เวลานี้ คงไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมใดที่ใกล้ตัวและมีผลกระทบต่อชีวิตคนไทยมากไปกว่า ‘ฝุ่น PM2.5’ หนักเสียจนบางวันบดบังท้องฟ้าครามมิดสนิท ผู้ที่สูดอากาศเข้าไปก็ต้องพบกับผลข้างเคียงไอจาม แสบคอ แสบจมูก พลันชวนครั่นคร้ามนึกกังวลว่า ไม่ช้าเราคงประสบชะตากรรมเลวร้ายราวพลเมืองในหนังไซไฟ (Sci-Fi) เรื่อง Interstellar ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นพิษที่น่าตระหนกกลับไม่ได้สาหัสสากรรจ์กับทุกประเทศ เพราะบางชาติ เช่น ‘เยอรมนี’ รัฐบาลของพวกเขามีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศขั้นจริงจัง สะท้อนผลงานผ่านตารางจัดอันดับเมืองที่มีอากาศเป็นมิตรในแต่ละประเทศโดยเว็บไซต์ https://www.iqair.com/ ที่เมืองในเยอรมนี มักมีชื่อติดอยู่เป็นอันดับต้นๆ ดั่งในปี 2019 ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) สามารถซิวแชมป์ไปครอง

คำถามสำคัญคือ รัฐบาลเยอรมนีมีมาตรการควบคุมมลภาวะทางอากาศอย่างไร? ทั้งที่มีประชากรมากถึง 83 ล้านคน และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนัก เป็นต้นว่าอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก

ประการแรก ต้องย้อนกลับไปในปี 2012 เมื่อรัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของประธานาธิบดี โยอาคิม เกาค์ (Joachim Gauck) ประกาศลงนามเข้าร่วมกลุ่ม ‘ความร่วมมือเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด’ (Climate and Clean Air Coalition: CCAC) เพื่อแสดงจุดยืนความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหา ‘มลพิษทางอากาศที่มีช่วงชีวิตสั้น’ (Short-Lived Climate Pollutants: SLCPs) อาทิ ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Black Carbon) และก๊าซมีเทน (Methane Gas) ซึ่งเป็นต้นตอหลักของฝุ่น PM2.5 

ประการต่อมา ในปี 2019 รัฐบาลระดับประเทศและระดับรัฐของเยอรมนีได้เห็นชอบตั้งยุทธศาสตร์ ‘Climate Action Program 2030’ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และภาวะเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 ด้วยการเลิกพึ่งพาพลังงานจาก ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ที่ผลิตจากแร่ลิกไนต์ (Lignite) หลังที่ผ่านมาใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศมากถึง 40%

ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าที่จะยุติการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ครบทั้งหมดภายในปี 2038 แม้จะต้องชดเชยเงินแก่บุคลากรและบริษัทผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงลงทุนสร้างแหล่งผลิตพลังงานป้อนแก่ระบบสาธารณูปโภคใหม่จำนวน 4 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท) 

นอกจากนี้ยังกำหนดสัดส่วนค่า ‘ภาษีคาร์บอน’ (Carbon Tax) อย่างเหมาะสมแก่ภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นให้แต่ละอุตสาหกรรมตื่นตัวและจริงจัง กับการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ

ประการสุดท้าย รัฐบาลเยอรมนีได้จัดตั้ง ‘โครงการปฏิบัติการเพื่ออากาศบริสุทธิ์’ (Immediate Action Program for Clean Air) โดยจัดสรรเงินราว 2,000 ล้านยูโร ให้แต่ละเมืองสำหรับใช้ขจัดปัญหาฝุ่นพิษ เช่น เพิ่มช่องทางขนส่งสาธารณะ ดัดแปลงรถบัสจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และจัดตั้งเขตปลอดมลพิษกว่า 58 แห่ง ใน 70 เมือง

แม้ที่เล่ามาข้างต้น ดูจะเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกระดับ ทว่าเมื่อนำมาใช้จริงก็ยังมีช่องโหว่ให้เห็น เช่น ในปี 2022 สำนักข่าวบีบีซี (BBC) ได้รายงานว่า มีประชาชนชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งจาก 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ เบอร์ลิน (Berlin) แฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt)  มิวนิก (Munich) และดุสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) อ้างว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างหนัก เช่น กรณีที่บ้านของชายรายหนึ่งติดอยู่ริมถนน ท่ามกลางรถยนต์ที่สัญจรไปมาไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคันต่อวัน ส่งผลให้ลูกๆ ของเขาต้องป่วยเป็นโรคหอบหืด

จากนั้นประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี เพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขปัญหาและชดเชยค่าเสียหายตามที่ควรได้รับ ภายหลังการไต่สวนศาลฯ ลงมติว่า อากาศบริสุทธิ์ถือเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนสมควรได้รับอย่างครอบคลุม ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลที่มีหน้าที่ควบคุมได้ละเลยการปฏิบัติ จึงสมควรแก่การชดเชยค่าเสียหายและเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

เช่นเดียวกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ClientEarth ที่ออกมาแถลงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า “ปัญหามลพิษทางอากาศถือเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด หลายคนเริ่มเข้าใจว่าชีวิตของพวกเขาและลูกๆ จะดีขึ้นเพียงใด หากรัฐบาลใส่ใจและมีมาตรการควบคุมค่าอากาศที่ดี”

แม้จะเอ่ยได้ไม่เต็มปากว่า เยอรมนีสามารถจำกัดปริมาณฝุ่นไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือปล่อยปริมาณฝุ่นในอากาศไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามที่สหภาพยุโรปอนุญาต เพราะด้วยขนาดของประเทศและจำนวนประชากรที่มากตาม ครั้นจะให้เป๊ะปังทุกหย่อมหญ้าเสียตลอดคงจะเป็นไปได้ยาก แต่จุดที่ทำให้เยอรมนีเข้มแข็ง คือรัฐบาลที่มีแนวคิดก้าวหน้า มองปัญหาอย่างเป็นระบบล่วงหน้า ไปจนถึง ‘กฎหมาย’ ที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งเสียงไปยังรัฐบาล ให้มีการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงมาตรการที่กำลังทำอยู่ตลอด

วกกลับมาที่บ้านเรา เห็นทีจะต้องถามถึงรัฐบาลว่า มีมาตรการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างไร ถึงคราวของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชนแล้วหรือยัง ขณะที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ทะยานติดอันดับ 1 ของโลก ซี่งไม่น่าปรบมือดีใจแน่นอน ขณะเดียวกันยังเป็นสัญญาณเตือนไปถึงแคนดิเดตผู้สมัครนายกรัฐมนตรีทั้งหลาย ให้สนใจถึงปัญหามลพิษทางอากาศ และพร้อมแก้ไขปัญหาทันทีที่ได้รับตำแหน่ง

มิเช่นนั้น คงมีวันที่เราต้องซื้ออากาศบริสุทธิ์อัดกระป๋องจากบริษัทเจ้าสัวมาสูดเป็นแน่ 

ที่มา

https://www.iqair.com/th-en/world-air-quality-ranking

https://www.iqair.com/germany/hamburg

https://www.ccacoalition.org/en/partners/germany

https://www.eea.europa.eu/themes/air/country-fact-sheets/2021-country-fact-sheets/germany

https://www.bbc.com/news/science-environment-63012180

https://www.greenpeace.org/thailand/story/20779/air-pollution-international-day-of-clean-air-pm25-thailand/

Tags: , , , ,