เราได้ยินคำว่า ‘ปฏิรูปตำรวจ’ มากี่ยุคกี่สมัยแล้วครับ?

หากผลลัพธ์ของการปฏิรูปคือการที่ตำรวจใช้วิธีนอกรีตจนผู้ต้องหาที่ยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมต้องเสียชีวิต หรือการที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรงต่อประชาชนแบบไม่เลือกหน้า เราคงตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าการปฏิรูปล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

กรณีอื้อฉาวที่เป็นข่าวในปัจจุบันทำให้วงการสีกากีต้องสั่นคลอน (อีกครั้ง) และอีกไม่นานเราคงได้เห็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารทำหน้าตาขึงขังว่าจะเดินหน้าแผนปฏิรูปตำรวจพร้อมสั่งการให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างบูรณาการ เป็นรูปธรรม เพื่อผลลัพธ์ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วสุดท้ายกลายเป็นเพียงรายงานหนาเตอะว่าด้วยผลลัพธ์การดำเนินงานที่ถูกซุกทิ้งไว้ที่ไหนสักแห่ง ส่วนโครงสร้างภายในก็ยังคงเน่าเฟะไม่ต่างจากเดิม

การใช้กำลังแบบเกินกว่าเหตุของตำรวจไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศไทยประสบพบเจอเป็นประเทศเดียว หากใครยังพอจำได้ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทั่วโลกต่างประหวั่นพรั่นพรึงกับคลิปวิดีโอการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจผิวขาวชาวอเมริกันต่อชายผิวดำเพียงเพราะสงสัยว่าใช้ธนบัตรปลอมใบละ 20 ดอลลาร์ฯ เขาเสียชีวิตหลังจากตำรวจใช้เข่ากดบริเวณลำคอเป็นเวลากว่า 9 นาที เกิดเป็นกระแส ‘Black Lives Matter’ หรือ ‘ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย’ กระหึ่มโลกออนไลน์ พร้อมกับนำไปสู่การเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ

ชายคนนั้นคือ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชื่อของเขาปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของ บัญญัติความยุติธรรมแก่ จอร์จ ฟลอยด์ ในด้านปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ (George Floyd Justice in Policing Act) กฎหมายฉบับดังกล่าวที่เพิ่งผ่านสภาล่างไปเมื่อต้นปี และกำลังรอเข้าพิจารณาโดยสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายนี้มุ่งแก้ไขปัญหาการประพฤติมิชอบ การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และอคติเหยียดสีผิวในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของกฎหมายฉบับดังกล่าวคือการบังคับให้ติดตั้งกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ (body-worn camera) ขณะปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยบังคับใช้ในระดับประเทศแบบมาตรฐานเดียวกัน ส่วนประเทศไทยคงไม่ต้องพูดถึง เพราะขนาดกล้องวงจรปิดก็ยังใช้การได้บ้างไม่ได้บ้าง

อย่างไรก็ดี กรณีของผู้กำกับโจ้ฉายภาพให้เห็นชัดว่าเทคโนโลยีที่ปัจจุบันราคาไม่ได้แพงเกินเอื้อมนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะหลักฐานที่ผู้ปรากฏตัวในคลิปยากจะดิ้นหลุด 

ไหนๆ รัฐบาลก็โพนทะนาว่าต้องการจะเป็นรัฐ 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จะปฏิรูปตำรวจทั้งทีก็ขอให้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสียหน่อย แทนที่จะมีแต่แผนและคำสัญญาเลื่อนลอย ทำไมเราไม่เพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบโดยการติดตั้งกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่ล่ะครับ?

ก็ถ้าไม่ได้ทำผิด ซื่อสัตย์สุจริตอย่างที่กล่าวอ้าง ก็คงไม่มีอะไรต้องกลัว

ติดตั้งกล้องแล้วเป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงกล้องเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ สิ่งแรกที่นึกออกก็คงหนีไม่พ้นโครงข่ายกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ซึ่งกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกในประเทศที่รัฐบาลพอมีสตางค์ เราคาดหวังว่ากล้องดังกล่าวจะสามารถป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้ จากการศึกษาก็พบว่าโครงข่ายกล้องวงจรปิดช่วยลดการเกิดอาชญากรรมได้จริง คิดเป็นราว 16 เปอร์เซ็นต์ โดยอาชญากรรมส่วนใหญ่ที่ป้องปรามได้คืออาชญากรรมในลานจอดรถ อย่างไรก็ดี กล้องวงจรปิดไม่ช่วยลดการเกิดเหตุการทำร้ายร่างกาย ปล้นชิงทรัพย์ หรือการลอบประทุษร้าย

กล้องวงจรปิดมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งอาชญากรที่วางแผนมาดีย่อมรู้จุดบอดของกล้องวงจรปิด บางครั้งกล้องดังกล่าวก็ไม่สามารถถ่ายภาพได้ชัดเจนในที่มืด ผู้ก่อเหตุเพียงสวมใส่อุปกรณ์ปิดบังใบหน้า หรือหน่วยงานรัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะมานั่งตรวจสอบภาพทั้งหมดในกล้องวงจรปิดได้ การลงทุนมูลค่ามหาศาลในโครงข่ายกล้องวงจรปิดอาจทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยขึ้น แต่ความจริงแล้วก็ช่วยให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีเป้าหมายต่างออกไป เพราะการลงทุนดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อป้องปรามอาชญากรรมโดยประชาชน แต่เป็นการกำกับดูแลไม่ให้รัฐก่ออาชญากรรมเสียเอง

ปัจจุบันมีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับประสิทธิผลของกล้องดังกล่าว ผลงานชิ้นแรกๆ เผยแพร่เมื่อปี 2016 เป็นการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และองค์กรคลังสมอง RAND Europe ใช้วิธีการศึกษาระดับมาตรฐานทองคำ คือการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) โดยจะแบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 2,000 นาย ออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ต้องติดตั้งกล้องระหว่างปฏิบัติหน้าที่และกลุ่มควบคุมที่ไม่ต้องติดตั้งกล้อง 

ผลปรากฏว่า คำร้องเรียนเรื่องการประพฤติมิชอบของตำรวจน้อยลง 93 เปอร์เซ็นต์โดยเปรียบเทียบ ขณะที่ทุกฝ่ายต่างยินดีกับผลลัพธ์ดังกล่าว ภาคประชาสังคมสนับสนุนโครงการนี้ เพราะจะสามารถจับตาการทำงานของตำรวจได้ดียิ่งขึ้น ตำรวจหลายคนก็ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะช่วยตัดเรื่องปวดหัวเกี่ยวกับการร้องเรียนงี่เง่า กล้องยังเป็นวิธีเก็บหลักฐานที่ดีเยี่ยม และยังสามารถใช้ในการเรียนรู้ถึงวิธีปฏิบัติงานแบบภาคสนามของเพื่อนร่วมงานอีกด้วย

งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า คำร้องเรียนเรื่องการประพฤติมิชอบของตำรวจลดลงราว 17 เปอร์เซ็นต์ หลังจากใช้กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อีกด้วย อย่างไรก็ดี กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้งบประมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลจากกล้อง แต่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้คำนวณพบว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า โดยจะได้ผลตอบแทน 5 บาท จากการลงทุน 1 บาท ซึ่งงบประมาณที่ลดได้นั้นมาจากการลดจำนวนคำร้องเรียนจากประชาชน การลดการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการลดต้นทุนในการสืบสวนสอบสวน

แต่การมีกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอ เพราะข้อกำหนดในการเปิด-ปิดกล้องก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง บางหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาให้ตำรวจใช้ดุลพินิจว่าเวลาไหนควรเปิดหรือควรปิดกล้อง แต่หลายแห่งก็มีข้อกำหนดเข้มงวดว่าเวลาใดบ้างที่จะต้องเปิดกล้อง บางแห่งใช้ระบบที่กล้องจะทำงานอัตโนมัติเมื่อมีการเปิดสัญญาณเตือนหรือการชักปืนออกจากปลอก การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจจะช่วยลดการใช้ความรุนแรงโดยรัฐได้ถึง 37 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับตำรวจที่ไม่ได้ติดตั้งกล้อง นอกจากนี้กลุ่มตำรวจที่สามารถตัดสินใจได้เองว่าจะเปิดกล้องตอนไหน ยังพบการใช้กำลังมากกว่ากลุ่มที่มีเกณฑ์การเปิดปิดกล้องชัดเจนถึง 71 เปอร์เซ็นต์

แน่นอนว่ากล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่อาจป้องกันการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยที่สุด กล้องดังกล่าวก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการคืนความยุติธรรมในชั้นศาลแก่ผู้ถูกกระทำ ดังเช่นที่คลิปวิดีโอในกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญที่ เดเร็ค เชาวิน อดีตนายตำรวจผิวขาว ถูกส่งเข้าคุกฐานฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์

เปิดกล้องตอนไหนดี?

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนถึงแนวทางปฏิบัติหากจะทำการติดตั้งกล้องบนร่างกายของตำรวจไทยโดยระบุว่าควรให้เปิดกล้อง 3 ช่วงเวลา ดังนี้

1. ขณะปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีนี้ตำรวจจะไม่ต่างจากกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ สามารถซอกซอนไปตามจุดเสี่ยงต่างๆ เป็นกำลังเสริมให้กับกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะชำรุดเมื่อเหตุจำเป็นที่ต้องใช้ภาพ

2. ขณะจับกุมหรือการค้นตามกฎหมาย ในวันเวลาที่ศรัทธาต่อตำรวจสั่นคลอน เราต่างไม่สบายใจหากต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านตรวจ เพราะเกรงว่าจะฉวยโอกาสยัดของผิดกฎหมาย ยัดข้อหา หรือใช้อำนาจในทางที่ผิด ขณะเดียวกัน ประชาชนบางกลุ่มก็พร้อมจะควักกระเป๋าสตางค์ติดสินบนเพื่อหวังให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ รวมถึงการเข้าจับกุมผู้ต้องหาที่บางครั้งตำรวจอาจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่ผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมีอำนาจต่อรองได้

ปัญหาเหล่านี้สามารถบรรเทาได้โดยการติดกล้องบนร่างกาย เพราะคลิปวิดีโอในกล้องดังกล่าวจะเป็นหลักฐานยืนยันวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการอย่างซื่อสัตย์สุจริตจริงก็สามารถใช้วิดีโอดังกล่าวเป็นเกราะคุ้มกัน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีกลั่นแกล้งด้วยการร้องเรียนเท็จอีกด้วย

3. ขณะสอบสวนคดีอาญา ปัจจุบันการสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยานจะถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ไม่มีการบันทึกภาพและเสียงไว้ ยกเว้นว่าผู้ต้องหาเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี การเปิดกล้องขณะที่ตำรวจสอบปากคำ นอกจากจะสร้างความสบายใจต่อผู้ต้องหาว่าตำรวจจะไม่สามารถข่มขู่ คุกคาม หรือใช้วิธีทรมานนอกรีตอย่างที่เป็นข่าวแล้ว ฝั่งตำรวจเองก็ทำงานง่ายขึ้น เนื่องจากคลิปวิดีโอจะช่วยขจัดปัญหากรณีที่ผู้ต้องหาหรือพยานให้การไม่ตรงกันในระหว่างชั้นสอบสวนกับชั้นศาล เป็นการเพิ่มหลักฐานสนับสนุนเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจค้นหาความจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งสามประเด็นนี้ บางเรื่องสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย บางเรื่องต้องแก้ไขกฎหมายที่หลายฉบับโบร่ำโบราณตกยุคตกสมัย แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องลงทุนซื้อกล้องและอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น โดยไม่ผลักภาระให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

‘ติดกล้อง’ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการลงทุนกับกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากจะแก้ที่ต้นเหตุอาจต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติตำรวจเสียใหม่ให้ใสซื่อมือสะอาด บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว และอีกสารพัดคำขวัญตำรวจไทยที่พิสูจน์แล้วว่ายากจะเป็นความจริง

นอกจากนี้ การติดตั้งกล้องดังกล่าวยังมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว เช่นว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนหรือไม่ ใครมีสิทธิในการตรวจสอบคลิปวิดีโอเหล่านั้นได้บ้าง และมีขั้นตอนในการอนุมัติอย่างไร กล้องดังกล่าวยังอาจบันทึกบทสนทนาเรื่องส่วนตัวหรือการดำเนินการของตำรวจที่ควรถูกปกปิดเป็นความลับอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ในวันที่คนไทยเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันตำรวจ ความโปร่งใสจริงใจผ่านการกำกับดูแลด้วยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็อาจช่วยฟื้นศรัทธากลับขึ้นมาได้บ้าง หรืออย่างน้อยปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็น่าจะคลายความตึงเครียดลง เพราะทุกคนมั่นใจว่าทุกคำพูดและการกระทำมีหลักฐานที่ ‘เป็นกลางและเป็นจริง’ ถูกบันทึกเอาไว้

แต่สำหรับใครที่มองว่ากล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจไม่เพียงพอ ผู้เขียนก็มีหนึ่งทางเลือกมานำเสนอ ซึ่งยากกว่าหลายเท่าในการจูงใจให้คนอื่นคล้อยตาม นั่นคือการลดงบประมาณตำรวจแล้วนำไปเพิ่มงบด้านสวัสดิการสังคม

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การมีสถาบันตำรวจในการกำกับดูแลสังคมก็ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุก็ต้องไปแก้ที่ปัจจัย ซึ่งทำให้คนหนึ่งคนต้องการผันตัวเองเป็นอาชญากร แน่นอนว่าไม่มีใครที่ต้องการทำผิดกฎหมาย แต่ภายใต้การถูกกีดกันจากรัฐ พวกเขาหรือเธอจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีไม่สุจริต 

การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

หากการส่งเสริมจริยธรรมให้ตำรวจดูเป็นไปได้ยาก และการลดงบประมาณเพื่อนำมาใช้เป็นสวัสดิการสังคมฟังดูไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้จริง ‘กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ’ ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่ารับฟัง แต่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Why the police should wear body cameras

The George Floyd Act is a police-reform smorgasbord. Would it work?

Study: Body-Worn Camera Research Shows Drop In Police Use Of Force

Do Police Body Cameras Really Work?

ให้ตำรวจ ‘ติดกล้อง’ ดีไหม?

Tags: ,