เวลารักหรือชอบศิลปินนักร้องคนไหน เราย่อมอยากไปดูคอนเสิร์ตของเขาให้ได้ ต่อให้ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปดู หรือต้องซื้อบัตรต่อจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง (Reseller) ที่แพงกว่าปกติก็ยอม 

แต่การซื้อบัตรต่อจากคนอื่นก็มาพร้อมความเสี่ยง หลายคนรู้ภายหลังว่าบัตรที่ซื้อใช้งานจริงไม่ได้ และกว่าจะถึงตอนนั้นมิจฉาชีพก็หอบเงินหนีไปไกลแล้ว คอนเสิร์ต The Eras Tour ทั้ง 6 รอบของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ประเทศสิงคโปร์ที่ผ่านมารวมผู้โดนโกงไว้กว่า 1,200 คน จากข้อมูลของ The Straights Times ประเมินว่ามูลค่าความเสียหายสูงกว่า 6 ล้านบาทเลยทีเดียว

นี่แค่ที่สิงคโปร์ที่เดียวเท่านั้น ยังไม่รวมคอนเสิร์ตในประเทศอื่นของเธอ รวมถึงคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังทั่วโลกด้วย

แน่นอนว่างานนี้มีคนไทยตกเป็นเหยื่อด้วยมากกว่า 100 ราย หลายคนยังโดนคนไทยด้วยกันเองเปิดแอคเคาท์รับกดบัตรคอนเสิร์ตในทวิตเตอร์แล้วต้มจนเปื่อย ขณะที่ในต่างประเทศมักจะโดนโกงผ่านซื้อขายบนเว็บสำหรับขายตั๋วคอนเสิร์ตมือ 2 เสียมากกว่า 

โดยเว็บไซต์เจ้าปัญหาที่สุดเห็นจะเป็นเจ้าไหนไปไม่ได้นอกจาก viagogo ที่ตลอดเวลากว่า 20 ปีมีชื่อเสียรอบด้าน จนหลายคนต้องเตือนกันว่า ถ้าไม่อยากโดนโกงล่ะก็ อย่าเผลอเข้าไปเว็บนี้เด็ดขาด

มิฉะนั้นอาจจะ ‘We are no go’ เสียแทน

รู้จัก viagogo แพลตฟอร์มที่ตั้งขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของคนรักความบันเทิง

เว็บไซต์ viagogo ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2006 โดยฝีมือของ เอริค เบเกอร์ (Eric Baker) บัณฑิตมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ StubHub แพลตฟอร์มที่เปิดให้ซื้อขายบัตรมหกรรมความบันเทิงมือสอง แทบทุกรูปแบบลักษณะคล้ายกันเมื่อปี 2000 แต่เพราะแนวคิดการทำธุรกิจไม่ตรงกันกับผู้ก่อตั้งอีกคนชื่อว่า เจฟฟรี่ย์ เฟลอห์ สุดท้ายเขาจึงปลีกตัวออกมาเปิดเว็บใหม่เว็บนี้ ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของ StubHub ไปโดยปริยาย

สิ่งที่ต่างกันของ 2 เจ้านี้อยู่ที่ StubHub เน้นให้บริการในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่ viagogo ให้บริการในสหราชอาณาจักรและยุโรป เป็นพื้นที่ให้ทุกคนสามารถมาซื้อขายตั๋วเข้าชมกีฬาแบบ Resale ได้เลย ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วทั้งโลก 

เบเกอร์ก่อตั้ง viagogo ด้วยความเชื่อมั่นว่า จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ซื้อบัตรจาก Official Seller ไม่ทัน ช่วยให้ผู้คนไม่ต้องไปตามหาตั๋วในตลาดมืด ไม่ต้องไปนัดรับตั๋วกันในสถานที่ที่ไม่ค่อยปลอดภัยอีกต่อไป แต่สามารถตกลงซื้อขายกันได้อย่างโปร่งใส ในเวลาที่รวดเร็ว

เบเกอร์ยังอ้างอีกว่า การซื้อขายกันผ่านแพลตฟอร์มนี้เชื่อถือได้กว่าการซื้อขายแบบ Official บางงานเสียอีก เช่น การแข่งขันเทนนิส Wimbledon รอบชิงชนะเลิศบางปี ที่เบเกอร์แซะว่าไม่ต่างอะไรกับตลาดมืด เพราะถึงแม้จะประกาศขายอย่างเป็นทางการ แต่มีชาวบ้านตาดำๆ เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ซื้อบัตรมือหนึ่งได้ เพราะโดนบรรดาคนดังและคนที่มีเส้นสายได้บัตรไปแบบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร 

นับถึงปัจจุบัน viagogo เติบโตและแพร่หลายไปมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และมีตั๋วชมความบันเทิงแทบทุกรูปแบบ ปัจจุบันยังควบรวมกิจการกับ StubHub ไปเรียบร้อย ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนมั่นใจว่า ไม่ว่าจะอยู่ฟากไหนของโลก ก็สามารถเข้าถึงตั๋วเข้าชมมหรสพได้อย่างง่ายดาย

เมื่อทางเลือกใหม่ ปนเปื้อนมลทิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดของ viagogo (รวมถึง StubHub) น่าสนใจ ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถไปชมคอนเสิร์ต ละครเวที หรือการแข่งกีฬาที่ต้องการได้ ต่อให้จะพลาดตั๋วมือหนึ่งไปก็ตาม

แต่กลายเป็นว่า ยิ่งแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น มันกลับถูกนำไปใช้ในทางไม่พึงประสงค์ เมื่อเหล่าพ่อค้าแม่ค้าหน้าเลือดถือโอกาสนี้โก่งราคาตั๋วให้แพงขึ้น 2-3 เท่าหรือมากกว่านั้น ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่า เพราะผู้คนพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อดูศิลปินที่ชอบอยู่แล้ว ดังนั้นต่อให้ตั้งราคาแพงแค่ไหนก็มีคนพร้อมซื้อแน่นอน

ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว การทำหน้าที่ตัวกลางของ viagogo เป็นไปตามกลไกตลาด ใครใคร่ซื้อก็ซื้อ ใครใคร่ขายก็ขาย และเมื่อมีความต้องการซื้อมาก ราคาสินค้าย่อมเพิ่มขึ้นมากเป็นธรรมดา

ปัญหาก็คือ บ่อยครั้งผู้ซื้อผ่านตัวกลางไม่ได้บัตรคอนเสิร์ตไปจริงๆ เพราะพ่อค้าแม่ค้าไม่ได้มีตั๋วตั้งแต่แรก หรือบางทีมีจริงแต่นำไปวนขายหลายรอบ นำมาสู่การรวมตัวของผู้เสียหายฟ้องร้องเป็นคดีดังๆ มากมาย บางคดีก็ฟ้อง viagogo โดยตรง บางคดีฟ้องมิจฉาชีพ และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเล่นงานคนผิดจนติดคุกได้เสมอไป

ฝั่งของเบเกอร์ยอมรับว่า มีกรณีแย่ๆ เกิดขึ้นจริง และเขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แพลตฟอร์มขาวสะอาดขึ้น ถึงกระนั้นเขาก็ยืนยันว่า มีแกะดำเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นที่สร้างชื่อเสียให้เว็บไซต์ของเขา

อย่างไรก็ตาม viagogo ก็ไม่ได้ทำตัวเองให้โปร่งใสเหมือนกัน เพราะเคยโดนจับได้ว่า พยายามปลอมแปลงรีวิวของผู้ใช้งานในเว็บไซต์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่า นี่เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นมิตร สามารถใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา 

เมื่อปี 2017 viagogo ยังโดนผู้ใช้งานเว็บไซต์ชาวออสเตรเลียนับพันคนฟ้องดำเนินคดี ด้วยเหตุผลว่า ข้อมูลบนเว็บไซต์ชวนให้เข้าใจผิดว่า นี่คือพื้นที่สำหรับขายบัตรอย่างเป็นทางการ ทั้งที่จริงแล้วขายบัตรแบบ Resale โดยไม่เพียงผู้ใช้งานมารู้ทีหลัง แต่ยังเมื่อต้องจ่ายเงินในช่วงท้าย พวกเขาพบว่ายังต้องจ่ายธรรมเนียม (Significant Fees) ที่แพงถึง 27% ด้วย

หลังสู้คดีนานกว่า 2 ปี ก็ได้ข้อสรุปว่า viagogo ต้องจ่ายเงินให้ผู้เสียหายทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าถึง 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

พอผลการตัดสินออกมา viagogo ประกาศว่า องค์กรจะเปลี่ยนนโยบายการทำธุรกิจใหม่ ที่เป็นมิตรและเชื่อถือได้มากขึ้น แต่ก็มีคนสังเกตว่า ทุกครั้งที่ viagogo โดนฟ้องร้อง พวกเขาจะรับมือด้วยการให้คำมั่นว่า จะปรับเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน เพื่อแสดงความรับผิดชอบและแก้ปัญหาประจำ แต่สุดท้ายก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่อจากกรณีเดิมอยู่ร่ำไป

แล้วพอเหตุการณ์ด้านลบเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ทำให้หลายฝ่ายไม่ยอมรับเว็บไซต์นี้ ทั้งฝั่งของผู้ซื้อรวมถึงฝั่งของศิลปิน ช่วงปลายปี 2023 ที่ผ่านมา เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เคยเขียนบทความเตือนแฟนๆ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่จะบินไปดูคอนเสิร์ตของเธอถึงแดนจิงโจ้ว่า ถ้าคิดจะไปดูจริงๆ ล่ะก็ อย่าซื้อตั๋วจากที่นี่เด็ดขาด!

แฉกลยุทธ์ของ viagogo กับลูกเล่นทางจิตวิทยา ที่พร้อมล่อลวงให้ตกเป็นเหยื่อ

คนทั่วไปอาจคิดว่า คนที่จะหลงกลโดนมิจฉาชีพหลอกได้ มักเป็นคนที่ไม่มีความรู้ ตามโลกตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเรียนสูงแค่ไหนก็พร้อมโดนโกงเสมอ รวมถึงโดนโกงจากในเว็บไซต์ viagogo เว็บนี้นั่นเอง

นักพัฒนาเว็บไซต์ (Web Developper) ชื่อว่า คอนเนอร์ วิลเลียมส์ เคยเล่ารายละเอียดการตกเป็นเหยื่อของ viagogo ไว้ทางเว็บไซต์ medium ว่า เขาตั้งใจจะไปดูคอนเสิร์ตวง Future Islands แล้วเจอลูกเล่นทางจิตวิทยาหลายอย่างของ viagogo ล่อหลอกให้เขารีบตัดสินใจซื้อ โดยไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน

เริ่มแรก แพลตฟอร์มให้ข้อมูลว่า ตั๋วคอนเสิร์ตวง Future Islands ที่เขาต้องการเหลือขายเพียงแค่ 2 ใบเท่านั้น และหากซื้อพร้อมกันทั้ง 2 ใบจะได้ราคาพิเศษ 

เท่านั้นไม่พอ เขายังสังเกตว่า เว็บไซต์จะขึ้นข้อมูลบอกตลอดว่า เหลืออีกกี่นาทีจึงจะสามารถซื้อบัตรใบในราคานี้ได้ เพราะขณะนี้มีคนอีกว่า 2 แสนคนกำลังเล็งกดบัตรใบเดียวกันนี้กับคุณอยู่ ยิ่งเร่งให้เขารีบกดซื้อในทันที ก่อนที่จะพบว่า เขาซื้อตั๋วได้ใบเดียวเท่านั้น ไม่เหมือนกับตอนแรกที่แพลตฟอร์มให้ข้อมูลไว้

แล้วตั๋วใบเดียวใบนั้นยังมีราคาแพงเป็นพิเศษ ซึ่งเว็บไซต์ก็ให้เหตุผลว่า เพราะการแก่งแย่งบัตรในเว็บกันมีอัตราค่อนข้างสูง ทำให้ราคาบัตรยิ่งสูงตามไปด้วย

วิลเลียมส์ยังแฉว่า มีอีกหลายวิธีที่ viagogo ใช้เพื่อกดดันให้ลูกค้าตื่นตระหนก กลัวจะพลาดคอนเสิร์ตที่สำคัญที่สุดในชีวิตไป เช่น การขึ้นคิวต่อแถวออนไลน์ซื้อบัตรปลอมๆ หลอกว่ามีคนกำลังต่อแถวรอคิวอยู่ก่อนหน้าหลายหมื่นคน การย้ำเตือนเสมอว่า เหลือตั๋วน้อยเพียงแค่ไม่ถึง 2% แล้ว โดยตั๋วจะขายหมดเกลี้ยงภายในเวลานั้นหรือเวลานี้ คนที่กังวลว่ายิ่งรอนานจะไม่ได้ดูแน่นอน ก็จะกดซื้อโดยสติสัมปชัญญะ ไม่ศึกษารายละเอียดให้ดีตั้งแต่แรก

นี่เฉพาะแค่การหลอกลวงผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ยังไม่นับว่า viagogo ไม่เปิดเผยข้อมูลด้วยว่าใครเป็นคนเอาบัตรมาขายบนแพลตฟอร์มบ้าง ทำให้หากเกิดกรณีการโกงจริงๆ ก็ยากจะจับคนร้ายได้ และถึงแม้เว็บไซต์จะมีมาตรการปกป้องผู้ใช้งานหากโดนโกง แต่หากไม่ได้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือ PayPal ละก็ กระบวนการได้เงินคืนก็จะล่าช้า แถมหากมีปัญหาจนต้องไปติดต่อคอลเซ็นเตอร์ ที่คุยรู้เรื่องประหนึ่งคุยกับกำแพง

จนสุดท้ายผู้ซื้อที่โดนโกงก็จะถอดใจไปเอง

เมื่อความไม่โปร่งใส ทำศิลปินไม่ไว้วางใจ

แม้ viagogo จะเริ่มต้นในฐานะอีกทางออกของผู้ที่ต้องการชมความบันเทิงสดๆ แบบติดขอบเวที แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สูบเลือดสูบเนื้อ สูบความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คน จนต้องเสียเงินเสียทองมากมาย ทำให้ศิลปินจำนวนมากประกาศสงครามกับแพลตฟอร์มนี้ และไม่อนุญาตให้คนที่ซื้อบัตรแบบ Resale เข้าชมงานโดยเด็ดขาด

และอย่าคิดว่าศิลปินแค่ขู่ ไม่เอาจริง เพราะเมื่อปี 2018 นักร้องหนุ่มอย่าง เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) และผู้จัดคอนเสิร์ตเคยไม่อนุญาตให้คนที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตของเขาจาก viagogo เข้างานมาแล้วถึง 1 หมื่นคน หลังตรวจสอบหน้างานแล้วพบว่า ไม่ได้ซื้อตั๋วมาแบบ Official

สาเหตุที่ชีแรนต่อต้านการซื้อขายบัตรคอนเสิร์ตบน viagogo เพราะเขามองว่า แพลตฟอร์มนี้โก่งราคาเกินจริง จนผู้คนต้องซื้อตั๋วราคาแพงกว่าความเป็นจริง และสุ่มเสี่ยงที่จะโดนโกงได้ง่ายๆ 

“ผมเกลียดความคิดที่ว่า ผู้คนต้องจ่ายเงินแพงกว่ามูลค่าตั๋วจริง ในเมื่อคุณสามารถหาซื้อได้ตามมูลค่าหน้าบัตรของมัน

“ผู้คนจำเป็นต้องยืนหยัดต่อสู้ แล้วภายใน 2-3 ปี เดี๋ยวแพลตฟอร์มอย่าง viagogo ก็จะล่มจมไปเอง”

พอโดนมาตรการแบบนี้เข้าไป แน่นอนว่าแพลตฟอร์มเจ้าปัญหาก็เต้นเป็นเจ้าเข้า คริส มิลเลอร์ (Cris Miller) CEO ของ viagogo โต้กลับเอ็ดว่า มันเป็นสิทธิของคนที่มีบัตรอยู่แล้วที่จะขายบัตรนั้นให้กับผู้อื่น แล้วตัดสินใจฟ้อง Kilimanjaro คณะผู้จัดคอนเสิร์ตของเอ็ด ในข้อหาฉ้อโกง (Constituted Fraud) เพราะการปฏิเสธบัตรคอนเสิร์ตที่มาจากแพลตฟอร์มของเขา ทำให้แฟนๆ ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตใหม่ที่ศิลปินยอมรับ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค

นับจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเปิดเผยว่าผลของการดำเนินคดีเป็นอย่างไร แต่มันก็เน้นย้ำอย่างดีว่า นี่คือปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไขเสียที

viagogo ไฮดราที่ฆ่าไม่ตาย

ด้วยวีรกรรมมากมาย ไม่แปลกใจหากจะมีผู้เสียหายไปทั่วโลก ถึงขนาดที่หากลองค้นหาในเฟซบุ๊กจะเจอกลุ่มชื่อว่า ‘Victims of Viagogo’ ที่มีสมาชิกหลักหมื่นคนมาแฉและระบายว่า ถูกโกงจากแพลตฟอร์มนี้อย่างไร

แต่นี่ก็นำมาสู่ข้อสงสัยว่า แล้วทำไม viagogo ถึงยังให้บริการในปัจจุบันอยู่ได้อีก

ทั้งนี้อาจสามารถสรุปได้ 3 เหตุผลคร่าวๆ ดังนี้

1. กฎหมายควบคุมเรื่องการซื้อบัตรคอนเสิร์ตมือสองยังมีช่องโหว่ แต่ละประเทศมีกฎหมายควบคุมดูแลคนละแบบ และแต่ละแบบจะมีจุดโหว่ที่แตกต่างกันออกไป แถมบางประเทศอาจไม่มีกฎหมายกำกับดูแลที่จริงจังด้วยซ้ำ 

กลายเป็นช่องโหว่ให้ viagogo เล็ดลอดจากการดำเนินคดีในหลายประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขณะนี้ไม่มีกฎหมายควบคุมราคาตั๋วคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการ การกำหนดราคาจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างผู้จัดจำหน่ายกับผู้บริโภคที่จะตกลงราคากัน และหมายรวมถึงผู้เอามาขายบัตรมือสองกับผู้บริโภคด้วย นั่นทำให้หากเกิดปัญหาการโกงกันเกิดขึ้น แล้วพอมีปัญหาก็ต้องไปฟ้องร้องเอาผิดกันในมาตราอื่นแทน 

2. viagogo ปรับปรุงตัวเองเสมอ หลังรู้ตัวว่าแพลตฟอร์มมีปัญหาอย่างไรบ้าง ผู้บริหารก็จะออกมารับหน้าว่าจะปรับปรุงเพื่อให้บริการดีขึ้น ช่วยให้กระแสต่อต้านจากสาธารณชนเงียบไปได้ แต่ก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าว จริงอยู่ว่าคนที่เคยตกเป็นเหยื่อไปแล้ว จะไม่หลงกลกลับมาซื้ออีก แต่ก็จะมีเหยื่อคนใหม่ๆ ที่ไม่ได้รับรู้ข่าวคราวด้านลบมาก่อน พอเห็นความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ก็จะหลวมตัวเข้ามาเป็นเหยื่ออีกที เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่ยากจะหลุดพ้นได้

3. ความต้องการซื้อขายบัตรยังสูง ตราบใดที่จำนวนบัตรคอนเสิร์ตมือหนึ่งบนโลกนี้มีน้อยกว่าจำนวนของคนที่อยากดู เราก็น่าจะได้เห็น viagogo แผลงฤทธิ์ไปอีกนาน ต่อให้จะมีความเสี่ยงเพียงใดก็ตาม

การโกงเกิดขึ้นได้เสมอ บางคนอาจโต้แย้งว่าต่อให้ไม่มี viagogo มิจฉาชีพก็จะไปใช้พื้นที่อื่นเพื่อหลอกเอาเงินอยู่ดี เพราะทุกคนมองเห็นช่องทางทำมาหากินว่า คนที่เป็นแฟนคลับจะทำทุกวิถีทางเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้วเข้าไปชมศิลปินที่รักให้ได้

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยก็คือ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเสียเงินมหาศาลขนาดนี้ เพื่อซื้อตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบ หากถามคนที่ไม่ได้ชื่นชอบหรือเป็นแฟนคลับใครเลย พวกเขาย่อมมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์และเป็นเรื่องไร้สาระ

แต่หากถามคนที่เป็นแฟนคลับศิลปิน พวกเขาย่อมมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยเหตุผลที่การตามศิลปินช่วยเยียวยาจิตใจ ช่วยเติมเต็มพลังให้พร้อมสู้ ให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ถ้าไม่ใช่แฟนในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ รวมทั้งไม่มีวันเข้าใจด้วยว่า การต้องโดนโกง โดนขัดขวางไม่ให้พบกับศิลปินที่เทิดทูนทั้งที่อยู่หน้างานแล้วแท้ๆ มันเจ็บปวดรวดร้าวเพียงใด

ตราบใดที่ยังมีความต้องการชมคอนเสิร์ตมากกว่าจำนวนบัตรเข้างาน ก็คงจะมีการขายบัตรปลอมโดยเหล่ามิจฉาชีพเช่นนี้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำเพื่อช่วยป้องกันได้ คือการให้ความรู้ โดยเริ่มจากแนะนำว่าแหล่งใดที่เราไม่ควรซื้อตั๋วเด็ดขาด 

แม้จะไม่สามารถป้องกันการโกงได้เสมอไป แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยเตือนภัยกันได้มากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ที่เราสามารถติดตามศิลปินที่รักได้อย่างมีความสุข และจะมีคนที่ต้องเจ็บปวดน้อยลงกว่าเดิม ไม่มากก็น้อย

ที่มา:

https://www.straitstimes.com/life/entertainment/ticket-woes-continue-to-plague-fans-as-final-taylor-swift-concerts-take-place

https://www.nytimes.com/2023/12/01/world/australia/taylor-swift-viagogo-australia.html

https://www.theguardian.com/business/2009/jun/26/eric-baker-viagogo-interview

https://www.accc.gov.au/media-release/viagogo-to-pay-7-million-for-misleading-consumers

https://www.theguardian.com/music/2023/jul/10/taylor-swift-eras-tour-presale-tickets-viagogo-resale-price-fans-angry

https://www.theguardian.com/money/2018/may/30/viagogo-what-is-it-secondary-ticketing-website

https://www.khaosodenglish.com/news/2024/03/05/cyber-police-advise-taylor-swift-concert-ticket-scam-victims/

https://www.nme.com/en_au/news/music/viagogo-loses-court-appeal-forced-to-pay-7-million-penalty-3228989

https://medium.com/@info_38444/online-ticket-seller-scams-viagogo-exposed-ec87118ca97a

https://news.sky.com/story/ed-sheeran-im-not-stitching-fans-up-as-he-tackles-secondary-ticket-sites-11386197

Tags: , , , ,