ในวันนี้ ‘ศิลปิน’ และ ‘ไอดอล’ แตกต่างกันอย่างไร

หากถามกลุ่มคนฟังหรือแฟนคลับแต่ละแขนงดนตรี เชื่อว่าคำตอบที่มีจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่คำตอบที่มีทั้งแตกต่างกันและไม่แตกต่างกัน กระทั่งนิยามของทั้งสองคำนี้เองที่หลายคนก็จำกัดความแตกต่างกันออกไป ตามแต่ประสบการณ์ที่เคยสัมผัส

อ้างอิงจาก The Japan Times อธิบายไว้ว่า ไอดอลคือกลุ่มคนที่สร้างความบันเทิงด้วยการสร้างความดึงดูดผ่านการแสดงโชว์ ทั้งร้องเพลง เต้น และรูปร่าง-หน้าตาของเหล่าสมาชิก ซึ่งต่างจากคำว่าศิลปินที่หมายถึงผู้ที่สร้างสรรค์งานศิลปะในแขนงต่างๆ ซึ่งในวงการดนตรีคือบทเพลง อันเป็นหน้าเป็นตาของศิลปินคนนั้น

ทว่าในปัจจุบัน ทั้งไอดอลและศิลปินมีรูปแบบการทำงานหรือโชว์ผลงานที่ใกล้เคียงกัน ไอดอลบางกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมา หรือในกรณีที่เป็นวงไอดอลอิสระ ไร้ต้นสังกัด ก็ถึงกับทำเองในทุกกระบวนการ

ฝั่งศิลปินในปัจจุบัน นอกจากบทเพลงที่เป็นอาวุธหลักแล้ว การสร้างความบันเทิงบนเวที รวมถึงบุคลิกและตัวตน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับความนิยมเช่นกัน

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือ วันนี้เส้นแบ่งของศิลปินกับไอดอลอยู่ตรงไหน

จังหวะที่ The Momentum ได้พูดคุยกับ QRRA เกิร์ลกรุ๊ป สไตล์ทีป็อป (T-Pop) จากค่าย Independent Records จึงถือโอกาสหยิบประเด็นนี้มาพูดคุยกับสมาชิกวงทั้ง ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา, นิว-ชัญญาภัค นุ่มประสพ, นิกี้-วรินท์รัตน์ ยลประสงค์, ป๊อปเป้อ-พิณญาดา จึงกาญจนา และปาเอญ่า-นิพพิชฌาน์ พิพิธเดชาQRRA

‘วง QRRA นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือไอดอล’ เรื่องนี้ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นทั้งคู่” เพราะสมาชิกทั้ง 5 คนเชื่อว่า ทุกวันนี้คำว่าศิลปินและไอดอลไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด

“ไม่ต่างกันเลย อยู่ที่คนจะคุ้นชิน หรือมองเราในบริบทไหน เพราะเราเป็นทั้งคนที่ทำเพลงและเอนเตอร์เทนคนดูในทุกโชว์เช่นกัน จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ในไทยนะ ทุกวันนี้ศิลปินหรือไอดอลทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีเอง เขาก็มีรูปแบบการทำงานไม่ต่างกันแล้ว อยู่ที่ว่าคนจะจำกัดความพวกเขาด้วยคำไหน” ฟ้อนด์เล่า

ก่อนที่นิวจะเสริมว่า อาจเป็นเพราะในอดีต ผู้คนมีภาพจำไอดอลญี่ปุ่น ที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงเป็นหลัก ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับด้านกระบวนการทำเพลงเท่าไรนัก ทำให้ 2 คำนี้ยังมีเส้นแบ่งที่แยกชัดเจนอยู่

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ จำเป็นไหม ที่วันนี้ศิลปินจำเป็นต้องนำเสนอภาพลักษณ์และรูปร่างหน้าตา เรื่องนี้หลายคนในวงต่างมีคำตอบที่แตกต่างออกไป

“เรื่องนี้มันอยู่ที่ศิลปินมากกว่า ว่าเขาต้องการโชว์เพียงแค่ผลงาน หรือต้องการจะโชว์ความเป็นตัวเองในทุกเรื่องให้คนได้รับรู้” ปาเอญ่ากล่าว

“สุดท้ายแล้ว คนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ ก็เป็นคนดูมากกว่า ที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะชอบฟังแค่เพลง ไม่ได้สนใจตัวศิลปิน หรือบางคนที่พอฟังเพลงแล้วชอบมากๆ จึงค่อยมาตามตัวศิลปินที่หลังแบบนี้ก็มีเช่นกัน

“อย่างศิลปินที่เรารู้จักคนหนึ่งคือ Ado เขาไม่เคยเปิดเผยหน้าตา แต่ผลงานของเขาก็มีคุณภาพ ยังมีกลุ่มแฟนคลับคอยตามผลงานเขาอยู่” นิกี้เสริมต่อ

ดังนั้น ข้อสรุปของกลุ่มสาววง QRRA ต่อประเด็นนี้อาจหมายถึงการผันเปลี่ยนของวัฒนธรรมการฟังเพลง ที่ทำให้ทั้งไอดอลและศิลปินต้องปรับตัวให้เป็นทั้ง ‘ผู้ผลิตผลงาน’ และ ‘ถ่ายทอดผลงาน’ สู่กลุ่มผู้ฟังได้

สำหรับเกิร์ลกรุ๊ปที่เป็นได้ทั้งศิลปินและไอดอลอย่าง QRRA นั้น ในช่วงที่ผ่านมาเพิ่งปล่อยซิงเกิลใหม่อย่าง ไม่ง้อจะพอแล้วนะ สามารถรับฟังได้ทาง https://youtu.be/EkqZlsVjPL4 รวมถึงสามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้เร็วๆ นี้ทาง The Momentum

Tags: , , , , , , , , , ,