ช่วงวันหยุดยาวแบบนี้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องยินดี เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ต่อให้นอนตีพุงสบายอยู่บ้านเพื่อป้องกันกลัวโควิด-19 หรือขับรถไปเยี่ยมเยือนญาติมิตรที่ต่างจังหวัดก็ยังได้รับเงินเดือนเข้าบัญชีเท่าเดิม ไม่โดนหักสักบาท ต่างจากเหล่าอาชีพอิสระที่เลือกเดินบนเส้นทาง ‘เจ้านายตัวเอง’ ที่หยุดทำงานเมื่อไหร่ เงินก็มีแต่จะหดหายไปจากกระเป๋าสตางค์

แต่ทราบไหมครับว่ามีกลุ่มอาชีพหนึ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองประเภท พวกเขาและเธอทำงานโดยมียูนิฟอร์มของบริษัท มีกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องทำตาม แถมได้เงินมายังโดนหักเปอร์เซ็นต์ไปต่อหน้าต่อตา แต่บริษัทที่มีสายสัมพันธ์ด้วยกลับปฏิเสธว่าพวกเขาและเธอไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็น ‘พาร์ตเนอร์’ เสมือนว่ารับจ้างอิสระและจะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ

อาชีพกลุ่มนี้คือเหล่าแรงงานบนแพลตฟอร์มซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตา หรือเคยเรียกใช้บริการทั้งส่งคน ส่งอาหาร ส่งของ แต่อาจไม่ทราบว่าเหล่าชายหญิงในชุดยูนิฟอร์มเหล่านี้ ไม่ใช่พนักงานของบริษัทแพลตฟอร์มแต่อย่างใด

การถือกำเนิดของโมเดลธุรกิจ ‘พ่อค้าคนกลาง’ ยุคใหม่ ที่ให้บริการแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ต ด้วยการจับคู่ ‘ผู้ให้บริการ’ กับ ‘ผู้บริโภค’ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในชั่วระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษ จึงไม่น่าแปลกใจที่กฎหมายที่เปลี่ยนได้อย่างเชื่องช้าจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน จนผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้อาศัย ‘ช่องว่าง’ จัดประเภทแรงงานให้เป็นเพียงคู่สัญญา เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลด้านสวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

แต่หากมองอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่แรงงานทุกคนที่จะทำงานอย่างสม่ำเสมอบนแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง โดยมีอิสระพอสมควรที่จะหยุดรับงานหรือย้ายไปรับงานจากแพลตฟอร์มอื่น ดังนั้น การตีความให้พาร์ตเนอร์ชั่วครั้งชั่วคราวเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ดูสมเหตุสมผลดี 

นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจแพลตฟอร์มยังทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก ได้แต่ทยอยเผาเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นไปเรื่อยๆ เพราะต้องอัดโปรโมชันแก่งแย่งลูกค้าในตลาดเดียวกัน ถ้าในอนาคตมีกฎหมายฉบับใหม่บังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มรับพาร์ตเนอร์ทุกคนเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย เชื่อได้เลยว่าหลายบริษัทคงเลือกที่จะถอนตัวเพราะสู้กับต้นทุนไม่ไหว ไม่ก็อาจผลักภาระต้นทุนทั้งหมดไปที่คู่ค้าหรือผู้บริโภค

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ เราควรหยิบประเด็นสิทธิแรงงานบนแพลตฟอร์มมาพูดคุยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะวันดีคืนดี อาชีพที่เราเคยได้รับเงินเดือนประจำก็อาจถูกโอนย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์ม โดยที่เราต้องถูกลดสถานะจากลูกจ้างที่มีกฎหมายคุ้มครองสู่ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่ต้องดูแลตนเอง

อาชีพอิสระ (ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด)

ความโดดเด่นของแพลตฟอร์มสามารถทำธุรกรรมสัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายรายย่อยได้มีประสิทธิภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน ความสะดวกสบายนี้เองที่นำไปสู่ความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น เช่น การเรียกบริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านแกร็บ (Grab) การสั่งอาหารส่งถึงบ้านผ่านไลน์แมน (Line Man) และการเรียกใช้งานจิปาถะ เช่น แพลตฟอร์มอย่าง Task Rabbit หรือ Airtasker ที่สามารถจ้างได้ตั้งแต่ทำความสะอาด ขนของ ช่วยประกอบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงจับแมงมุม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจแพลตฟอร์มสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้กับระบบเศรษฐกิจ ทั้งฝั่งผู้บริโภคเองก็เข้าถึงบริการที่หลากหลายได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้วคลิก ส่วนแรงงานก็มีทางเลือกที่จะหาเงินเล็กๆ น้อยๆ ผ่านแพลตฟอร์มเป็นรายได้เสริม หรือกระทั่งทำเป็นอาชีพหลักหากงานประจำเกิดระส่ำระสายเพราะพิษเศรษฐกิจ

จุดขายสำคัญของการทำงานบนแพลตฟอร์มคือ ‘ความอิสระ’ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน หรือรูปแบบลักษณะงานที่ต้องการจะทำ เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นนายตัวเองไม่ต้องทนถูกนายจ้างโขกสับ

อ่านเผินๆ ดูจะเป็นชีวิตในฝัน แต่หากได้ลองคุยกับเหล่าแรงงานบนแพลตฟอร์มจะพบว่า ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ความอิสระที่บริษัทมอบให้ก็ไม่ต่างจากการทำงานหาเช้ากินค่ำที่ไร้ความมั่นคง อีกทั้งอิสระที่ว่ายังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทแพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด ตั้งแต่ค่าตอบแทนที่สามารถขับขึ้นลงได้ตามใจชอบ อัลกอริทึมแจกจ่ายงานซึ่งแรงงานจำนวนไม่น้อยมองว่า ‘ไม่โปร่งใส’ ไปจนถึงยูนิฟอร์มที่ไรเดอร์ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง

แม้ว่าแพลตฟอร์มจะฉาบทาความสัมพันธ์กับแรงงานว่าเท่าเทียมกันโดยเรียกว่า ‘พาร์ตเนอร์’ แต่ในทางปฏิบัติกลับต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น การกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพในการให้บริการ พร้อมกับบทลงโทษอย่างการระงับบัญชี หมายความว่าวันดีคืนดี หากบริษัทได้รับคำร้องเรียนจากลูกค้าว่าพาร์ตเนอร์ละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการปิดระบบได้ทันที

แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ถูกระบุไว้บนเว็บไซต์เชิญชวนให้มาสมัครเป็นพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์ม แต่มีเพียงเรื่องเดียวที่ทุกบริษัทประกาศอย่างชัดเจนคือ พาร์ตเนอร์ทุกคนจะไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท แต่ในทางกฎหมายจะเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ (contractor) ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

‘พาร์ตเนอร์’ ก้าวที่ถอยหลังของสิทธิแรงงาน

กว่าที่แรงงานจะได้รับสิทธิเฉกเช่นทุกวันนี้ก็ต้องผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนานเกิดเป็นกฎหมายหลายฉบับที่คุ้มครองเหล่าลูกจ้างในระบบ 

ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎหมายเหล่านี้นอกจากจะคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานแล้ว ยังการันตีสิทธิประโยชน์ด้านวันลาและวันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง ไปจนถึงการชดเชยหากมีการเลิกจ้าง นอกจากนี้ แรงงานในระบบการคุ้มครองจากประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งครอบคลุมกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพลลภาพ เสียชีวิต และให้เงินเพิ่มเติมกรณีคลอดบุตร เงินสังเคราะห์บุตร เบี้ยชราภาพ และอีกสารพัด

แต่เมื่อแพลตฟอร์มจัดประเภทผู้ให้บริการเป็นเพียง ‘พาร์ตเนอร์’ ไม่ใช่ลูกจ้าง สิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองข้างต้นจึงไม่ครอบคลุม โดยพาร์ตเนอร์เหล่านั้นต้องดูแลจัดการชีวิตตนเองเสมือนหนึ่งรับจ้างอิสระ

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แรงงานอิสระจะมีสิทธิและสวัสดิการต่ำกว่าลูกจ้างในบริษัท นี่คือข้อด้อยของการเลือกที่จะทำงานได้อย่าง ‘อิสระ’ ว่าจะทำงานให้ใคร ที่ไหน และเมื่อไหร่ แต่หากเปรียบเทียบความอิสระระหว่างแรงงานที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มกับแรงงานอิสระจริงๆ เช่น เหล่าพ่อค้าแม่ขายที่เปิดแผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ หรือคนขับแท็กซี่ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้มี ‘อิสระ’ อย่างแท้จริง แต่ถูกกำกับอย่างเข้มข้นโดยบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม

สิทธิและสวัสดิการที่หดหายอาจไม่ได้กระทบมากนักสำหรับคนที่หางานบนแพลตฟอร์มในเวลาว่าง แต่สำหรับคนที่ทำงานกับแพลตฟอร์มเป็นหลักโดยใช้เวลาแต่ละวันทำงานให้เสมือนหนึ่งเป็นลูกจ้าง การมองข้ามสิทธิและสวัสดิการเหล่านั้นไม่ต่างจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

แต่แพลตฟอร์มเองก็ใช่ว่าจะอยู่เฉย เพราะมีตอบสนองข้อเรียกร้องของเหล่าแรงงาน เช่น แกร็บประเทศไทยก็ได้ริเริ่มการจ่ายชดเชยหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างเปิดรอรับงาน ระหว่างการรับงาน หรือหลังปิดรับงานภายใน 30 นาทีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยในกรณีเกิดอุบัติเหตุจะจ่ายให้พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่จักรยานยนต์สูงสุด 50,000 บาท รถยนต์สูงสุด 100,000 บาท ส่วนในกรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะชดเชยสูงสุด 200,000 บาท

ระบบระดับของผู้ขับแกร็บคาร์เพื่อรับสิทธิประโยชน์ GrabBenefits ภาพจาก Grab

นอกจากนี้ แกร็บยังมีผลประโยชน์ให้กับผู้ขับขี่ในชื่อ GrabBenefits เป็นส่วนลดค่าสินค้าและบริการต่างๆ การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงิน ไปจนถึงประกันรายได้หากประสบอุบัติเหตุ อย่างไรก็ดี บริษัทก็มีการกำหนดระดับของผลประโยชน์ที่ได้รับ เช่น พาร์ตเนอร์แกร็บคาร์จะได้รับประกันรายได้หากประสบอุบัติเหตุก็ต่อเมื่อเป็นสมาชิกระดับแพลตินัม ซึ่งต้องขับอย่างน้อย 200 รอบต่อเดือน อีกทั้งยังมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น คะแนนดาวต้องเกิน 4.70 ดาวขึ้นไป หรือพาร์ตเนอร์แกร็บฟู้ดจะต้องสวมเครื่องแบบและใช้อุปกรณ์ที่มีตราสัญลักษณ์ของบริษัททุกครั้งที่รับงาน เป็นต้น

แม้เงื่อนไขดังกล่าวจะดูโอบอ้อมอารี แต่กลับเทียบไม่ได้เลยกับสวัสดิการและสิทธิที่ได้รับคุ้มครองตามกฎหมายของรัฐ เพราะหากจะทำได้ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดก็ต้องทุ่มเทในระดับที่ไม่ต่างจากการทำงานประจำ แต่กลับไม่ได้สิทธิลาหยุด ลาป่วย หรือประกันสังคมเหมือนกับลูกจ้าง ทำให้ภาระการบริหารจัดการเงินเพื่อรับมือกับเหตุไม่คาดฝันยังเป็นของพาร์ตเนอร์ โดยไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมรองรับเหมือนกับแรงงานในระบบ

ความสัมพันธ์นี้จะไปต่ออย่างไรดี?

เหล่าแรงงานบนแพลตฟอร์มในหลายประเทศเลือกใช้วิธีฟ้องร้องต่อศาลเพื่อแก้ไขความคลุมเครือ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันออกไป เช่น ศาลในสหราชอาณาจักรตัดสินว่าคนขับ Uber เป็นลูกจ้างของบริษัท และควรได้รับรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำโดยมองว่าคำอธิบายของ Uber ที่มองตัวเองเสมือนแพลตฟอร์มที่รองรับ ‘ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 30,000 ราย’ เป็นข้อโต้แย้งที่ฟังไม่ขึ้น ส่วนศาลสูงของรัฐแคลิฟอร์เนียก็ทำให้การจัดประเภทพาร์ตเนอร์ให้เป็นคู่สัญญาอิสระยุ่งยากขึ้น โดยกำหนดนิยามอย่างชัดเจนว่า “แรงงานจะต้องเป็นอิสระจากการควบคุมหรือคำสั่งของผู้ว่าจ้าง” ซึ่งพาร์ตเนอร์ของแพลตฟอร์มอาจไม่เข้าข่ายนี้เพราะถูกบริษัทควบคุมอย่างเข้มข้น

ในทางกลับกัน ศาลในอิตาลีตัดสินว่าพาร์ตเนอร์ของ Foodora แพลตฟอร์มส่งอาหารไม่ใช่พนักงานและเป็นผู้ประกอบการอิสระ เช่นเดียวกับคณะกรรมการการจ้างงานที่เป็นธรรม (The Fair Work Commission) ประเทศออสเตรเลียที่ตัดสินว่าคนขับของ Uber Eats ไม่ใช่พนักงานเช่นกัน

อีกหนึ่งข้อเสนอที่จะมายุติการถกเถียงคือการตั้งประเภทของการจ้างงานแบบใหม่ขึ้นมาเสียเลย เช่น แนวคิด ‘แรงงานอิสระ’ (independent worker) ของสองนักเศรษฐศาสตร์ เซธ แฮร์ริส (Seth Harris) และอลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ Uber พวกเขามองว่าแรงงานอิสระนั้นจะควรได้รับสิทธิในการก่อตั้งสหพันธ์แรงงานและสามารถเข้าร่วมระบบประกันสังคมเฉกเช่นลูกจ้างในระบบปกติ แต่จะไม่ได้รับการการันตีค่าแรงขั้นต่ำหรือเงินชดเชยในกรณีถูกเลิกจ้าง

แนวคิดลักษณะนี้มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงกังขาเพราะในทางปฏิบัติแล้ว การจัดประเภทแรงงานใหม่อาจไปนำสู่ความยุ่งยากและข้อถกเถียงไม่รู้จบว่าใครบ้างที่ควรจะเข้าเงื่อนไขดังกล่าว อีกทั้งหากกฎหมายเขียนไม่รัดกุมก็อาจทำให้เหล่าบริษัทแสวงหา ‘ช่องว่าง’ หลีกเลี่ยงได้อยู่ดี

อีกทางเลือกหนึ่งที่ค่อนข้างสุดโต่งคือรื้อระบบสวัสดิการใหม่ทั้งหมด แทนที่จะมาคอยคิดหยุมหยิมว่าใครเข้าเงื่อนไขของการจ้างงานประเภทไหน รัฐก็ให้สวัสดิการทุกคนแบบเสมอหน้าคล้ายกับสิทธิรักษาพยาบาลบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงแต่ขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมในมิติต่างๆ เพิ่มเติม อาทิระบบรายได้พื้นฐานสากล (Universal Basic Income) หรือเงินช่วยเหลือเพื่อเลี้ยงดูบุตร

ไม่ว่าจะเลือกทางไหน รัฐบาลก็ต้องชั่งน้ำหนักอย่างถี่ถ้วน เพราะหากมองว่าพาร์ตเนอร์ทุกคนคือลูกจ้าง ก็อาจนำไปสู่การผลักต้นทุนต่อให้ผู้บริโภค ทำลายการจ้างงาน และลดโอกาสเกิดนวัตกรรม แต่หากนิ่งเฉยไม่ทำอะไร แรงงานบนแพลตฟอร์มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันก็เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งค่าแรง สวัสดิการ และสิทธิต่างๆ ที่แรงงานพึงมี จนสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเข้ามาพัวพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตอนนี้ประเทศไทยยังพอมีเวลาให้คิดไตร่ตรอง แต่ก็อย่าชะล่าใจเพราะความขัดแย้งดังกล่าวอาจปะทุเป็นคลื่นลูกใหญ่แบบไม่ทันตั้งตัว

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Does the worker have a say in the platform economy?

The Social Protection of Workers in the Platform Economy

Platform work: Employment status, employment rights and social protection

Worries about the rise of the gig economy are mostly overblown

Category error

Tags: , ,