เมื่อวานนี้ (19 มิถุนายน 2024) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ (Mecca) ประเทศซาอุดีอาระเบีย เสียชีวิตจากอากาศร้อนจัดถึง 577 ราย โดยผลการศึกษาระบุว่า ภาวะโลกรวน (Climate Change) ทำให้พื้นที่ประกอบพิธีฮัจญ์กลางแจ้ง มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.4 องศาในทุก 10 ปี
พิธีฮัจญ์เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติทางศาสนาอิสลามที่สืบเนื่องมาราว 1,000 ปี โดยชาวมุสลิม ผู้มีกำลังทรัพย์จะเดินทางไปยังกะบะฮ์ (Kaaba) ใจกลางมัสยิดฮะรอม ในเมืองเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย และบางส่วนของพิธีคือการละหมาดบนภูเขาอะระฟาต (Mount Arafat) กลางแจ้งในช่วงกลางวัน
ทว่าด้วยสภาพอากาศที่ร้อนถึง 51 องศาเชลเซียลตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาซาอุดีอาระเบีย ทำให้มีการประมาณการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตในพิธีฮัญจ์ถึง 577 ราย จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาวอียิปต์ 307 ราย ชาวจอร์แดน 60 ราย รวมถึงผู้สูญหายอีก 118 ราย
ทั้งนี้ นักการทูตรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า ชาวอียิปต์เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนจัด ขณะที่บางส่วนมีอาการบาดเจ็บจากการเบียดเสียด โดยรัฐบาลอียิปต์แถลงการณ์ว่า กำลังประสานงานกับทางการซาอุดีอาระเบียเพื่อตามหาผู้สูญหาย
ปัจจุบัน ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดถูกนำตัวส่งที่โรงพยาบาลในย่านอัล-มูอัลเซม (Al-Muaisem) เรียบร้อย โดยรัฐบาลรายงานว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจัดอาจมีจำนวนมากกว่า 2,000 ราย ทว่าไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า บรรยากาศในเมืองมินา (Mina) เต็มไปด้วยผู้คนที่เทน้ำใส่ผ้าขนหนูบนศีรษะ นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครเสิร์ฟเครื่องดื่มเย็นและไอศครีมรสช็อกโกแลต เพื่อคลายความร้อน
“มันช่างยากลำบากและผู้คนแทบจะทนความร้อนไม่ได้” วิลาเยต มุสตาฟา (Wilayet Mustafa) ผู้แสวงบุญชาวปากีสถาน อธิบายสถานการณ์ผ่านรอยเตอร์ว่า ร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่สวมชุดอิห์รอม (Ihram) สำหรับประกอบพิธีฮัญจ์ วางเรียงรายอยู่ตามถนนเพื่อรอคอยโรงพยาบาลมารับตัวไป
อันที่จริง เหตุการณ์การเสียชีวิตจากอากาศร้อนในพิธีฮัจญ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1400 ขณะที่ในปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตระหว่างการประกอบพิธีฮัญจ์อย่างน้อย 230 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินโดนีเซีย ขณะที่ตัวเลขของผู้ป่วยจากอากาศร้อนอยู่ที่ 2,000 ราย ท่ามกลางอุณหภูมิ 48 องศาเชลเซียล
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกรวนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบพิธีฮัญจ์ โดย คาร์ล เฟรดริก ชลุสเนอร์ (Carl-Friedrich Schleussner) นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิเคราะห์สภาพอากาศในเยอรมนี แสดงความคิดเห็นผ่านรอยเตอร์ว่า ภาพของผู้เสียชีวิตในพิธีฮัจญ์วันนี้สามารถบ่งบอกอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า
สาเหตุที่เฟรดริกระบุเช่นนี้ เพราะช่วงเวลาประกอบพิธีฮัจญ์ภายในปี 2040 อาจตรงกับช่วงที่ร้อนที่สุดของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากการนับวันตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้พิธีเกิดขึ้นประมาณ 10 วันหลังจากปีก่อนหน้า และทำให้พิธีในปีต่อๆ ไปตรงกับช่วงฤดูร้อนของซาอุดีอาระเบีย จากเดิมที่เกิดขึ้นในฤดูหนาว
“พิธีฮัจญ์มีแนวทางปฏิบัติมากกว่า 1,000 ปี และมีอากาศที่ร้อนมาตลอด แต่วิกฤตทางสภาพอากาศในปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้บรรยากาศโดยรอบของพิธีแย่ลง” เฟรดริกอธิบายพร้อมกับเสริมว่า แม้แต่ส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์อย่างการปีนภูเขาอะระฟาต ก็อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เช่นกัน
ขณะที่ ฟาฮัด ซาอีด (Fahad Saeed) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพอากาศในปากีสถาน อธิบายสั้นๆ ว่า ด้วยอุณหภูมิที่สูงเช่นนั้นอาจทำให้ผู้เข้าร่วมอยู่ในสภาพ ‘ถึงตาย’ ได้
ในปี 2021 เฟรดิกและซาอีดตีพิมพ์งานวิจัย From Paris to Makkah: heat stress risks for Muslim pilgrims at 1.5 °C and 2 °C โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหาระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเชลเซียลตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อาจทำให้พิธีฮัจญ์ได้รับผลกระทบมหาศาลจากโรคลมแดดถึง 5 เท่า
ขณะที่งานวิจัยจากซาอุดีอาระเบียระบุว่า ในทุก 10 ปี อุณหภูมิในสถานที่ประกอบพิธีจะสูงขึ้นประมาณ 0.4 องศาเชลเซียล และอาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงในอนาคตจากนี้
“ผู้คนมักมีศรัทธาแรงกล้าต่อศาสนา และสำหรับใครบางคนนี่คือสิ่งที่ควรทำสักครั้งในชีวิต” ซาอีดแสดงความคิดเห็น ก่อนทิ้งท้ายว่า โดยปกติแล้ว หากมีโอกาส ชาวมุสลิมก็มักจะเดินทางไปแสวงบุญในพิธีฮัจญ์อย่างไม่ลังเล
ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียพยายามออกแนวทางปฏิบัติในการเข้าร่วมพิธี โดยให้ผู้เข้าร่วมใช้ร่ม ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการยืนกลางแจ้งในช่วงที่ร้อนที่สุดของวันเป็นเวลานาน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วิธีการฉีดน้ำอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะใช้ได้สำหรับอุณหภูมิ 35 องศาเชลเซียลเท่านั้น ซ้ำยังเสี่ยงอันตรายจากการเพิ่มความชื้นในอากาศ
อ้างอิง
Tags: Environment, อิสลาม, มุสลิม, climate change, ซาอุดีอาระเบีย, ตะวันออกกลาง, โลกร้อน, พิธีฮัจญ์, วิกฤตสภาพอากาศ, เมกกะ