เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ภายหลังการเสนอผลการศึกษา ‘ภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558-2559 และผลการศึกษาโลหะหนักในตะกอนดิน 8 จังหวัด’ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับ ARNIKA Association ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายคนก็ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น
ถึงแม้จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษอุตสาหกรรมมานานหลายปี ทั้งทางหน้ากระดาษ คำบอกเล่า และจอโทรทัศน์ แต่การได้มองเห็นสีหน้าและแววตา รวมทั้งได้ยินน้ำเสียงของผู้คนที่อยู่กับปัญหานี้มาเนิ่นนาน ก็ทำให้สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากกำลังเผชิญนั้นแจ่มชัดในความรู้สึกของผมมากยิ่งขึ้น
พี่ป้าน้าอาที่ลุกขึ้นพูดในวันนั้นคงจะพูดเรื่องเดียวกันนี้มานับครั้งไม่ถ้วน เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลไทยเริ่มต้นเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่ได้เบาบางหายไป กระทั่งสาหัสหนักหน่วงยิ่งขึ้นในหลายพื้นที่
ในวันนั้น ชาวบ้านจากจังหวัดระยองคนหนึ่งลุกขึ้นพูดว่า เขารับรู้มาเนิ่นนานหลายปีแล้วว่า ประชากรจังหวัดระยองมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศไทย ทว่าสิ่งที่เขาได้พบเจอมาตลอดทั้งชีวิต ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงรอบตัว
บทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ด
ผมนัดพบกับ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ฉะเชิงเทรา
เขากับภรรยาขี่จักรยานมาจากอำเภอบางคล้า ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทราราว 20 กิโลเมตร โดยมีลูกชายตัวน้อยติดสอยห้อยตามมาด้วย
กัญจน์บอกว่าห่างหายจากการขี่จักรยานเข้าเมืองมานาน เลยถือโอกาสนี้ชวนภรรยาและลูกชายออกเดินทางมาด้วยกัน
“แรกเริ่มเดิมที ผมทำงานเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำบางปะกง เป็นกลุ่มในอำเภอบางคล้า ตอนนั้นมีโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่บางคล้าเมื่อปี 2552 เราก็รวมกลุ่มกันเพื่อคัดค้าน เพราะที่นั่นเป็นพื้นที่เกษตร และโรงไฟฟ้าก็เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ สุดท้าย โรงไฟฟ้าย้ายไปตั้งที่สระบุรี แต่เราก็ทำงานต่อเนื่อง ผมได้เจอเพื่อนๆ ได้เจอพี่ๆ จึงได้มาทำงานกับเครือข่ายเพื่อนตะวันออก”
กัญจน์เกิดที่อำเภอบางคล้า เข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ด้วยความสนใจทางด้านสิ่งแวดล้อม เขาสมัครเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นจึงมีชีวิตเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้มาโดยตลอด
เรื่องอีอีซีควรจะเป็นต้นแบบของไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับกลายเป็นว่าเอาโครงการเก่าๆ มาทำต่อให้เสร็จ ซึ่งมันขาดการคิดตอบโจทย์ของอนาคตซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก อย่างเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เรื่องคุณภาพชีวิต
“ผมช่วยดูแลโครงการของเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ตอนนั้นเป็นโครงการในระดับจังหวัด ยังไม่มีโครงการระดับภาค จนกระทั่งเราเห็นว่าการพัฒนาภาคตะวันออกที่ผ่านมา นับตั้งแต่อีสเทิร์นซีบอร์ดมันมีผลกระทบมาก เราน่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตอนนั้นก็เลยจัดงานทบทวน 30 ปีอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อเดือนเมษายน 2555 ตอนนั้นก็เลยได้ดูข้อมูล ได้ทำเรื่องตัวชี้วัดการพัฒนาที่ไม่ได้มีแค่มิติทางเศรษฐกิจ แต่เราดูในหลายมิติ ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องทางสังคม”
กัญจน์บอกว่าตั้งแต่ก่อนเริ่มทำโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) บริษัทที่ปรึกษาจากต่างชาติซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ว่าจ้างก็ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้น่าจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้สนใจศักยภาพหรือต้นทุนดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว การประมง การเกษตร ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกมีความเข้มแข็ง
“ตอนนั้นรัฐไม่ได้ให้น้ำหนักในส่วนนี้ รัฐสนใจเพียงแค่การพัฒนา แต่ไม่ได้สนใจการเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้สนใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 30 ปีต่อมาคือมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจก็เอนเอียงไปทางภาคอุตสาหกรรม ในสี่จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน สังคมก็มีความเหลื่อมล้ำมาก การเข้าถึงทรัพยากรก็ไม่มีความเป็นธรรม”
การทบทวน 30 ปีอีสเทิร์นซีบอร์ดของเครือข่ายเพื่อนตะวันออก จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า “เราไม่อยากเห็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเหมือนในอดีต คนภาคตะวันออกจะลุกขึ้นมากำหนดทิศทางการพัฒนาที่พึงปรารถนาของเราเอง”
วาระเปลี่ยนตะวันออก
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในภาคตะวันออกต้องลุกขึ้นมา เชื่อมโยงกันทั้งองค์ความรู้และพลังในการปกป้องพื้นที่ ดำรงไว้ซึ่งนิเวศวัฒนธรรมอันดีงาม และร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยคนตะวันออกเอง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ลูกหลาน แผ่นดิน และสิ่งแวดล้อม” เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
การรวมตัวกันของเครือข่ายเพื่อนตะวันออกในปี 2555 คือการร่วมกันกำหนดแนวทางทวงคืนธรรมชาติและวิถีชุมชนในภาคตะวันออกของ 61 องค์กร อันนำมาสู่ ‘แถลงการณ์วาระเปลี่ยนตะวันออก’
“แต่เราก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเปลี่ยนตะวันออกอย่างไร ก็ใช้เวลาครุ่นคิดอีกสองปี จนกระทั่งเราสนใจเรื่อง Transformative Scenario Planning ของอดัม คาเฮน (Adam Kahane) ก็เลยลองเอากระบวนการนี้มาใช้ และเราก็ได้ภาพอนาคตของภาคตะวันออก”
กัญจน์บอกว่าภาพอนาคตของภาคตะวันออกหรือ ‘ภาพอนาคตวิถีบูรพา’ มีสามภาพ “ภาพแรกชื่อ ‘วิถีทนปากปล่อง’ ทนก็คือทนอยู่เฉยๆ ทนได้ ไม่ตอบสนองอะไร ทำให้สิ่งที่ตามมาคือความเดือดร้อนและความทุกข์ร้อน ภาพที่สองชื่อ ‘วิถีทุนก้าวหน้า’ คือมีคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเราเติบโตแบบยุโรปได้ ที่ถึงแม้จะมีภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ และรัฐบาลก็ดูแลเรื่องสังคม ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็น่าจะพออยู่กันไปได้”
ภาพอนาคตของภาคตะวันออกหรือ ‘ภาพอนาคตวิถีบูรพา’ “ภาพแรกชื่อ ‘วิถีทนปากปล่อง’ ทนก็คือทนอยู่เฉยๆ ทนได้ ไม่ตอบสนองอะไร ทำให้สิ่งที่ตามมาคือความเดือดร้อนและความทุกข์ร้อน”
ส่วนภาพที่สามชื่อ ‘วิถีไทสร้างสรรค์’ ซึ่งมองต่างไปจากสองภาพแรก คือไม่ตามกระแสโลก แต่เป็นการรู้เท่าทัน “เพราะฉะนั้น แนวคิดในหลายเรื่องจะเปลี่ยนไป อย่างเรื่องเศรษฐกิจ ภาพนี้ไม่ได้มองว่าต้องพึ่งพาบรรษัทขนาดใหญ่ แต่มองว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดรายเล็กและรายกลางมาผสมผสานกัน แล้วก็มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีภาคบริการและภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มีอยู่เดิม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ได้เป็นการกระตุ้นให้ใช้ แต่จะเป็นการใช้อย่างรู้คุณค่า และถึงเวลาที่จะต้องฟื้นฟูทรัพยากร อะไรที่สูญเสียไปก็ฟื้นฟูขึ้นมา ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น”
ความท้าทายจากอีอีซี
กัญจน์ยอมรับว่าภาพวิถีไทสร้างสรรค์ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 2557 ได้รับการตอบรับจากคนในพื้นที่ไม่มากนัก จนกระทั่งหลังจากวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) อันตามมาด้วยร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกสามฉบับ การขับเคลื่อนวิถีไทสร้างสรรค์จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหว
“เมื่อมีอีอีซี เราก็เลยต้องมาคุยกันว่าเขากำหนดทิศทางอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไร ก็เลยคิดกันว่าภาพวิถีไทสร้างสรรค์ที่เราร่วมกันออกแบบนี่แหละ มันเป็นทางออกของเรา ก็เลยใช้การจัดวงพูดคุยเล็กๆ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อเติมภาพให้ชัดเจนขึ้นว่าอะไรควรจะเป็นอะไร เป้าหมายจะเป็นอย่างไร และแนวทางจะเป็นอย่างไร”
คณะทำงานชุดแรกตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีห้ายุทธศาสตร์อยู่ในแผนงาน
“เรามองในด้านที่เรามีความพร้อม คือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องน้ำ เรื่องที่ดิน และเรื่องมลพิษ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราก็จะทำยุทธศาสตร์สี่เรื่องนี้ สุดท้าย ที่สำคัญมากๆ คือเราคิดว่าการที่คนจะเข้าใจ แล้วก็มาร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องมองเรื่องการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนี่ก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ห้า ตอนนี้เรามีห้าประเด็นที่จะขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยกำลังที่เรามี ในช่วงหนึ่งปีต่อจากนี้”
อย่างไรก็ตาม โครงการที่ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมุ่งหวังจะให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียและทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว ก็ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับการต่อต้านคัดค้าน อีกทั้งคนจำนวนหนึ่งก็ส่งเสียงสนับสนุน เราจึงไม่แน่ใจว่าเสียงของคนที่ไม่เห็นด้วยจะมีผลต่อโครงการนี้แค่ไหน
กัญจน์ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “เรื่องหนึ่งที่เราคุยกันว่าต้องทำให้ได้คือ มันไม่ใช่การต่อสู้ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ รวมถึงประชาชนในประเทศนี้ ตื่นรู้กับการพัฒนาที่รัฐเป็นผู้ผูกขาด เพราะตั้งแต่อีสเทิร์นซีบอร์ดมาจนถึงอีอีซี ถามว่ามีโครงการอะไรที่เป็นโครงการที่ชุมชนเสนอ มันมีแต่โครงการที่รัฐกำหนด เราก็เลยคิดว่าต้องปลุกคนให้ตื่น แล้วมาคิดอ่านในเรื่องทิศทางของบ้านตัวเอง นี่คือเรื่องหนึ่งที่เป็นหัวใจของเรา”
กัญจน์ยืนยันว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธเนื้อหาทั้งหมดของอีอีซี แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการพิจารณาข้อเสนอของคนในพื้นที่
“โครงการอะไรที่เราคิดว่าไม่ใช่ เราก็อยากจะมีข้อเสนอ และอยากจะให้สิ่งที่เราเสนอมันกลายมาเป็นทางเลือกเพื่อให้คนได้เลือก ไม่ใช่รัฐคิดมาแล้วก็จบ เราอยากให้กางกระดานแล้วลองดู อย่างท่าเรือแหลมฉบัง มันมีทางเลือกอะไรบ้าง มันมีแค่ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หรือ ซึ่งชาวบ้านเขาค้านมาเป็น 10 ปี ชาวบ้านเขาเสนอทางเลือกให้ปรับรูปแบบโครงสร้างด้านวิศวกรรม คือไม่ได้เพิ่มพื้นที่ชายฝั่ง แต่เป็นโครงสร้างที่ยื่นเข้าไปในทะเล อย่างโรงไฟฟ้า เราก็มีทางเลือกที่เป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน เรื่องการจัดการขยะ เราก็กำลังคุยกันว่ารูปแบบการจัดการแบบไหนที่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้จะเป็นการต่อสู้ของเราในระยะต่อจากนี้”
กัญจน์บอกว่าเขาไม่ได้มุ่งเน้นที่การคัดค้าน “เรามุ่งเสนอทางเลือก แล้วก็ให้คนมาร่วมตัดสินใจ นี่คือยุทธศาสตร์ของเรา”
มาตรา 44 กับการมีส่วนร่วม
“ที่ผ่านมา ผมคิดว่าที่การพัฒนามันสร้างความขัดแย้งเพราะเราไม่มีกระบวนการที่มาร่วมกันจริงๆ มันเหมือนกับเราจัดเวทีรับฟังแล้วก็จบ แต่ไม่ได้เป็นการรับฟังอย่างมีความหมาย ในต่างประเทศ กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก อย่างเราก็เสนอกับรัฐบาลชัดว่าเรามีข้อเสนออะไร แต่หลายเรื่องก็ไม่ได้คำตอบกลับมา แล้วก็มีมาตรา 44 ออกมา ผมก็เลยคิดว่ามันกำลังจะเข้าสู่อีหรอบเดิม เราไม่มีพัฒนาการในเรื่องนี้เลย”
หลังจากได้พบกัน สิ่งแรกที่กัญจน์ยื่นให้ผมคือหนังสือจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 25 ตุลาคม เนื้อความในหนังสือระบุว่า ได้รับข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งกลุ่ม EEC Watch ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม
กัญจน์บอกว่า “ตอบมาแค่นี้”
‘แค่นี้’ ในความหมายที่ว่าได้รับข้อเสนอแนะแล้ว โดยปราศจากรายละเอียดอื่นใด
ผมปรารภกับกัญจน์ว่าข้อมูลของภาครัฐดูเหมือนจะถูกรับฟังมากกว่าข้อมูลของภาคประชาชนเสมอ
“ถ้าที่ดินมีการเปลี่ยนมือ มีการลงทุน มีนายหน้า ที่ดินก็แพงขึ้น การเข้าถึงพื้นที่เกษตรของชาวบ้านก็ทำได้ยากขึ้น แล้วต่อไปภาคการเกษตรจะอยู่อย่างไร”
“ผมคิดว่ามีคนส่วนหนึ่งที่เขาฟังรัฐ เพราะส่วนใหญ่รัฐจะเป็นคนให้ข้อมูล บางส่วนเขาก็เห็นแบบที่รัฐพูดจริงๆ แต่เขาก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นจริงแค่ไหน ที่บอกว่าจะสร้างการจ้างงาน จะสร้างการจ้างงานได้ขนาดไหน ผมคิดว่าพอฟังแล้ว ภาพมันก็สวย แต่คนที่ได้มีโอกาสคุยกันและได้เห็นข้อมูลเชิงลึก ได้อ่านร่าง พ.ร.บ. บ้าง ได้ฟังข่าววิเคราะห์บ้าง ก็คงจะเห็นว่ามันมีปัญหาอยู่พอสมควร อย่างที่แปดริ้วก็มีปัญหาเรื่องการไม่มีน้ำจืดมาผลิตน้ำประปา แล้วต่อไปถ้ามีคนใช้น้ำเยอะๆ จะอยู่อย่างไร ถ้าที่ดินมีการเปลี่ยนมือ มีการลงทุน มีนายหน้า ที่ดินก็แพงขึ้น การเข้าถึงพื้นที่เกษตรของชาวบ้านก็ทำได้ยากขึ้น แล้วต่อไปภาคการเกษตรจะอยู่อย่างไร มันก็อาจจะเป็นการบีบบังคับให้เป็นเหมือนกับปทุมธานีหรือนนทบุรีหรือเปล่า คือสุดท้ายก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือการพาณิชย์”
สำหรับกัญจน์ การเกษตรควรจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่นี่ และมาตรา 44 เรื่องการจัดทำนโยบาย แผนภาพรวม และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซี ที่จะมีผลให้ยกเว้นการใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเดิมในพื้นที่นี้ ก็จะทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากเดินไปสู่ทางตัน
“ถ้าคิดว่าการยกเว้นนู่นนี่นั่นแล้วจะทำอะไรได้ไว เขาอาจจะคิดผิด เพราะมันอาจจะเป็นการปลุกกระแสการคัดค้าน แล้วที่บอกว่าอีอีซีเป็นของทุกคน มันจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
เหตุใดต้องยกเลิกผังเมือง?
‘คสช.ออกคำสั่ง ม.44 เร่งทำผังเมืองอีอีซี เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน’
นี่คือพาดหัวข่าวก่อนที่ผมจะได้พบกับกัญจน์ไม่กี่วัน ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นหัวข้อที่เราพูดคุยกัน
“กฎหมายผังเมืองเป็นข้อตกลงว่าพื้นที่ตรงไหนจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ใช้ได้อย่างไร และก็มีการกำหนดโซนต่างๆ ซึ่งถามว่าตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วมีพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเยอะมาก ถ้าไปดูแต่ละผัง ฉะเชิงเทรามีเป็นสิบบริเวณ เตรียมไว้ให้แล้ว และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่ด้วยซ้ำไป อย่างฉะเชิงเทรายังเหลืออีกครึ่งหนึ่งที่ยังพัฒนาได้ แต่กลับมองว่าผังเมืองที่ทำไว้นั้นใช้ไม่ได้ ต้องยกเว้น”
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แก้ไขคำสั่ง คสช. ตามอำนาจมาตรา 44 เพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพราะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีผลบังคับใช้
ผมคิดว่าที่การพัฒนามันสร้างความขัดแย้ง เพราะเราไม่มีกระบวนการที่มาร่วมกันจริงๆ มันเหมือนกับเราจัดเวทีรับฟังแล้วก็จบ แต่ไม่ได้เป็นการรับฟังอย่างมีความหมาย
สาระสำคัญของคำสั่งนี้คือ จากเดิมการทำผังเมืองต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ได้จัดกระบวนการดำเนินการใหม่ให้ทำได้เร็วขึ้น โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) จัดทำผังเมืองเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จากนั้นนำเสนอขอบเขตของแผนคร่าวๆ ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) เพื่อดำเนินการกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นเสนอให้ สกรศ. รับทราบอีกครั้ง ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จากนั้นส่งต่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดของแผนดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายผังเมืองจะเป็นอย่างไร
สำหรับกัญจน์ วิธีการแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา
“เราไม่ได้ปฏิเสธโครงการที่เหมาะสม แต่เราปฏิเสธการยกเว้นอะไรไปก่อน ถ้าทำตามกระบวนการ คุณก็ทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่ขึ้นมาเลย จะบอกว่ามันใช้เวลา คุณก็ทำระยะเวลาให้เหมาะสมสิ กระบวนการของภาครัฐก็ทำให้มันเร็วขึ้น แต่ต้องรับฟังความคิดเห็น ผมคิดว่าชาวบ้านยอมรับได้ ถ้าตั้งโต๊ะคุยกัน อย่างที่แปดริ้ว ตอนที่ทำผังเมืองก่อนจะมีอีอีซี เราก็เข้าไปร่วมกัน เขาก็ฟังเรา เราก็ฟังเหตุผล ข้อมูลอะไรที่ไม่ใช่ก็พูดคุยกัน แล้วก็อยู่ในที่สาธารณะ แต่พอเป็นอย่างนี้ มันกลายเป็นว่ากติกาที่เราเคยมีร่วมกันมันหายไปหมด”
ถึงแม้จะรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ผมก็ถามกัญจน์ว่าระหว่างรัฐบาลที่มาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหนื่อยกับรัฐบาลแบบไหนมากกว่า
“ตอนนี้เหนื่อยกว่าเยอะ แต่ก็ต้องทำ เพราะเราต้องอยู่ที่นี่ไปตลอด”
ทางออกของคนภาคตะวันออก?
ก่อนจะจบการสนทนา กัญจน์สรุปจุดยืนของคนภาคตะวันออกอีกครั้ง
“เราไม่ได้ปฏิเสธภาครัฐ แต่เราคิดว่าที่รัฐทำอยู่มันไม่สมบูรณ์ในหลายเรื่อง อีอีซีควรจะเป็นต้นแบบของไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับกลายเป็นว่าเอาโครงการเก่าๆ มาทำต่อให้เสร็จ ซึ่งมันขาดการคิดตอบโจทย์ของอนาคตซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก อย่างเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เรื่องคุณภาพชีวิต เพราะสุดท้ายแล้วคนภาคตะวันออกไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดี แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้น หรือเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลพิษต่างๆ เราจะจัดการอย่างไร ถ้ามองไปประเทศรอบๆ เราเห็นแนวโน้มเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างสิงคโปร์ก็ชัดเจน เขาทำเรื่องเมืองในป่า เขาทำสวนสาธารณะให้เป็นมรดกโลก แต่ของเรา อย่างแม่น้ำบางปะกง เราก็พยายามเสนอให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แต่รัฐก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ”
สำหรับภาคตะวันออก กัญจน์บอกว่าปัญหาใหญ่อยู่ที่นโยบายการพัฒนาของรัฐยังคงดำเนินไปในแนวทางเดิม ซึ่งเขาบอกว่าต้องทำงานหนักเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ปัญหาต่างๆ นานาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่มีการแก้ไข
“เราไม่ได้ปฏิเสธโครงการที่เหมาะสม แต่เราปฏิเสธการยกเว้นอะไรไปก่อน ถ้าทำตามกระบวนการ คุณก็ทำผังเมืองเฉพาะพื้นที่ขึ้นมาเลย จะบอกว่ามันใช้เวลา คุณก็ทำระยะเวลาให้เหมาะสมสิ”
“เราไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นในเรื่องการจัดการกับการพัฒนา ขณะที่ของใหม่ก็ลดหย่อนต่างๆ นานา ทั้งเรื่องการตั้งโรงงาน เรื่องการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และล่าสุดคือเรื่องกฎหมายผังเมือง เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้จะเอาที่ไหนมามั่นใจว่าการพัฒนาข้างหน้าจะมีผลดีกับชุมชน เราไม่มีความมั่นใจเลย”
บทสนทนาเงียบลง สายลมต้นฤดูหนาวยังคงพัดแรง ผมมองดูเวลาที่เครื่องบันทึกเสียง แล้วบอกกับกัญจน์ว่าจะช่วยนำเสนอข้อมูลเท่าที่พอจะทำได้ เขากล่าวขอบคุณ และย้ำว่าถึงแม้จะมองไม่เห็นแสงสว่าง แต่เขาและผู้คนในชุมชนจะสู้ต่อไป
“ต้องย้ำว่าเราเต็มที่ เรามุ่งมั่น เราไม่ถอยไปไหนแล้ว ตอนอีสเทิร์นซีบอร์ด ชุมชนยังตื่นตัวไม่พอที่จะสู้กับเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ แต่นี่เป็นระลอกที่สอง ตอนนี้ชุมชนเติบโตขึ้นมาก เราติดต่อเชื่อมโยงกัน เราก็จะใช้สรรพกำลัง ใช้ภูมิปัญญา ใช้ความรู้ ใช้วัฒนธรรมของเรานี่แหละในการต่อสู้ และเราจะต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล”
FACT BOX:
ในปี 2524 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ริเริ่มแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard: ESB) กินพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา นำมาสู่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และสนามบิน
ต่อมา มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบในหลักการ ให้ดำเนินการ ‘โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อต่อยอดการพัฒนาบนพื้นที่เดิมของแผนงานอีสเทิร์นซีบอร์ด หวังให้ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมให้มากขึ้น
Tags: EEC, อีสเทิร์นซีบอร์ด, ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, อีอีซี, นโยบายรัฐ, อุตสาหกรรม, มลพิษ, ทรัพยากร, การพัฒนา, เศรษฐกิจ