“#FreeBella การกักขังสัตว์ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอีกต่อไป” 

“อุตสาหกรรมการจัดแสดงสัตว์น้ำถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภ ก่อนจะชื่นชมยินดีเมื่อได้ถ่ายรูปพวกมัน ผู้เข้าชมควรเห็นอกเห็นใจเจ้าสัตว์เหล่านี้ ไม่เช่นนั้น การขูดรีดจะดำเนินต่อไป” 

  “นี่มันช่างน่ารังเกียจและน่าเศร้ามาก เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดที่ไหนในโลก”

ข้างต้นคือบทสนทนาจากผู้เชี่ยวชาญและคนธรรมดาในโลกออนไลน์ ถึง เบลลา (Bella) วาฬเบลูกาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำล็อตเตเวิลด์ (Lotte World Aquarium) ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หลังชีวิตของมันกำลังอยู่ในขั้นเปราะบางที่สุด เมื่อนักอนุรักษ์สัตว์น้ำจากกลุ่ม Hot Pink Dolphins องค์กรพิทักษ์สัตว์น้ำในเกาหลีใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าวาฬเบลูกาตัวนี้กำลังมีอาการ ‘ป่วยทางจิต’ จากการถูกกักขังในตู้กระจก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและผิดธรรมชาติสำหรับสัตว์ประเภทนี้

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดต้องย้อนกลับไปในปี 2013-2014 เบลล่าพร้อมด้วยวาฬเบลูกาเพศผู้อีก 2 ตัว ได้แก่ เบลโล (Bello) และเบลลี (Belli) ถูกจับจากมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic) บริเวณชายฝั่งของรัสเซีย ก่อนจะนำมาขายต่อให้กับล็อตเต หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพลที่สุดของเกาหลีใต้ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อแชบอล (Chaebol: 재벌) 

แม้จะมีข้อวิจารณ์ถึงสภาพความเป็นอยู่ในช่วงแรก เพราะพวกมันต้องอาศัยอยู่ในบ่อน้ำลึก 24 ฟุต อย่างผิดธรรมชาติ แต่ปรากฏว่า เจ้าวาฬเบลูกา 3 ตัว กลายเป็นดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในห้างล็อตเต สะท้อนจากกระแสไวรัลในโลก TikTok และท่าทีของเด็กๆ ที่มักส่งเสียงเรียกร้องความสนใจเจ้าสัตว์น้ำเหล่านี้

แต่แล้วเรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้น เมื่อเบลโลเสียชีวิตในปี 2016 ด้วยอายุเพียง 5 ปี ขณะที่เบลลีจากไปในปี 2019 ด้วยวัย 12 ปี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับวาฬเบลูกาที่มีอายุขัยเฉลี่ย 35-50 ปี

ขณะนั้น นักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์นำโดย Hot Pink Dolphins ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยเบลลาออกจากพิพิธภัณฑ์ ซึ่งล็อตเตตอบรับคำขอ โดยระบุว่า พิพิธภัณฑ์คำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของเจ้าวาฬเบลูกาตัวสุดท้ายเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม คำสัญญาของล็อตเตไม่เป็นจริง นำมาสู่การเรียกร้องของภาคประชาสังคมอีกครั้งในปี 2021 แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ปฏิเสธ พร้อมอ้างถึงความไม่สะดวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

ซ้ำร้ายในปี 2023 มีรายงานจากโคเรียเฮรัลด์ (KoreaHerald) สื่อเกาหลีว่า ล็อตเตฟ้องร้องกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่จัดการชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้า และเรียกร้องค่าเสียหายถึง 700 ล้านวอน (ประมาณ 18.7 ล้านบาท) โดยอ้างว่า ผู้ประท้วงสร้างความเสียหายให้กับกระจกภายในด้วยการติดสติกเกอร์ รวมถึงรบกวนลูกค้าและสัตว์ในพิพิธภัณฑ์

ทั้งนี้ โก จองรัก (Koh Jeong-rak) หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ระบุว่า บริษัทมีแผนจะปล่อยเบลล่าถึง 3 ครั้ง โดยระบุจุดหมายเพียงแห่งเดียวคือประเทศไอร์แลนด์ แต่ก็ล้มเหลวตลอด เพราะมีสัตว์สปีชีส์อื่นอาศัยอยู่ด้วย ยังไม่รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก่อนที่เขาจะเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังพิจารณาปล่อยเจ้าวาฬเบลูกาภายในปี 2026 ทว่าสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนนัก

จาก ‘อาการผิดปกติของเบลลา’ สู่ ‘คำถามทางจริยธรรม’ ของอุตสาหกรรมการจัดแสดงสัตว์น้ำ

“เบลลาแทบจะไม่ตื่นตัวเลย และนั่นแสดงให้เห็นถึงอาการป่วยทางจิต” 

โจ ยักกอล (Jo Yak-gol) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Hot Pink Dolphins แสดงความคิดเห็นผ่านเดอะการ์เดียน (The Guardian) หลังวาฬเบลูกาตัวนี้มีอาการผิดปกติ คือไม่ว่ายน้ำ แต่ลอยไปลอยมา และหมุนอย่างไม่มีจุดหมาย 

ธรรมชาติของวาฬเบลูกาในทัศนะของ วาเลเรีย เวอร์การา (Valeria Vergara) นักวิทยาศาสตร์และผู้ร่วมก่อตั้ง Raincoast Conservation Foundation มองว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่ฉลาด ชอบเข้าสังคม อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน และเรียนรู้ด้วยการพึ่งพากันตั้งแต่วัยเยาว์ แต่การถูกกักขังในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ย่อมขัดขวางความสามารถดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องผิดจริยธรรมและละเมิดสิทธิสัตว์อย่างมาก

“แน่นอนว่า สัตว์ที่ฉลาดหลักแหลมและรักการอยู่ร่วมกันอย่างวาฬเบลูกา คงไม่มีความสุขในสภาพเช่นนั้น พวกมันทุกข์ทรมาน เพราะไร้ความอิสระและขาดแรงจูงใจ กล่าวง่ายๆ คือ วาฬเบลูกาไม่สามารถปรับตัวได้ หากคำนึงถึงธรรมชาติของมัน” 

เวอร์การาระบุผ่านซีเอ็นเอ็น (CNN) และเดอะการ์เดียนก่อนเสริมว่า วิธีการที่ดีที่สุด คือการปล่อยเบลลาสู่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล เพราะหากพิจารณาจากสภาพความเป็นอยู่ในช่วงที่ผ่านมา มันคงปรับตัวกับระบบนิเวศเปิดอย่างมหาสมุทรไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากวาฬมักเรียนรู้ทักษะและความสามารถจากแม่ ทั้งการเคลื่อนย้าย การล่าเหยื่อ หรือแม้แต่การสื่อสาร

ปัจจุบัน ทางการเกาหลีใต้ประกาศห้ามซื้อขายวาฬและโลมาเพื่อจัดแสดงเมื่อเดือนธันวาคม 2023 แต่กฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับเบลลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความพยายามของนักสิทธิสัตว์ที่ยกระดับการเรียกร้อง ถึงขั้นปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ การจัดแสดงสัตว์น้ำถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออก เพราะรายได้มหาศาลจากผู้เข้าชม โดยเฉพาะการจับวาฬและโลมามาแสดง

เฮเลน โอบาร์รี (Helene O’Barry) นักเคลื่อนไหวปกป้องโลมาชาวอเมริกัน แสดงความคิดเห็นถึงอุตสาหกรรมนี้ว่า เต็มไปด้วยความโลภ โดยเปรียบเปรยว่า นายทุนมักหากินกับความสวยงามของมัน ก่อนจะเสริมว่า ไม่มีทางที่ขบวนการดังกล่าวจะยุติ หากผู้เข้าร่วมไม่ตั้งคำถามถึงความโหดร้ายของสิ่งเหล่านี้

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/article/2024/may/20/free-bella-campaigners-fight-to-save-lonely-beluga-whale-from-seoul-mall

https://www.khan.co.kr/environment/environment-general/article/201910241623001

https://edition.cnn.com/2023/12/23/travel/beluga-whale-bella-south-korea-intl-hnk/index.html

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20231023000750

https://www.newspenguin.com/news/curationView.html?idxno=15748

https://x.com/koryodynasty/status/1443035284191395843

Fact Box

Tags: , , , , , , , , , , ,