นักวิชาการ นักกีฬา และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม พากันตั้งคำถามว่า การใช้หิมะเทียมจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ถือเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุและสร้างภาระแก่โลกมากขึ้นหรือไม่
โอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ทว่าแทบทุกประเภทกีฬาจำเป็นต้องใช้หิมะเทียมแทนหิมะจริง เนื่องจากปริมาณหิมะในเมืองปักกิ่งที่เป็นพื้นที่จัดงานมีไม่เพียงพอ เป็นผลจากความปั่นป่วนทางสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน ฤดูหนาวทั่วโลกมีเวลาเฉลี่ยสั้นลง หิมะตกน้อยลง น้ำแข็งเปราะเป็นชั้นบางกว่าเก่า รวมถึงสถิติอุณหภูมิปี 2021 ของประเทศจีนที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ก็ถือว่าเพิ่มสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ทั้งหมดส่งผลให้ต้องใช้หิมะเทียมจำนวนมาก
ถ้าโอลิมปิกฤดูหนาวไม่มีหิมะ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันกีฬาสำหรับประเทศเมืองหนาว ทำให้เวลาดูการถ่ายทอดสด หรือฟังคำบอกเล่าของเหล่านักกีฬา มองไปทางไหนก็จะพบเครื่องสร้างหิมะเทียมกระจายอยู่ทุกจุดทั่วงาน และเครื่องสร้างหิมะเทียมจะส่งเสียงดังเคล้าเสียงเชียร์ตลอดเวลา
ปกติแล้วการเกิดหิมะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น บริเวณนั้นต้องมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ต้องมีละอองน้ำและความชื้นในชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม เป็นพื้นที่ที่ไม่มีอากาศแห้งจนเกินไป ซึ่งกรุงปักกิ่งในปัจจุบันมีสภาพอากาศแห้ง ความชื้นไม่เพียงพอ และมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 2.4 องศาเซลเซียส ทำให้มีหิมะไม่พอใช้จัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว ตรงกับข้อมูลในรายงานของมหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ ที่ระบุว่า ทุกเดือนกุมภาพันธ์ กรุงปักกิ่งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยเหนือจุดเยือกแข็งที่ยากจะเกิดหิมะ และเป็นแบบนี้มาตลอด 30 ปี
ในปัจจุบันการหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวถือเป็นเรื่องยาก โดยปกติการแข่งขันสเกลใหญ่ขนาดนี้มักจัดกันบริเวณชานเมือง หรือจัดในพื้นที่ที่ไม่รกร้าง ไม่ห่างไกล ไม่เสียเวลาเดินทาง แต่ด้วยสถานการณ์โลกร้อนทำให้สภาพอากาศแปรปรวน พื้นที่ที่เหมาะสมเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีชานเมืองไหนมีหิมะหนากว่า 4 นิ้ว หรือมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อนักกีฬา
Japan Times เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งชื่อว่า ‘โอลิมปิกฤดูหนาว สิ่งที่ปักกิ่งต้องการในตอนนี้คือหิมะ’ เล่าถึงความสิ้นเปลืองในการใช้หิมะเทียมตลอดการแข่งขัน ไปจนถึงเรื่องราวก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจีนสั่งอพยพชาวบ้านหลายร้อยคนให้ออกจากบ้านตัวเอง เพื่อสร้างสนามแข่งที่กว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนบทความชิ้นนี้จะเตือนให้โลกจำเป็นต้องกลับมาทบทวนถึงการแข่งขันกีฬาที่จำเป็นต้องใช้หิมะในช่วงที่โลกกำลังร้อนขึ้นทุกวัน
ปริมาณหิมะที่รัฐบาลจีนต้องใช้ในงานโอลิมปิกฤดูหนาวอาจมากถึง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่จัดการแข่งขัน 8 แสนตารางเมตร โดยรายงานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) คาดการณ์ว่าจีนต้องใช้น้ำประมาณ 49 ล้านแกลลอนเพื่อผลิตหิมะเทียม โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นกับการเติมน้ำในสระว่ายน้ำตามที่พักอาศัย 3,600 สระ และเติมน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกได้ 400 สระ หรือเทียบกับการดื่มน้ำในปริมาณมาตรฐานของประชากร 100 ล้านคน แต่จากข้อมูลที่บันทึกไว้ในปี 2017 ปักกิ่งมีแหล่งน้ำจืดเพียง 36,000 แกลลอนเท่านั้น
คำถามที่ตามมาคือ เราจำเป็นต้องใช้น้ำมากมายขนาดนั้นสร้างของทดแทนของที่มีตามธรรมชาติ เพื่อการแข่งกีฬาจริงหรือ
หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้น้ำจำนวนมากเพื่อสร้างหิมะเทียม รัฐบาลจีนออกแถลงการณ์ต่อประเด็นดังกล่าว ยืนยันว่าน้ำจำนวนมากที่ใช้ในการจัดงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลจะศึกษาผลกระทบของการใช้หิมะเทียม รวมถึงระบุว่ามีการวางแผนเรื่องการเก็บหิมะเทียมที่ละลายแล้วเพื่อดูว่าสามารถทำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่
เคสหิมะเทียมในโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ถือเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกระบุตรงกันว่า ในอนาคตทั่วโลกอาจต้องใช้หิมะเทียมเพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว เพราะคงไม่มีประเทศเจ้าภาพที่ไหนอุตริไปจัดการแข่งขันในพื้นที่ห่างไกลและเป็นอันตรายต่อนักกีฬา ทางเลือกสุดท้ายจึงหนีไม่พ้นการสร้างหิมะเทียมในพื้นที่ที่สะดวกต่อการจัดการแข่งขัน โดย ไมเคิล มายา (Michael Mayr) ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียของ TechnoAlpin บริษัทที่ได้สัมปทานสร้างหิมะเทียมในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ระบุว่า ในตอนนี้ ถ้าไม่มีเครื่องสร้างหิมะเทียม มนุษย์ไม่มีทางจะได้เล่นกีฬาฤดูหนาวอีกเลย
แดเนียล สกอตต์ (Daniel Scott) ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์ อ้างอิงการคาดการณ์นี้จากการเก็บสถิติการแข่งขันและประเมินร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ระบุว่า หากประชาคมโลกไม่ควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง 21 เมืองใน 13 ประเทศ ที่เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ทั้ง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส ฯลฯ อาจไม่สามารถจัดงานที่มีหิมะจริงๆ ได้อีกเลย จะเหลือเพียง ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น ที่จะจัดการแข่งขันได้ตามปกติในพื้นที่ที่เหมาะสมปลอดภัย โดยการคาดการณ์นี้ประเมินระยะเวลารอบศตวรรษ (100 ปี) และหลังจากนั้นจะไม่มีพื้นที่ใดที่จะจัดงานโดยใช้หิมะจริงได้อีกเลย
อ้างอิง
– https://edition.cnn.com/2022/02/04/weather/artificial-snow-beijing-olympics-climate/index.html
– https://www.npr.org/2022/02/07/1078735278/beijing-olympics-fake-snow-ski-snowboard
– https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/02/08/olympics/winter-olympics/snow-winter-olympics/
Tags: จีน, สิ่งแวดล้อม, ปักกิ่ง, โอลิมปิกฤดูหนาว, โลกร้อน, Beijing 2022, Winter Olympics, Report, หิมะเทียม, China, Global Affairs