ใกล้วันเลือกตั้งเข้าไปทุกที ประชาชนส่วนใหญ่อาจเริ่มหันไปหาคนรู้จัก ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิเคราะห์กันแล้วว่าวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้จะเข้าคูหาไปกาเบอร์อะไรกันดี แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจมองข้ามผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการเมืองและการเลือกตั้ง นั่นคือเหล่านักเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economist) ที่ดูไม่มีที่ทางในประเทศไทยมากนัก แต่นับเป็นสาขาที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมากในประเทศพัฒนาแล้ว

    มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ตั้งสมมติฐานว่ามนุษย์มีเหตุมีผลอาจขัดกับความเป็นจริงอยู่บ้าง จนบางช่วงตอนของเนื้อหาในบทความนี้อาจจะแปลกแปร่งไปสักหน่อย เช่น มนุษย์ที่มีเหตุมีผลไม่ควรไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือการใช้นโยบายลดแลกแจกแถมของรัฐบาลอาจทำให้โอกาสได้รับการเลือกตั้งลดลง ฯลฯ

ผู้เขียนขอพาทุกท่านเข้าไปแอบฟังว่าเหล่านักเศรษฐศาสตร์เขาคุยอะไรกัน ก่อนเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง และพวกเขามีวิธีอะไรในการทำนายว่าใครน่าจะชนะการเลือกตั้ง

ก่อนเลือกตั้ง –นโยบายผลาญงบประมาณเพื่อสร้างความนิยม?

    หัวข้อว่าด้วยวงจรงบประมาณการเมือง (Political Budget Cycle) เป็นหัวข้อต้นๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองให้ความสนใจ เพราะในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย การเลือกตั้งถือเป็นหัวใจสำคัญไม่ว่าจะเป็นการเมืองระบอบรัฐสภา หรือเลือกประธานาธิบดี การเมืองท้องถิ่น หรือการเมืองระดับชาติ โดยเครื่องมือที่อยู่ในมือผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันก็หนีไม่พ้นงบประมาณของรัฐบาลนั่นเอง

    คงไม่แปลกใจกันนะครับ เพราะผลการวิจัยพบ ‘วงจรงบประมาณ’ สอดคล้องกับจังหวะการเลือกตั้ง โดยในปีที่มีการเลือกตั้ง รัฐบาลได้ใช้เครื่องมือ ‘ลดแลกแจกแถม’ เงินในคลังออกไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี หรือสารพัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบส่งเงินให้ถึงมือ โดยคาดหวังว่าภาพของเศรษฐกิจดี๊ดี (ในระยะสั้น) ย่อมทำให้รัฐบาลมีโอกาสได้รับเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

   นอกจากในแง่นโยบายทางการคลัง นักรัฐศาสตร์ยังเสนอทฤษฎีว่าด้วยข้อได้เปรียบของผู้ดำรงตำแหน่ง (Incumbency Effect) โดยระบุว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันในช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง จะมีพื้นที่สื่อมากกว่าผู้สมัครเพื่อชิงตำแหน่ง

    แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับผิดคาด สำหรับประเทศพัฒนาแล้วและมีประชาธิปไตยเข้มแข็ง พบว่าการใช้จ่ายงบประมาณแบบลดแลกแจกแถมกลับทำให้โอกาสที่ผู้กุมอำนาจจะได้รับเลือกกลับเข้าสภาฯ ลดลง ในทางกลับกัน การใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะดังกล่าวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจมีประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งมากนัก และมีการจัดเลือกตั้งมาแล้วจำนวนหลักหน่วย ผู้กุมอำนาจกลับมีความน่าจะเป็นที่จะได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น

    ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? นักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าสาเหตุคือประสบการณ์ของเหล่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งอาจคุ้นชินกับ ‘ลูกไม้เก่าๆ’ ของรัฐบาลที่ทำการซื้อเสียงทางอ้อมแต่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่เหล่าประเทศประชาธิปไตยมือใหม่อาจต้องใช้เวลาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

วันเลือกตั้ง – เราไปเลือกตั้งกันทำไม?

    การที่คนส่วนใหญ่ไปเลือกตั้งขัดแย้งกับข้อสมมติฐานเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์ว่ามนุษย์มีเหตุมีผล ความงุนงงสงสัยของเหล่านักเศรษฐศาสตร์นำไปสู่การค้นคว้าวิจัยว่าด้วยความย้อนแย้งในการเลือกตั้ง (Voting Paradox) เพราะตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ไปใช้สิทธิใช้เสียง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีคนจำนวนมากไปเข้าคูหา

    ทำไมน่ะเหรอครับ? ก็การไปกากบาทเลือกคนที่ใช่หรือพรรคที่ชอบ ไม่ได้มีประโยชน์โภชน์ผลใดๆ ในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้ชนะ เพราะในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง น้อยแสนน้อยที่ผู้สมัครจะเฉือนกันด้วยคะแนนหลักหน่วย นั่นหมายความว่ากระดาษที่เราหยอดใส่กล่องไปแทบไม่มีความหมายในการตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง ในขณะที่เราๆ ท่านๆ ต้องเสียเวลา เสียค่ารถ เดินทางกันไปใช้สิทธิใช้เสียง

    แล้วเราจะไปเลือกตั้งกันทำไม?

    คำอธิบายหลักคือการไปเลือกตั้งถูกทำให้เป็นนิยามของ ‘หน้าที่พลเมือง’ หลังจากหย่อนบัตร เราทุกท่านจะรู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ อิ่มเอมใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย พูดได้อย่างเต็มภาคภูมิในวันจันทร์ว่าไปเลือกตั้งมาแล้วนะ ส่วนใครที่ไม่ไปใช้สิทธิก็อาจถูกตราหน้าว่าทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองได้ไม่ครบถ้วน เป็นแรงกดันทางสังคมที่ผลักให้เราไปเลือกตั้ง ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าคะแนนของเราไม่มีทางจะถูกใช้ในการชี้ขาดเสียงส่วนใหญ่

    การศึกษาของแพตทริเชีย ฟังก์ (Patricia Funk) แสดงหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีข้างต้น โดยศึกษาอัตราการออกเสียงของชาวสวิตเซอร์แลนด์หลังจากที่รัฐบาลอำนวยความสะดวกผ่านการลดต้นทุนการลงคะแนนเสียง โดยส่งจดหมายไปให้ใช้สิทธิกันถึงบ้าน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าประหลาดใจ เพราะผู้ใช้สิทธิไม่ได้กระเตื้องขึ้นเท่าไร แถมในบางพื้นที่ เช่น ชุมชนขนาดเล็กซึ่ง ‘หน้าตาทางสังคม’ มีความสำคัญกลับมีผู้ใช้สิทธิลดลง เพราะการลงคะแนนทางจดหมายทำให้แรงกดดันทางสังคมหายไป

    เจอเพื่อนที่จบคณะเศรษฐศาสตร์ครั้งหน้า ก็ลองถามๆ ดูหน่อยนะครับว่าจะไปเลือกตั้งหรือเปล่า เพราะถ้าขาดแรงกดดันทางสังคม เดี๋ยวเขาหรือเธอจะใช้เหตุผลจนไม่ยอมไปลงคะแนนนะครับ

ผลการเลือกตั้ง – เอาใจคนกลางๆ ยังไงก็ชนะ?

    ทฤษฎีสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองนำมาใช้อธิบายผลการเลือกตั้งคือ ทฤษฎีผู้ออกเสียงมัธยฐาน (Median Voter Theorem) นำเสนอในหนังสือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตย (An Economic Theory of Democracy) โดยแอนโธนี ดาวน์ส (Anthony Downs) นักเศรษฐศาสตร์การเมือง ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500 โดยยังคงมีอิทธิพลจวบจนปัจจุบัน

    ทฤษฎีดังกล่าวเสนอว่า ผู้ที่จะได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่คือกลุ่มที่เสนอนโยบายได้ถูกต้องโดนใจ ‘ผู้ออกเสียงมัธยฐาน (Median Voters)’ หรือคนกลางๆ ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ในขณะที่พรรคการเมืองที่มีนโยบายสุดขั้วมักจะไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก เพราะมักจะต้องใจแค่คนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม

    อย่างไรก็ดี ทฤษฎีข้างต้นมีสมมติฐานที่แทบไม่มีทางเป็นความจริงได้ ข้อแรกคือแนวคิดทางการเมืองจะแบ่งออกเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจน เช่น อนุรักษนิยม และสังคมนิยม โดยผู้ออกเสียงสามารถระบุได้ว่าผู้สมัครอยู่ที่ตำแหน่งไหนของทั้งสองขั้ว และข้อสอง การลงคะแนนจะมีผู้สมัครหลักเพียงสองคนเท่านั้น แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็สามารถนำไปใช้อธิบายแนวโน้มของหลายพรรคการเมืองที่แรกเริ่มเดิมทีซ้ายจัดหรือขวาจัดจึงจะค่อยๆ โน้มเข้ามาตรงกลางเพื่อเอาใจฐานเสียงส่วนใหญ่ในสังคม

กราฟประกอบการอธิบายทฤษฎีผู้ออกเสียงมัธยฐาน (Median Voter Theorem) โดยจะมีผู้สมัครจาก 2 พรรคคือพรรค A ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองเอียงซ้ายเล็กน้อย และพรรค B ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองเอียงขวาค่อนข้างมาก จะเห็นว่าพรรค A จะกวาดคะแนนเสียง (พื้นที่สีแดง) ได้มากกว่าพรรค B (พื้นที่สีฟ้า) เพราะอยู่ใกล้จุด M หรือจุดมัธยฐานมากกว่า ส่วนคะแนนเสียงในพื้นที่สีเทาจะถูกแบ่งให้ทั้งสองพรรคอย่างละครึ่ง ทำให้พรรค A ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ภาพจาก Median Voter Theorem

    ส่วนหน้าตาของผู้ลงคะแนนเสียงมัธยฐานของประเทศไทย ผู้เขียนหาข้อมูลได้ล่าสุดคือเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยพบว่าจะเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ราว 11,000 บาทต่อเดือน หัวหน้าครัวเรือนยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง และพบว่าระดับการศึกษาของบุตรคนโตที่อายุเกิน 25 ปีอยู่ที่ราวมัธยมศึกษาปีที่ 6 นี่คือหน้าตาคร่าวๆ ของประชาชนที่นักการเมืองต้องพยายามออกนโยบายให้ตรงใจเพื่อชิงเสียงส่วนใหญ่และที่นั่งในสภาฯ

    ทั้ง 3 ทฤษฎีคือแนวคิดบางส่วนของเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องเลือกตั้ง ที่อาจดูเป็นทฤษฎีวิชาการจ๋าและเต็มไปด้วยสมมติฐานแปลกแปร่ง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ช่วงหย่อนบัตรเลือกตั้งที่น่ารับฟังไม่น้อย

   ส่วนผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ทฤษฎีไหนจะทำนายได้ถูกต้องแม่นยำ คงต้องรอวัดกันสิ้นเดือนนี้ครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Political budget cycles, incumbency advantage, and propaganda

Political Budget Cycles

Democracy, Elections and Allocation of Public Expenditure in Developing Countries

Fiscal policy and reelection in Brazilian municipalities

Social Incentives and Voter Turnout: Evidence from the Swiss Mail Ballot System

Why Vote?

The Median Voter Theorem and its Applications

เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบสวัสดิการ

 

Tags: ,