ด้วยสถานการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะที่อยู่อาศัยหรือยานพาหนะ อีกทั้งหลายคนต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว แม้ภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้ว แต่หลายคนยังตกอยู่ในอาการหวาดผวาหรือวิตกกังวล

และวันถัดมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานดนตรีในสวนที่สวนสาธารณะจำนวน 6 แห่งคือ สวนเบญจกิตติ อุทยานเบญจสิริ สวนลุมพินี สวนจตุจักร สวนรถไฟ และสวนสันติภาพ เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาผ่อนคลายจากความตึงเครียด ซึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามว่า ในสภาวการณ์เช่นนี้ คนมีอารมณ์มานั่งฟังเพลงสบายๆ ด้วยหรือ แล้วเสียงดนตรีจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจหลังเผชิญภัยพิบัติได้มากน้อยเพียงใด

จากกรณีศึกษาในประเทศจีนและญี่ปุ่นพบว่า ดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเยียวยาจิตใจของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเห็นตรงกันว่าสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้จริง

โดยในกรณีแรกคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 ในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน แมกนิจูด 8 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 หมื่นราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 3.7 แสนราย ทางสมาคมนักดนตรีบำบัดมืออาชีพประเทศจีน (Chinese Professional Music Therapist Association: CPMTA) ระบุว่า นักจิตวิทยาจำนวนมากกว่าพันคนเดินทางไปยังพื้นที่หลังเกิดเหตุ เพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้รอดชีวิตอันมีสถานะเป็นเหยื่อ หรือผู้เสียหายที่ต้องสูญเสียทั้งครอบครัวและบ้านไปด้วย

สมาคมนักดนตรีบำบัดมืออาชีพจีนใช้ดนตรีบำบัดเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการดูแลผู้รอดชีวิต เพราะดนตรีบำบัดมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูจิตใจ สามารถปรับอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว สร้างความรู้สึกเชิงบวก กระตุ้นให้เกิดพลังชีวิต สร้างความรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาอีกครั้ง สร้างความหวังในอนาคต และเสริมแรงจูงใจในการเผชิญหน้าและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยการบำบัดใช้เวลาทั้งสิ้น 3 เดือน มีกลยุทธ์การบำบัดที่เริ่มต้นจากขั้นแรกคือการแสดงดนตรี ขั้นที่ 2 คือทำกิจกรรมดนตรีเป็นกลุ่ม และขั้นที่ 3 บำบัดวิกฤตทางจิตใจเป็นรายบุคคล ซึ่งในขั้นของการแสดงดนตรี จะใช้เพลงที่คนในชุมชนและในแต่ละช่วงวัยชื่นชอบ และในขั้นที่ 2 กิจกรรมดนตรีจะใช้เวลา 2 เดือน มีการสร้างกลุ่มร้องเพลง กลุ่มเต้นรำ กลุ่มเล่นดนตรี กลุ่มเล่นเกมดนตรี และกลุ่มเสวนาเรื่องเพลง ซึ่งแบ่งกลุ่มตามช่วงอายุด้วย

“ก่อนที่ทีมนักดนตรีบำบัดของเราจะเข้าไปช่วยเหลือ เหล่าผู้รอดชีวิตต่างอยู่ในความเครียด หดหู่ โศกเศร้า และไม่ได้พักผ่อน พวกเขาเริ่มแยกตัวออกคนอื่น ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อเราได้ใช้วิธีทำกิจกรรมทางดนตรี ผู้รอดชีวิตก็เริ่มมีส่วนร่วมกับกิจกรรมและยิ้มได้มากขึ้น เต็มใจเข้าสังคม และสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น จมอยู่กับความเศร้าเสียใจน้อยลง” สมาคมนักดนตรีบำบัดมืออาชีพจีนระบุ

อีกกรณีหนึ่งที่มีการใช้ดนตรีเข้ามาเยียวยาสภาพจิตใจหลังภัยพิบัติคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในโทโฮกุ หรือภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกภัยพิบัติครั้งนี้ว่า ‘เหตุการณ์ 3.11’ ซึ่งแผ่นดินไหวครั่งนี้แมกนิจูด 9 ความรุนแรงของแผ่นดินไหวและสึนามิส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 19,759 ราย ผู้บาดเจ็บ 6,242 ราย และสูญหายอีก 2,553 ราย

ซึ่ง ‘ศูนย์ฟื้นฟูผ่านพลังแห่งดนตรีโทโฮคุ (The Center for Recovery through the Power of Music, Tohoku)’ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2011 เพราะภัยพิบัติใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจาก 3 วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ 3.11 โอซาวา ทากาโอะ (Osawa Takao) หนึ่งได้ผู้อำนวยการของศูนย์ได้รับสายจากสํานักงานวัฒนธรรม (Agency for Cultural Affairs) บอกให้เขาเริ่มจัดคอนเสิร์ตเพื่อบรรเทาภัยพิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และเมื่อย้อนกลับไปในวันที่เกิดเหตุการณ์ 3.11 วงดนตรี ‘เซ็นไดฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา (Sendai Philharmonic Orchestra)’ วงออร์เคสตราที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 ในเมืองเซ็นได เมืองหลวงของจังหวัดมิยางิ (Miyagi) ภูมิภาคโทโฮคุ สมาชิกวงได้ซ้อมดนตรีอยู่ในฮอลล์คอนเสิร์ตท้องถิ่น ทำให้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวกับสึนามิ รวมถึงเครื่องดนตรีก็เสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทางศูนย์ฟื้นฟูผ่านพลังแห่งดนตรีโทโฮคุจึงจัดคอนเสิร์ตขึ้นครั้งแรกโดยใช้วงดนตรีเซ็นได ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา ที่วัดเคนซุอิจิ (Kenzuiji Temple) ไม่ไกลจากสถานีเซ็นได ในวันที่ 26 มีนาคม เป็น 15 วันหลังจากภัยพิบัติ ท่ามกลางความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองของนักดนตรีที่ก็เป็นผู้ประสบภัย แต่ต้องรับหน้าที่เยียวยาจิตใจผู้รอดชีวิตด้วยเช่นกัน

“พวกเราเองก็เป็นเหยื่อ เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติ และมีความรู้สึกร่วมด้วย แต่สัญชาตญาณเราบอกว่า เราไม่สามารถเลื่อนการแสดงดนตรีออกไปได้ เรารู้ดีว่าดนตรีจะช่วยดึงให้ผู้คนที่ท้อแท้พยายามลุกขึ้นยืน และรักษาพละกำลังเอาไว้ได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มเล่นด้วยความรู้สึกที่ขัดแย้งกันคือ ‘มันไม่ดีหรอก’, ‘มันยังเร็วเกินไป’ และ ‘ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี’ พวกเราเตรียมตัวอย่างระมัดระวังสำหรับคอนเสิร์ตเยียวยาครั้งแรก เราต้องการให้ผู้ชมจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากแผ่นดินไหวและสึนามิได้เรียนรู้พลังที่แท้จริงของดนตรี” สมาชิกของวงกล่าว

โดย คาเนโกะ นานะ (Kaneko Nana) ดอกเตอร์สาขาดนตรี (Doctor of Philosophy in Music) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ (University of California Riverside) กล่าวสรุปว่า ทั้งผู้จัดคอนเสิร์ตและตัวนักดนตรีเองก็ถือว่าตนเองเป็นผู้ประสบภัยพิบัติเช่นเดียวกัน ไม่เพียงแค่แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับคนในพื้นที่ แต่ยังเน้นย้ำถึงการทำกิจกรรมในฐานะเหยื่อ ที่เข้าใจสิ่งที่คนในพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ และต้องการให้กำลังใจด้วยเสียงดนตรี

ความสัมพันธ์และพลวัตระหว่างวงเซ็นไดฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา กับคนท้องถิ่นที่มาดูคอนเสิร์ตจึงแตกต่างกับคอนเสิร์ตการกุศลอื่นที่จัดแสดงโดยคนนอกพื้นที่ ตรงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเยียวยากับผู้ได้รับการเยียวยาค่อนข้างจะเท่าเทียมกัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ทั้งนี้กรณีของดนตรีบรรเทาภัยพิบัติในเหตุการณ์ 3.11 ของญี่ปุ่น พิสูจน์ว่าดนตรีช่วยฟื้นฟูพลังใจให้กับผู้รอดชีวิตได้จริง รวมถึงนักดนตรีที่เป็นผู้ประสบภัยก็เยียวยาจิตใจตัวเองให้ดีขึ้นได้เพราะดนตรีเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีส่วนที่คล้ายคลึงกับกิจกรรมดนตรีในสวนหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กรุงเทพฯ เนื่องจากเราอยู่ร่วมเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาด้วยกัน การใช้ดนตรีเยียวยาจึงยิ่งมีความหมายตรงที่เราเผชิญประสบการณ์เดียวกัน เราเข้าใจความรู้สึกในฐานะผู้ร่วมเหตุการณ์ และพร้อมแบ่งปันพลังใจให้กันและกัน

อ้างอิง

– Kaneko, Nana. “Performing Recovery: Music and Disaster Relief in Post-3.11 Japan.” Ph.D. (Music), University of California Riverside, 2017.

http://www.chinamusictherapy.org/38.html 

ภาพ: กองการสังคีต กรุงเทพมหานคร

Tags: , , , , , , , , ,