จากการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีเงินบริจาค 191 ล้านบาทของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกกต. มีมติส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคอนาคตใหม่ และตามมาตรา 94 ของ พ.ร.ป พรรคการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองแล้ว  ก็จะมีผลให้ห้ามใช้ทั้ง ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ซ้ำหรือพ้องกับชื่อเดิม และตัดสิทธิไม่ให้กรรมการบริหารพรรคไปจดทะเบียนขึ้นพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหาร หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ

นั่นหมายความว่า กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จำนวน 16 คน จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป 10 ปี โดยมี โดยมีรายชื่อดังนี้

1.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.ชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
4.พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
5.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ
6.ไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
7.นิรมาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
8.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
9.สุรชัย ศรีสารคาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
10.เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
11.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนอีก 4 คน ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. คือ

12.นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค
13 ชัน ภักดีศรี กรรมการบริหารพรรค
14.สุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรค
15.รณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรค
16. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค (สิ้นสุดการเป็น ส.ส. ไปแล้ว)

ทางออกในอนาคตที่เป็นไปได้ในเวลานี้คือ ส.ส. อีก 65 คนที่เหลือ จะมีเวลา 60 วันในการหาพรรคสังกัดใหม่ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10)) (ดูรายชื่อพรรคการเมืองทั้งหมดทาง https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20181130153846.pdf)

ถ้า ส.ส. ย้ายพรรคไม่ทัน หรือไม่ย้ายพรรค ก็ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกําหนดหกสิบวันนั้น และนั่นอาจทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม

ปิดตำนานอนาคตใหม่ 

หากย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2561 ก่อนที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะจดทะเบียนก่อตั้งพรรคการเมืองในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ข่าวคราวที่ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะมาลงสนามการเมืองเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างกระแสในหมู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างมหาศาล 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่มีชื่อพรรค ด้วยการเชิญชวนผู้คนในโซเชียลมีเดียมาร่วมกันเสนอชื่อพรรคภายใต้แฮชแท็กในทวิตเตอร์ว่า #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ซึ่งขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในช่วงเวลา 4 โมงเย็นในวันนั้น 

หลังจากนั้นช่อ พรรณิการ์ วานิช ซึ่งต่อมาคือโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้ทวีตข้อความ #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค โดยกล่าวว่า มี 3 ชื่อที่ชื่นชอบ ก่อนจะลงเอยที่ชื่อ ‘อนาคตใหม่’ ซึ่งก็คือ

  1. ไทยก้าวหน้า

  2. พลังใหม่ 

  3. ก้าวใหม่

นอกจากนั้นในรายงานของบีบีซี ประเทศไทยในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ยังกล่าวว่าคณะผู้จัดตั้งพรรคมีแนวคิดจะใช้ชื่อพรรคว่า ‘พลเมืองใหม่’ แต่เกรงว่าประชาชนจะสับสนกับพรรคพลังพลเมืองไทยที่มีการจดแจ้งชื่อพรรคไว้แล้ว

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว และหากกรรมการพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ต้องจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ (ในอีกสิบปีข้างหน้า)  ชื่อพรรคใหม่นั้นจะชื่ออะไร ? จะเป็นหนึ่งในสี่ชื่อที่เคยเสนอไว้ หรือจะมีการระดมข้อเสนอ ความคิดเห็นอีกรอบ เพื่อ #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรครอบสอง

 

Tags: , ,