ย้อนกลับไปเดือนกันยายนปี 2020 สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนประกาศว่า จีนจะเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอนภายในปี 2060 และรัฐบาลจีนเริ่มดำเนินมาตรการอย่างจริงจังเพื่อทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง โดยในช่วงปี 2021 มีการปิดเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลหลายร้อยแห่ง และเริ่มหันมาลงทุนในเรื่องของพลังงานสะอาด จนกลายเป็นผู้ส่งออกนวัตกรรมพลังงานสะอาดเบอร์ต้นๆ ของโลก 

แต่นโยบายดังกล่าวเดินทางไปได้เพียงระยะสั้นๆ ก็เริ่มส่อเค้าปัญหามากมาย แถมกระหน่ำด้วยมหัตภัยโรคระบาด รวมถึงสงครามทางพลังงานของรัสเซีย-ยูเครน ที่เข้ามาซ้ำเติม ทำเอาเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศถดถอยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางการจีนจึงเริ่มมาตรการรัดเข็มขัดทันที ด้วยการเร่งอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการส่งออกภาคธุรกิจ เมื่อคันเร่งทางเศรษฐกิจถูกเหยียบ สิ่งที่เป็นลูกโซ่ตามมาคือการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับปัจจัยการผลิตและการส่งออกที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว ทางเลือกเดิมที่เคยกล่าวไว้ว่าจะพึ่งพาพลังงานสะอาดจึงถูกเลื่อนออกไปก่อน และหันมาขยายโรงงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกครั้ง

ความท้าทายจาก 3 ปัญหาใหญ่นำไปสู่การลดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และทำให้จีนต้องตัดสินใจเพิ่มการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากอันดับแรกคือวิกฤตทางพลังงานภายในประเทศจีนเอง ที่มีปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ช่วงปี 2020 ต่อมาคือปัญหาสาธารณะสุขที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และสุดท้ายคือปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน

วิกฤตพลังงาน

ช่วงต้นปี 2021 ดูเหมือนจะเป็นเวลาที่จีนกลับมาผงาดง้ำในฐานะพ่อใหญ่แห่งวงการเศรษฐกิจโลก จากรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจในปี 2021 พบว่า GDP ในไตรมาส 4 ของประเทศจีนอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ และนั่นทำให้ทั้งปี 2021 เศรษฐกิจจีนเติบโตถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อภาคธุรกิจกำลังเดินไปข้างหน้า การดูแลด้านพลังงานจึงต้องสอดคล้องกันไป โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และจีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เช่นกัน

การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้มีการเร่งฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมส่งออกมากมายในหลายมณฑลของประเทศจีน การเกิดขึ้นของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้มีการใช้พลังงานเกินกว่าจะรองรับได้ ประกอบกับคำสัญญาว่าประเทศจะปลอดคาร์บอนในปี 2060 จึงมีการสั่งปิดเหมืองฟอสซิลและพลังงานถ่านหินไปเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าประเทศจีนใช้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินมากถึง 77 เปอร์เซ็นต์ และยังต้องมีการนำเข้าจากหลายประเทศ การปิดโดยกะทันหันย่อมส่งผลกระทบ และอีกประการหนึ่งคือปัจจัยความมั่นคงของจีน ที่มักจะเห็นภาพของความขัดแย้งที่ส่งผลต่อการนำเข้าเชื้อเพลิงถ่านหินอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน การลงทุนด้านพลังงานสะอาดก็ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนพลังงานที่สูญเสียไปได้

นโยบายทางพลังงานที่สวนทางกับการขยายตัวของเศรษฐกิจขนาดนี้ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตพลังงานภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ในต้นปี 2021 หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นบางพื้นที่ในมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และกวางตุ้ง เริ่มขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และมีหน่วยงานบางส่วนเริ่มออกนโยบายให้มีการปันส่วนเพื่อลดการใช้งานไฟฟ้า ซึ่งโดยรวมแล้ว ทั้ง 3 มณฑลนี้ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของ GDP ทั้งจีน เนื่องจากมีโรงงานซึ่งถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ๆ ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อะลูมิเนียม และซีเมนต์ ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการควบคุมการผลิตรอบนี้ของทางการจีน โดยกำลังการผลิตอะลูมิเนียมประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ ถูกระงับ ซึ่งผลกระทบอาจจะไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น แต่อาจกระทบกับการส่งออกทั่วทั้งโลกในสินค้าหลายประเภทด้วย ยกตัวอย่าง บริษัท Eson Precision Engineering บริษัทในเครือ Foxconn ที่ตั้งอยู่ในเมืองคุณซาน และฐานการผลิตหลักของ Apple และ Tesla ต้องระงับการผลิตชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ต้องลดการใช้งานพลังงานไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลท้องถิ่น

วิกฤตโรคระบาด

ต้องเรียกว่า ‘ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ โรคระบาดโควิด-19 ก็กลับมาซ้ำรอยในประเทศจีนอีกครั้ง ทำให้ทางการจีนต้องมีมาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid strategy) ขึ้นมา

แต่การเลือกใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนก็สร้างผลกระทบไม่น้อย เพราะทำให้ภาคการผลิตยังไม่สามารถกลับมาดำเนินงานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และนั่นทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนต่างๆ จากประเทศจีนได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

นอกจากนี้ ในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่มีอัตราการแพร่กระจายได้ไวกว่าสายพันธุ์เดลต้านั้น ดูเหมือนจะยังไม่มีท่าทีจบลงในเร็ววัน จากมาตรการคุมเข้มนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในครัวเรือน ประชาชนในหลายมลรัฐเริ่มประสบปัญหาไม่สามารถที่จะหาอาหารและสิ่งของจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มาตรการล็อกดาวน์เช่นนี้ขยายตัวจากปัญหาภาคครัวเรือนสู่มหภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้สินค้าขาดแคลนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากพลังงานอยู่ก่อนหน้า

วิกฤตสงคราม รัสเซีย–ยูเครน

ตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พี่ใหญ่ในสงครามการค้าก็มีถอยเช่นกัน แม้ว่าจะวางตัวเป็นพันธมิตรที่ดีกับประเทศรัสเซียเสมอมา แต่การแบนสกุลเงินรูเบิลและสินค้าจากยุโรปและชาติพันธมิตร ส่อให้จีนต้องคิดอย่างถี่ถ้วนในการดำเนินนโยบายทางการทูต 

มาตรการคว่ำบาตรทำให้การผลิตในรัสเซียและยูเครนถูกกระทบมาก โดยเฉพาะพลังงาน คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตอาหาร เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด รวมถึงโลหะที่ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงถ่านหินด้วย ทำให้เศรษฐกิจรัสเซีย เศรษฐกิจยูเครน รวมถึงเศรษฐกิจประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก การขาดแคลนสินค้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก  ยิ่งถ้าสถานการณ์สงครามยืดเยื้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยิ่งลดลง

การตัดสินใจสวนกระแสโลก

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ช่วงต้นปี 2022 ตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนทรุดลงเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 ที่ขยายตัวกว่า 8.1 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งปี การทรุดฮวบทางเศรษฐกิจของจีนเช่นนี้ ทำให้คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีนตัดสินใจหารือเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออก ก่อนได้ข้อสรุปว่า ถ่านหินมีความสำคัญต่อ ‘ความมั่นคงด้านพลังงาน’ จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูแผนการเปิดเหมืองถ่านหินและโรงงานพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลขึ้นอีกครั้ง

วันที่ 1 พฤษภาคม 2022 คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน กล่าวว่าวิกฤตพลังงานในจีนคลี่คลายลงแล้ว เพราะจีนได้เพิ่มกำลังผลิตถ่านหินในประเทศเป็นวันละกว่า 11.5 ล้านตัน ประกอบกับราคาถ่านหินปัจจุบันได้ลดลงมากแล้ว สัญญาซื้อขายถ่านหินลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือตันละ 970 หยวน (ราว 5,049 บาท) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ผลผลิตถ่านหินในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 14.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปีต่อปีเป็น 396 ล้านตัน ในเดือนที่แล้ว ขณะที่การนำเข้าถ่านหินยังคงหดตัว โดยในเดือนที่แล้ว จีนได้นำเข้าถ่านหิน 16.42 ล้านตัน ลดลง 39.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบเป็นรายปี และคณะกรรมการภาษีศุลกากรของสภาแห่งรัฐประเทศจีนกล่าวว่า อีก 11 เดือนข้างหน้า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2022 เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์ถ่านหิน 7 ประเภท รวมทั้งถ่านหินโค้กและถ่านหินสีน้ำตาลจะถูกเก็บภาษีเป็นศูนย์ทันที เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหานโยบายทางพลังงานของจีน 

ลี ชู (Li Shuo) ที่ปรึกษานโยบายอาวุโสระดับโลกของกรีนพีซประจำประเทศจีน แสดงความกังวลว่า โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ลำบากในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินนโยบายเช่นนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจไม่ส่งผลดีต่อประเทศจีนในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวน ระดับทะเลที่สูงขึ้น การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ และผู้คนเสียชีวิตจากความร้อนมากขึ้น รวมถึงหมอกควันและอีกนานาปัญหาตามมา

หากจำกันได้ จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ในนาทีสุดท้ายก่อนหน้าจะมีการบรรลุข้อตกลงนี้ จีนและอินเดียได้ขอให้มีการแก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงว่าด้วยการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด จากเดิมที่ใช้คำว่า ‘ยุติการใช้’ มาเป็นคำว่า ‘ลดการใช้’ พลังงานถ่านหิน สวนทางกับการนโยบายทางสภาพอากาศของนานาประเทศ และในวันนี้ทางการจีนก็แสดงให้เห็นแล้วว่า คำสัญญาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและยุติการใช้ภายในปี 2060 รวมถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเลื่อนหรือมองข้ามได้เสมอ หากไปกระทบกับความสำคัญทางเศรษฐกิจและอำนาจที่ประเทศจีนใช้เป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

ที่มา:

https://english.news.cn/20220424/3879f596b11f4a82be1119ad332e15b3/c.html

https://www.nbcnews.com/science/environment/china-promotes-coal-setback-efforts-cut-emissions-rcna25790

ภาพ: AFP

Tags: , , ,