เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ค้นเจอบทความหนึ่งของสำนักข่าวเดอะจาการ์ตาโพสต์ (Jakarta Post) ที่เขียนไว้ในปี 2019 ด้วยพาดหัวชวนให้คิดตามว่า ‘ทำไมวงเกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีใต้ถึงไม่สามารถสู้กับบททดสอบของเวลาได้’ โดยเนื้อหากล่าวย้อนไปถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของไอดอลหญิงรุ่น 2 (ที่มักเรียกกันว่าเจน 2) รวมถึงเรื่องอาถรรพ์ 7 ปี ที่ทำให้หลายวงต้องเจอกับปัญหาจนยุติบทบาทการเป็นไอดอลไป
‘บททดสอบของเวลา’
คำนี้น่าสนใจ เนื่องจากอุตสาหกรรมเคป็อปมีการแบ่งศิลปินออกเป็นเจเนอเรชันอย่างกับรุ่นของสมาร์ตโฟน โดยนับจากการแบ่งช่วงปี เมื่อมีเจเนอเรชันใหม่เกิดขึ้น แสงสปอตไลต์และความสนใจของผู้คนก็มักย้ายตามไปด้วย
‘เวลา’ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกับอาชีพไอดอลในอุตสาหกรรมนี้
ถึงอย่างนั้น กลับไม่มีใครรู้แน่ชัดเลยว่าการสิ้นสุดหรือเริ่มต้นเจเนอเรชันในวงการเคป็อปนั้นมีเกณฑ์การนับอย่างไร แม้จะมีปีกำหนดให้เห็น แต่ทำไมถึงแบ่งปีเช่นนั้น ไม่มีค่ายเพลงออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า ‘เราจะสิ้นสุดรุ่น 2 ที่ปีนี้แล้วนะ เตรียมตัวให้ดี’ รู้อีกที ผ่านมาไม่ถึง 30 ปี นับจากไอดอลรุ่นแรก เหล่าแฟนคลับก็เดินทางมาถึงเจเนอเรชันที่ 4 เสียแล้ว
ทำให้การผลักภาระไปยังสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’ เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไร เพราะในความเป็นจริง ใครที่ติดตามวงการเพลงเกาหลีใต้จะทราบดีว่า มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ศิลปินสักกลุ่มอยู่เป็นดาวค้างฟ้า หรือถูกเบียดตกรางไปในเวลาอันรวดเร็ว
บทความนี้จึงมีจุดประสงค์อยากให้ผู้อ่านมาร่วมตั้งข้อสังเกตต่อการผันผ่านที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมไอดอลเกาหลีใต้ และ ‘วันหมดอายุ’ ที่ไร้มาตรวัดชัดเจน
‘เจเนอเรชัน’ ไม่ได้อยู่แค่ปี แต่ผันเปลี่ยนตามกระแสสังคมและความนิยมทางดนตรี
จากการศึกษาข้อมูลการแบ่งเจเนอเรชันของวงการเพลงเคป็อปที่เผยแพร่บนวิกิพีเดีย (Wikipedia) และเว็บไซต์ไอดีโอโลจี (IDOLOGY) ของเกาหลีใต้ พบว่าการนับช่วงปีเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้แยกศิลปินแต่ละรุ่นออกจากกันได้ง่ายที่สุด แต่นัยสำคัญของการใช้ช่วงปี มาจากการเชื่อมโยงภาพลักษณ์และแนวเพลงของไอดอล เข้ากับกระแสนิยมโลกในแต่ละยุคสมัยด้วย โดยสามารถอธิบายได้ดังนี้
ไอดอลรุ่นที่ 1 (ปี 1996-2002) ที่ถูกเรียกว่า ‘จุดเริ่มต้น’
ช่วงปีนี้คือจุดกำเนิดของการสร้างศิลปินแนวไอดอลกรุ๊ปของเกาหลีใต้ โดยในปี 1996 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เอสเอ็มเอนเตอร์เทนเมนต์ (SM Entertainment) เปิดตัวศิลปินบอยแบนด์วงแรกแห่งวงการเคป็อปชื่อ H.O.T (เอชโอที) ที่นำเสนอภาพลักษณ์แบบไอดอลประเทศญี่ปุ่น มีการแต่งกายและทรงผมสะดุดตา ประกอบกับแนวเพลงสไตล์ฮิปฮอปโอลด์สคูลและอาร์แอนด์บีที่กำลังนิยมในโลกตะวันตก สไตล์ของศิลปินที่เกิดขึ้นตามมาจึงยึดแนวทางนี้ต่อๆ กัน
ในยุคเดียวกันนี้มีการแตกศิลปินออกมาเป็นรุ่น 1.5 ที่เรียกว่า ‘ศิลปินรุ่นทดลอง’ โดยลองสร้างศิลปินในแบบที่หลากหลายขึ้น เช่น เกิร์ลกรุ๊ป ศิลปินหญิงเดี่ยว หรือชายเดี่ยว เข้ามาประดับวงการเพิ่มเติม อาทิ Shinhwa (ชินฮวา) Click-B (คลิ๊กบี) G.O.D. (จีโอดี) Chakra (จักรา) Jewelry (จิวเวอรี) และ BoA (โบอา) ซึ่งกลายเป็นกลุ่มศิลปินที่ทำให้คำว่า ‘เคป็อป’ กลายเป็นที่พูดถึงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีน
ไอดอลรุ่นที่ 2 (ปี 2003-2011) ‘ธุรกิจไอดอล’
ศิลปินรุ่นนี้นับเป็นรุ่นบุกเบิกที่นำวัฒนธรรมเคป็อปไปสู่สายตาชาวโลก เพราะเป็นช่วงที่เกาหลีใต้เผชิญปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลเห็นช่องทางการใช้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นตัวเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ
ไอดอลในยุคนี้จึงถูกมองว่าเป็น ‘ต้นแบบธุรกิจไอดอล’ เห็นได้จากการที่ค่ายเพลงเริ่มจริงจังในการขายสิ่งที่มากกว่าเพลง ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มที่เต็มไปด้วยของสมนาคุณอย่างสมุดภาพหรือการ์ดภาพ และพยายามที่จะผลักดันให้ศิลปินสามารถทำเวิร์ลทัวร์ ปรับเปลี่ยนคอนเซปต์จาก ‘ศิลปินหาตัวจับยาก’ เป็น ‘เพื่อนบ้านคนดังแสนเป็นมิตร’ ด้วยการเอาไอดอลไปออกรายการวาไรตี้สนุกสนาน เพื่อทำให้คนได้เห็นศิลปินมากขึ้น เหมือนแฟนคลับกำลังสนับสนุนพี่ชาย-น้องสาว หรือเพื่อนที่พวกเขาชื่นชอบ โดยตัวอย่างศิลปินที่โด่งดังในยุคนี้ ได้แก่ TVXQ (ดงบังชินกิ) BIGBANG (บิ๊กแบง) Super Junior (ซูเปอร์จูเนียร์) F.T. Island (เอฟทีไอส์แลนด์) Girls’ Generation (เกิลส์เจเนอเรชัน) KARA (คารา) และ Wonder Girls (วันเดอร์เกิลส์)
ในด้านแนวเพลง มีการค่อยๆ ทิ้งภาพเพลงแนวฮิปฮอปอาร์แอนด์บีจังหวะเนิบๆ และผสมความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ป็อปจังหวะเร้าใจเข้าไปมากขึ้น เลยส่งผลไปถึงการเต้นที่หนักแน่น อีกทั้งยังผลิตศิลปินประเภทวงดนตรีเพิ่มเข้ามา ทำให้เป็นยุคที่วงการเคป็อปมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก มีทั้งวงที่ดูน่ารักสดใส แบบเท่ หรือเซ็กซี่
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความหลากหลายของไอดอลครั้งนี้ ส่งให้เคป็อปกลายเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้นๆ ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้
หลังจากความสำเร็จดังกล่าว ไอดอลรุ่น 2.5 จึงถือกำเนิดขึ้น ค่ายเพลงเริ่มเร่งผลิตศิลปินไม่ต่างจากครอบครัวที่เร่งผลิตทายาทให้ทันใช้ โดยวงที่เป็นที่จดจำในรุ่นนี้ได้แก่ SHINee (ชายนี) 2PM (ทูพีเอ็ม) INFINITE (อินฟินิต) f(x) (เอฟเอ็กซ์) 2NE1 (ทูเอนีวัน) Miss A (มิสเอ) 4Minute (โฟร์มินิต) และ SISTAR (ซิสตา)
ความท้าทายของศิลปินที่เกิดขึ้นช่วงนี้ คือความคาดหวังจากแฟนเพลงทั่วโลก ถึงศักยภาพด้านการร้องและการเต้นที่มากขึ้นกว่าที่เคยมีมา อีกทั้งยังมีกระแสของ YouTube เกิดขึ้นในช่วงปี 2010 ทำให้ศิลปินต้องแข่งขันกันสร้างยอดวิวเพื่อการันตีความสำเร็จของผลงานเพลงแต่ละชิ้น
ส่งผลไปถึงการแข่งขันด้านคุณภาพของมิวสิกวิดีโอและคอนเซปต์อัลบั้ม ที่ต้องเป๊ะปังชนะใจกรรมการ ซึ่งนอกจากทีมผู้ผลิตและตัวศิลปินแล้ว การ ‘ปั่นยอดวิว’ ก็กลายมาเป็นกิจกรรมสำคัญของกลุ่มแฟนคลับด้วย
ทำให้ยิ่งเมื่อมีกระแสความคลั่งไคล้หรือการพูดถึงอย่างแพร่หลายบนโลกโชเชียลฯ ความโด่งดังของศิลปินก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จนทำให้ประเทศมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างสหรัฐอเมริกาเริ่มมองเห็นการมาของเคป็อป และอีกหนึ่งจุดสังเกตที่เกิดขึ้นในไอดอลรุ่น 2.5 คือการเพิ่มสมาชิกชาวต่างชาติเข้ามาในวงเพื่อสร้างความหลากหลาย และเตรียมพร้อมสู่การบุกตลาดโลก
จนกระทั่งปี 2012 เพลง Gangnam Style ของ PSY (ไซ) ได้ยอดชมกว่า 4,600 ล้านวิวบนยูทูบ ทำให้กระแสเคป็อปยิ่งตีตลาดเพลงสหรัฐฯ ได้มากขึ้น และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขึ้นแสดงในงาน American Music Awards และงานฉลองขึ้นปีใหม่ที่ไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก ความสำเร็จของ PSY ครั้งนั้นจึงเปรียบเหมือนการขีดเส้นจบเจเนอเรชันที่ 2 เพื่อสร้างตำนานบทใหม่ของศิลปินในรุ่นต่อมา
ไอดอลรุ่นที่ 3 (ปี 2012-2017) ‘ศิลปินระดับโลก’
ด้วยความยิ่งใหญ่ของเคป็อป ทำให้ศิลปินที่เกิดขึ้นในเจเนอเรชันนี้มีเป้าหมายหลักเดียวกันคือการ ‘ตีตลาดเพลงโลก’ ไม่ใช่แค่การได้จัดเวิร์ลทัวร์แต่รวมไปถึงการได้ออกรายการในต่างประเทศ มีเพลงขึ้นชาร์ตใหญ่อย่างบิลบอร์ด (Billboard) ชนะรางวัลทางดนตรีทั้งในและนอกเกาหลีใต้ ไปจนถึงการได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์ระดับโลก เพื่อขยายขีดจำกัดให้เคป็อปเป็นมากกว่าแนวเพลง แต่คือผู้จุดกระแสและผู้เผยแพร่วัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ทำให้การแข่งขันของค่ายเพลงที่จะสร้างศิลปินคุณภาพระดับ World Standard เริ่มขึ้น
สิ่งที่โดดเด่นในกลุ่มไอดอลรุ่น 3 พอๆ กับศักยภาพด้านการร้องและเต้น หรือภาพลักษณ์หล่อสวยราวภาพวาด คือ ‘คอนเซปต์’ และการสร้างเรื่องราวจนกลายเป็น ‘จักรวาล’ ของวงนั้นๆ อาทิ
EXO (เอ็กโซ) เด็กหนุ่มที่เดินทางมาจากดาว EXO Planet นอกระบบสุริยะ พร้อมพลังวิเศษที่แตกต่างกัน
BTS (บังทันโซยอนดัน) กับคอนเซปต์สมจริงในการบอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่ม ที่เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก การตกหลุมรัก ความฝัน การเติบโต ความเจ็บปวดและการยืนหยัดต่อสู้อุปสรรค
Red Velvet (เรดเวลเวต) ที่เล่นกับความคอนทราสต์ของเรื่องราวสยองขวัญ การฆาตกรรมและความสดใส ด้วยคำว่า ‘Red’ และ ‘Velvet’
BLACKPINK (แบล็กพิงก์) กับคอนเซปต์การเล่าเรื่องราวปกรณัมกรีกในแบบที่เทพีฝ่ายหญิงไม่ใช่เหยื่ออีกต่อไป
บทความหนึ่งจากเว็บไซต์ออลเคป็อป (Allkpop) เล่าว่า ‘เนติเซน’ หรือชาวเน็ตเกาหลีใต้ขนานนามศิลปินในรุ่นที่ 3 ว่าเป็นรุ่นที่ยิ่งใหญ่และจะโด่งดังในวงการได้นานกว่าไอดอลรุ่นอื่นๆ เพราะเป็นรุ่นที่ไอดอลก้าวผ่านอาถรรพ์ 7 ปีได้มากที่สุด และหลายวงยังสร้างผลงานที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากรายการเฟ้นหาไอดอลแนวเซอร์ไววัลน้องใหม่อย่าง ‘Produce 101’ เผยแพร่ออกไป ความนิยมในกลุ่มไอดอลน้องใหม่ก็มีเพิ่มขึ้น เกิดเป็นไอดอลรุ่น 3.5 ซึ่งมีวงที่มาจากรายการเซอร์ไววัลแจ้งเกิดเพิ่มอีกมากหน้าหลายตา เช่น SEVENTEEN (เซเว่นทีน) MONSTA X (มอนสตาเอ็กซ์) NCT (เอ็นซีที) IOI (ไอโอไอ) Wanna One (วันนาวัน) iKON (ไอค่อน) Winner (วินเนอร์) Cosmic Girls (คอสมิกเกิลส์) รวมถึง ‘เกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติเกาหลีใต้’ อย่าง TWICE (ทไวซ์) ก็เป็นวงที่แจ้งเกิดจากรายการแนวเซอร์ไววัลชื่อ ‘Sixteen’ ในช่วงปี 2015 เช่นกัน
ไอดอลรุ่นที่ 4 (ปี 2018-ปัจจุบัน) ‘เคป็อปที่ไร้ขีดจำกัด’
สิ่งหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมเคป็อปเติบโตแบบไม่หยุดยั้งจากรุ่นที่ 1 มาจนถึงรุ่นที่ 4 คือการทำลายขีดจำกัดของตัวเอง ในเจเนอเรชันนี้ไอดอลแต่ละวงเริ่มนำเสนอความหลากหลายแปลกใหม่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นวงน้องใหม่มาแรงอย่าง NewJeans (นิวจีนส์) ที่เน้นการทำเพลงที่ฟังสบาย สร้างมิวสิกวิดีโอแนวภาพยนตร์สั้นให้ผู้ชมได้ตีความ และการยึดองค์ประกอบจากยุค Y2K เป็นตัวควบคุมอาร์ตไดเรกชันของงานทุกชิ้น วงที่มีจุดยืนเป็นความแข็งแกร่ง ไม่กลัวใครอย่าง LE SSERAFIM (เลเซราฟิม) ไอดอลที่ใช้บทเพลงวิพากษ์สังคมและค่านิยมในวงการเพลงเคป็อปอย่าง (G)I-DLE (ยอจาไอเดิล) หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่เป็นตัวแม่ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนอย่าง aespa (เอสป้า)
แม้จะเป็นแค่ศิลปินส่วนน้อยจากศิลปินหน้าใหม่ทั้งหมดที่เดบิวต์ในเจเนอเรชัน 4 แต่ทุกวงที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นการขยายขอบเขตและรายละเอียด ที่ถูกพัฒนาให้ก้าวทันความนิยมของโลกสมัยใหม่ ศิลปินเคป็อปกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม ทำลายกรอบความเชื่อเดิมที่มีต่อเพศใดเพศหนึ่งได้ สามารถเป็นผู้กำหนดเทรนด์ด้านแฟชันของโลก และนำเทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อนำเสนอคอนเซปต์ของวงได้
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่าการผันเปลี่ยนอันฉับไวของอุตสาหกรรมเคป็อป มีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปของโลกอย่างแท้จริง แต่ความลำบากในฐานะศิลปิน คือการต้องพยายามวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดให้ทัน จึงจะสามารถถือครองสถานะไอดอลข้ามผ่านกาลเวลามา และไม่ตกขบวนความนิยม
ความนิยมมี ‘อายุขัย’
“เบบี้มอนสเตอร์เด็กไป”
“นิวจีนส์ควรเดบิวต์ตอนที่โตกว่านี้”
“ไม่ใช่ว่า เจนฯ 5 จะเดบิวต์ตอนสิบขวบเลยนะ”
ในขณะเดียวกัน
“ไอรีนเดบิวต์ตอนอายุ 18 ถือว่าแก่กว่าปกติ”
“อายุ 30 ไม่ควรเป็นไอดอลแล้ว”
“ซากุระที่เดบิวซ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่สดใหม่หรือน่าสนใจอีกต่อไป”
นอกจากการแบ่งเจเนอเรชันด้วยช่วงปี ประกอบกับปัจจัยภายนอก เช่น การหมดสัญญากับต้นสังกัด การสินใจแยกวงไปตามทางของตัวเอง หรือข่าวเสียหายที่ทำให้อาชีพดับ อีกสิ่งที่เป็นแรงกดดันให้ศิลปินหลายคนเลิกอาชีพการเป็นไอดอล เห็นทีจะเป็น ‘ค่านิยมเรื่องอายุ’ อันน่างุนงงของวงการเคป็อป
หลังจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอายุที่น้อยเกินไปของไอดอลรุ่นที่ 4 ซึ่งมีผลสืบเนื่องกับความเหมาะสมและความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามในฐานะวัตถุทางเพศ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ ‘อายุเท่าไรจึงจะเหมาะสม’ เนื่องจากไม่ใช่แค่ความ ‘เด็กไป’ ที่เป็นปัญหา แต่ความ ‘แก่เกิน’ ก็ทำให้แฟนคลับหลายกลุ่มไม่พอใจเช่นกัน
อี แทกกวัง (Lee Taek-gwang) นักวิจารณ์ด้านวัฒนธรรมและศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารระดับโลกจากมหาวิทยาลัยคยองฮี (Kyung Hee University) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวจาการ์ตาโพสต์ถึงประเด็นที่ว่าทำไม ‘อายุ’ ถึงมีบทบาทสำคัญต่อความอยู่รอดของไอดอล โดยเฉพาะไอดอลที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ป
“เมื่อพิจารณาอายุเฉลี่ยของเกิร์ลกรุ๊ปที่เดบิวต์ขึ้นใหม่ทุกๆ ปี เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง ความนิยมมีแนวโน้มลดลง เพราะพวกเธอส่วนใหญ่เริ่มต้นเป็นที่นิยมจากภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนเยาว์ น่ารัก ไร้เดียงสา ทำให้เมื่อสาวๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาภาพลักษณ์เดิมไว้ได้ สุดท้ายก็ถูกแทนที่ด้วยวงที่อายุน้อยกว่า”
แทกกวังอธิบายเพิ่มว่านี่เป็นสาเหตุที่อายุเฉลี่ยของไอดอลลดลงเรื่อยๆ เพราะหากมองเป็นธุรกิจ ทางค่ายเพลงก็อยากจะเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่ไอดอลสามารถสร้างความนิยมและรายได้ให้นานที่สุด สัญญาของค่ายส่วนใหญ่จึงถูกกำหนดให้มีระยะเวลานานกว่า 3-5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแยกวงหรือย้ายค่ายในช่วงที่กำลังประสบความสำเร็จ
เหตุผลข้างต้นส่งผลไปถึงการแยกทางของหลายวงอีกด้วย เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วหากหลังหมดสัญญาในแต่ละรอบ เป็นช่วงเดียวกันกับที่ศิลปินเห็นถึงความไม่ยุติธรรมด้านรายได้ การดูแล หรือความนิยมที่ไม่มากเท่าเดิม พวกเขาก็มีสิทธิที่จะมองหาเส้นทางอื่นในวงการบันเทิงต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการแยกออกมาเป็นศิลปินเดียว เพื่อหนีจากวันหมดอายุในฐานะไอดอล หรือการหันเหไปทำงานเบื้องหลัง เปิดค่ายของตัวเอง หรือเดินสายการแสดง
ความกลัวเรื่องอายุไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับไอดอลผู้หญิงที่ถูกผูกติดกับ ‘ความสาว’ เท่านั้น ไอดอลชายเองก็กังวลกับเรื่องนี้ไม่น้อย
ในรายการพอดแคสต์ชื่อ Intersections: The Art Basel Podcast โดย UBS Global ที่ได้ คิม นัมจุน (Kim Namjoon) หรืออาร์เอ็ม (RM) ลีดเดอร์วงบีทีเอส เป็นแขกรับเชิญ ก็มีการพูดถึงประเด็นเรื่องอายุของไอดอลเอาไว้
“ในตอนที่พวกเราอายุเข้า 30 ปี ทุกอย่างมันจะยากขึ้นมาก แม้ในโลกของคนทั่วไปผมจะเป็นแค่ชายหนุ่มอายุ 29 ปี แต่สำหรับการเป็นบอยแบนด์มันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นเหมือนวันหมดอายุที่ผู้คนกำหนดให้ศิลปิน
“ปัญหาหลักของวงการเคป็อปและระบบไอดอล คือพวกเขาไม่ให้เวลาคุณเป็นผู้ใหญ่ คุณต้องผลิตเพลงและทำสิ่งต่างๆ ต่อไปด้วยตัวของคุณเองหลังจากนี้”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความโหดร้ายของอายุขัยหรือวันหมดอายุล่องหนที่ถูกวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นในทางธุรกิจหรือค่านิยมในสังคมเกาหลีใต้ ยังมีไอดอลหลายคนที่พาตัวเองเดินทางมาไกลจากเจเนอเรชันแรกมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงเฉิดฉายสร้างผลงานเพลงให้แฟนที่รอคอยได้ตามสนับสนุน
เราสามารถเห็นตัวอย่างที่ว่านี้ได้จากการกลับมาของ แทยอน (Teayeon) ฮโยยอน (Hyoyeon) ในฐานะศิลปินเดี่ยว หรือการรวมตัวศิลปิน 4 รุ่นได้แก่ BoA (โบอา) Girls’ Generation (เกิลส์เจเนอเรชัน) Red Velvet (เรดเวลเวต) และ aespa (เอสป้า) ในโปรเจกต์ Girls On Top (เกิลส์สออนท็อป) ที่ทำให้แฟนๆ ได้เห็นการเพอร์ฟอร์มจาก BoA อีกครั้ง
การขึ้นแสดงบนเวทีโคเชลลา (Coachella) ของศิลปินระดับตำนานอย่าง 2NE1 ในปี 2022 รวมถึงการคัมแบ็กของวงรุ่น 2 และ 3 อีกมากมาย อาทิ BIGBANG (บิ๊กแบง) Girls’ Generation (เกิลส์เจเนอเรชัน) 2PM (ทูพีเอ็ม) GOT7 (ก็อตเซเว่น) SHINee (ชายนี่) และ KARA (คารา) ที่ได้รับความสนใจจากทั้งแฟนเพลงเคป็อปและสื่อทั่วโลก
ศิลปินเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ประสบการณ์ที่สะสมอย่างยาวนาน หรือความนิยมในอดีต แต่พวกเขาเลือกที่จะมองข้ามคำว่า ‘แก่’ หรือ ‘เก่า’ ที่สังคมโยนใส่ เดินหน้าบนเส้นทางสายดนตรีของตัวเองต่อไป พร้อมปรับผลงานให้ตอบโจทย์แฟนเพลงสมัยใหม่ และรักษาภาพลักษณ์อันดีในฐานะศิลปินไว้อย่างดี
ถึงแม้ศิลปินหลายคนจะไม่ได้กลับมาทำกิจกรรมในฐานะไอดอลอย่างเต็มตัวในบทบาทเดิม เหมือนที่เคยทำในยุครุ่งเรืองของตัวเอง แต่ถือว่าพวกเขาได้กลับมาสู่อ้อมกอดเดิมของแฟนคลับที่ยังรอคอยไม่ไปไหน ท่ามกลางกระแสวงการเคป็อปที่ผันเปลี่ยน และเอาชนะ ‘บททดสอบของเวลา’ ไปกับศิลปินคนโปรดของพวกเขา
ที่มา
https://en.yna.co.kr/view/MYH20160112012900345
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_South_Korean_idol_groups
https://www.koreaboo.com/lists/breakdown-kpop-4-generations-according-idology-magazine/
https://www.sportskeeda.com/pop-culture/bts-rm-dishes-hard-realities-aging-idol-k-pop-industry
https://www.nylonthailand.com/8-kpop-groups-and-their-concept/
Tags: K-Pop, เกาหลีใต้, วงการบันเทิง, เคป๊อป, ไอดอลเกาหลี, อุตสาหกรรมเกาหลี, อุตสาหกรรมเคป๊อป, K-pop Generation