ยิ่งวันเลือกตั้งเคลื่อนเข้ามาใกล้ขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีเหตุการณ์ใหม่ๆ มาสร้างความระส่ำระสายในวงการการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดียุบพรรค การเร่งผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการดำเนินคดีกับแคนดิเดตของพรรคอนาคตใหม่ จนตอนนี้เดากันไม่ถูกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เข็มจะเบนไปหาพรรคไหน และท้ายที่สุดแล้วเมืองไทยจะก้าวต่อไปในทิศทางใด
ท่ามกลางความไม่แน่นอน สัปดาห์นี้เราจะไปดูกันว่า ในภาษาอังกฤษมีสำนวนอะไรบ้างที่เราใช้พูดถึงความไม่แน่นอนได้
1. Not set in stone
สำนวนนี้หมายถึงว่า ยังไม่มีอะไรตายตัว สิ่งต่างๆ ยังเปลี่ยนแปลงได้ มีที่มาจากที่คนแต่ก่อนใช้วิธีสลักหินเพื่อบันทึกสิ่งต่างๆ และเมื่อสลักลงหินไปแล้วก็จะลบหรือเปลี่ยนแปลงได้ลำบาก ดังนั้น พอพูดว่ายังไม่ได้สลักลงบนหิน จึงหมายถึง ยังไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวนั่นเอง ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราลองร่างกำหนดการงานบางอย่างไปเสนอทีม แล้วต้องการจะบอกว่าอันนี้เป็นแค่ร่างหลวมๆ หากใครยังอยากปรับก็ยังแก้ไขได้ ก็อาจพูดว่า The schedule here is not set in stone, so feel free to let me know if you’d like to make adjustments to it.
ทั้งนี้ หากไม่พูดว่า not set in stone จะพูดว่า not carved in stone หรือ not etched in stone ก็ได้เช่นกัน
2. It’s early days.
สำนวนนี้จะได้ยินเยอะฝั่งอังกฤษ หมายถึง ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะตัดสินหรือบอกอะไรได้ เพราะว่ายังไม่เห็นเค้าลางชัดพอว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร ความหมายคล้ายๆ ที่ it remains to be seen. (ต้องรอดูกันต่อไป) ตัวอย่างเช่น หากมีคนมาถามเราว่าเราคิดว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง เราก็อาจจะบอกว่า I don’t know. It’s early days. ก็จะหมายถึง ไม่รู้เหมือนกัน ตอนนี้ยังเร็วไป บอกอะไรไม่ได้
หากไม่พูดว่า It’s early days. ก็อาจพูดว่า It’s early in the day. ได้เช่นกัน
3. Who can say?
สำนวนนี้หมายถึง ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ทำนองว่าไม่มีอะไรแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ จะใช้โดดๆ ก็ได้เช่น หากมีใครถามว่าเราคิดว่าพลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไหม แล้วเราคิดว่าอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ก็อาจจะตอบว่า Who can say? หรือจะเอาคำถามแปะตามท้ายมาก็ได้เพื่อระบุว่าเราไม่มั่นใจเรื่องอะไรอยู่ เช่น Who can say what Thailand will be like in 10 years from now? ก็คือ ไม่มีใครรู้หรอกว่าอีกสิบปีเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
4. It’s anybody’s guess.
สำนวนนี้คงแปลตรงๆ ได้ประมาณว่า ใครเดาก็เหมือนกัน มีโอกาสเดาถูกพอๆ กัน ความหมายก็คือ เหตุการณ์มีความคลุมเครือไม่แน่ชัด เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นหรือสถานการณ์จะดำเนินไปในทิศทางไหน พูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร นั่นเอง เช่น หากเราดูรายการประกวดร้องเพลงถึงรอบสุดท้าย เหลือผู้เข้าแข่งขันสองคนที่ทั้งเก่งและมีคนเชียร์เยอะทั้งคู่ แล้วมีคนมาถามเราว่าคิดว่าใครจะชนะ เราก็อาจตอบว่า It’s anybody’s guess.
อีกสำนวนที่ความหมายและวิธีใช้คล้ายกันก็คือ Your guess is as good as mine. ทำนองว่า เธอจะทายหรือฉันจะทายก็มีค่าเท่ากัน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์หรือผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
5. Up in the air
สำนวนนี้เราใช้เพื่ออธิบายสิ่งที่ยังไม่แน่นอนตายตัว อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะยังไม่ได้มีการตัดสินใจให้ชัดเจน เช่น หากเราคุยกับแฟนหลวมๆ ว่าอยากไปเที่ยว แต่สถานที่ก็ยังไม่กำหนด วันก็ยังไม่ลง ที่พักกับตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง ก็อาจจะบอกว่า Our trip is still up in the air. หรือใช้อธิบายสถานการณ์ที่ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อยเพราะเงื่อนไขแวดล้อมคลุมเครือก็ได้ เช่น Once my current contract expires, my future will be up in the air. ก็จะหมายถึงว่า หลังหมดสัญญา ก็ไม่รู้แล้วว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
6. Hang in the balance
สำนวนนี้หมายถึงว่าอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปไหน อาจจะไปในทางที่ดีหรือร้ายก็ได้ ให้ภาพเหมือนตราชั่งที่จานสองข้างสมดุลกันอยู่พอดี ถ้าขยับหรือมีอะไรมาเติมในจานฝั่งไหน ตราชั่งก็จะไม่สมดุลอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น The future of Thailand is hanging in the balance. ก็จะหมายถึง ไม่รู้ว่าอนาคตเมืองไทยจะดำเนินไปในทิศทางไหน ออกมาร้ายดีอย่างไร
7. Could go either way
สำนวนนี้ความหมายก็คือ มีผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้สองแบบและทั้งสองแบบมีโอกาสเกิดขึ้นพอๆ กัน คือ ผลอาจออกมาแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สองก็ได้ ตัวอย่างเช่น หากผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของเขตเราสองคนดูสูสีกันมาก บอกไม่ได้จริงๆ ว่าใครจะชนะ ก็อาจพูดว่า The vote could go either way.
8. A toss-up
สำนวนนี้คล้ายกับสำนวนก่อนหน้า มีที่มาจากการโยนเหรียญ ทำนองว่าโยนแล้วมีโอกาสออกหัวหรือก้อยเท่ากัน คือใช้ในกรณีที่มีโอกาสเกิดผลสองแบบเท่าๆ กัน ตอนนี้บอกไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปไหน ตัวอย่างเช่น It’s a toss-up between the two candidates. ก็จะหมายถึงทั้งสองคนนี้มีโอกาสพอๆ กัน ไม่รู้ใครจะชนะ หรือจะใช้ในกรณีที่ยังตัดสินใจระหว่างของสองสิ่งไม่ได้ ในใจเรารู้สึกว่าคะแนนเสมอกัน ก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น I want to have fried chicken for lunch, but sushi also sounds so good. It’s a real toss-up. ก็จะหมายถึง มื้อกลางวันอยากกินไก่ทอด แต่ซูชิก็ฟังดูดีเหลือเกิน เลือกไม่ถูกเลย
9. In doubt
นอกจาก doubt จะใช้ในความหมายว่า สงสัย แคลงใจ แล้ว ยังมาประกอบเป็นสำนวน in doubt ใช้กับสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ทำนองว่า ยังชวนให้สงสัยอยู่ว่าจะออกมาในรูปไหน เช่น The future of our company is still in doubt. หมายถึง อนาคตบริษัทเราไม่รู้จะเป็นอย่างไร
10. It’s anyone’s game.
สำนวนนี้ใช้กันในแวดวงกีฬาเป็นหลัก ความหมายคือ นัดนี้ทั้งสองทีมมีโอกาสชนะเท่ากัน ไม่มีฝ่ายไหนได้เปรียบเหนือกว่าอีกฝ่าย ทำให้เราดูไม่ออกหรือเดาไม่ได้แน่นอนว่าใครจะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ ตัวอย่างเช่น Both teams are really going for it, and at this point, it’s anyone’s game. หมายถึง ทั้งสองทีมขับเคี่ยวเอาจริงมาก ตอนนี้ดูไม่ออกจริงๆ ว่าใครจะชนะ
บรรณานุกรม
- Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
- Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Merriam-Webster Dictionary
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- Shorter Oxford English Dictionary