การเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติหรือคนสนิทของนักการเมืองและข้าราชการไทยไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้จะมีความพยายามขจัดปัญหาดังกล่าวหลายยุคหลายสมัย แต่กรณีการแต่งตั้งรองเลขาธิการของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่ถึงขั้นใช้อำนาจปรับแก้เกณฑ์คุณสมบัติเพื่อให้ ‘นักข่าวคนสนิท’ เข้ามานั่งในตำแหน่งทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งว่าโครงสร้างการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเครือญาติยังคงติดแน่นฝังลึกในไทย

หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าคณะรัฐประหารจะเชิดชูการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนโดยมักอ้างถึงปัญหาในรัฐบาลยุคทักษิณที่บริหารประเทศด้วยญาติมิตรและคนสนิทจนตระกูลการเมืองมีอำนาจล้นฟ้ากลายเป็นเผด็จการรัฐสภา หรือที่เราคุ้นหูว่า ‘สภาผัวเมีย’

อย่างไรก็ดี ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จในมือของพลเอกประยุทธ์ การสรรหาบุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจคัดเลือกก็สะท้อนการเอื้อประโยชน์แก่ญาติมิตรและคนสนิทไม่ต่างกัน เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายพลเอกประยุทธ์, พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิตร, นายสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายนายสมคิด อดีตรองนายกฯ และนพ.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของนายวิษณุ มือกฎหมายแห่ง คสช.

ในยุค คสช. เองก็มีกรณีอื้อฉาวของการแต่งตั้งเครือญาติไม่ว่าจะเป็นลูกหรือคู่สมรสในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการซึ่งพบในหมู่ ‘คนดี’ ผู้จะมาปฏิรูปประเทศทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับเงินเดือนหลายหมื่นบาทโดยที่บางคนยังเรียนอยู่หรือกระทั่งอยู่ต่างประเทศ นับเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยไร้ยางอายแต่กลับไม่มีการลงโทษใดๆ

หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกตีแผ่ เหล่าผู้นำ คสช. ก็ออกมาปกป้องแบบสุดตัวโดยท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า ‘กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้’ สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าคนเหล่านี้ไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแม้แต่น้อย อีกทั้งยังไม่ใส่ใจว่าพวกพ้องของตนกำลังสร้างค่านิยมใหม่ๆ ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยมองข้ามความรู้ความสามารถ แต่ให้ความสำคัญที่ว่าพ่อแม่หรือเพื่อนของคุณ ‘เส้นใหญ่’ แค่ไหน

แต่งตั้งเครือญาติพวกพ้องเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่?

การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง (Cronyism) หรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ (Nepotism) เป็นแนวโน้มของมนุษย์ตามธรรมชาติที่มีพฤติกรรมเลือกที่รักมักที่ชัง (Favoritism) เช่นการที่พ่อแม่จะเห็นลูกตนเองน่ารักและคอยปกป้องเสมอแม้คนอื่นจะมองว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวเลวร้ายอย่างไร หรือการที่นายจ้างนิยมคนที่จบจากสถาบันเดียวกัน รวมถึงมีสัญชาติหรือศาสนาเหมือนกัน 

แน่นอนว่าการแต่งตั้งลูกหรือเครือญาติให้มาทำธุรกิจส่วนตัวของตระกูลไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะธุรกิจจะรุ่งโรจน์หรือล่มสลายมันก็เป็นเงินของตระกูลพวกคุณ แต่การมอบตำแหน่งให้เครือญาติหรือพวกพ้องเพื่อมารับเงินเดือนจากรัฐบาลนั้นต่างออกไป เพราะเงินดังกล่าวคือภาษีที่สาธารณชนเป็นคนจ่ายโดยหวังว่าทุกบาททุกสตางค์จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ให้สังคมดีขึ้น

ดังนั้น การแต่งตั้งพวกพ้องเครือญาติให้มารับเงินเดือนโดยที่ไร้คุณสมบัติ หรือเป็นตำแหน่งลอยๆ ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อสาธารณะจึงไม่ต่างจากการใช้อำนาจที่มีในมือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองหรือก็คือการคอร์รัปชัน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่การใช้อำนาจแต่งตั้งเครือญาติหรือพวกพ้องในระบบราชการหรือการเมืองเท่ากับการคอร์รัปชัน หากพวกเขาหรือเธอนั้นผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างถูกต้อง มีคุณสมบัติครบถ้วน สมัครแข่งขันเข้ามาชิงตำแหน่งโดยไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์ใดๆ และปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแบบไม่มีสิทธิพิเศษ 

กรณีเช่นนี้ก็คงจะมีอยู่บ้าง แต่น่าจะน้อยมากในประเทศที่ผู้นำมองว่าทุกอย่างที่กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามเท่ากับทำได้ โดยมองข้ามมิติทางจริยธรรมที่ผู้ได้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนพึงตระหนัก

เหล่าผู้มีอำนาจอาจเปิดฉากเถียงว่า พวกเขาเลือกแต่งตั้งญาติมิตรหรือคนสนิทก็เพราะเป็นคนที่เขารู้จักไว้ใจและเชื่อมั่นในฝีมือ เหตุผลเหล่านี้อาจฟังดูมีน้ำหนัก แต่เราต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่าการแต่งตั้งดังกล่าวจะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนหรือไม่ หรือเป็นเพียงความสะดวกใจของผู้มีอำนาจที่นอกจากจะได้คนใกล้ชิดมาทำงานด้วยแล้ว ยังเป็นการมอบอาชีพและรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง พร้อมกับรักษาฐานอำนาจในองค์กรไว้อย่างแม่นมั่น 

มอบตำแหน่งให้เครือญาติแล้วยังไง?

กระบวนการสรรหาบุคลากรเปรียบเสมือนการกำหนดอนาคตขององค์กรว่าจะรุ่งหรือจะร่วง ในกระบวนการนี้ ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องพิจารณาศักยภาพของผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การทำงาน การศึกษา หรือทัศนคติระหว่างสัมภาษณ์ ตลอดกระบวนการจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่การใช้วิจารณญาณนี้เองที่เปิดช่องให้เกิดการเลือกที่รักมักที่ชัง

แม้ผู้มีอำนาจจะคิดว่าการแต่งตั้งเครือญาติหรือพวกพ้องสักคนสองคนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่มีการศึกษาด้านพฤติกรรมองค์กรพบว่า พฤติกรรมเครือญาตินิยมและพวกพ้องนิยมนั้นส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงในระดับองค์กร ตั้งแต่กำลังใจของพนักงานที่รู้สึกว่าทำงานหนักหรือแสดงความสามารถให้เต็มที่ไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะอย่างไรคนที่จะได้คำชื่นชมก็คือพวกพ้องที่ได้รับเชิญเข้ามา นำไปสู่การตัดสินใจลาออกของพนักงานที่มีความสามารถแต่ถูกมองข้ามไม่ให้เลื่อนขั้นหรือขึ้นเงินเดือน เพราะโควตาถูกจับจองไว้สำหรับพวกพ้องหัวหน้าเท่านั้น

พฤติกรรมเลือกที่รักมักที่ชังย่อมทำลายประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะหัวหน้าไม่ได้ให้ค่าที่ทักษะโดยไม่เปิดโอกาสให้คนเก่งแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ พฤติกรรมดังกล่าวจะทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพนักงานทั่วไปกับกลุ่ม ‘ลูกรัก’ ที่ได้รับคำชมและผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอจากหัวหน้า โดยมีการศึกษาพบว่ายิ่งปัญหาเครือญาตินิยมในองค์กรรุนแรงมากเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ก็จะยิ่ง ‘หมดใจทำงาน’ มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เส้นทางสู่รัฐไร้ประสิทธิภาพ

ประเทศไทยเราไม่ได้ละเลยปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมี พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมที่ผลักดันมาเป็นเวลากว่าสิบปี และกลายเป็นความจริงในยุค คสช. กฎหมายฉบับดังกล่าวปิดช่องว่างของการรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐผ่านทางญาติใกล้ชิด อีกทั้งยังขยายความกฎเกณฑ์ให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางโดยรวมแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีนิยามครอบคลุมกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่ได้รวมเอา 2 ปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเครือญาติ โดยยังเปิดช่องให้สามารถแต่งตั้งญาติเข้าดำรงตำแหน่งในภาครัฐและไม่มีการควบคุม ‘หลักสูตรการศึกษาพิเศษ’ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของคอร์สระยะสั้นที่ข้าราชการระดับสูงสามารถเข้าร่วมเพื่อพบปะทำความรู้จักกับเหล่าผู้บริหารภาคเอกชนนำไปสู่ ‘ทางลัด’ สำหรับคนสนิทที่สะดวกดายกว่าคนปกติที่ไม่มีสายสัมพันธ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอทางออกสำหรับปัญหาแรกว่าควรมีการกำหนดข้อห้ามและหลักปฏิบัติพิเศษ หากจะแต่งตั้งญาติหรือคู่สมรสเข้ามาดำรงตำแหน่งในภาครัฐ รวมถึงเปิดเผยเกณฑ์ความเหมาะสมและเหตุผลในการแต่งตั้ง พร้อมทั้งห้ามไม่ให้ทั้งสองเข้าประชุมร่วมกันในกรณีที่จะต้องโหวตลงคะแนนเสียง

ส่วนปัญหาที่สอง ทีดีอาร์ไอมองว่าควรห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแล ตรวจสอบ หรือมีอำนาจให้คุณให้โทษกับภาคเอกชน เข้าร่วมหลักสูตรพิเศษที่มีภาคธุรกิจหรือกลุ่มองค์กรที่ตนเองต้องกำกับเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ การเข้าร่วมหลักสูตรจะต้องมีความโปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะ

น่าเสียดายที่บ้านเรามีกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนก็จริง แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุแต่ไม่ได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมโดยการสร้างข้อจำกัดและความยุ่งยากหากจะแต่งตั้งคนสนิทเข้ามาทำงาน รวมถึงทำลายช่องทางสร้างคอนเนกชันที่อาจงอกงามกลายเป็นช่องทาง ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ในอนาคต

เครือญาตินิยมและพวกพ้องนิยมคงจะยังอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน ปัญหาดังกล่าวจะบ่อนเซาะกำลังใจและประสิทธิภาพของเหล่าข้าราชการน้ำดีไปเรื่อยๆ จนอยู่ไม่ได้ ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็จะมีค่านิยมแสวงหาความกรุณาจาก ‘ผู้ใหญ่’ โดยหวังว่าสักวันจะได้อัพเกรดตัวเองกลายเป็นคนสนิทกับเขาบ้าง ส่วนประชาชนก็ไม่ต้องสนใจ เพราะอย่างไรก็ไม่ใช่คนที่จะมาให้คุณหรือให้โทษได้อยู่แล้ว

เอกสารประกอบการเขียน

Nepotism and Job Performance in the Private and Public Organizations in Kenya

Nepotism is bad for the economy but most people underestimate it

Nepotism and Related Threats to Security and Sustainability of the Country: The Case of Lithuanian Organizations

บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. (ฉบับเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2560)

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….

Tags: , , , , ,