ใกล้จะเป็นจริงทุกทีกับการที่อาลีบาบาจะเปิดศูนย์กระจายสินค้าในไทยอย่างเต็มตัว หลังจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU กับอาลีบาบากรุ๊ป เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาใน 4 ด้านคือ การใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและโอทอป การพัฒนาเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง และการลงทุนในศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub)

ภาพการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับอาลีบาบากรุ๊ป ภาพจาก EEC

ศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะที่ว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยเป็นการจับมือระหว่าง สกรศ. กรมศุลกากร และอาลีบาบากรุ๊ป เพื่อพัฒนาระบบบพิธีการทางศุลกากร และกรอบด้านกฎระเบียบศุลกากรให้ทันกับยุคดิจิทัล เตรียมพร้อมรับเม็ดเงินลงทุน 11,000 ล้านบาทที่จะไหลเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าในอีอีซีขนาดร่วม 200,000 ตารางเมตร ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเตรียมส่งมอบให้อาลีบาบากรุ๊ปราวกันยายนปีนี้

ความสำเร็จดังกล่าวเป็นไปตามกลยุทธ์ ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลจีนและเผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เชื่อมสายสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศที่จับมือกับจีนในโลกออฟไลน์ตามโครงการแถบและทาง (Belt and Road Initiative) ให้แน่นแฟ้นขึ้นในฝั่งโลกออนไลน์ โดยมีเหล่านักธุรกิจดิจิทัลยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเป็นหัวเรือหลัก แต่ผู้ที่มีบทบาทที่สุดดูจะเป็นอาลีบาบา ซึ่งประสบความสำเร็จในการจับมือกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อจัดตั้งแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการค้าโลก (Electronic World Trade Platform: eWTP) ดำเนินการโดยสำนักงานแห่งแรกของอาลีบาบานอกประเทศจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก้าวแรกที่เป็นรูปธรรมของเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital free-trade zones)

แต่อาลีบาบารวมถึงเหล่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งหน้ามาเพื่อมอบ ‘โครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซ’ เป็นของขวัญจากมหามิตร หรือเป็นกลยุทธ์กีดกันทุนใหญ่คู่แข่งจากโลกตะวันตกอย่างแอมะซอนของสหรัฐอเมริกา พร้อมกับแผ่อำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเฉกเช่นโครงการแถบและทาง หรือของขวัญชิ้นนี้จะไม่ต่างจากกับดักม้าเมืองทรอย ที่ทุนจีนตั้งใจจะช่วงชิงอำนาจทางเศรษฐกิจแบบ ‘เนียนๆ’

ผู้เขียนขอสปอยล์ก่อนว่า เรื่องนี้มีเบื้องลึกที่มากกว่าความเอื้ออาทรจากมหามิตรแน่ๆ

อาลีบาบากับเขตการค้าเสรีดิจิทัล

ผู้เขียนยังไม่เห็นรายละเอียดข้อตกลงระหว่างอาลีบาบากรุ๊ปกับรัฐบาลไทย แต่เท่าที่อ่านคร่าวๆ ก็พอเดาได้ว่ามีรายละเอียดไม่ต่างจากการจับมือก่อตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัลกับรัฐบาลมาเลเซียมากนัก คือการสร้างศูนย์กลางการกระจายสินค้าอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค และที่สำคัญคือผลักดันการส่งออกสินค้าจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี โดยอาลีบาบาจะสวมหมวกผู้เชี่ยวชาญตลาดที่จะพาธุรกิจเดินไปบนเส้นทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงอำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นจบจบกระบวนการ

จุดที่อาจจะแตกต่างจากการจับมือระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ คืออาลีบาบาขันอาสามาเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการศุลกากรให้เป็นดิจิทัล โดยอาจมองว่าจุดนี้คือ Pain Point ของการค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน และการที่อาลีบาบาเข้ามาจับเรื่องนี้เป็นการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยิ่ง หากเทียบกับคู่แข่งอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ JD.com เพราะการร่วมมือกับรัฐบาลนอกจากจะได้ล้วงลูกข้อมูลเชิงลึก ยังเป็นการผสานเครือข่ายในภาครัฐให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

แนวคิดการพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital free-trade zones) ของประเทศมาเลเซีย ภาพจาก mydftz.com

ความสัมพันธ์ของอาลีบาบากับรัฐบาลมาเลเซียในแง่การส่งเสริมเอสเอ็มอี ก็นับว่าอาลีบาบาเป็นผู้ให้มากกว่ารับ เพราะนับว่าอาลีบาบานำองค์ความรู้มาให้แบบครบวงจร และเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี ที่เดิมมีแต่โอกาสขายเพียงตลาดภายในประเทศ สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้โดยมีอาลีบาบาคอยสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ซึ่งนับเป็นผลงานที่เชิดหน้าชูตารัฐบาลได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยนำเสนอภาพสินค้าท้องถิ่นที่สามารถส่งไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อย่างไรก็ดี การขยายอิทธิพลทางดิจิทัลในลักษณะนี้ก็ถูกมองไม่ต่างจากโครงการแถบและทางของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งอาจทำให้จีนมี ‘อำนาจ’ มากเกินไปในบางพื้นที่ การเปิดเขตการค้าเสรีดิจิทัลเองก็เป็นเหรียญสองด้าน เพราะคำว่า ‘เสรี’ นั้นรวมถึงการนำเข้าและส่งออก นั้นหมายความว่าเอสเอ็มอีของจีนก็มีโอกาสจะเจาะตลาดที่ประเทศปลายทางเช่นเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวน่ากังวลไม่น้อย เนื่องจากเอสเอ็มอีในจีนนั้นคุ้นชินกับการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ความแตกต่างทางความเชี่ยวชาญนี้เองที่เอสเอ็มอีในประเทศปลายทางต้องไล่ให้ทัน แม้ว่าจะมีความได้เปรียบอยู่บ้างในแง่ภาษาหรือวัฒนธรรม

การจับมือของอาลีบาบากับรัฐบาลไทยก็มีรูปแบบคล้ายคลึงกับรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนศูนย์กระจายสินค้าขนาดยักษ์ การหนุนเสริมเอสเอ็มอีและเสริมทักษะโดยโรงเรียนธุรกิจอาลีบาบา (Alibaba Business School) การเพิ่มประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร แต่อาจจะมีส่วนเพิ่มเติมนิดหน่อยคือการจับมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กับ Zhejiang Fliggy Network Technology Company Limited บริษัทจองทัวร์ในเครือของอาลีบาบาซึ่งมีชื่อเดิมคือ Alitrip

ว่าแต่ การเข้ามาอย่างยิ่งใหญ่ไฟกระพริบของเครืออาลีบาบาครั้งนี้ต่างจากตอนที่ซื้อกิจการของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Lazada อย่างไร? เพราะหลายท่าน (รวมถึงผมเอง) ก็ย่อมมีประสบการณ์สั่งของใน Lazada ซึ่งจะส่งตรงมาจากประเทศจีนเนื่องจากมีการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มกับ Aliexpress แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศของอาลีบาบา

ต่างสิครับ ต่างมากทีเดียว เพราะการมาครั้งนี้ของอาลีบาบา ไม่ใช่มาแค่แพลตฟอร์ม แต่คืออีกก้าวของการส่งออก ‘ระบบนิเวศ’ ของอาลีบาบา

ไช่เหนียวหว่างลั่ว หนึ่งในระบบนิเวศของอาลีบาบา

จดหมายถึงผู้ถือหุ้นของแจ๊คหม่าเมื่อ พ.ศ. 2558 ระบุค่อนข้างชัดว่าแพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ของอาลีบาบานั้นเป็นแค่เปลือกที่หุ้มห่อระบบนิเวศของอาลีบาบากรุ๊ป

“กลยุทธ์ของอาลีบาบากรุ๊ปคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการพาณิชย์สำหรับอนาคต อีคอมเมิร์ซคือก้าวแรกของเรา … พนักงานเกินกว่าครึ่งของอาลีบาบากรุ๊ปและบริษัทในเครือ ทั้งแอนท์ ไฟแนนเชียล และไช่เหนียว (Cainiao) กำลังเดินหน้าพื้นที่สำคัญของระบบนิเวศของเราคือ โลจิสติกส์ อินเทอร์เน็ตไฟแนนซ์ บิ๊กดาต้า คลาวด์ อินเทอร์เน็ตมือถือ การโฆษณา หรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมสอง H คือสุขภาพ (Health) และความสุข (Happiness)”

เราอาจคุ้นเคยบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล ของอาลีบาบาในแง่บริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ ผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อออนไลน์รวมทั้งระบบจ่ายเงินออนไลน์อย่าง Alipay แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เราส่วนใหญ่ไม่รู้จักบริษัทไช่เหนียวเน็ตเวิร์ก (Cainiao Network) บริษัทน้องใหม่ของอาลีบาบากรุ๊ปที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2556 แต่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของประเทศจีน

ในประเทศจีนนั้น อีคอมเมิร์ซคือการขับเคี่ยวกันระหว่างอาลีบาบาและ JD.com ความแตกต่างของทั้งสองแพลตฟอร์มคือ JD.com ลงทุนมหาศาลในด้านโลจิสติกส์ ในขณะที่อาลีบาบาไม่เคยเข้าไปแตะในส่วนนี้เท่าไรนัก ก่อนที่จะลงทุนมูลค่ามหาศาลพร้อมจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ในประเทศจีนเพื่อก่อตั้งไช่เหนียวเน็ตเวิร์ก โดยมีรูปแบบธุรกิจคล้ายแพลตฟอร์มอื่นๆ ของอาลีบาบา คือมีสินทรัพย์น้อย คล่องตัว และเป็นตัวกลางเชื่อมประสานประโยชน์คู่ค้าหลายฝ่ายทั้งคลังสินค้า บริษัทขนส่งขนาดใหญ่ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และบริษัทขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้าสู่หน้าประตูบ้าน (Last Mile Handling) โดยใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ประเทศจีนก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องทนกับความห่วยแตกของไปรษณีย์ จึงไม่น่าแปลกที่จะมีสตาร์ตอัปในอุตสาหกรรมดังกล่าวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไช่เหนียวเองก็คือหนึ่งในนั้น แต่วางตัวเป็นแพลตฟอร์มแทนที่จะสร้างคลังสินค้าหรือว่าจ้างพนักงานขับรถ โดยใช้อำนาจต่อรองคือปริมาณพัสดุที่รอการจัดส่งจำนวนมหาศาลจากแพลตฟอร์มฮอตฮิตของอาลีบาบา ทำให้บริษัทขนส่งทั้งหลายต้องแก่งแย่งแข่งขัน เสนอราคาที่ต่ำและบริการคุณภาพสูงเพื่อเข้าถึงขุมทรัพย์ดังกล่าว

ระบบนิเวศของอาลีบาบา ที่มีไช่เหนียวเป็นตัวต่อสุดท้ายซึ่งจะทำให้อาลีบาบามีอำนาจเบ็ดเสร็จในการต่อรองกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภาพจาก ecommerceIQ

ไช่เหนียวกลายเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เป็นผู้ตั้งมาตรฐานในอุตสาหกรรมการขนส่งเพื่อความพึงพอใจของผู้บริโภคสูงสุด ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้ปริมาณการซื้อขายในอาลีบาบาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่ไช่เหนียวเน็ตเวิร์กไม่ได้หยุดอยู่แค่ในประเทศจีน เพราะหนึ่งในเสาหลักของบริษัทคือกลยุทธ์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยต้องการสร้างเครือข่ายคลังสินค้า และรวบรวมข้อมูลที่อยู่ตามไปรษณีย์เพื่อนำไปสู่ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องส่งสินค้าทั่วโลกจากต้นทางสู่มือผู้รับได้ภายใน 72 ชั่วโมง

จากวิสัยทัศน์ข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่อาลีบาบาจะมาตั้งศูนย์กระจายสินค้าตามหัวเมืองต่างๆ และพยายามเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการที่ยุ่งยากและเสียเวลาที่สุดของการค้าระหว่างประเทศนั่นคือพิธีการทางศุลกากร ทั้งหมดก็เพื่อส่งออกระบบนิเวศอาลีบาบาในแง่โลจิสติกส์ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ความน่ากลัวของอาลีบาบาในการรุกเข้าสู่ประเทศไทย ไม่ใช่การที่สินค้าจากจีนจะมาตีตลาดไทยอีกต่อไป แต่คือการผนวกรวมภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซไทยให้เข้าไปในระบบนิเวศของอาลีบาบา ที่นับวันจะเข้มแข็งและทวีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะการผูกขาดทางแพลตฟอร์ม ที่หากคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค แม้แต่สถาบันการเงิน หรือกระทั่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือเสนอในราคาที่ต่ำจนน่าพอใจ อาลีบาบาก็มีอำนาจตัดเส้นทางที่จะเข้าถึงขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มนั่นเอง

 

เอกสารประกอบการเขียน

One Platform to Rule Them All: The Brains Behind Cainiao Network (PI)

Alibaba to invest $320 million in Thailand, as rivals boost presence

Alibaba and Malaysia: A win-win relationship

Alibaba’s ‘Digital Free Trade Zone’ has some worried about China links to Malaysia

China’s Digital Silk Road Could Decide the US-China Competition

Jack Ma’s ‘Dream Project’ in Malaysia and Its Impact On The Local Internet Economy

Alibaba’s Trojan Horse for Southeast Asia

 

 

Tags: , , , , , ,