข้าสินค้าทางการเกษตร’ เป็นเรื่องที่ผิดในข้อตกลงองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ระบุว่า หากการค้าดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบกับทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป รัฐสามารถยกเลิกและห้ามการนำเข้าได้ทันที รวมถึงสามารถพูดคุยและปรับเปลี่ยนเพื่อให้การนำเข้าเป็นไปตามข้อตกลง
สิ่งสำคัญคือองค์กรการค้าโลกได้ให้คำจำกัดของคำว่า ‘อากาศสะอาด’ คือทรัพยากรอย่างหนึ่งที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ภัทรพงษ์เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดนในระยะยาวได้อย่างแน่นอน
ส่วนการประกาศยกระดับประกาศให้เป็นพื้นที่วิกฤต และเร่งแก้ไขปัญหาทันที ผ่าน 9 มาตรการ ของนายกฯ เศรษฐา ในมุมมองของภัทรพงษ์กลับรู้สึกว่า เป็นการรู้ตัวและแก้ไขที่ช้าเกินไป
“ครั้งแรกที่ผมได้อ่านมาตรการดังกล่าว เหมือนเอาคำชี้แจงในอดีตมาเรียบเรียงใหม่แล้วเพิ่มคำว่า ‘ยกระดับ’ เข้าไป ซึ่งไม่ได้เนื้อหาอะไรใหม่
“ผมยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการรู้ตัวช้าของท่านนายกฯ คือมีมาตรการที่บอกว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประการพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทำไมแม่ฮ่องสอน เชียงราย ที่เข้าเกณฑ์ภัยพิบัติของรัฐบาลจึงไม่ประกาศ ซึ่งเกณฑ์การใช้เงินช่วยเหลือซึ่งประสบภัยพิบัติในกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ออก กรมบัญชีกลางยังทำไม่เสร็จ ทั้งๆ ที่กรมบัญชีกลางอยู่ในการควบคุมของท่านโดยตรง ทั้งที่ท่านเศรษฐาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เกณฑ์ยังทำไม่เสร็จทั้งๆ ที่เข้าเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่พีกที่สุดของฝุ่นควัน PM2.5 ของทุกปี แล้วหากเขาประกาศ เขาจะใช้เกณฑ์อะไรในการแก้ไขปัญหา”
ภัทรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลย่อมทราบดีคือปัญหาฝุ่นพิษเป็นเรื่องที่วนมาทุกปี ทว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรลงมากลับได้มาอย่างเชื่องช้า เนื่องจากปีนี้การประชุมงบประมาณเป็นไปอย่างล่าช้าจนถอยหล่นมาชนกับวิกฤต แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกับจัดสรรเงินได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เขาต้องนำตัวเองเข้าไปเสี่ยงภัย เพื่อลาดตระเวนและดับไฟป่า แต่งบประมาณที่ได้แต่ละปีกลับไม่เพียงพอ
พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือสิ่งที่ทุกคนต่างรอคอย ซึ่งครั้งหนึ่งถูกปัดตกไปอย่างไร้เยื่อใย จนในที่สุดก็ได้เข้าสู่ชั้นกรรมาธิการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ที่กำลังศึกษาและเพิ่มเติมเนื้อหาจากทั้ง 7 ร่างมาร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถใช้แก้ปัญหาวิกฤตในขณะนี้ได้อย่างแน่นอน
“พ.รบ.อากาศสะอาด คือความร่วมมือจากทั้งรัฐบาล พรรคการเมืองและข้าราชการ เพื่อทำให้ประเทศไทยได้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ไม่ได้เป็นผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่แน่นอนว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่ทุกสิ่ง เราสามารถเดินหน้าการแก้ไขโดยไม่ต้องรอไปก่อนได้ เพราะหากรอก็เชื่อว่ายังไม่สามารถแก้ไขในเหตุการณ์วิกฤตในห้วงระยะสั้นได้อย่างแน่นอน”
ทั้งนี้ภัทรพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรคำนึงถึงสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ มากกว่าการโปรโมตการท่องเที่ยวสงกรานต์ท่ามกลางฝุ่นควัน
“หากนักท่องเที่ยวเขาเห็นความจริงว่า เชียงใหม่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน เขาคงไม่มา ซึ่งการแก้ไขปัญหาสุขภาพควรมาก่อน เมื่อปัญหาฝุ่นควันลดน้อยลง นักท่องเที่ยวก็กลับมาดั่งเดิม ยิ่งในปัจจุบันประชาชนเชียงใหม่มีการตระหนักรู้เรื่องฝุ่นควันเป็นอย่างมาก มีการช่วยกันรณรงค์ใส่หน้ากาก และดูแลกัน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลหันมาใส่ใจปัญหาตรงนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศสะอาดอย่างแท้จริง”
Tags: เชียงใหม่, Environment, สิ่งแวดล้อม, PM2.5, ฝุ่น