134 ปีแล้วที่ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ หลอดไฟดวงแรกสว่าง ขึ้นที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยวิสัยทัศน์ของ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง–ชูโต) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ที่เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ นำแสงสว่างสู่ประเทศไทย

จากหลอดไฟดวงแรก สู่การเข้าถึงไฟฟ้าทั่วประเทศ

นั่นนับเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศไทย แต่ไฟฟ้าก็ยังถือเป็นของหายาก ใช่ว่าคนในทุกจังหวัดจะเข้าถึงได้ ส่วนที่เข้าถึงได้ก็ติดๆ ดับๆ ไปตามดินฟ้า จนกระทั่งปี 2511 ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย’ (กฟผ.) ได้จัดตั้งขึ้นโดยรวมหน่วยงานด้านการผลิตและส่งพลังงานไฟฟ้าสามแห่ง คือ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนต์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน จนถึงวันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ด้วยการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน รวมถึงบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าเพื่อคงเสถียรภาพของกำลังผลิตสำรองให้อยู่ในมาตรฐานและมีความมั่นคง

‘โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า’ (Demand Side Management – DSM) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเปิดตัวโครงการฯอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานของ DSM ได้ถือวาระครบรอบ 25 ปี

ไฟฟ้าให้ความสะดวกสบาย แต่โลกกำลังซึมซับ CO2

ขณะที่ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่การใช้ไฟก็มีต้นทุนทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะในช่วงแรกของการคิดค้นนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านพลังงาน ทั่วโลกต่างหันมาพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงานฟอสซิล ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก็มีชุมชนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วย

ความหมายของการมีเสถียรภาพในพลังงานไฟฟ้า จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการมีไฟฟ้าใช้ตามที่ต้องการตลอดเวลา แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย

เป็นเวลากว่า 25 ปีแล้วที่ กฟผ. ดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า  โดยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ภายใต้กลยุทธ์ 3 อ. คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และอุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า

จนเรียกได้ว่า ทุกวันนี้ ผู้คนและองค์กรต่างๆ ก็มีค่านิยมประหยัดพลังงานเอาไว้ในใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นที่เราคุ้นเคยกันดีกับ ‘ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5’ ที่ปัจจุบันมีการติดฉลากฯ ไปแล้วรวม 30 ผลิตภัณฑ์ โดยมียอดการติดฉลากฯ แล้วกว่า 353 ล้านฉลาก

อีกแนวทางสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พลังงาน ก็คือการวางมาตรการที่จะมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งนอกเหนือจากการเชิญชวนและรณรงค์ให้คนช่วยกันประหยัดพลังงานในชีวิตประจำวันแล้ว ยังต้องอาศัยการออกแบบเชิงโครงสร้าง อุปกรณ์ และอาคาร ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะเอื้อต่อการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วย

รวมถึงการปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีแก่เยาวชนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวที่ กฟผ. จัดทำขึ้นในโรงเรียน 465 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนได้มีการต่อยอดสู่กิจกรรมลดใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายผลสู่บ้านนักเรียนและชุมชน ให้สามารถประเมินผลการลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม

วางเป้าหมาย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เช่นในตอนนี้ มีโครงการนำร่องที่ กฟผ. ดำเนินงานร่วมกับการเคหะแห่งชาติ สร้างบ้านและที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงวัสดุและการออกแบบที่ต้องผ่านเกณฑ์ ‘ประสิทธิภาพพลังงาน’ คาดว่าบ้านนำร่องจะก่อสร้างเสร็จในปี 2561 นี้ ซึ่งจะทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลง 0.9 ล้านหน่วย ลดค่าไฟฟ้าได้รวม 3.6 ล้านบาทต่อปี และคาดการณ์ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 489 ตัน

ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อปี 2536 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 หากดูผลทางตัวเลข จะพบว่าสามารถลดพลังงานไฟฟ้าได้ 4,624 เมกะวัตต์ (MW) ลดพลังงานไฟฟ้าได้ 27,460 ล้านหน่วย (GWh) และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จำนวน 15.6 ล้านตัน และการรณรงค์ประหยัดไฟและความพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงดำเนินต่อไป เพราะการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดนั้นเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้

Tags: , , ,