กว่า 50 ปีที่กระบวนการรีไซเคิลถูกนำมาโปรโมตต่อสาธารณชนในฐานะ ‘ทางออก’ ของปัญหาการจัดการขยะพลาสติกทั่วโลก แต่ทั้งบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ กลุ่มทุนผู้ผลิตพลาสติก และคู่ค้าของบริษัทเหล่านี้ สามารถเข้าถึงชุดข้อมูลที่การันตีได้ว่า การรีไซเคิลพลาสติกเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ไม่คุ้มทุน อีกทั้งยังทำไม่ได้จริง มาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80s หรือประมาณเกือบ 40 ปีก่อน

เป็นที่รู้กันในวงการเคมี วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมว่า พลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ผลิตจากน้ำมันและแก๊สรีไซเคิลจริงได้ยากขนาดไหน เพราะความหลากหลายทางเคมีของพลาสติกนานาชนิดเหล่านี้ ทำให้นำมารีไซเคิลรวมกันไม่ได้ นอกจากนี้ คำโฆษณาเรื่องการรีไซเคิลยังละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า พลาสติกส่วนใหญ่นำมารีไซเคิลได้เพียง 1 หรืออย่างมากสุดก็ 2 ครั้งเท่านั้น

แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าหากกลุ่มทุนทั่วโลกเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use) ตามกันเป็นทอด โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับการรีไซเคิลมาโปรโมตเป็นไม้กันหมา ไม่ช้าก็เร็วจะนำมาสู่วิกฤตการจัดการขยะระดับโลกในที่สุด แต่เหล่าผู้ถือผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมก็ตัดสินใจไม่หยุดยั้งและเดินหน้าต่อ เพราะในขณะเดียวกันก็มีเหตุให้เชื่อมั่นว่า โมเดลนี้จะสร้างกำไรมากโข

ในรายงานฉบับล่าสุดจาก The Center for Climate integrity (CCI) ระบุว่า ในที่สุดพวกเขาก็สามารถรวบรวมหลักฐานที่จะเอาผิดกลุ่มทุนบางส่วนที่มีส่วนรู้เห็นในขั้นตอนการตัดสินใจเมื่อ 30-40 ปีก่อน และตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีคนรับผิดชอบ

พลาสติกรีไซเคิลได้: การตลาดต้มตุ๋นที่มีเหยื่อมากที่สุดในโลก

ในทศวรรษ 1950 กลุ่มโรงงานผลิตพลาสติกคิดค้นไอเดียที่จะกระตุ้นตลาดและในขณะเดียวกันก็การันตีว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในท้องตลาดจะเป็นที่นิยม ไอเดียที่ว่านั้นคือแนะนำให้ผู้บริโภครู้จักกับบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนั่นเอง โดยให้ข้อมูลกับสาธารณชนว่า ขยะที่เกิดขึ้นสามารถเข้าสู่กระบวนการจัดการได้อย่างง่ายดาย ด้วยการนำไปฝังกลบในบ่อขยะ หรือนำไปเข้าเตาเผา

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบจากขยะที่เกิดขึ้นก็เริ่มสำแดงผล ทั้งภาครัฐและประชาชนที่รับรู้ถึงสถานการณ์จึงมีมุมมองต่อบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ที่แย่ลง จนถึงขั้นเริ่มมีการพูดคุยถึงการแบนบรรจุภัณฑ์ Single-Use ด้วยซ้ำ แต่บรรดาแบรนด์ต่างๆ กลับไม่นิ่งเฉย เริ่มคิดหาข้ออ้างและวิธีการที่จะลบล้างความไม่พอใจและข้อกังขานี้

และนั่นจึงนำมาสู่แนวคิดเกี่ยวกับการรีไซเคิลในช่วงยุค 1980s นั่นเอง

ทว่ามีเอกสารสื่อสารภายในองค์กรเหล่านี้ที่บ่งชี้ชัดว่า พวกเขารู้ซึ้งมาตั้งแต่แรก ว่าแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลไม่ต่างจากการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการบอกความจริงแค่ครึ่งเดียว

ตัวอย่างเช่น ในรายงานเมื่อปี 1986 ของสมาคมการค้า องค์กร Vinyl Institute ระบุในบันทึกว่า “การรีไซเคิลจะถูกพิจารณาว่าเป็น ‘วิธีรับมือกับปัญหาขยะมูลฝอย’ โดยถาวรไม่ได้เด็ดขาด เพราะนั่นเป็นแค่วิธีการประวิงเวลาในการกำจัดขยะออกไปอีกชั่ววงจรหนึ่งเท่านั้น

แม้จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ตั้งแต่ตอนนั้น แต่สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก (Society of the Plastics Industry: SPI) ก็ยังดึงดันที่จะตั้งกองทุนเพื่อการรีไซเคิลพลาสติกขึ้นมา และเปิดตัวแคมเปญมากมายที่เชิญชวนบริษัทต่างๆ ให้หันมาจริงจังเรื่องพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น

จนถึงจุดหนึ่งในช่วงกลางปี 1990 ผู้คนต่างเริ่มคุ้นเคยกับคำโฆษณาแสนดูดีเกี่ยวกับการรีไซเคิล เช่น ในวารสาร Ladies’ Home ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงตัวหนึ่ง ใช้ประโยคที่ว่า “ขวดใบนี้จะสามารถกลับมาเป็นขวดได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บริษัทพวกนี้โกหก” ริชาร์ด ไวลส์ (Richard Wiles) ประธานกลุ่มรณรงค์ความโปร่งใสของเชื้อเพลิงฟอสซิลของ Center for Climate Integrity (CCI) ยืนยันในรายงาน “สิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดมันคือการตุ้มตุ๋น และตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่ตัวเองก่อไว้

อ้างอิง

https://climateintegrity.org/plastics-fraud

https://www.theguardian.com/us-news/2024/feb/15/recycling-plastics-producers-report

https://www.euronews.com/green/2024/02/16/plastic-industry-knew-recycling-was-a-farce-for-decades-yet-deceived-the-public-report-rev

Tags: , , , , , , , ,