การจำกัดอิสรภาพเป็นบทลงโทษอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคม ปล้นทรัพย์ ฉกฉวย วิ่งราว หรือยาเสพติด บทลงโทษล้วนไม่พ้นถูกลิดรอนความเสรี ควบคุมพฤติกรรมให้อยู่ใน ‘คุก’ หรือ ‘เรือนจำ’

ในแง่หนึ่ง การควบคุมผู้กระทำผิดไว้ในเรือนจำเป็นความห่วงใยของรัฐ ที่ต้องการควบคุมผู้ฝืนกฎของสังคมไว้ในพื้นที่จำกัด เพื่อคุ้มครองผู้คนในสังคมจากคนผู้นั้น และในอีกแง่หนึ่ง เป็นการให้บทเรียนว่าเมื่อใดที่ฝ่าฝืนขื่อแปรของสังคม บทลงโทษย่อมมีตามมา

 แต่ใครล่ะจะหลีกหนีความผิดพลาดได้พ้น ไม่ว่าเรื่องใดก็เรื่องหนึ่งในชีวิต เพราะเคยผิดพลาดจึงได้รับบทเรียน มันเป็นความจริงของกันและกัน แต่บ่อยครั้ง ที่ความผิดพลาดแนบมาด้วยการตีตราจากสังคม ขี้คุก ไอ้เลว เดนสังคม แปะติดตัวจนวันตาย กีดกัน ผลักไส ลิดรอนโอกาสหวนคืนสู่สังคม กระทั่งกดดันให้คนเหล่านั้นหวนกลับมาสู่หนทางเดิมๆ เป็นวงจรที่ยากเกินลำพังแรงตนจะก้าวออกมาได้

เราได้มีโอกาสเดินทางไปกับ กรุงศรี ออโต้ ที่จังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการ ‘จันท์ช่วยจันท์’ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสานความร่วมมือกับทางเรือนจำจังหวัดจันทบุรี และโครงการในพระราชดำริ ‘กำลังใจ’ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา พยายามให้ความช่วยเหลือผู้ก้าวพลาดให้สามารถยืดอก ทิ้งอดีตหวนคืนสู่สังคม

เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งเลิกอ่าน ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่งานพีอาร์ และต้องการเพียงถ่ายทอดเรื่องจริง จากปากคนข้างใน สู่ใจคนข้างนอก

พี่เปิ้ล – อิสรภาพและอ้อมกอดที่รอคอย

‘พี่เปิ้ล’ เป็นนักโทษหญิงคดียาเสพติดที่ได้รับการพักโทษ และได้ออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา เธอเริ่มเสพยาครั้งแรกจากแรงชักชวนของเพื่อนๆ ตอนอายุ 21 ปี ก่อนเริ่มหันมาขาย และถูกจับในที่สุด

วันนั้น เธอโดนข้อหาครอบครองยาเสพติดกว่าสามพันเม็ด ซึ่งเธอตัดสินใจสู้คดี แต่ในที่สุดก็ต้องยอมจำนนต่อหลักฐาน และถูกตัดสินโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน ซึ่งเธอได้แต่ถอนหายใจว่า เงินที่หามาได้จากการขายยาเสพติดเป็นจำนวนมากก็จริง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี

ระหว่างนั้น เธอผ่านวันเวลาในเรือนจำมาได้ด้วยความคิดถึงและห่วงใยจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่ ซึ่งประกอบอาชีพประมง และมักจะแวะเวียนมาเยี่ยมทุกครั้งที่มีโอกาส

วันนี้ พี่เปิ้ลได้โอกาสกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัว และได้นำวิชาชีพเย็บปักถักร้อยที่ได้รับการฝึกฝนจากภายในเรือนจำออกมาหาเลี้ยงชีพ เธอกำลังเรียนรู้ที่จะใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสารและพรีเซนต์ผลงานของตัวเองออกสู่โลกภายนอก และถ้าเป็นไปได้ เธอยังมีความฝันที่จะเข้ารับราชการเพื่อความมั่นคงของตัวเองและครอบครัว

เธอพูดถึงความสุขและความหวังในวัย 41 ปี ให้เราฟังว่า “ความสุขตอนนี้ คือการได้กลับมาอยู่กับครอบครัวค่ะ ต่อให้เราไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ขอให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าตาก็พอ” เธอทิ้งท้ายถึงสังคมว่า “อยากจะบอกกับสังคมว่าสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ตั้งใจ เราก้าวพลาดไป อยากให้เขายอมรับเราในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคมรอบข้าง การดูแล ไม่อยากให้ติดภาพว่าเราเป็นคนทำผิด”

เมื่อบทสนทนาสิ้นสุด พี่เปิ้ลและแม่ขอตัวกลับไปดูสินค้าที่นำมาโชว์ที่บู๊ทขายของ เรามองตามแผ่นหลังบอบบางของคนทั้งคู่ที่อิงแอบแนบชิด และสองมือที่กุมแน่น ราวกับกลัวว่าจะมีใครแยกทั้งคู่ให้ห่างไกลกันอีกรอบ

อุ๋ย – บาริสต้าอนาคตไกล

    “อเมริกาโนร้อนหนึ่งแก้วครับ” เราสั่งเมนูโปรดกับบาริสต้าในเสื้อยูนิฟอร์มสีส้มของร้าน Inspired Cafe “ค่ะ” เธอตอบรับกลับพร้อมโปรยยิ้มคืนแก่เรา

‘อุ๋ย’ คือชื่อของเธอ

กาแฟแก้วแรกของวันของเราอาจจะเป็นแก้วสุดท้ายที่เธอชง ที่เรือนจำแห่งนี้ เพราะเธอกำลังจะพ้นโทษ

อุ๋ยเป็นผู้หญิงรูปร่างท้วม ที่ดูสดใสและเปิดเผยด้วยใบหน้าที่แต่งแต้มด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา แรกเริ่มเธอเล่าให้เราฟังว่า เธอโดนจับในข้อหาครอบครองยาเสพติด และต้องโทษทั้งหมด 2 ปี 9 เดือน

“บทเรียนที่ได้รับ ที่สำคัญที่สุดที่ผ่านมาก็คือ มันขาดอิสรภาพ ขาดการที่เราได้อยู่กับครอบครัว ขาดโอกาสหลายๆ อย่างที่เราควรจะได้รับจากข้างนอก มันหมดไปทุกสิ่งทุกอย่าง”

“แต่ในความโชคร้าย มันก็ยังมีความโชคดีอยู่ คือทางเรือนจำจังหวัดจันทบุรีมีการฝึกอบรม ฝึกวิชาชีพหลักสูตรต่างๆ ให้กับผู้พลั้งพลาด ให้กับนักโทษ ให้คิดใหม่ ทำใหม่ ให้กลับตัวเป็นคนดี คืนสู่สังคม ให้โอกาสหลายๆ อย่าง” จากฝีมือชงกาแฟของเธอ และรอยยิ้มที่ปริ่มใบหน้าก็พอรู้ว่าเธอคิดอย่างนั้นจริงๆ

เราถามเธอว่ามีความกังวลอะไรไหมในวันพรุ่งนี้ เธอส่ายหน้าและบอกว่า เธอไม่กลัวอะไรทั้งนั้น เธอพร้อมยืดอกรับผิดในสิ่งที่เคยกระทำ และพร้อมนำบทเรียนและวิชาที่ได้รับ ออกไปประกอบอาชีพสุจริต เริ่มนับจากหนึ่งใหม่อีกครั้ง

อุ๋ยมีลูกสาวและพ่อแม่ที่กำลังรอคอยอิสรภาพของเธออยู่ และเธอแทบจะอดทนให้ถึงวันพรุ่งนี้ไม่ไหว เพื่อที่จะกลับบ้านกราบเท้าขอขมาพ่อ-แม่ และกอดลูกสาวสุดที่รักเพียงคนเดียวของเธอ

เมย์ – นักร้องเสียงหวานวง CTS

 “ชอบร้องเพลงค่ะ พอเราพลั้งพลาดเข้ามาในนี้ อยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมแบบนี้ สอนอะไรเรามากมาย แล้วหนูก็เป็นคนโทษสูงค่ะ” ผู้หญิงใบหน้าสละสลวย ในเสื้อยืดสีดำครึ่งตัวบอกกับเราด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

เราเห็น ‘เมย์’ บนเวทีคอนเสิร์ตขนาดย่อมที่จัดขึ้นต้อนรับแขกที่มาเยือนภายในเรือนจำ เธอกำลังร้องเพลงลูกทุ่งที่ฮิตอยู่ในขณะนั้น พร้อมขยับโยกส่ายคล้อยไปตามจังหวะโจ๊ะของกลองและเบส เมย์เป็นหนึ่งในนักร้องประจำของวง CTS ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพของเรือนจำจันทบุรี

เธอได้รับบทลงโทษกว่าสิบปีจากข้อหาค้ายาเสพติด เธอเล่าให้เราฟังว่า เธอก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่สนุกสนานไปกับแสงสีของยามวิกาล ก่อนจะพลาดพลัั้งเข้าไปพัวพันในวังวนของยาเสพติด เริ่มจากการเสพก่อน หนักเข้าเริ่มหันมาขาย และไม่พ้นโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อและศาลตัดสินจำคุกเธอในที่สุด

เธอบอกว่า เธอพร้อมยอมรับผลการกระทำของเธอทุกอย่างและจะอดทนอย่างมั่นคงจนกว่าจะถึงวันที่พ้นโทษ เพราะโลกภายนอกยังมีพ่อแม่และลูกสาวที่รอคอยเธออยู่

กลัวบ้างไหม หากวันหนึ่งเราได้ออกไปข้างนอก เราถาม “ไม่กลัวค่ะ ถ้าคนเราก้าวแรกที่จะเริ่มต้นใหม่ ต้องอย่ากลัว ถ้ากลัวเราก็จะไม่มีความสำเร็จอะไรในชีวิตค่ะ” แววตาของเธอบอกเล่าและยืนยันว่าพร้อมและไม่กลัว ต่อปัญหาใดๆ ที่รอคอยอยู่

“พื้นที่ข้างใน คนข้างนอกอาจจะไม่ทราบก็ได้นะคะ ว่ามันเป็นเหมือนพื้นที่ฝึก ไม่ใช่พื้นที่กักกันแบบที่คิด มันเป็นพื้นที่ที่ฝึกระเบียบให้รู้ตัวเองว่า เราสมควรทำอะไร ชีวิตข้างนอกมันผ่านไปไวกว่าคนข้างใน คนข้างในกว่าจะหมด 24 ชั่วโมงมันนานมาก ไม่อยากให้คนข้างนอกกระทำความผิด หรือหลงผิดค่ะ” เธอขอฝากเสียงนี้ไปแก่โลกภายนอก เพื่อตักเตือน ไม่ใช่เพื่อความเห็นใจ

บอย – นักเตะแข้งทองดีกรีแชมป์เรือนจำ

แวบแรกที่เราปรายตามองเขา เขากำลังพูดคุยและต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากโลกภายนอกอย่างสุภาพ คอยแนะนำสินค้าและหว่านล้อมผู้สนใจอย่างคล่องแคล่ว เขาดูกระฉับกระเฉง เต็มไปด้วยเรี่ยวแรง เหนืออื่นใด เขาสวมเสื้อยืดคอกลมขาวแตกต่างจากคนอื่น เป็นนักโทษชั้นดี มีหน้าที่คอยเป็นไม้เป็นมือช่วยเหลือเหล่าพัศดีอีกแรง

‘บอย’ เล่าให้เราฟังว่า เขาต้องโทษคดียาเสพติดเป็นรอบที่สามแล้ว ซึ่งเขายอมรับว่าแรกเริ่มเขามีอาชีพค้าขาย ก่อนที่พิษเศรษฐกิจหรือความโลภอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าครอบงำให้เขาหันมาค้ายาเสพติด และโดนจับในที่สุด

ชีวิตในเรือนจำของบอยวนเป็นรูทีนทุกวัน โดยเริ่มตั้งแต่ ตื่นในเวลาประมาณตี 5 เพื่อสวดมนต์และทำกิจวัตรส่วนตัว ก่อนลงมาตั้งแถวเคารพธงชาติและรับประทานอาหาร รอคอยการฝึกวิชาชีพซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 8.30 น. จนพักรับประทานอาหารกลางวันอีกรอบในเวลาเที่ยงวัน ก่อนเริ่มฝึกวิชาชีพอีกครั้งในเวลาบ่ายโมงจนกระทั่งบ่ายคล้อย ซึ่งทุกคนจะมีเวลาว่างประมาณหนึ่งชั่วโมงเพื่อพูดคุยสัพเพเหระ หรือออกกำลังกาย ก่อนขึ้นเรือนนอนในเวลาสี่โมงเย็น เพื่อพักผ่อน และเริ่มต้นทุกอย่างอีกครั้งในเวลาตี 5 ของวันต่อมา

ระยะเวลากว่า 6 ปีที่เขาอยู่ในเรือนจำ เขาได้เรียนรู้หลายสิ่งอย่างและพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น สองสิ่งที่คงเหนี่ยวรั้งตัวตนของบอยไว้ คือความโหยหาหาครอบครัว โดยเฉพาะลูกชาย ซึ่งกำลังขึ้น ป.2 และฟุตบอลที่เขาเล่นอยู่เป็นประจำร่วมกับเพื่อนๆ ในผืนหญ้าสีเขียวเยื้องๆ กับที่เรายืนอยู่

เขาแอบเล่าให้เราฟังว่า เขาสามารถเล่นได้ทุกตำแหน่งบนผืนหญ้าสีเขียว ไม่ว่า ปีกซ้าย กองหลัง หรืองกองกลาง และเขาเป็นแข้งคนสำคัญของทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์ในการแข่งขันภายในเรือนจำ เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

อีกเพียง 5 เดือนเขาจะพ้นโทษและได้ออกไปสู่โลกภายนอก กลับไปสู่ ‘บ้าน’ ของเขา เขามีความกังวลอะไรอยู่ไหม เราสงสัย “ก็นิดๆ นะครับ ในใจผมกลัวสังคมไม่ยอมรับ สมมติว่าผมไปสมัครงาน เขาอาจจะไม่อยากรับ เพราะมองว่าเพิ่งออกจากคุก กลัวจะไปทำสินค้าเขาเสียหาย”

เขาเว้นวรรคหายใจครู่หนึ่ง ก่อนพูดต่อว่า “สิ่งแรกที่ผมอยากจะให้คนข้างนอกเขาเข้าใจ คือให้โอกาสคนข้างในบ้าง คนข้างในเขาไม่เลวทุกคนนะครับ ไม่เลวทุกคนหรอก บางคนเขาก็เป็นคนดีแค่เดินทางผิดแค่นั้นเองครับ”

นัยน์ตาที่แปลกแยก

เมื่อเดินต่อเข้าไปในเรือนจำจันทบุรีแผนกนักโทษหญิง สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้คือ กว่าครึ่งของพวกเธอทำสีผม นี่คงเป็นหนึ่งในความสุขและวิธีการรักษาตัวตนของพวกเธอ

เราเดินตัดผ่านโรงอาหารที่พวกเธอบางกลุ่มกำลังจับกลุ่มนั่งเม้าท์กัน เสียงหัวเราะและรอยยิ้มผุดขึ้นทั่วทุกระแหงราวกับเป็นงานจิบน้ำชายามบ่ายในสวนหลังบ้าน ถัดจากโรงอาหารเป็นโรงครัวซึ่งข้างหลังเป็นสถานที่สำหรับทำเบเกอรี่ชนิดต่างๆ ที่จะส่งออกไปขายในโลกภายนอก และนำกำไรที่ได้รับกลับมาแบ่งอย่างเท่าเทียมให้กับเรือนจำและเบเกอรี่เกิร์ลที่อบขนมอยู่ข้างใน

ระหว่างที่กลิ่นหอมของขนมปังกำลังเย้ายวนเรานั้น เราสะดุดกับสายตาคู่หนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับสายตาคู่อื่น มันมีสีน้ำตาลใส สะท้อนความซื่อบริสุทธิ์ และยังขุ่นมัวน้อยกว่าของเราเสียด้วยซ้ำ

เราพูดคุยกับเธอ ก่อนที่จะทราบว่าเธอมีอายุเพียง 23 ปี เดิมอาศัยอยู่กับย่าและพี่สาวในจังหวัดชลบุรี เมื่อถึงวัย 13 ปี โชคชะตาเล่นตลกร้าย พลัดพรากย่าไปจากเธอตลอดกาล เธอจึงตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเดินทางมาจังหวัดจันทบุรีตามคำบอกกล่าวของผู้หญิงสูงวัยนางหนึ่ง เพื่อทำงานร้านเสริมสวยและส่งตัวเองเรียนระดับมัธยมต้น

เจ้าของนัยน์ตาสีน้ำตาลใสคู่นั้น พบรักกับชายหนุ่มสวนยางคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยคดียาเสพติด ทั้งที่เธอไม่เคยเสพ ไม่เคยคิดยุ่งเกี่ยว และนอกจากความรักจากชายหนุ่ม เธอไม่เคยเรียกร้องหรือห้ามปรามอะไรเกินกว่านั้น

เธอตัดสินใจไม่สู้คดี ไม่สิ… เธอไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเธอสามารถจ้างทนายและสู้คดีของตัวเองได้ เมื่อถามเธอต่อถึงโลกภายนอกที่รอคอยเธออยู่ ริมฝีปากของเธอพับปิดสนิท ไม่มีเสียงรอดออกมาจากริมฝีปากสีชมพูคู่นั้น

เธอไม่รู้ และอาจแยกไม่ออกเสียด้วยซ้ำในความแตกต่างระหว่าง โลกข้างในและโลกภายนอก

จันท์ช่วยจันท์ – คนช่วยกัน

โครงการจันท์ช่วยจันท์เกิดจากความร่วมมือหลายภาคส่วนทั้ง เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ที่มีความพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และบรรยากาศภายในเรือนจำอันหดหู่ ให้มีความสดใส มอบชีวิตชีวาให้ผู้อยู่ภายในด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่มีขึ้นทุกเดือน โครงการในพระราชดำริกำลังใจของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นตัวกลางในการส่งมอบและบ่มเพาะความรู้ในวิชาชีพเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ ภาคเอกชน นำโดย กรุงศรี ออโต้ ที่ได้เป็นตัวแทนเจรจาสร้างพันธมิตรระหว่างภาคเอกชน เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ก้าวพลาดหลังจากที่พ้นโทษ และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการทำความเข้าใจและความร่วมมือจากชาวจังหวัดจันทบุรีเอง ที่พร้อมปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ก้าวพลาดและอ้าแขนกว้างต้อนรับผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม

“เราแลกใจด้วยใจ เราให้เขา เขาให้เรา ก็เลยทำให้เราอยู่กันง่ายขึ้น” เป็นคติพจน์การทำงานสั้นๆ ของ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดจันทบุรี สมาน รุ่งจิรธนานนท์

เขาเล่าให้เราฟังถึงแนวทางการทำงานของเรือนจำจันทบุรีว่า เมื่อผู้ก้าวพลาดเข้ามาในเรือนจำวันแรกจะมีการสอบถามถึงความสนใจและทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งถ้าคนไหนมีความสนใจในด้านใดเป็นพิเศษ ทางเรือนจำก็จะทำการส่งเสริมต่อยอดเผื่อให้เป็นทางเลือกภายหลังพ้นกำหนดเวลาของบทลงโทษ หรือถ้าใครยังไม่แน่ใจก็อาจจะค้นพบพรสวรรค์ของตนเองได้จากการฝึกทักษะต่างๆ ที่เรือนจำมอบให้ ไม่ว่าจะเป็น เจียระไนพลอย แกะรองเท้า ทำเบเกอรี่ ไปจนถึงบาริสต้า

ทั้งนี้ วิทยากรที่มาให้ความรู้ผู้ต้องขังล้วนเป็นมือหนึ่งทั้งนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะความช่วยเหลือของโครงการกำลังใจ

ผู้ต้องขังไม่เพียงจะได้รับการฝึกอาชีพภายในเรือนจำเท่านั้น หากพันธมิตรภาคเอกชน ซึ่งนำโดย กรุงศรี ออโต้ ยังได้มีการฟอร์มทีมเข้ามาช่วยเหลือในด้านการตลาด อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และเป็นทั้งผู้ลงทุน คนกลาง ในการนำสินค้าที่ผลิตภายในเรือนจำออกไปจำหน่าย และนำรายได้ที่ได้รับมาหักต้นทุน ก่อนแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเรือนจำและรายได้ส่วนตัวของผู้ต้องขัง

ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเอกชนและเรือนจำจันทบุรียังมีพันธสัญญาใจต่อกันข้อหนึ่งว่า หากใครที่มีความสามารถและปฏิบัติตัวดี อาจจะมีแบบฟอร์มจ้างงานมาจ่อรอตั้งแต่ก่อนพ้นโทษเสียด้วยซ้ำ หนึ่งในผู้ที่ได้รับโอกาสนั้น คือนักร้องชายของวง CTS ซึ่งกำลังจะออกไปสู่โลกภายนอกในเร็ววัน พร้อมงานแรกในฐานะนักร้องประจำของบาร์แห่งหนึ่งในตัวเมืองจันทบุรี

นอกจากการจัดอบรมวิชาชีพต่างๆ แล้ว เรือนจำจังหวัดจันทบุรียังมักจะมีกิจกรรมสุดพิเศษล้อไปกับบรรยากาศของโลกภายนอก หนึ่งในนั้นคือ จันสตาร์ ค้นฟ้า คว้าดาว ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของวง CTS และจุดเริ่มต้นของโอกาสในอนาคตของพี่นักร้องคนข้างต้น รวมถึงกิจกรรมมิสคิวปิดในวันวาเลนไทน์ หรือเรือนจำเกม

“ที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีแห่งนี้ เราทำกิจกรรมต่างๆ กันเยอะมาก ผู้ต้องขังเนี่ย ผมบอกว่า สุขทุกวันที่จันแลนด์ เรามีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ ทุกเทศกาลเลย ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันวาเลนไทน์ ทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เจ้าหน้าที่เอาใจใส่เขา”

“เราใช้ใจแลกใจ คือให้เขามีความสุข เขาจะได้ไม่กระทำผิดในเรือนจำ แล้วเขาก็จะมีทัศนคติที่ดี พร้อมที่จะแก้ไข แต่ถ้าเกิดเราใช้ระบบบังคับโทษหนักไป หรือทารุณโหดร้าย เขาจะไม่มีใจในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฉะนั้นเรามองในจุดนี้ว่าเขามาเราต้องมีใจเมตตา มีมนุษยธรรม แล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับเขา”

เมื่อเราถาม ผอ.สมาน ถึงรอยรั่วที่นำไปสู่ปัญหาภายในเรือนจำปัจจุบัน เขาถอนหายใจเล็กน้อยก่อนจะกล่าวว่า “ประเทศไทยเราใช้ระบบการจำคุกมากเกินไป ใช้โทษการจำคุกเป็นยารักษาโรคที่เบ็ดเสร็จ ทำให้มีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จากแต่ก่อนมีแค่แสนกว่าคนเป็นสี่แสนกว่าคน เพราะเราไม่รู้จะใช้วิธีการใด เราก็จำกัดเขาออกจากสังคมให้มาอยู่ในเรือนจำ”

“และเรายังใช้ระบบการบังคับกฎหมายมากเกินไป บางคน เขาไม่ได้มีเจตนาตั้งใจที่จะทำความผิดเลย แต่เขาติดมากับรถ หรือมากับเพื่อนกับแฟน ก็โดนเข้ามาด้วย ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นธรรมกับเขาเลย ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของกฎหมายไทย ที่ทำให้บางคนไม่สมควรจะเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ก็เข้ามา” สีหน้าของเขาดูเหนื่อยหน่าย กับปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าตัวเขาจะปัดเป่าได้ด้วยตัวคนเดียว

เราทิ้งคำถามสุดท้ายถึง ผอ.สมาน ว่า กังวลบ้างไหมว่ารูปแบบของเรือนจำจันทบุรีจะทำให้คนเกรงกลัวการกระทำผิดน้อยลง เขาส่ายหน้าเล็กน้อย และยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า

“ทุกวันนี้เราไม่กลัวเรื่องที่ว่าจะทำเรือนจำให้มีความสุข กลัวแต่เพียงว่าเขาออกไปแล้วสังคมจะไม่ยอมรับ ไม่ให้โอกาสเขา ทำให้เขาต้องกลับมาทำความผิดซ้ำอีก หลายคนที่ออกไป บอกว่าเขาออกไปแล้ว คนมองเขาอย่างเหยียดหยามว่าเป็นคนขี้คุกบ้าง ไม่ให้โอกาส ไม่ให้ทำงาน ทำให้ไม่มีโอกาสทางสังคมที่จะเป็นคนดี เขาก็ไม่มีเงินที่จะใช้ชีวิตได้ สุดท้ายก็จำเป็นต้องกลับไปทำทางเดิม”

“เรือนจำจังหวัดจันทบุรีมีการกระทำความผิดซ้ำน้อยมาก แต่บางเรือนจำกลับมีบางคนที่เข้า-ออกมา 7 รอบแล้ว เขาบอกว่า เขาออกไปข้างนอกแล้วไม่รู้จะทำอะไร สังคมไม่ยอมรับ เขาก็เลยบอกว่าเขากลับเข้ามาในนี้ดีกว่า เพราะอยู่ในนี้เขามีเพื่อน ได้รับการยอมรับ เป็นดาวเด่น เป็นนักดนตรี นักร้อง อยู่ข้างนอกเขาเป็นเศษฝุ่น ไม่มีใครเห็นเขาเลย เขาเลยกลับมากระทำความผิดซ้ำ นี่ก็คือปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทย ที่ไม่ค่อยให้โอกาสผู้ก้าวพลาด”

ผอ.สมาน

Fact Box

  • บ่อยครั้งที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดของไทย ถูกนำมาตีความให้เจตนาของผู้กระทำผิดรุนแรงกว่าเดิม อย่างเช่น การมียาเสพติดในครอบครองระหว่างข้ามพรมแดน (เช่น ข้ามจากนครพนม-ลาว, ลาว-นครพนม) ถูกตีความให้กลายเป็นการนำเข้ายาเสพติดแทน ซึ่งบทลงโทษของการครอบครองยาเสพติด ประเภทหนึ่ง คือต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ถ้าหากนำเข้า หรือส่งออกยาเสพติด ประเภทหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สิบปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท
  • ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2561ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 3 แสนคน เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 2 แสนคน และจำนวนผู้กระทำผิดยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากเทียบกับสัดส่วนของประชากรในประเทศ ทั้งนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กรมราชทัณฑ์ตกประมาณปีละ 12,141 ล้านบาท
  • ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2561ระบุว่า ในปีหนึ่งจะมีผู้พ้นโทษประมาณ 140,000 คน และมีอัตราการกระทำผิดซ้ำ ภายใน 1, 2 และ 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 15, 25 และ 33 ตามลำดับ
  • ยังมีกฎหมายหลายฉบับในปัจจุบัน ที่ขัดขวางโอกาสในการกลับไปทำงานสุจริตของผู้ก้าวพลาด หนึ่งในนั้นรวมถึง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้การเคยถูกจำคุกเป็นคุณสมบัติข้อห้ามไม่ให้ทำงาน
  • เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีอัตราการกระทำผิดน้อยที่สุดในโลก จนภาครัฐตัดสินใจเปลี่ยนเรือนจำบางแห่งให้กลายเป็นโรงแรม และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับ เรือนจำที่เนเธอร์แลนด์ยังเปิดรับนักโทษจากประเทศอื่น อาทิ เบลเยียมและนอร์เวย์ อีกด้วย
  • สาเหตุหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์ลดจำนวนนักโทษได้เป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขามองว่าไม่จำเป็นต้องส่งทุกคนที่กระทำผิดเข้าสู่เรือนจำ พวกเขาเลือกใช้บทลงโทษ อาทิ ส่งเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ส่งเข้าอบรมหลักสูตรควบคุมความโกรธ หรือให้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ตลอดจนใช้วิธีการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้กับผู้ต้องหาเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาอาชญากรรมตั้งแต่ที่ต้นเหตุ มากกว่ารอคอยผลลัพธ์ที่ปลายเหตุ

 

Tags: , , , ,