กลายเป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียล หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่ออัตราหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะพิษโควิด-19 พร้อมเสนอนโยบายที่ทำให้หลายคนส่ายหัว นั่นคือ ‘เพิ่มโรงรับจำนำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ก่อนจะถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยกระแสความแรงจากคลับเฮาส์ ที่ทักษิณ ชินวัตรส่งเสียง ‘สะอื้น’ ว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้คนจนหมดตัว

แน่นอนว่าการเพิ่มโรงรับจำนำไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาปัญหาเงินขาดมือในหมู่คนจน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะมาแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งเรื้อรังมานานก่อนการระบาดของโควิด-19

โรงรับจำนำคือสถาบันการเงินขนาดเล็กที่เจ้าของใช้ทุนรอนของตัวเอง เพื่อปล่อยสินเชื่อโดยอิงจากมูลค่าสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาค้ำประกัน ผู้เขียนเชื่อว่าน้อยคนที่จะเคยมีโอกาสได้ไปใช้บริการโรงรับจำนำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจดังกล่าวอยู่ในช่วงขาลง และมีแนวโน้มจะด้อยความสำคัญลงในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนเริ่มเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีทางเลือกในการขอสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยที่หลายแหล่งไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกันด้วยซ้ำ

โรงรับจำนำกับปัญหาหนี้ครัวเรือน

ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ระบุว่า ประเทศไทยมีโรงรับจำนำเพียง 730 แห่ง แบ่งเป็นโรงรับจำนำโดยรัฐที่ใช้ชื่อสถานธนานุเคราะห์และสถานธนานุบาลรวม 277 แห่งส่วนที่เหลือเป็นโรงรับจำนำเอกชน นอกจากนี้ โรงรับจำนำยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่โดยราว 1 ใน 3 ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 

ข้อดีของโรงรับจำนำคือการปล่อยสินเชื่อโดยแทบไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องตรวจสอบรายได้ ไม่ต้องเช็กประวัติการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งยังมีการพิจารณาอนุมัติที่รวดเร็วในอัตราดอกเบี้ยที่สูสีกับสินเชื่อบุคคลของธนาคารพาณิชย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่โรงรับจำนำจะเป็นที่พึ่งของเหล่าผู้มีรายได้ไม่แน่นอนหรือไม่มีรายได้ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร โดยสถิติจากสถาบันธนานุเคราะห์พบว่า อาชีพหลักที่มาใช้บริการโรงรับจำนำคือรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือพ่อบ้านแม่บ้าน และค้าขาย

อาชีพเหล่านี้มีทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อไม่มากนัก ในวันที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ แต่ไม่สามารถหยิบยืมเงินจากญาติพี่น้องได้ โรงรับจำนำเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เปลี่ยนสินทรัพย์ในบ้านเป็นเงินสดในช่วงสั้นๆ หลังจากวิกฤตการเงินเริ่มคลี่คลายจึงค่อยรวบรวมเงินก้อนไปไถ่ถอนคืน สินทรัพย์ยอดนิยมก็หนีไม่พ้นทอง นาก เพชร และเครื่องประดับต่างๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าแทบทั้งหมดของสินทรัพย์ในโรงรับจำนำ

อย่างไรก็ดี โรงรับจำนำก็มีข้อจำกัดสำคัญคือ ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อมากกว่าทุนที่ตนเองมีได้ ต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับเงินฝากมหาศาลจากสาธารณชน ในกรณีที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่มาไถ่ถอนสินทรัพย์ ผนวกกับสินทรัพย์เหล่านั้นมีสภาพคล่องต่ำ ไม่สามารถหาผู้ซื้อได้ การดำเนินงานของโรงรับจำนำก็ย่อมสะดุดหยุดลง เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน ในกรณีเช่นนี้ รัฐก็ควรเข้ามาเพิ่มทุนให้หรือเปิดโรงรับจำนำแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตราหฤโหด

ผู้เขียนเองก็แปลกใจ เพราะสถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากสถิติของสถานธนานุเคราะห์พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 สินทรัพย์ที่ถูกนำมาจำนำมีจำนวนลดลงเล็กน้อย ในขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่ได้รับการไถ่ถอนตรงเวลาหรือทรัพย์หลุดจำนำลดลงกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ กล่าวได้ว่าโรงรับจำนำของไทยไม่ได้ขาดสภาพคล่อง แถมมีเงินเหลือเฟือพร้อมจะให้บริการลูกค้าที่เสียด้วยซ้ำ แต่เป็นฝั่งลูกหนี้ต่างหาก ที่ไม่พร้อมจะเข้าโรงจำนำ ซึ่งอาจตีความได้ว่าไม่มีปัญหาเงินขาดมือ หรือว่าไม่มีสินทรัพย์ในบ้านเหลือพอที่จะมาจำนำอีกต่อไป

นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 เงินกู้จากโรงรับจำนำคิดเป็นเพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้กู้แก่ครัวเรือน ขณะที่สินเชื่อโดยธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 42.9 เปอร์เซ็นต์ 

การที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพิ่มโรงรับจำนำเพื่อหวังแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงไม่ต่างจาก ‘ฝันกลางวัน’ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนในไทยไม่ได้เกิดจากการที่โรงรับจำนำมีไม่เพียงพอ แต่เกิดจากประชาชนไม่มีเงินในกระเป๋าจนต้องหยิบยืมต่างหาก

ในวันที่คลังกระสุนหมด

การชูนโยบายเพิ่มโรงรับจำนำสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า รัฐบาลเผชิญหน้ากับ ‘ทางตัน’ ในการกอบกู้เศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ประกอบกับแนวโน้มการใช้งบประมาณแบบค่อนข้างรัดเข็มขัด ตัดแทบทุกกระทรวง เพราะหนี้สินที่หยิบยืมมาใกล้ชนเพดานหนี้สาธารณะเต็มที ทางเลือกราคาแพงเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างการแจกเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงต้องถูกพับเก็บ แล้วหันไปหาแพ็กเกจราคาประหยัดอย่างการเพิ่มโรงรับจำนำเพื่อเป็น ‘ไม้กันหมา’ ไม่ให้โดนตำหนิว่ารัฐไม่ลงมือทำอะไรเลย

การประกาศเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะการเปิดทางให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอุ้มชูเศรษฐกิจดูจะเป็นทางรอดทางเดียวในปัจจุบัน คำแถลงการณ์ของท่านนายกฯ ก็ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถรอให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส พร้อมที่จะรับความเสี่ยงหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือ ทุกคนจะต้อง ‘ยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน’

ฟังคำแถลงแล้วก็อดไม่ได้ที่จะขันขื่น จากปีที่แล้วที่เราภูมิใจนักหนาว่าควบคุมการระบาดได้ดี ไม่จำเป็นต้องเร่งรับสั่งซื้อวัคซีน ‘แทงม้าเต็ง’ พร้อมบรรลุซูเปอร์ดีลในการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับโลกให้บริษัทไทย มาวันนี้ เสือที่เคยผงาดกลับมีท่าทีเชื่องๆ พูดจ๋อยๆ ว่าให้ทุกคนยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นหลักพันมานานหลายเดือน ส่วนวัคซีนที่เคยสัญญาก็มาแบบกะปริบกะปรอย จนต้องร้อนรนสั่งกับหลายยี่ห้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เข้าทำนองสุภาษิต ‘ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา’

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าเป้าหมาย 120 วัน จะไม่ใช่คำสัญญาลมๆ แล้งๆ อย่างที่แล้วมา หากว่ากันตามสถิติในอดีต ประกอบกับสารพัดเทคนิคพลิกลิ้นเพื่อยืดระยะเวลาดังกล่าวออกไปเรื่อยๆ บอกตามตรงว่าไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรว่ารัฐบาลจะทำได้ตามสัญญา และในฐานะประชาชน เราก็ได้แต่หวังลมๆ แล้งๆ ต่อไป

 

เอกสารประกอบการเขียน

โรงรับจำนำ ที่พึ่งคนจน?

Tags: ,