เมื่อตอนที่เน็ตฟลิกซ์เริ่มต้นสตรีมมิงภาพยนตร์เมื่อประมาณปี 2007 คาร์ลีน ทสุ (Carleen Hsu) นักวิชาการด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต (Michigan State University) บอกว่า เธอเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เรียกว่าเป็น ‘การคุกคาม’ ของระบบสตรีมมิง ที่เริ่มเข้ามาเปลี่ยนประสบการณ์ของการดูภาพยนตร์ และการเช่าภาพยนตร์ เพราะสตรีมมิงทำได้ดีกว่าการเช่าหรือซื้อดีวีดี ในเวลานั้นเธอทำนายว่า ความสามารถของบริการสตรีมมิง อนาคตอาจแย่งที่นั่งและเปลี่ยนพฤติกรรมของการไปดูภาพยนตร์ในโรงหนังได้เลย

ณ เวลานั้น ความเห็นของเธอก็เป็นเพียงความเห็น คงไม่มีใครคิดแน่นอนว่าบริการสตรีมมิงจะมาไกลได้ขนาดนี้ และพฤติกรรมใหม่ในการดูหนังยิ่งห่างไกลจากสิ่งที่ผู้ผลิตหนังคาดเอาไว้มาก

ผ่านมา 15 ปีจากที่คาร์ลีนได้กล่าวไว้ หลายอย่างดูเหมือนกำลังเริ่มเข้าเค้า มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นระหว่างทางในการพัฒนาระบบสตรีมมิง หลายช่วงที่คิดว่าเน็ตฟลิกซ์จะไม่รอดแต่ก็รอดมาได้จนวันนี้ และกลายเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจสตรีมมิงภาพยนตร์ 

ถ้าดูข้อมูลจาก Statista ที่เก็บไว้ในช่วงกลางปี 2021 พบว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีคนสมัครบริการสตรีมมิงไม่ช่องใดก็ช่องหนึ่งอยู่ที่ 62% ของประชากร เจ้าตลาดอย่างเน็ตฟลิกซ์ มีคนสมัครทั่วโลกหลัก 200 ล้านแอ็กเคานต์ เบ็ดเสร็จตอนนี้มีภาพยนตร์และสื่อทั้งซีรีส์ สารคดี โชว์ รวมกว่า 5,000 รายการ เมื่อปีที่แล้วเน็ตฟลิกซ์สามารถทำรายได้มากกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8.3 แสนล้านบาท) เมื่อรายได้สูงขนาดนี้ สตรีมมิงเจ้าอื่นคงไม่ปล่อยให้เน็ตฟลิกซ์ครองตลาดอยู่คนเดียว โดยภาพรวมเราจึงเห็นผู้เล่นมากหน้าหลายตาเข้าสู่ตลาดอย่างคึกคัก 

ในประเทศไทย นอกเหนือจากแบรนด์ตะวันตก ก็ยังมีแพลตฟอร์มจากจีนและเกาหลีใต้มาแชร์ตลาด เรียกได้ว่าตอนนี้เราเข้าสู่ยุคของการดูภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิงมากกว่าโรงภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว

บริการสตรีมมิงในช่วงแรกๆ เป็นการนำเอาเนื้อหาที่เคยทำไว้แล้วมาฉายซ้ำลงบนแพลตฟอร์ม แต่ยุคนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เกือบทุกแพลตฟอร์มแข่งขันกันผลิตเนื้อหาเฉพาะของตัวเองเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกถึงความพิเศษ เป็นการสร้างแบรนด์ในระยะยาว ผู้ให้บริการอย่างเน็ตฟลิกซ์ถือว่าเป็นผู้นำในด้านการผลิตภาพยนตร์และซีรีส์เพื่อสตรีมมิงในแพลตฟอร์มของตัวเองมากที่สุด ปีที่แล้วเน็ตฟลิกซ์จ้างบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์จากหลายประเทศ ผลิตทั้งสารคดี ภาพยนตร์ขนาดยาวและซีรีส์ย์เกือบ 400 เรื่อง นั่นหมายถึงเน็ตฟลิกซ์มีเนื้อหาใหม่ๆ ที่มาจากการผลิตของเน็ตฟลิกซ์เองอย่างน้อยหนึ่งเรื่องในทุกวัน

แม้ว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์จะซบเซาลงเพราะการระบาดของโควิด-19 แต่อุตสาหกรรมหนังไม่ได้ซบเซาตามโรงหนัง กลับกันนี่คือช่วงเวลาที่ทุกค่ายหนัง ทุกสตูดิแย่งกันผลิตเนื้อหาใหม่ๆ นักแสดงหน้าใหม่ตบเท้าเข้าสู่วงการหนัง(สตรีมมิง) เรียกว่าไม่มีช่วงเวลาไหนที่อุตสาหกรรมบันเทิงจะคึกคักกว่านี้อีกแล้ว เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน แพลตฟอร์มการดูภาพยนตร์เปลี่ยน การผลิตก็ย่อมมีการเปลี่ยนและปรับตัวตามความเหมาะสมเช่นกัน เราลองมาดูกันว่าในห่วงโซ่การผลิตนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 ที่เน็ตฟลิกซ์เริ่มทำการตลาด เป็นปีเดียวกับการเปิดตัวไอโฟน ในยุคนั้นไม่มีใครคิดว่าสมาร์ตโฟนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราได้มากขนาดนี้ รวมถึงการดูภาพยนตร์บนสมาร์ตโฟน ขณะที่ปัจจุบันการดูสตรีมมิงบนสมาร์ตโฟนกลับถือเป็นเรื่องปกติ

การสำรวจของนีลสัน บริษัทวิจัยการตลาดเมื่อปี 2021 พบว่าวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปใช้เวลาในการดูเนื้อหาวีดีโอบนสมาร์ตโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้ว 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ว่าชั่วโมงอาจไม่ยาวนานเมื่อเทียบกับการดูผ่านโทรทัศน์ แต่ผู้ใช้ส่วนมากยอมรับว่าสมาร์ตโฟนทำให้พวกเขาเข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายและรวดเร็วกว่า 

แล้วประเด็นนี้เปลี่ยนแปลงการผลิตหนังอย่างไร

อย่างแรก มีการปรับเปลี่ยนการถ่ายทำเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการรับชมและขนาดของจอที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันเป็นที่รู้กันในหมู่สตูดิโอผู้ผลิตว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างหนึ่งคือการถ่ายที่ต้อง ‘เผื่อ’ สำหรับขนาดของจอที่มีสัดส่วนแตกต่าง โดยที่ได้ขนาดของภาพ อรรถรสในการชมไม่แตกต่างกัน

เราจะพบว่าซีรีส์ที่ฉายในสตรีมมิงหันมาให้ความสำคัญกับการถ่ายทำแบบเน้นครอปตัวแสดงให้แน่น แช่ภาพให้นานขึ้น ให้ผู้ชมสนใจที่ตัวนักแสดงมากกว่าองค์ประกอบของฉาก ฉากอาจไม่ได้ทำหน้าที่ ‘เล่าเรื่อง’ เหมือนกับสมัยก่อน แต่อาจใช้จุดเด่นอื่นในการจูงใจคนดู รวมถึงเทคนิคการตัดต่อ ความยาวก็อาจต้องปรับให้เหมาะกับแพลตฟอร์มที่นำเสนอ การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์อนิเมะจากญี่ปุ่นและซีรีส์

หนังที่ถ่ายทำแบบภาพกว้างที่เน้นวิธีคิดแบบเดิมที่ต้องถ่ายมาสำหรับโรงภาพยนตร์อาจไม่เหมาะกับหนังบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงเท่าไร เนื่องจากความใหญ่ของหน้าจอและสมาธิ การจดจ่อกับการดูภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนเดิม ส่วนอีกประการที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถทำแบบนี้ได้ก็คือความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาได้เร็วมาก

ไม่ใช่แค่ทีมถ่าย ทีมเขียนบทเองก็ต้องเปลี่ยน

เจฟฟรีย์ เรดดิก (Jeffrey Reddick) นักเขียนบทแนวสยองขวัญ ซึ่งเคยเขียนบทให้ภาพยนตร์อย่าง Nightmare of Elm Street และ Final Destination อันโด่งดัง ตอนนี้เขามีโครงการเขียนบทให้กับสตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ให้กับเน็ตฟลิกซ์ เขาเล่าประสบการณ์การทำงานกับสตูดิโอหนังสมัยก่อนกับการทำงานสำหรับสตรีมมิงว่า การพิชชิ่ง (Pitching) หรือขั้นตอนการนำเสนอไอเดียนั้น ค่อนข้างจะต้องมาแบบครบเกือบสมบูรณ์ ไม่ว่ารายการของคุณจะมีโครงการนำร่อง (หรือที่เรียกกันว่าไพล็อตโปรเจ็กต์) หรือไม่ แพลตฟอร์มสตรีมมิงค่อนข้างต้องการพล็อต บท และสตอรีบอร์ดที่ค่อนข้างครบ มากกว่าการเสนองานกับสตูดิโอที่เน้นผลิตภาพยนตร์สำหรับฉายในโรงหนัง ที่เป็นอย่างนี้ส่วนหนึ่งคือบริการสตรีมมิงต้องการเห็นรายจ่ายที่ชัดเจน และความเป็นไปได้ในการลงทุนในเวลาที่พวกเขาคิดว่าจะได้เนื้อหานี้กลับมาฉาย

เรดดิกยังบอกอีกว่า ในุมมของเขาและจากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับสตรีมมิงแพลตฟอร์ม จะ ‘ไม่มีการส่งต่อ’ นั่นหมายถึงว่า หากคุณเสนองานให้แพลตฟอร์มแรกแล้วไม่ผ่านเป็นไปได้ยากมากที่คุณจะไปเจ้าที่สองแล้วจะผ่าน แต่ในขณะที่ในระบบของสตูดิโอแบบเก่าของฮอลลีวูดอาจมีการส่งต่อ ​เช่น ทรีตเมนต์แรกอาจไม่เหมาะกับการเป็นหนังโรง แต่น่าจะเหมาะหากขยายออกมาเป็นรายการทีวี หรือมินิซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ แต่กับสตรีมมิงนั้นแตกต่างออกไป

มุมมองของนักทำสารคดีก็เช่นกัน ผู้ผลิตหนังสารคดีจำนวนมากเห็นว่านี่เป็นโอกาสในการขยายวงของผู้ชมได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับระบบจัดจำหน่ายแบบเดิมหรือระบบโรงหนัง ซึ่งมองเรื่องของระยะเวลาและรายรับที่จะได้จากการฉายและขายหนังสารคดี (ซึ่งก็ขายยากอยู่แล้ว) เป็นที่ตั้ง ขณะที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เน้นความหลากหลายของเนื้อหา เพราะฐานผู้ชมที่กว้างขวางมากและความยืดหยุ่นเรื่องเวลาในการเข้าถึงเนื้อหาก็มีมากกว่า การคิดรายได้แบบ pay-per-view หรือการทำ profit sharing กันระหว่างผู้ผลิตและเจ้าของแพลตฟอร์ม ก็เปิดโอกาสให้นักทำสารคดีมากขึ้น

นักแสดงก็เช่นกัน หากคุณมีโอกาสได้ดูซีรีส์ไซไฟฟอร์มใหญ่อย่าง Foundation ของ Apple TV+ หรือการประกาศสร้างภาคต่อของ Lord of The Rings ของ Amazon Prime จะพบว่า มีนักแสดงหน้าใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นชื่อเลย ได้โอกาสรับบทนำมากขึ้น หรือนักแสดงมากฝีมือแต่ไม่ดังสักทีหรือไม่ได้มีโอกาสได้เล่นบทเด่นนัก อย่าง โจเอล คินนาแมน (Joel Kinnaman) รับบทนำในซีรีส์ไซไฟอย่าง Altered Carbon ในเน็ตฟลิกซ์ หนึ่งในซีรีส์ไซไฟที่เน็ตฟลิกซ์ลงทุนอย่างมหาศาล แม้ซีรีส์จะไม่ดังมากนัก แต่ก็ทำให้เขามีโอกาสได้รับบทเด่นถัดมาจากค่าย DC Comic ใน Suicide Squad สตรีมมิงจึงเป็นโอกาสทองของนักแสดงหน้าใหม่มากฝีมือ เนื่องจากค่าตัวของธุรกิจสตรีมมิง ทำให้ทุกแบรนด์ ทุกค่าย ทุกสตูดิโอ ต่างก็ต้องการนักแสดงจำนวนมากเพื่อผลิตเนื้อหา

อย่างไรก็ดี ธุรกิจสตรีมมิงก็เหมือนกับธุรกิจบริโภคอื่นๆ คือต้องมีทั้งเนื้อหาที่ทำเงินและเนื้อหาที่สร้างชื่อทำกล่อง รูปแบบการผลิตภาพยนตร์แบบเก่าเพื่อให้ได้การยอมรับในเวทีการประกวดต่างๆ ก็ยังมีความจำเป็น กฎระเบียบของสถาบันต่างๆ ที่ตั้งไว้ที่ยังคงผูกพันกับโรงหนัง ยังทำให้ภาพยนตร์ส่วนหนึ่งยังคงพึ่งพิงระบบเก่า เพื่อฉกฉวยพื่นที่ข่าว หรือเพื่อการสร้างแบรนด์ของตัวเอง

เราเริ่มเห็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ล้อไปกับการแจกรางวัลต่างๆ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการประกาศรางวัลระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งภาพยนตร์เหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้คนดูรู้สึกว่า สตรีมมิงสามารถสร้างประสบการณ์การดูภาพยนตร์คุณภาพได้ไม่น้อยกว่าโรงหนัง แม้ว่าจะมีคนดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับการฉายในโรงภาพยนตร์ เทียบกับจำนวนของผู้สมัครสมาชิก แต่ถามว่าสตรีมมิงจะถอดหนังเน้นกล่องเหล่านี้ออกจากลิสต์หรือไม่-คิดว่าคงไม่เป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างเช่น The Power of The Dog ของเจน แคมเปียน (Jane Campion) ซึ่งฉายทางเน็ตฟลิกซ์ที่มีคนดูทั่วโลกไปแล้วประมาณ 1.2 ล้านครั้ง เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกกว่า 200 ล้านแอคเค้าท์ อาจถือว่าน้อย แต่เมื่อเทียบกับชื่อชั้นของผู้กำกับ ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำและการถ่ายทำที่ถ่ายทอดมุมมองของผู้กำกับได้ตรงไปตรงมา เนื้อหาแบบนี้ก็ยังคงเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทำให้สตรีมมิงแต่ละแบรนด์นั้นสามารถรักษาฐานของลูกค้าไว้ได้

เน็ตฟลิกซ์กำลังพิจารณาการปรับค่าสมาชิกขึ้นมาอีกนิดหน่อยในบางโซน เช่นในทวีปอเมริกาและยุโรป เพื่อนำไปลงทุนเพิ่มกับการผลิตสื่อของตัวเอง ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตเนื้อหาของตัวเองมากที่สุด(เมื่อเทียบกับเนื้อหาที่สตรีมมิง เน็ตฟลิกซ์มีสัดส่วนของเนื้อหาที่ผลิตเองอยู่ที่ราว 39%) การปรับขึ้นค่าสมาชิกน่าจะมีผลกับทั้งอุตสาหกรรมสตรีมมิงแน่นอน ทั้งเรื่องการผลิตไปจนถึงพฤติกรรมของคนดู แต่ทั้งนี้เน็ตฟลิกซ์ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะกระทบกับจำนวนสมาชิก

สอดคล้องกับรายงานของ Reportlinker ซึ่งเพิ่งเปิดเผยงานวิจัยการตลาดเรื่องการเติบโตของบริการสตรีมมิงวีดีโอ โดยคาดว่า 3 ปีจากนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 18% ซึ่งต่อไปขนาดของธุรกิจอาจสามารถแตะขึ้นไปได้เกือบสองแสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท)

ในขณะที่ธุรกิจโรงหนังดูจะยังโงหัวไม่ขึ้น

 

อ้างอิง

https://www.esquire.com/uk/culture/tv/a36842312/streaming-platforms/

https://statenews.com/article/2021/09/how-streaming-has-caused-a-shift-in-the-film-industry?ct=content_open&cv=cbox_latest

http://fourteeneastmag.com/index.php/2021/10/22/have-streaming-services-permanently-changed-the-cinema-experience/

https://www.linkedin.com/pulse/how-streaming-changing-film-industry-phill-neighbour?trk=read_related_article-card_title

https://impakter.com/tv-streaming-cinematic-culture/

https://nscreenmedia.com/smartphone-video-users-72-percent/

 

Tags: , , ,