เลือดสีแดงฉานอาบไปทั่วท้องทะเล วาฬบางส่วนที่ดิ้นทุรนทุรายด้วยลมหายใจเฮือกสุดท้าย ขณะที่ ‘นักล่า’ กำลังลากซากของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้มากกว่าสิบชีวิตขึ้นชายฝั่ง
ภาพบรรยากาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พิธีล่าวาฬ’ (Grindadráp หรือ Grind) ประเพณีเก่าแก่ของชาวแฟโร (Faro) เขตปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก (Denmark) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก โดยส่วนใหญ่มักเน้นการล่าวาฬนำร่อง (Pilot Whale) และโลมาคาดขาว (Atlantic White-Sided Dolphin) เนื่องจากคุณภาพของไขมันที่สูงเป็นพิเศษ
ว่ากันว่าพิธีนี้มีอายุนับพันปีและสืบทอดมาจากชาวไวกิง (Viking) จนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมการกินอาหารและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ไม่ใช่แค่เพียงการล่าเพื่อบริโภคหรือใช้สอยประโยชน์จากทุกส่วนของวาฬ แต่ประเพณีดังกล่าวยังเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนจากการรวมตัวกันเป็นอย่างดี
ในทุกฤดูร้อนของแต่ละปี นักล่าวาฬที่มีใบรับรองถูกกฎหมายจะออกปฏิบัติภารกิจ เริ่มจากล่อวาฬให้ออกมาด้วยเสียงของเครื่องยนต์ และค่อยๆ ต้อนพวกมันบริเวณชายฝั่งจนติดกับดักที่วางไว้ จากนั้นชายฉกรรจ์จะวิ่งกรูพร้อมกับอาวุธสังหาร โดยเริ่มจากส่วนกระดูกสันหลังตามวิธีดั้งเดิม และชำแหละเนื้อท่ามกลางฝูงชนที่ยืนรายล้อมชมพิธีกรรมนี้
แม้ชาวแฟโรมองว่า ประเพณีนี้มีความสำคัญต่อชุมชนไม่น้อย พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการสังหารโดยคำนึงถึงมนุษยธรรมมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พิธีกรรมดังกล่าวถูกจับตามองในแง่ลบ เพราะกระแสสังคมที่ตระหนักในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์เป็นพิเศษ
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2008 เป็นต้นมา เมื่อ ฮอยนี เดเบส โจเอนเซน (Høgni Debes Joensen) แพทย์ประจำเกาะแฟโร และพาล ไฮห์ (Pál Weihe) นักวิทยาศาสตร์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลแฟโรว่า วาฬนำร่องไม่ควรเป็นอาหารมนุษย์อีกต่อไป เนื่องจากมีสารปรอทจำนวนมาก ขณะที่นักสิทธิสัตว์ออกโรงประณามถึงความโหดร้าย และกล่าวว่าประเพณีนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไปในโลกสมัยใหม่
“คุณคิดว่า ประเพณีการสังหารวาฬถูกต้องไหม?”
“แล้วทำไมคุณถึงคิดว่า ทำไมมันถึงผิดล่ะ? วาฬคืออาหารของพวกเรา เราบริโภคมันในฐานะอาหาร”
เหล่านี้คือบทสนทนาในสารคดีของด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle: DW) ในปี 2023 ระหว่าง คริสเตียน เบลนเกอร์ (Christian Blenker) นักข่าว กับเย็นส์ มอร์แทน ราสมุสเซน (Jens Mortan Rasmussen) นักล่าวาฬท้องถิ่น ที่เป็นดังภาพสะท้อนถึงการปะทะทางความคิดระหว่างประเพณีท้องถิ่นกับค่านิยมสมัยใหม่ได้ในไม่กี่ประโยค
(1)
หากยังจำกันได้ ความฉาวโฉ่ของประเพณีสังหารโหดเป็นที่ประจักษ์ในปี 2021 หลัง Sea Shepherd องค์กรอนุรักษ์ทะเลสัญชาติอังกฤษ เปิดเผยผ่านวิดีโอที่มีความยาวราว 20 นาที ทำให้เห็นว่า พิธีดังกล่าวคร่าชีวิตโลมาคาดขาวมากกว่า 1,400 ตัวภายในชั่วข้ามคืน ซึ่งนับเป็นการสังหารสัตว์ชนิดนี้ครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของเกาะแฟโร
เหตุการณ์ครั้งนั้นตามมาด้วยเสียงวิจารณ์จากนานาชาติ ขณะที่รัฐบาลแฟโรก็ยอมรับตามตรงว่า การกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมและยั่งยืนต่อระบบนิเวศ ก่อนออกนโยบายควบคุมในปี 2022 ด้วย ‘การจำกัดโควตาล่าวาฬ’ อยู่ที่ 500 ตัวต่อปี พร้อมทั้งมีหลัก ‘5 ประการ’ กำกับการปฏิบัติประเพณีนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน การควบคุม และรักษาธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญ
“มันคือการโฆษณาที่เจ๋งที่สุดในโลกเท่าที่เราเคยมีมา เขากำลังเผยแพร่วัฒนธรรมการล่าปลาวาฬของเรา”
นี่คือเสียงจากเย็นส์ นักล่าวาฬมือฉกาจแห่งเกาะแฟโร เผยผ่าน DW ถึงวิดีโออันฉาวโฉ่ของ Sea Shepherd
ในปี 2016 เขาเคยยืนยันว่า การกินเนื้อวาฬไม่ต่างอะไรจากการกินเนื้อหมู และคนที่คัดค้านเป็นพวก ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ ก่อนจะย้ำอีกครั้งในปี 2023 ว่า วัฒนธรรมนี้มีความสำคัญในฐานะอาหารของชาวเกาะ และไม่เข้าใจว่า ทำไมนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์จึงมีปัญหากับการล่าวาฬ ในเมื่อสัตว์ชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์และอยู่มาตลอดหลายพันปี
ขณะเดียวกัน อินกี โซเรนเซน (Ingi Sorensen) ช่างภาพและนักล่าวาฬ ให้สัมภาษณ์ในปี 2016 ทำนองเดียวกันว่า การล่าวาฬคือวิถีชีวิตของชาวเกาะ และถ้าไม่มีประเพณีนี้ก็อาจจะไม่มีชาวแฟโรในทุกวันนี้
ท่ามกลางความเห็นของคนในท้องถิ่นที่สนับสนุนประเพณีล่าวาฬ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมายอมรับความโหดร้ายของวัฒนธรรมดังกล่าว หนึ่งในนั้น คือ ซูดูร์ สการ์เล (Sjurdur Skaale) ผู้ที่เปรียบเสมือนตัวตึงบนเกาะแห่งนี้
มุมมองของสการ์เลในฐานะนักล่าคนหนึ่งที่อยู่ในทุกขั้นตอนของประเพณี เขายอมรับตามตรงว่า สัตว์น้ำเหล่านี้อยู่อย่างสงบมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงชายฝั่งและตื่นตระหนกจากเสียงเครื่องยนต์ ก่อนจะถูกสังหารภายในพริบตา ทว่าเขาก็ยังเชื่อว่า วิธีการสังหารของชาวแฟโรยังโหดร้ายน้อยกว่าการฆ่าหมูเพื่อบริโภคในโลกทั่วไป และท้ายที่สุด สัตว์ทุกตัวเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์
(2)
“จริงๆ แล้ว ประเพณีนี้คือการทำบางอย่างเพื่อความสนุกสนาน มันคือกีฬาสีเลือด”
จอห์น อาวสตัน (John Hourston) โฆษกประจำ Blue Planet Society องค์กรพิทักษ์มหาสมุทร ให้สัมภาษณ์กับยูโรนิวส์ (Euronews) ถึงประเพณีดังกล่าวที่คงอยู่ด้วย ‘อำนาจปกครองตนเอง’ และ ‘ความเป็นอิสระของเกาะ’ แม้ว่ากฎหมายของสหภาพยุโรป (European Union: EU) และสหราชอาณาจักรจะคุ้มครองให้วาฬนำร่องเป็นสัตว์สงวนก็ตาม
อาวสตันเปิดเผยถึงบรรยากาศของประเพณีในปี 2023 ว่า แม้มีความพยายามควบคุม แต่การล่าวาฬยังเต็มไปด้วยความโหดร้ายเหมือนเดิม อีกทั้งรัฐบาลแฟโรไม่สามารถควบคุมจำนวนวาฬได้อย่างแน่ชัด เพราะเสียงของเครื่องยนต์ทำให้สัตว์ชนิดนี้หนีออกมาตามชายฝั่งหมด
ในภาพจำของเขา ฝูงวาฬ 60-100 ชีวิตค่อยๆ มารวมตัวบริเวณฟยอร์ด (Fjord) อ่าวเล็กๆ ริมชายฝั่ง โดยนักล่าอาศัยทักษะพิเศษของสัตว์ชนิดนี้ คือ ‘การรับรู้ด้วยเสียง’ (Echolocation) ซึ่งเปรียบดังกับดักชั้นดีล่อให้วาฬอยู่ในภาวะตื่นกลัวขีดสุดผ่านเสียงของเครื่องยนต์ ก่อนที่พวกมันจะถูกลากขึ้นฝั่ง และจบชีวิตด้วย ‘การตัดคอ’ จากอาวุธพิเศษที่ทำขึ้นโดยสัตวแพทย์ภายใน 1-2 วินาที หลังปืนและฉมวกถูกสั่งห้ามใช้ล่า
นอกจากประเด็นทางมนุษยธรรม Blue Planet Society ยังตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ในทางการเงิน หลังมีการค้นพบว่า การล่าวาฬกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเกาะ และเกี่ยวข้องกับการค้าเชิงพาณิชย์มากกว่าประเพณีเก่าแก่ โดยเฉพาะการแบ่งปันระหว่างคนชุมชนเสียมากกว่า โดยในปี 2017 Dimmalætting หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของแฟโรเปิดเผยถึงราคาของเนื้อวาฬในตลาดที่สูงถึง 3,000 ปอนด์ (ประมาณ 138,433 บาท)
“มันไม่จำเป็นเลยที่พวกเขาจะต้องโหดร้ายขนาดนี้ หากพิจารณาจากประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยถึง 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2 ล้านบาท) ต่อปี อีกทั้งตลาดของพวกเขายังเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก” ฮาวสตันแสดงความคิดเห็นโดยสื่อนัยสำคัญเศรษฐกิจของแฟโร
ขณะเดียวกัน อเล็กซานดรา เลชวอร์ (Aleksandra Lechewar) นักวิทยาศาสตร์ทะเลชาวโปแลนด์ และหนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่สังเกตการณ์ในเกาะแฟโรแสดงความคิดเห็น แม้เธอจะเข้าใจว่า นี่คือวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การล่าวาฬเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทั้งยังมีแต่จะทำให้สัตว์เหล่านี้เจ็บปวดทรมานยิ่งขึ้น
“จริงๆ แล้ว คุณไม่ต้องฆ่าพวกมันทั้งหมดก็ได้ นี่คือทางออกที่ดีที่สุด” เธอแสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายกับ DW
ปัจจุบัน วาฬนำร่องยังไร้วี่แววที่จะสูญพันธุ์ แต่ก็ได้รับความสำคัญลำดับท้ายจากนักอนุรักษ์ โดย Blue Planet Society และ Ocean Care องค์กรอนุรักษ์ทะเลระดับนานาชาติเปิดเผยว่า ค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตของวาฬนำร่องมีมากกว่า 700 ตัวต่อปี ทั้งจากการล่าและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ
อ้างอิง
https://blueplanetsociety.org/its-beyond-time-for-the-faroese-grindadrap-hunts-to-stop/
https://www.dolphinproject.com/blog/the-faroese-culture-argument-and-why-i-disagree/
https://www.youtube.com/watch?v=1hV6AwZHDOw
https://theanimalfund.net/en/faroes-island-hunt/
https://www.the-kingfisher.org/environment/oceans/europe/faroe_islands.html
Tags: เกาะแฟโร, แฟโร, Faro, Grindadráp, วาฬนำร่อง, ยุโรป, โลมาคาดขาว, เดนมาร์ก, ไวกิง, สิทธิสัตว์, ล่าวาฬ, โลมา