จากปัญหาเรื่องป่าแหว่งบริเวณเชิงดอยสุเทพ เพราะมีการก่อสร้างโครงการบ้านพักตุลาการ The Momentum และวิทยุจุฬาฯ คลื่น 101.5 MHz ต่อสายสัมภาษณ์สด ‘อัมรินทร์ สายจันทร์’ นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw เพื่อวิเคราะห์ว่า อะไรคือช่องโหว่ที่ทำให้สังคมไทยไม่สามารถปกป้องผืนป่า รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมกรณีต่างๆ ได้

**การละเลยที่จะรับฟังความเห็นของชุมชนรอบข้าง**

จากกรณีป่าเชิงดอยสุเทพแหว่งไปนั้น เป็นโครงการก่อสร้างที่ทำเรื่องยื่นขออนุญาตมาตั้งแต่ปี 2540 ก่อนจะมาเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2557 แต่ชุมชนรอบข้างไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ และไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็น

อัมรินทร์อธิบายว่า มีหลักการใหญ่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540, 2550 และ 2560 (กระบวนการก่อสร้างโครงการนี้กินเวลาครอบคลุมรัฐธรรมนูญหลายฉบับ) ที่ระบุว่า ในโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือเป็นโครงการที่มีส่วนได้ส่วนเสียของชุมชนท้องถิ่น ก็ควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูล

ซึ่งกรณีบ้านพักตุลาการ ก็พบว่าพื้นที่ป่าที่ใช้ก่อสร้างโครงการนั้นเป็นป่าแนวรอยต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ

“ผมเชื่อว่าถ้าคนเชียงใหม่หรือคนในพื่นที่ได้รับข้อมูลตั้งแต่แรก ได้เห็นแบบแปลนในการไถถากดอยขึ้นไปอย่างนั้น รวมถึงจำนวนบ้านที่อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำ และสามารถลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆก่อนอนุมัติโครงการ ก็น่าจะนำไปสู่การออกแบบและปรับเปลี่ยนที่มีผลกระทบน้อยลงได้ตั้งแต่แรก” อัมรินทร์กล่าว

**ถ้ารู้ทริก ก็เลี่ยงกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้**

มีคำที่ได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ EIA หรือ ‘การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ และคำว่า EHIA ซึ่งหมายถึง ‘รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ’ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

แม้กฎหมายจะออกแบบให้มีการจัดทำรายงานดังกล่าวเพื่อคิดทบทวนให้รอบด้านก่อนมีโครงการใดๆ แต่ที่ผ่านมา เงื่อนไขตาม EIA และ EHIA กลับเป็นหลุมพรางที่ช่วยเปิดช่องให้เล่นทริกในกฎหมายได้เช่นกัน คือ ในขณะที่กฎหมายมักกำหนดเกณฑ์หรือขนาดของโครงการที่เข้าข่ายต้องทำรายงาน แต่ในมุมกลับ เรื่องนี้ก็ช่วยให้โครงการต่างๆ หาวิธีเลี่ยงเพื่อให้สร้างต่อได้

เช่นกฎหมายบอกว่าโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ต้องทำรายงาน EIA ผลคือมีโรงงานขนาด 9.9 เมกะวัตต์ออกมาจำนวนมาก หรือพบว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

“ที่ผ่านมาก็จะมีโรงไฟฟ้าขนาด 9.8-9.9 เมกะวัตต์ หรือลักษณะการก่อสร้างโครงการท่าเรือ ที่สร้าง 6 อันติดๆ กันแล้วก็เป็นเจ้าของเดียวกัน” อัมรินทร์ยกตัวอย่างให้ฟัง

อัมรินทร์เห็นว่า ปัญหาช่องโหว่ข้อนี้เป็นเพราะใช้วิธีคิดที่ตายตัวมากเกินไป หากเทียบกับในต่างประเทศ เช่นสหราชอาณาจักรที่ยึดตามหลักของสหภาพยุโรป จะมีหลักเกณฑ์อยู่ 2 บัญชี บัญชีแรกเป็นหลักเกณฑ์แบบตายตัวคล้ายกับที่ใช้ในไทย ส่วนบัญชีที่ 2 จะพิจารณาผลกระทบแบบรายกรณี เช่น กรณีที่เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดมลพิษ ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ฯลฯ ซึ่งเวลาพิจารณาก็จะใช้สองหลักเกณฑ์นี้ควบคู่กันไป ในบางครั้ง โครงการต่างๆ อาจไม่เข้าบัญชีแรก แต่เข้าเกณฑ์บัญชีที่ 2 ก็ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้วย

สำหรับกรณีบ้านพักตุลาการก็เป็นอีกโครงการหนึ่งซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เช่น ต้องเป็นอาคารทึ่สูง 23 เมตรขึ้นไป หรือเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่มีห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป) แม้ว่าหากพิจารณาด้วยสามัญสำนึกพื้นฐานที่มองเห็นรอยป่าแหว่งเหมือนคนแกล้งเอาปัตตาเลี่ยนไถ รอยถากของป่าที่แหว่งไปก็คือแนวป่าไม้ที่สูญหายไปอย่างแน่นอน แต่ในทางเทคนิค โครงการนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับปัจจุบัน

“การให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นซึ่งจริงๆ จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของโครงการเอง ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เพื่อที่จะได้ฟังความเห็นตั้งแต่ต้นว่ามันได้ไหม เหมาะไหม มันปรับได้ไหม คนในพื้นที่มีข้อห่วงกังวลอะไร และจะได้ไม่บานปลายมาอยู่ในสถานะการณ์ที่เป็นอยู่แบบนี้”

 

ฟังรายการได้ที่นี่

 

ที่มาภาพ: สปริงนิวส์

Fact Box

ฟังรายการได้ที่ http://www.curadio.chula.ac.th/Radio-Demand.php?program=201804250805

Tags: ,