คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียถูกพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่าเอียงข้างพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้น ข้อกล่าวหานี้ฟังขึ้นหรือเปล่ายังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ กกต.อินเดียสั่งฟันพรรคของนายกฯ โมดี ด้วยเหตุ ‘เอาเปรียบคู่แข่ง’ ไปแล้วหลายเรื่อง

เวลานี้ กกต.อินเดียกำลังจัดการเลือกตั้งขนาดใหญ่โตมโหฬาร รองรับผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีมากถึง 900 ล้านคน ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิที่มีมากมายมหาศาล จึงต้องทยอยเปิดคูหาในรัฐและเขตปกครองต่างๆทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 7 รอบ กินเวลาทั้งสิ้น 6 สัปดาห์

การหย่อนบัตรรอบแรกเริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 เม.ย.) ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ 142 ล้านคน รอบสุดท้ายจะเข้าคูหาในวันที่ 19 พฤษภาคม จากนั้น ผลการเลือกตั้งจะประกาศในวันที่ 23 พฤษภาคม

ทั้งหมดนี้บริหารจัดการโดยกกต.ที่มี 3 คน คือ ประธาน 1 คน กับกรรมการ 2 คน และมีทีมเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางที่กรุงนิวเดลีราว 300 คน

กกต.ของอินเดียมีที่มายึดโยงกับประชาชน ผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนก็คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งของอินเดียเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ใครข้องใจว่ามีการเล่นตุกติก สามารถร้องเรียนกกต.ผ่านทางแอปได้ทันที พรรคไหนแคลงใจว่ากรรมการลำเอียง สามารถวิจารณ์ได้โดยไม่ต้องกลัวข้อหาหมิ่นประมาท

ด้วยบรรยากาศที่เสรีและเปิดกว้างอย่างนี้ เรื่องร้องเรียนจึงเข้าสู่กกต.อย่างท่วมท้น เมื่อเกิดข้อร้องเรียนว่า ฝ่ายรัฐบาลเอาเปรียบฝ่ายค้านในการหาเสียง กกต.ของเขาก็สอบสวนทันที และได้ลงดาบไปตามเนื้อผ้าบ้างแล้ว

สั่งกรองเนื้อหา ‘โทรทัศน์นายกฯ’

ในวันเปิดหีบเลือกตั้งรอบแรก กกต.มีคำวินิจฉัยว่า สถานีโทรทัศน์ NaMo TV ซึ่งอุปถัมภ์โดยพรรคภารติยะ ชันนะตะ (Bharatiya Janata Party – BJP) ของนายกรัฐมนตรี มเหนทรา โมดี กระทำเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง จึงสั่งให้ทางสถานีต้องส่งเนื้อหาให้กกต.รับรองก่อนออกอากาศ

โทรทัศน์ของพรรคบีเจพี ซึ่งออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เผยแพร่ผ่านหลายช่องทางที่ว่านี้ เน้นโฆษณาผลงานของรัฐบาล จึงถือเป็นการเอาเปรียบพรรคคู่แข่งอื่นๆ ที่ไม่มีสื่อ กกต.อินเดียให้เหตุผลในการออกคำสั่งนี้ว่า ต้องการให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม

ก่อนหน้าคำสั่งนี้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง กกต.เพิ่งสั่งระงับการฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของโมดีวัย 68 ผู้ใช้ชีวิตวัยเยาว์เป็นเด็กขายน้ำชาตามสถานีรถไฟไปจนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น ทั้งๆ ที่ผู้สร้างหนังยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคบีเจพี

‘ทหารของโมดี’

โมดียังถูกร้องเรียนด้วยว่า การที่เขาออกโทรทัศน์ประกาศความสำเร็จในการทดสอบยิงทำลายดาวเทียมในอวกาศ และการที่พลพรรคบีเจพีหาเสียงด้วยผลงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล โดยเรียกกองทัพว่า “ทหารของโมดี” นั้น ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ข้อร้องเรียนทั้งสองเป็นตัวอย่างของข้อร้องเรียนหลายหมื่นเรื่องที่ถูกส่งถึงกกต.อินเดีย นายสัณฑีป สักเสนา รองประธานกกต. บอกว่า โดยทั่วไป เจ้าหน้าที่กกต.ใช้เวลา 12 ชั่วโมงในการกลั่นกรองเบื้องต้นว่า กรณีเหล่านั้นมีมูลหรือไม่

บรรดาพรรคฝ่ายค้านกล่าวหากกต.ว่า เข้าข้างพรรคบีเจพี ถึงขั้นขู่ว่า ถ้าโมดีแพ้เลือกตั้ง ต้องเอากกต.เข้าคุก ในขณะที่กกต.เองยืนยันว่า ไม่เคยลำเอียง ทำงานเป็นกลาง พรรคไหนทำผิดต้องถูกดำเนินการอย่างเสมอหน้ากันหมด

กรณีการใช้คำว่า ทหารของโมดี เป็นประเด็นที่กกต.กำลังสอบสวน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อมุขมนตรีของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งมาจากพรรคบีเจพี เรียกกองทัพของชาติด้วยถ้อยคำดังกล่าว ในเบื้องต้น กกต.ได้ปรามไปแล้วว่า ห้ามพูดเอาเปรียบคู่แข่งแบบนั้นอีก

ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีประกาศข่าวการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของประเทศ ด้วยการยิงดาวเทียมของอินเดียเองเมื่อเดือนมีนาคมนั้น กกต.วินิจฉัยว่า ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

วิจารณ์กกต.

รองประธานกกต. บอกว่า ในจำนวนข้อร้องเรียน 40,000 เรื่องที่ถูกส่งมาทางแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือตั้งแต่กฎหมายเลือกตั้งเริ่มบังคับใช้เมื่อ 10 มีนาคมนั้น ทางกกต.ได้ตรวจสอบไปแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ และได้ดำเนินการสำหรับเรื่องที่มีมูลไปแล้วราว 68 เปอร์เซ็นต์

เจ้าหน้าที่กกต.คนหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เรื่องร้องเรียนมีมากเหลือเกิน การดำเนินการต้องผ่านหลายขั้นตอน การจัดการจึงล่าช้า ประชาชนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกกต. ทีมเจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว บางคนทำงานวันละ 16-17 ชั่วโมง

หลังปิดหีบเลือกตั้งรอบที่เจ็ด กกต.จะใช้เวลา 4 วันในการประกาศผล คาดกันว่า โมดีจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง ด้วยผลงานโดดเด่นในเรื่องนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดการปัญหาดินแดนพิพาทแคว้นแคชเมียร์

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสุ้มเสียงแสดงความเคลือบแคลงต่อการจัดการเลือกตั้งของอินเดียจากนานาชาติ หรือสื่อต่างประเทศ และยังไม่ปรากฏว่า กกต.อินเดียไล่ฟ้องคนวิจารณ์ฐานหมิ่นประมาท.

อ้างอิง:

Reuters, 27 March 2019

Reuters, 8 April 2019

AFP via msn.com, 10 April 2019

AFP via France 24, 12 April 2019

Tags: , ,