ความฝันเรื่องการเป็น ‘ครัวโลก’ (Kitchen of the World) คือแนวคิดที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ถือเป็นยุทธศาสตร์อันโดดเด่นที่รัฐไทยใช้ในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออก และในขณะเดียวกัน ก็โปรโมตความรุ่มรวยของวัฒนธรรมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เพราะด้วยความได้เปรียบด้านสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ที่เอื้อต่อการผลิตวัตถุดิบ ทั้งพืช ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ และอาหารทะเล ในปริมาณมากพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ และเหลือเฟือต่อการผลิตสินค้าส่งออก แม้จะมีการนำเข้าบ้างในวัตถุดิบบางกลุ่ม แต่ก็อยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ผลิตเองในประเทศมาก

แน่นอนว่าในระยะสั้น ทั้งจากหลังวิกฤติโควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากพื้นที่ว่างชั่วคราวในตลาดอาหารโลก ที่เปิดโอกาสให้ไทยส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารได้ในปริมาณมากขึ้น

ทว่าในระยะยาว ความฝันเรื่องการเป็นครัวโลกอาจมีอันต้องถูกพับเก็บในอนาคตอันใกล้นี้ ด้วยปัจจัยหลายประการ

1. 2023-2024: ปีแห่ง ‘เอลนีโญ’

นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินความเสี่ยงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ประเทศใดมีความเสี่ยงจะเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิอากาศมากที่สุด ผลปรากฏว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ที่เผชิญกับความเสี่ยงจากผลกระทบของปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ (El Niño)

เอลนีโญครั้งรุนแรงเมื่อปี 2015-2016 ส่งผลกระทบต่อพืชผลและปศุสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นได้ชัดจากกำลังการผลิตข้าวที่ลดลงฉับพลัน จนราคาข้าวทั่วโลกเฟ้อมากถึง 16%

กระทั่งครั้งนี้ โลกเพิ่งเข้าสู่ช่วงเอลนีโญอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วัดจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่กำลังค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยปกติความแปรปรวนจะปรากฏให้เห็นชัดในช่วงปีถัดปี ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศจึงคาดการณ์ว่า เราจะเริ่มเห็นผลกระทบที่รุนแรงขึ้นของเอลนีโญหลังเข้าปี 2024

เช่นเคย กลุ่มพืชเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบก่อน เป็นกลุ่มพืชที่ต้องการน้ำในการเพาะปลูกเช่นข้าว โดยภาพรวมผลผลิตอาจลดลงมากถึง 16-18% จากปริมาณฝนที่น้อยและขาดช่วง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567

ส่วนพืชกลุ่มที่ต้องการน้ำปานกลาง-น้อย เช่น ข้าวโพด มัน ปาล์ม ยาง ฯลฯ อาจไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบฉับพลัน แต่หากปริมาณฝนที่ลดลงเริ่มส่งผลต่อปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในภาคการเกษตรตลอดช่วงภาวะภัยแล้ง พืชกลุ่มนี้ก็อาจได้รับผลกระทบในเชิงคุณภาพได้เช่นกัน

2. ความกังวลเรื่อง ‘Food Security’ ที่แพร่ไปทั่วโลก

อ้างอิงข้อมูลจาก ‘รายงานสากลว่าด้วยวิกฤตอาหารในปี 2022’ รวบรวมโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ที่ระบุว่า ประชากรกว่า 193 ล้านคนจาก 53 ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาความมั่นคงทางอาหาร

ไม่ใช่แค่ในรูปแบบของความอดยากในพื้นที่ห่างไกล ดังที่เราคุ้นชินจากภาพถ่ายประเทศยากจนของสหประชาชาติเท่านั้น แต่รวมไปถึงราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศรายได้น้อย โดยในบางประเทศค่าครองชีพด้านอาหารเพิ่มสูงขึ้นมาก จนเกินครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยรายหัว

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มหันมาดำเนินนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพอาหารและกำลังผลิตในประเทศมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการอุดหนุนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้น้อยลง โดยมีสาเหตุคือความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารและศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance) 

เห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มวางโรดแม็ปเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารอย่างจริงจัง ฉะนั้น นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช พืชอาหาร ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของไทยในระยะยาว

นอกจากจำนวนคู่ค้าจะค่อยๆ ลดลงทีละน้อยแล้ว หากดำเนินนโยบายใหม่แล้วประสบความสำเร็จ อดีตคู่ค้าของไทยหลายรายอาจพัฒนาศักยภาพจนสามารถผันตัวเองมาเป็นประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกได้ในอนาคต

3. อุตสาหกรรมอาหารไทยยังสอบตกด้าน ‘ความปลอดภัย’ และ ‘คุณภาพ’

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในด้านปริมาณและความสะดวกในการหาซื้อสินค้าจากแหล่งจำหน่าย อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถทำคะแนนได้ดีไม่มีแผ่ว

แต่หากพูดถึงเรื่องของคุณภาพอาหาร อาจไม่ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จสักเท่าไรนัก ในการจัดสรรอาหารที่มีคุณภาพแก่ประชากรในประเทศ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพอาหารที่จำหน่ายให้ดีอย่างทั่วถึง

ในปี 2022 ผลสำรวจดัชนีความมั่นคงทางอาหารของหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ Economist Intelligence Unit (EIU) ของนิตยสารชื่อดังระดับโลก ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ระบุว่า อันดับของประเทศไทยตกลงมาอยู่ที่ 64 ของโลก จากเดิมในปี 2021 ที่เคยอยู่อันดับ 51 หมายความว่าร่วงกราวมา 13 อันดับ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คะแนนรวมของไทยตกฮวบ นั่นคือมิติ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ จากการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพที่ดี (Availability) ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีรายได้มากกับรายได้น้อยในไทย เรียกได้ว่าแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

4. ภัยร้ายที่คุกคาม ‘ความหลากหลาย’ ทางอาหารทั่วโลก

ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมอาหารการกินทั่วโลกค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น โคลิน โครี (Calin Khoury) นักวิทยาศาสตร์ชาวโคลัมเบีย เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ‘Globalized Diet’ หรือ ‘โภชนาการโลกาภิวัตน์’ ที่มีความหมายว่า ปัจจุบัน อาหารทั่วโลกเริ่มมีหน้าตาและรสชาติที่คล้ายคลึงกัน จากการที่ความหลากหลายของพืชผลลดน้อยลงนั่นเอง

หากจะกล่าวว่านี่เป็นผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่ต้องเรียกว่าเป็นผลกระทบระยะยาวจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่นำพาโลกเข้าสู่ภาวะสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

เนื่องจากการเพาะปลูกระดับอุตสาหกรรม เป็นการเพาะปลูกที่เน้นผลลัพธ์ด้านปริมาณและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเริ่มถูกกลืนกินผ่านกระบวนการคัดเลือก ตัดแต่ง และเผยแพร่พันธุ์พืช เห็นได้ชัดจากตัวเลือกของสินค้าเกษตรที่ค่อยๆ ลดน้อยลง

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ภาวะหลัง Globalized Diet คือแคร์รอตและข้าวโพด เพราะคนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า นอกจากรูปลักษณ์ที่เห็นขายกันตามท้องตลาดแล้ว พืช 2 ประเภทนี้ยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่มีหน้าตาผลผลิตแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  

นอกเหนือจากนี้ ยังมีพืชสินค้าเกษตรอีกหลายกลุ่มที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง จนเกรงว่าอาหารหลายเมนูที่คนไทยคุ้นเคยจะเริ่มมีรสชาติผิดเพี้ยน ราคาพุ่งสูงเกินเอื้อม หรือกระทั่งหากินไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไป

ความอันตรายประการที่สำคัญที่สุดของสภาวะ Globalized Diet คือหากพืชสายพันธุ์กระแสหลักต้องเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง โรคระบาด แมลงศัตรูพืช ฯลฯ ที่ทำให้การเพาะปลูกทั่วโลกล้มเหลวไปตามกัน เมื่อวันนั้นมาถึง เราก็จะไม่เหลือพืชสายพันธุ์อื่นๆ ไว้แพร่พันธุ์เป็นทางเลือกเลย

อ้างอิง

https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2023-53-rice-production-and-food-security-in-southeast-asia-under-threat-from-el-nino-by-elyssa-ludher-and-paul-teng/

https://www.nationthailand.com/thailand/general/40028380

https://www.straitstimes.com/opinion/forum/forum-lack-of-crop-diversity-may-be-contributing-to-food-shortage  

https://www.bbc.com/news/science-environment-26382067

https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/185112

https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1031036

https://www.komchadluek.net/quality-life/environment/556480

https://www.prachachat.net/economy/news-1039908

Tags: , , , , , , , ,