เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2023 คณะวิจัยแอนโทรโพซีน (Anthropocene Working Group: AWG) ระบุชื่อไซต์สำรวจซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บริเวณ ‘ทะเลสาบครอวฟอร์ด’ รัฐออนทาริโอ ประเทศแคนาดา ที่สะท้อนให้เห็นว่า โลกของเราได้เข้าสู่สมัยธรณีกาลใหม่แล้ว

นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา AWG ทำงานเพื่อผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง ‘สมัยโฮโลซีน’ (Holocene) ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นสมัยปัจจุบัน กับ ‘สมัยแอนโทรโพซีน’ (Anthropocene) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยสหภาพนานาชาติวิทยาธรณีวิทยา (International Union of Geological Sciences: IUGS)

คอลิน วอเตอร์ส (Colin Waters) นักธรณีวิทยาและศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของภาควิชาภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) และประธานคณะวิจัย AWG เชื่อว่า หลักฐานที่พวกเขาพบในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือสิ่งที่จะช่วยระบุ ‘วันแรก’ (Day 1) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของสมัยแอนโทรโพซีนได้ คาดการณ์ว่าอยู่ระหว่างปี 1950-1954

“ระดับความยิ่งใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน และนั่นจะต้องเป็นผลกระทบจากมนุษยชาติอย่างแน่นอน

“กิจกรรมของมนุษย์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโลกเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ ‘ควบคุม’ ความเป็นไปของโลกต่างหาก เมื่อคนจำนวน 8,000 ล้านคน ต่างทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเสมอ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบอันรุนแรง เราจึงเชื่อว่าโลกได้เข้าสู่สมัยธรณีกาลใหม่แล้ว” คอลินระบุ

ธรณีกาล: บันทึกทางธรณีวิทยาของโลก

อายุขัยของโลกถูกแบ่งย่อยออกเป็นช่วงอายุต่างๆ ทางธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาจำแนกและจัดหมวดหมู่กาลเวลาเป็นช่วงๆ ด้วยหน่วยเวลาที่แยกย่อยตามขนาดและความสำคัญที่ลดหลั่นกันไป โดยเราเรียกระบบการแบ่งแบบนี้ว่า ‘ธรณีกาล’ (Geological Time Scale) อันประกอบไปด้วย

บรมยุค (Eon) > มหายุค (Era) > ยุค (Period) > สมัย (Epoch) > ช่วงอายุ (Age)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่คนส่วนมากน่าจะคุ้นเคยที่สุด ก็คือชื่อเรียกยุคไดโนเสาร์อย่าง ไทรแอสซิก (Triassic) จูแรสซิก (Jurassic) และครีเทเชียส (Cretaceous) ที่เราอาจเผลอคิดไปเองว่าเป็นชื่อยุคที่ใช้จำแนกไดโนเสาร์โดยเฉพาะ แต่ความจริงแล้ว ชื่อเหล่านี้นี่แหละ คือยุค (Period) ทางธรณีวิทยา

ปัจจุบันมนุษย์กำลังอาศัยอยู่ในยุคควอเตอร์นารี (Quaternary) เริ่มต้นขึ้นในยุคธารน้ำแข็งซีกโลกเหนือเมื่อประมาณ 2.6 ล้านปีก่อน ประกอบไปด้วยสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือยุคน้ำแข็งดังที่เราเห็นกันในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Ice Age (2002) และสมัยโฮโลซีน (Holocene) หรือหลังยุคน้ำแข็งที่เริ่มขึ้นเมื่อราว 1 หมื่นปีก่อน

และยุคที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ว่าเป็นสมัยปัจจุบัน ก็คือสมัยโฮโลซีนนี่เอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มที่เชื่อว่า โลกเราได้เข้าสู่หน่วยธรณีกาลใหม่ที่เรียกว่าสมัยแอนโทรโพซีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 แล้ว โดยวัดจากการที่สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และระบบนิเวศต่างๆ ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หวนคืน

การค้นพบครั้งใหม่ที่ ‘ทะเลสาบครอว์ฟอร์ด’

ณ ทะเลสาบครอว์ฟอร์ด ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโทรอนโตไปทางทิศตะวันตก 37 ไมล์ (ประมาณ 60 กิโลเมตร) นักวิจัยเก็บตัวอย่างตะกอนที่สะสมอยู่ก้นทะเลสาบขึ้นมาศึกษา กระทั่งได้ข้อสรุปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระดับธรณีวิทยา

แม้นักวิจัยกลุ่มนี้จะมีตัวอย่างจากไซต์สำรวจอื่นๆ อีกถึง 11 แห่ง แต่ความพิเศษของทะเลสาบครอว์ฟอร์ด คือระดับความลึกถึง 22 เมตรที่ส่งผลให้ตะกอนที่นอนอยู่ด้านล่างตรวจจับและสะสมร่องรอยทางธรรมชาติ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ถูกรบกวน

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจที่สุดที่พบปะปนสะสมอยู่ในชั้นตะกอนของทะเลสาบคือ ‘หนามสีทอง’ หรือพลูโทเนียม หากอ้างอิงจากปากคำของเหล่านักวิจัย ธาตุดังกล่าวถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและกะทันหันต่อชั้นตะกอนในทะเลสาบ เพราะไม่ใช่ธาตุที่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ง่ายๆ

โดยในท้ายที่สุด คณะวิจัย AWG ได้ข้อสรุปว่า การค้นพบธาตุดังกล่าวเป็นผลกระทบจากการทดสอบนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษ 1950 ทำให้ชี้ชัดได้ว่า พื้นฐานทางชีววิทยาของโลกไม่เหมือนกับเมื่อ 70 ปีก่อนหน้า ช่วงก่อนสงครามโลกอีกต่อไปแล้ว

มนุษยสมัย ‘แอนโทรโพซีน’

คำว่าแอนโทรโพ- (Anthropo-) เป็นคำภาษากรีกแปลว่า ‘มนุษย์’ ส่วนซีน (-cene) แปลว่า ‘ใหม่’ รวมตัวเป็นเป็นชื่อสมัยทางธรณีวิทยาที่บ่งบอกความหมายอย่างชัดเจนว่า เกิดจาก ‘น้ำมือมนุษย์’

ปัจจุบัน แนวคิดและข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่สมัยแอนโทรโพซีนยังไม่ได้รับการยอมรับด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นมีคำถามที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่กระทำโดยมนุษย์ ส่งผลกระทบถึงระดับชั้นดินหรือไม่

คำถามถัดมา คือหากมีผลกระทบจริง แล้วความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไรกันแน่

ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมที่สุดเสนอว่า ทุกอย่างเริ่มขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชั้นบรรยากาศโลก

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเสนอว่า ปีที่ใช้ในการเริ่มนับว่าเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนอย่างเป็นทางการ ควรเป็นปี 1945 (ปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2) เพราะเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์คิดค้น ทดลอง และใช้ระเบิดปรมาณู โดยเหตุการณ์แรกที่ทำให้ทั่วทั้งโลกได้รับผลกระทบจากอานุภาพของกัมมันตภาพรังสี หนีไม่พ้นการทิ้งระเบิดปรมาณู Fat Man และ Little Boy ที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

คำถามสำคัญที่สุดสำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ คือหากโลกจะเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนจริงๆ แล้วเรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่อพวกเราทั้งหมด?

แม้ตอนนี้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนถึงอนาคตของโลก แต่ความจริงประการหนึ่งที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนปฏิเสธได้ คือไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ไหนที่สร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อดาวเคราะห์ดวงนี้ ด้วยตนเองเพียงลำพังได้เทียบเท่ามนุษย์ ไม่แม้แต่สัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่โตมโหฬารอย่างไดโนเสาร์

อ้างอิง

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/11/evidence-in-canada-lake-indicates-start-of-new-anthropocene-epoch 

https://edition.cnn.com/2023/07/11/world/anthropocene-epoch-geological-time-unit-scn/index.html

https://www.nature.com/articles/d41586-022-04428-3 

https://education.nationalgeographic.org/resource/anthropocene/ 

https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/200847 

Tags: , , , ,