หากพูดถึงคำว่า หนังผี ในปัจจุบันเราจะได้เห็นรูปแบบความสยองที่หลากหลาย แตกต่างออกไป ตามลายรสมือของผู้กำกับ บางรายก็เน้นสร้างบรรยากาศเขย่าขวัญ หนังโทนหม่น บอกเล่ากลางคืนทั้งเรื่อง จนถึงแม้ไม่เห็นผีออกมาเป็นตัวเป็นตน ก็ยังทำให้รู้สึกหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจได้ตลอดเวลา หรือในบางรายก็เลือกใช้วิธีปะฉะดะกับผีและปีศาจ เล่าเรื่องราวการห้ำหั่นกันระหว่างสิ่งมีชีวิตลี้ลับกับมนุษย์ จนกลายเป็นหนังผีที่แม้จะไม่เฮี้ยนมาก แต่ก็ยังรู้สึกน่ากลัวและขนหัวลุกอยู่ไม่น้อย

ทว่ากลับมีศาสตร์การเล่าเรื่องผีอยู่ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ชมกำลังตั้งคำถาม ซึ่งก็คือการบอกเล่าโดยวิธี Jump Scare หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘จังหวะตุ้งแช่’ ที่ผู้กำกับจะจัดวางให้มีซีนที่กระโจนโผล่มาอย่างกระทันหัน พร้อมเสียงดังตึงตัง จนคนดูรู้สึกใจหายใจคว่ำ ไม่ทันได้ตั้งตัวกับจังหวะเช่นนี้ 

เหตุผลที่ผู้ชมบางคนมองเรื่องนี้เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งคือความนิยมของการใช้ Jump Scare ทั้งในหนังต่างประเทศและหนังไทยจำนวนมากช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนผู้ชมบางคนรู้สึกว่า จำเจและซ้ำซาก ไปจนถึงบางคนถึงมองว่า เป็นความบกพร่องของผู้กำกับในเรื่องนั้นๆ ที่ไม่สามารถสร้างบรรยากาศหลอนได้ จึงต้องใช้จังหวะตุ้งแช่เข้ามาช่วยเติมให้หนังรู้สึกน่ากลัวอยู่บ้าง 

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือ หนังผียังควรมี Jump Scare อยู่ไหม และหากจะมีต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ในโอกาสที่ The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับทีมผู้กำกับหนังเรื่อง เทอม 3 (Haunted Universities 3)  จึงไม่รอช้าที่จะชวนถกถึงประเด็นนี้ ซึ่งแต่ละคนก็ให้มุมมองส่วนตัวที่น่าสนใจเอาไว้

สำหรับ อรุณกร พิค ผู้กำกับจากตอนศาลล่องหน อธิบายว่า ความจริงแล้ววิธีการเล่าแบบใช้ Jump Scare ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร โดยตนในฐานะคนชอบดูหนังก็ยังคาดหวังจะถูก Jump Scare อยู่เสมอ เพียงแต่ต้องมีชั้นเชิงในการหยิบมาใช้ที่ถูกต้อง

“สำหรับผมก่อนจะมี Jump Scare มันควรต้องมีการสร้าง Tension มีการหว่านล้อมคนดูให้ไปทิศทางอื่นก่อนนะ มันถึงจะทำให้จังหวะ Jump Scare ถูกต้อง มันทำงานกับผม” อรุณกรกล่าว

ส่วน นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับในตอนพี่เทคเอง ก็เห็นด้วยกับการมีอยู่ Jump Scare เขาอธิบายว่า สิ่งนี้ก็เป็นองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญหนึ่งของหนังประเภทนี้ ไม่ต่างอะไรกับฉากตบจูบในหนังรัก ฉากไล่ล่าบนรถยนต์ของหนังแอ็กชัน เพียงแต่ต้องมีความสร้างสรรค์ในการเลือกใช้ ให้คนดูรู้สึกว่า กำลังถูกปั่นหัวหรือถูกชักจูงไปทางอื่น ก่อนจะโดน Jump Scare อย่างอยู่หมัด

สุดท้าย สรวิชญ์ เมืองแก้ว และอัศฎา ลิขิตบุญมา สองผู้กำกับจากตอนขบวนแห่ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ของฝั่งผู้กำกับด้วยเช่นกันว่า จะทำอย่างไรให้ Jump Scare ในหนังของตนไม่จำเจ ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ก็อาศัยกึ๋น ของผู้กำกับแต่ละคนในการเล่าเรื่อง และสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่ Jump Scare อันสมบูรณ์ของแต่ละคน 

สำหรับ เทอม 3 (Haunted Universities 3) ที่เตรียมฉายในโรงภาพยนตร์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จจาก เทอมสองสยองขวัญ (2565) โดยคราวนี้จะหยิบเรื่องเล่าและตำนานที่หลายคนคุ้นเคย มาบอกเล่าความเฮี้ยนผ่านทีมผู้กำกับไฟแรงทั้ง 4 คนในบทสัมภาษณ์นี้

สามารถรับชมตัวอย่างได้ทาง https://youtu.be/bDEZsi84O3Q

Tags: , , , ,