คำว่า ‘อีอีซี’ ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในแนวนโยบายเรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเมื่อเดือนกันยายน 2558 และอนุมัติหลักการ ‘ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก’ หรือ อีอีซี ในเดือนตุลาคมปีถัดมา ราวหนึ่งปีหลังจากนั้นก็ส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในเดือนกันยายน 2560 ที่ต่อมาก็ลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จนล่าสุด ราชกิจจานุเบกษาเพิ่งประกาศให้ ‘พ.ร.บ.อีอีซี’ มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 พฤษภาคม 2561

ด้วยเหตุที่กฎหมายฉบับนี้กำลังจะสร้างความสั่นสะเทือนระลอกใหญ่ให้กับประเทศไทย นี่จึงเป็นประเด็นที่ผู้สนใจสิ่งแวดล้อมมิอาจปล่อยผ่าน และประชาชนทั่วไปควรขยับเข้ามาทำความรู้จักให้มากขึ้น

อีอีซีคือ ‘โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นเมกะโปรเจ็คต์ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามต่อยอดการพัฒนาบนพื้นที่เดิมของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard: ESB)

โดยกำหนดขอบเขตดำเนินการระยะที่หนึ่งครอบคลุมสามจังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคมาแต่เดิม ในแง่ระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ สามจังหวัดนี้ก็มีท่าเรือน้ำลึกอยู่แล้วสองแห่ง คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกำหนดแผนพัฒนาระยะที่สามไว้แล้วว่าต้องให้ขยายพื้นที่ถมทะเลก่อสร้างท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าและรถยนต์ที่จะเพิ่มขึ้น และยังมีท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จะต้องถมทะเลอีกอย่างน้อย 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยเฉพาะ

ทั้งยังมีสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาที่เตรียมอัดฉีดให้เป็นศูนย์กลางเมืองการบินภาคตะวันออก แค่ต่อจิ๊กซอว์โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และขยายมอเตอร์เวย์ในอีกสองปีข้างหน้า พื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยก็จะเชื่อมโยงกับการคมนาคมทางทะเล-ทางอากาศ-ทางบกอย่างครบวงจร และเชื่อมต่อถึงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในทวีปเอเชีย

นอกจากความเหมาะสมข้างต้น บริเวณนี้ยังเป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และมีแหล่งพลังงานอย่างก๊าซธรรมชาติที่ต่อท่อจากอ่าวไทยขึ้นมาสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติบนชายฝั่งมาบตาพุด จึงมีศักยภาพเต็มเปี่ยม (ในสายตาของรัฐบาล) ที่จะยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

แต่แค่นั้นอาจยังไม่เพียงพอในการดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศ จึงต้องประโคมสิทธิพิเศษเต็มพิกัดในพื้นที่อีอีซี เช่น ให้ชาวต่างชาติทำสัญญาเช่าที่ดินครั้งแรกได้ไม่เกิน 50 ปีและขยายตัวได้ตามความตกลงอีกไม่เกิน 49 ปี การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ไปจนถึงคนต่างด้าวไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ

เพราะเมื่อเม็ดเงินจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมมากๆ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ก็จะพุ่งทะยานขึ้น อย่างที่อีสเทิร์น ซีบอร์ด เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้ว…นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องการ

เนื้อหาในคลิปประชาสัมพันธ์โครงการที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ย้ำชัดว่า

“…เน้นการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลักเพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่าง ‘ยั่งยืน’ ซึ่งประกอบด้วยการต่อยอดห้าอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง การแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว และเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ หุ่นยนต์ การบินแบบครบวงจร การแพทย์และการดูแลสุขภาพ ไบโออีโคโนมี่โดยเฉพาะเคมีชีวภาพและพลังงาน นอกจากนี้ยังได้ขยายเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุดให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’…”

ภาพเคลื่อนไหวที่ดูดีประกอบเข้ากับบทบรรยายอันสวยหรู สะกดให้ผู้ชมเผลอไผลไปกับสารพัดผลลัพธ์ด้านบวกที่สาธยายมาได้ไม่ยาก แต่หากเคยตามประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในจังหวัดระยอง หรือในภาคตะวันออกมาบ้าง ย่อมเอะใจว่า โซนนี้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงเรื้อรังมานานกว่า 20 ปี การโยนเมกะโปรเจ็กต์ลงไปอีกจึงเท่ากับซ้ำเติมวิกฤตเดิม

แหล่งน้ำจากไหนจะมาเลี้ยงอุตสาหกรรม

ประเด็นน่ากังวลอันดับต้นๆ คือการแย่งชิงน้ำ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม

อย่างที่รู้กัน ภาคตะวันออกเผชิญภัยแล้งแทบทุกปี แม้ปัจจุบันจะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สี่แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำประแสร์ แต่ในอีกสิบปีข้างหน้า เมื่ออุตสาหกรรมหนักตบเท้าเข้ามา ก็ปรากฏตัวเลขคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำดิบจะเพิ่มขึ้นอีกราว 500 ล้านลูกบาศก์เมตร!!

กรมชลประทานซึ่งมีหน้าที่จัดหาน้ำจึงวางแผนไว้สามมาตรการ

หนึ่ง…เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม

สอง…สร้างอ่างเก็บน้ำใหม่สี่แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ซึ่งบางแห่งก็เดินหน้าไปถึงขั้น ‘อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง’

และสาม…ผันน้ำมาจากลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งในจังหวัดข้างเคียง อาทิ ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำจันทบุรี ลุ่มน้ำตราด และลุ่มน้ำวังโตนดใน จ.จันทบุรี ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการอีอีซีไปเรียบร้อยแล้ว และจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา

หมายความว่า แม้ไม่อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีโดยตรง แค่อยู่ใกล้ๆ ก็จะโดนสูบทรัพยากรน้ำไปรอป้อนภาคอุตสาหกรรมด้วย

แม้ไม่อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซีโดยตรง แค่อยู่ใกล้ๆ ก็จะโดนสูบทรัพยากรน้ำไปรอป้อนภาคอุตสาหกรรมด้วย

แนวโน้มของผลกระทบไร้พรมแดนจังหวัดจากเมกะโปรเจ็กต์ลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า SEA (Strategic Environmental Assessment) เข้ามาช่วยไตร่ตรองความเหมาะสมหรือความคุ้มค่า

ทว่าในทางปฏิบัติ อีอีซีไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมคิดหรือร่วมเสนอความเห็นแต่อย่างใด การเรียกร้องโดยภาคประชาชนเพื่อขอความชัดเจนเรื่องแผนจัดการน้ำในช่วงก่อนหน้านี้ จึงไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

มีเพียงคำยืนยันปากเปล่าจากกรมชลประทานว่า จะให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากกว่าอุตสาหกรรมและมากเป็นอันดับหนึ่ง…เท่านั้นเอง

จีดีพีโต พร้อมกับสำลักมลพิษ

อีกประเด็นน่ากังวลแต่รัฐบาลมิได้นำพา ก็คือ การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์แล้วว่า ทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเพิ่มขึ้นจริง กระทั่งประชากร จ.ระยองมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศไทย

แต่ในขณะเดียวกัน การทุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมหนักโดยไม่สนใจต้นทุนเดิมในพื้นที่ เช่น ท่องเที่ยว ประมง เกษตร และสิ่งแวดล้อม ก็ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศทั้งหนักหน่วงเข้าขั้น ‘สำลักมลพิษ’ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และขาดความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ

หากอีอีซียังดำเนินการตามกรอบคิดเดิมๆ ที่ใช้กับอีสเทิร์น ซีบอร์ด โดยไม่สนใจขีดจำกัดการรองรับมลพิษของพื้นที่ แปลว่าเราไม่เรียนรู้บทเรียนความผิดพลาดและน่าจะไปไม่ถึงการขับเคลื่อนประเทศอย่าง ‘ยั่งยืน’ ตามที่ได้กล่าวอ้างไว้

ปลดล็อคกฎหมายผังเมือง เปิดทางให้การ ‘พัฒนา’

ประเด็นสุดท้ายคือ การปลดล็อคกฎหมายผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาล คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

แต่กฎหมายผังเมืองนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้พื้นที่ โดยคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ ลดพื้นที่อุตสาหกรรม และจัดสรรพื้นที่กันชน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่ต่อสู้เรียกร้องกันมานานกว่า 20 ปี กว่าจะได้กฎหมายผังเมืองฉบับที่ประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2560

แม้การปลดล็อคผังเมืองจะช่วยอำนวยความสะดวกให้อีอีซีเดินหน้าได้รวดเร็วฉับไว พร้อมกับสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน แต่ก็สะท้อนว่า รัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชนด้วยเช่นกัน

…น่าเศร้าใจกับความสั่นสะเทือนระลอกใหญ่ที่ซ่อนอยู่ใต้หน้ากากอีอีซีจริงๆ

Tags: , , ,