ช่วงนี้ถ้าออกไปสำรวจความเห็นประชาชนว่าใครเป็นฮีโร่ในดวงใจ ชื่อที่ต้องติดโผอย่างแน่นอนเห็นจะไม่พ้น ‘พี่ตูน อาทิวราห์ คงมาลัย’ แห่งวงบอดี้สแลม ที่ออกวิ่งการกุศลจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลาไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อหาเงินบริจาคช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์
ขณะนี้ไม่ว่าจะวิ่งผ่านไปแห่งหนตำบลใด ก็มีชาวบ้านร้านตลาดออกมาต้อนรับอย่างล้นหลาม ขึ้นพาดหัวข่าวทุกวันจนไม่น่ามีใครที่ไม่รู้เรื่องการวิ่งการกุศลครั้งนี้
แต่ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ คือ การวิ่งระยะไกลของพี่ตูนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับ ทัพกรีก การแฮ็ค และเครื่องเทศด้วย
ก่อนอื่นขอเริ่มต้นด้วยการย้อนเวลากลับไปราวปี 490 ก่อนคริสตกาล สมัยนั้นมีบันทึกว่า มีการรบครั้งใหญ่ระหว่างชาวเปอร์เซียและชาวเอเธนส์ในพื้นที่ที่เป็นประเทศกรีซในปัจจุบัน ฝั่งเปอร์เซียเป็นผู้เดินเรือยกทัพทหาร 20,000 นายมาตีเมืองเอเธนส์ ซึ่งประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับเปอร์เซีย
ทัพของเปอร์เซียนี้มาขึ้นฝั่งที่อ่าวแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเอเธนส์และเริ่มจัดทัพในทุ่งบริเวณนั้น พอฝ่ายกรีกรู้เข้าก็เลยจัดทัพทหารราว 10,000 นายไปปิดทางเข้าออกทุ่งแห่งนี้ทั้งสองจุด หวังสกัดไม่ให้เปอร์เซียเดินทัพออกจากบริเวณนี้ไปยังเมืองเอเธนส์ได้ หลังจากยึกยักกันอยู่หลายวัน ท้ายที่สุดทัพเปอร์เซียและกรีกก็ปะทะกัน ฝ่ายกรีกแม้มีไพร่พลน้อยกว่าราวครึ่งหนึ่งแต่กลับตีโอบและเอาชนะทัพเปอร์เซียได้ในที่สุด
เมื่อรบชนะ ทางทัพกรีกก็มอบหมายให้นักวิ่งฝีเท้าลมกรดชื่อ Pheidippides (บ้างก็ว่าชื่อ Philippides) เป็นผู้วิ่งกลับไปกรุงเอเธนส์เพื่อแจ้งข่าวดีว่าทัพกรีกเป็นฝ่ายชนะ Pheidippides ก็เลยวิ่งเอาเป็นเอาตาย แม้จะเหนื่อยกาย แต่ใจล้นปรี่ด้วยความปีติยินดี เพียงในช่วงวันเดียว Pheidippides ก็ไปวิ่งถึงเมืองเอเธนส์ พอไปถึงปุ๊บก็กู่ร้องประกาศว่า ทัพกรีกชนะแล้ว แต่ด้วยความที่วิ่งมาไกลเหนื่อยมาก จึงล้มลงไปกองและสิ้นใจตายทันที (อย่างนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า die of exhaustion)
อ้อ ลืมบอกไปว่า ทุ่งที่ฝ่ายเปอร์เซียและกรีกรบกันมีชื่อว่าทุ่ง Marathon และระยะทางระหว่างทุ่งแห่งนี้กลับไปยังกรุงเอเธนส์ว่ากันว่ามีระยะทางยาวประมาณ 25 ไมล์ หรือราว 40 กิโลเมตร พอๆ กับระยะทางในการวิ่งมาราธอนทุกวันนี้
คลิกเพื่อฟังเสียงคำว่า Marathon
ต่อมาภายหลังในปี 1896 มีผู้นำกีฬาโอลิมปิกกลับขึ้นมาจัดใหม่อีกครั้ง ณ กรุงเอเธนส์ หลังจากที่หยุดจัดไปนาน การแข่งขันครั้งนั้นจัดให้มีการแข่งวิ่งระยะทางเท่ากับที่ Pheidippides เคยวิ่ง จึงเรียกการวิ่งนี้ว่า marathon อย่างที่คนไทยยืมมาทับศัพท์ว่า มาราธอน นั่นเอง
ภายหลัง ระยะทางนี้ก็ค่อยๆ ปรับจนเป็น 42.195 กิโลเมตร กลายเป็นระยะทางมาตรฐานของการวิ่งมาราธอนในทุกวันนี้
การวิ่งระยะไกลของพี่ตูนในครั้งนี้ แม้ว่าถ้าวัดกันจริงๆ จะเข้าข่ายอัลตรามาราธอน (ultramarathon) เพราะเกิน 42.195 กิโลเมตร แต่คนทั่วไปใช้คำนี้หลวมๆ หมายถึงการวิ่งระยะไกลทั่วไป ถ้าจะเรียกการวิ่งครั้งนี้ของพี่ตูนว่าเป็น charity marathon หรือการวิ่งมาราธอนการกุศลก็คงไม่ผิดนัก
คำว่า charity ในที่นี้หมายถึง การบริจาคหรือให้ความช่วยเหลือในเชิงการกุศล ใช้อธิบายสิ่งต่างๆ ที่จัดเพื่อการกุศลได้ เช่น The band held a charity concert to raise money for those affected by the tsunami. ก็จะหมายถึง วงดนตรีนี้จัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสึนามิ (ถ้าไม่เรียก charity concert จะเรียกว่าเป็น benefit concert ก็ได้เช่นกัน) นอกจากนั้น คำว่า charity ยังอาจใช้หมายถึงตัวองค์กรการกุศลก็ได้ เช่น All proceeds will go to cancer charities. ก็จะหมายถึง รายได้ทั้งหมดมอบให้กับองค์กรการกุศลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง
ส่วนคำว่า marathon หากเราไปวิ่งมาราธอนมา เราก็อาจจะพูดว่า I ran a marathon. หรือ I completed a marathon. ก็ได้ แต่คำนี้นอกจากจะหมายถึงการวิ่งระยะไกลแล้ว ยังใช้หมายถึงกิจกรรมอะไรก็ตามที่ต้องใช้เวลานานและอาศัยความอึดถึกได้ด้วย เช่น ถ้าเราไล่ดู Game of Thrones ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนปัจจุบันในรวดเดียว ก็อาจจะพูดว่า I had a Game of Thrones marathon. (หรือจะพูดใช้คำว่า binge-watch ก็ได้)
คำว่า marathon นี้ใช้แพร่หลายจนเริ่มมีคนนำมาฉีกร่างแล้วประกอบกับคำอื่น เช่น hackathon หรืองานที่จัดให้แฮ็คเกอร์มาแข่งกันแฮ็คหรือเขียนโค้ด ซึ่งมาจาก hack มารวมกับ marathon (คำนี้เพิ่งบรรจุลงพจนานุกรม Oxford ไปเมื่อไม่นานมานี้)
คลิกเพื่อฟังเสียงคำว่า Hackathon
อันที่จริงแล้ว ในภาษาอังกฤษยังมีคำอีกเยอะมากที่มาจากชื่อสถานที่ (หรือที่เรียกว่า toponym) ในทำนองเดียวกับมาราธอน เช่น china ที่หมายถึงเครื่องกระเบื้องอันได้ชื่อมาจากชื่อประเทศจีน อย่างที่พบในสำนวน a bull in a china shop หมายถึง โฉ่งฉ่าง ซุ่มซ่าม ขาดความละเอียดอ่อน เหมือนปล่อยกระทิงเข้าไปเดินในร้านขายเครื่องกระเบื้อง เช่น I hate museums because they make me feel like a bull in a china shop. ก็จะหมายถึง ไม่ชอบไปพิพิธภัณฑ์เลยเพราะเข้าไปแล้วรู้สึกว่าจะไปทำของเขาพังเสียหาย หรืออีกคำก็เช่น Bohemian ที่หมายถึง พวกใช้ชีวิตติสต์ๆ ไม่ค่อยแคร์กฎเกณฑ์สังคม ที่ได้ชื่อมาจากเมือง Bohemia ในสาธารณรัฐเช็ก
กลับมาที่ทุ่งมาราธอนกันสักนิด ในทำนองเดียวกันที่คนไทยชอบตั้งชื่อสถานที่ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ พืชพันธุ์ หรือ สิงสาราสัตว์ที่ปรากฏในท้องถิ่น เช่น บางบอน หนองงูเห่า อันที่จริงแล้วทุ่งมาราธอนก็ตั้งชื่อในทำนองเดียวกัน เพราะ marathon ในภาษากรีก หมายถึง เฟ็นเนิล (fennel) หรือที่คนไทยเรียก ผักชีล้อม เป็นพืชที่นำมาต้มผัดแกงทอดได้หลายอย่าง เมล็ดมีกลิ่นคล้ายโป๊ยกั๊กและเทียนสัตตบุตย์นำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ดังนั้น เราจะเรียกทุ่งมาราธอนว่า ทุ่งผักชีล้อม ให้ได้กลิ่นแบบไทยๆ ก็คงไม่ผิดนัก
คลิกเพื่อฟังเสียงคำว่า fennel
ด้วยเหตุฉะนี้ การวิ่งการกุศลของพี่ตูนจึงมาเกี่ยวโยงกับทัพกรีก การแฮ็ค และเครื่องเทศนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้น มั่นใจว่าด้วยกำลังใจและการดูแลตลอดเส้นทางจากทุกคนที่มาให้กำลังใจพี่ตูน เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางที่แม่สายแล้ว พี่ตูนจะไม่ล้มพับแบบ Pheidippides แน่นอน
บรรณานุกรม:
http://www.etymonline.com/
http://en.wikipedia.org/wiki/Marathon
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.