ผมรู้สึกปวดใจที่ได้อ่านความเห็นของนักลงทุนเน้นคุณค่ามือฉมังประจำวงการ กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่เน้นการเก็บภาษีว่า อาจนำไปสู่ ‘อวสานของตลาดทุน’ พร้อมกับมองว่า นโยบายเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ผ่านมา ‘ได้ผลดี’ ทำให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้นและนำคนจำนวนมากหลุดพ้นความยากจน
อ่านแล้วก็อดไม่ได้ที่จะน้ำตาซึม เพราะเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนั้นดีงามจนพาคนไทยจำนวนมากให้มีรายได้มากกว่า 2,802 บาทต่อเดือน ตัวเลขที่ผมจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่า จะใช้ชีวิตอย่างไรให้ ‘สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’
น่าแปลกที่คนจำนวนไม่น้อยกลับ ‘รับได้’ กับแนวคิดทุนนิยมเสรี ที่ต้องการลดภาษีให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานแล้วทุกคนก็กระเสือกระสนกันเอาเอง พร้อมส่งเสียงต่อต้านเมื่อรัฐบาลชุดใหม่มีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gain Tax) จากการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการขยับการเก็บภาษีนิติบุคคลจาก 20% ในปัจจุบันเป็น 23% ราวกับว่า แนวคิดดังกล่าวสมาทานมาจากสำนัก ‘ซ้ายจัด’ ที่เก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคิดแบบนั้นประเทศที่เก็บภาษีผลได้จากทุนเข้มข้นอย่างสหรัฐอเมริกาก็คงเป็นมหาอำนาจของฝ่ายสังคมนิยม ส่วนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนปี 2554 คงมีสภาพไม่ต่างจากตลาดร้างที่ไม่น่าลงทุน เพราะเล่นเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 30%!
โชคดีที่ประเทศส่วนใหญ่บนโลกเก็บภาษีผลได้จากทุน เราจึงมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าการเก็บภาษีตลาดทุนไม่มีทางที่จะนำไปสู่อวสานของตลาดทุน แต่อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคในระยะยาว อีกทั้งยังไม่กระทบการเก็บออมเพื่อการเกษียณของนักลงทุนรายย่อยอีกด้วย
ภาษีตลาดทุนกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักเสนอว่า เราควรเก็บภาษีผลได้จากทุนในอัตรา 0% เพราะการเก็บภาษีดังกล่าวอาจบิดเบือนการจัดสรรปันส่วนของ ‘ทุน’ ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การบริโภค และการออม นำไปสู่การสะสมทุนในอัตราที่ต่ำลงซึ่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงย่อมไม่เรียบง่ายเหมือนในทฤษฎี การศึกษาโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ระหว่าง ค.ศ. 1965-2014 ครอบคลุมหลายประเทศทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจากหลายภูมิภาคกลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีอย่างสิ้นเชิง เพราะการเก็บภาษีผลได้จากทุนสัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่การเก็บภาษีดังกล่าวในประเทศกำลังพัฒนาไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
ทีมวิจัยอธิบายว่า สาเหตุของความแตกต่างคือ ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นกลจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จากแบบจำลองการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมพบว่า หากจับคู่นโยบายภาษีผลได้จากทุนกับการลดภาระภาษีเงินได้จากการทำงาน หรือการวางแผนใช้งบประมาณภาครัฐอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยกระตุ้นการเกิดนวัตกรรมในระยะยาวของประเทศพัฒนา ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องพึ่งพาการคิดค้นนวัตกรรมจากต่างชาติเป็นหลัก การเก็บภาษีผลได้จากทุนก็ไม่กระทบต่อความสามารถในการเปิดรับนวัตกรรมจากทั่วโลก หมายความว่า นโยบายดังกล่าวไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีผลได้จากทุนระดับต่ำโดยมีเป้าหมาย คือเพิ่มอัตราการเก็บออมและการลงทุนเพื่อปูทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นทฤษฎีที่ล้าสมัยไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องจักรขับเคลื่อนในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามาจากการลอกเลียนเทคโนโลยีของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นได้โดยนโยบายเก็บภาษีผลได้จากทุน ดังนั้น การเก็บภาษีผลได้จากทุนในอัตราต่ำเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน การถ่ายโอนความรู้และเทคโนโลยีจากต่างชาติจึงเหมาะสมกว่า
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในขั้นรายได้ปานกลางมายาวนานร่วมทศวรรษและเผชิญกับประเทศคู่แข่งที่น่ากังวล ทั้งเวียดนามที่เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะโรงงานผลิตหลังบ้านของประเทศจีนและอินโดนีเซีย ที่มีแหล่งแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เราจึงอยู่บนทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะเดินหน้าไปด้วยกลยุทธ์เดิม คือฐานการผลิตสินค้าส่งออกราคาประหยัด หรือหันมาขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันได้ด้วยนวัตกรรม
ถ้าหากต้องการเดินหน้ากลยุทธ์อย่างหลัง การเก็บภาษีผลได้จากทุนก็อาจเป็นนโยบายที่น่ารับฟัง
ผลกระทบต่อตลาดทุนที่ไม่ได้มากจนน่ากังวล
ตลาดทุน คือกลไกสำคัญในการ ‘ระดมทุน’ ให้กับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยช่องทางการระดมทุนหุ้นสามัญยังไม่มีแรงกดดันด้านกระแสเงินสดเหมือนกับการกู้สินเชื่อจากธนาคารหรือการออกหุ้นกู้ ดังนั้นเม็ดเงินจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนจึงเหมาะสำหรับโครงการระยะยาวความเสี่ยงสูงที่ผลตอบแทนสูงเช่นกัน
แต่เหล่านักลงทุนในตลาดทุนโปรดอย่าสำคัญตัวผิดว่า เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะตลาดหลักทรัพย์คือ ‘ตลาดรอง’ สำหรับซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นสามัญ ดังนั้น นอกจากการซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนหน้าใหม่ที่จำหน่ายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณะ (Initial Public Offering) หรือบริษัทหน้าเก่าที่ระดมทุนเพิ่มเติมผ่านการขายหุ้นเพิ่มเติม (Seasoned Equity Offering) การซื้อขายหุ้นเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไรทั้งหมดจึงมีบทบาทแค่ ‘สร้างสภาพคล่อง’ หรือทำให้บริษัทต่างๆ อุ่นใจว่า หากต้องการระดมเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ต้องขายหุ้นและได้เงินทุนตามเป้าหมายนั่นเอง
ในทางทฤษฎี การเก็บภาษีผลได้จากทุนอาจทำให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลงเนื่องจากผลตอบแทนที่ต่ำลงบั่นทอนความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ สภาพคล่องที่ต่ำลงยังทำให้บริษัทมีต้นทุนในการระดมเงินทุนสูงขึ้นอีกด้วย อีกครั้งที่ทฤษฎีทำนายราวกับว่า การเก็บภาษีในตลาดหุ้นจะนำไปสู่อวสานของตลาดทุน และอีกครั้งที่ผลลัพธ์จากการศึกษาเชิงประจักษ์ให้ผลตรงกันข้าม
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การเก็บภาษีจากธุรกรรมขายหลักทรัพย์ (Security Transaction Tax) ที่นักลงทุนไทยร้องว่า จะกระทบต้นทุนในการทำธุรกรรมและสภาพคล่องของตลาดเพราะเป็นการเก็บภาษีโดยอิงจากการทำ ‘ธุรกรรม’ หมายความว่า จะเก็บภาษีทั้งหมดไม่ว่ากำไรหรือขาดทุน ทำให้นักลงทุนไม่ต้องการเข้าไปในตลาดเพราะไม่อยากเสียภาษี
ภาษีจากธุรกรรมขายหลักทรัพย์มีการบังคับใช้อย่างแพร่หลายในสหภาพยุโรปนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์ โดยมีการเดินหน้าบังคับใช้นโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกันในตลาดหลักทรัพย์ทุกแห่งของประเทศสมาชิก การศึกษาในตลาดหลักทรัพย์อิตาลีพบว่าการบังคับใช้ภาษีทำให้ต้นทุนธุรกรรมเพิ่มขึ้นจริง โดยพิจารณาจากส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขาย (bid-ask spread) อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อขายรวมถึงผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ กลับไม่ได้รับผลกระทบ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคำอธิบายว่า หุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็น ‘สินทรัพย์ที่ยากจะหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้’ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่แตกต่างจากหลักทรัพย์ประเภทอื่น คือการเพิ่มต้นทุนในการทำธุรกรรมเพียงเล็กน้อยไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนนั่นเอง
ส่วนประมาณการผลกระทบจากการเก็บภาษีผลได้จากทุนต่อต้นทุนในการจัดหาเงินของบริษัทถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะลักษณะการเก็บภาษีที่ซับซ้อน โดยคิดจากมูลค่ากำไรที่รับรู้หลังหักผลขาดทุนในอดีต แต่เหล่านักวิชาการภาคการเงินก็ไม่ยอมยกธงขาว มีการศึกษากรณีการเข้าซื้อกิจการของบริษัทข้ามชาติซึ่งนักลงทุนจากสองประเทศอาจเสียภาษีผลได้จากทุนในอัตราที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือการเพิ่มอัตราภาษีผลได้จากทุน 1% ทำให้มูลค่าของบริษัทลดลง 0.3% หมายความว่า ถ้าจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน 20% มูลค่าของบริษัทก็จะลดลงราว 6% ตัวเลขดังกล่าวห่างไกลจากคำว่า ‘อวสานตลาดทุน’
เก็บภาษีตลาดทุนกระทบคนรวยจำนวนหยิบมือ
แม้การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะมีกระแสเสียงของการต่อต้านราวกับจะกระทบคนจำนวนมาก แต่ความจริงแล้วคนไทยที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นับเป็นคนจำนวนหยิบมือเท่านั้น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนรายย่อยเพียงราว 2.4 ล้านคน แถมบัญชีจำนวนมากยังเป็นการเปิดทิ้งไว้แต่ไม่มีความเคลื่อนไหว หากนับเฉพาะบัญชีที่ซื้อขายในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาก็จะเหลือเพียงราว 9.6 แสนบัญชีเท่านั้น หรือเทียบเท่ากับประชากร 1.5% ของทั้งประเทศ
นักลงทุนเหล่านั้นแม้จะชอบป่าวประกาศว่าตนเป็นชนชั้นกลาง แต่จากการศึกษาพบว่า นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะมีรายได้เฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 7 หมื่นบาท หากพิจารณาจากตัวเลขค่าเฉลี่ย คนกลุ่มนี้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด 10% แรกของประเทศไทย ในขณะที่ชนชั้นกลางของไทยหากอิงจากค่ามัธยฐานคือเกษตรกรที่มีรายได้ราว 7,000 บาทต่อเดือน
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 ยิ่งฉายให้เห็นภาพชัดว่า มีแต่คนบนยอดพีระมิดเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีผลได้จากทุน เพราะแหล่งที่มารายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากการทำงานและสวัสดิการรัฐ โดยมีรายได้จากการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ด้วยซ้ำ แถมรายได้ก้อนนี้ของครัวเรือน ส่วนใหญ่มีที่มาจากดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ขณะที่กำไรจากการซื้อขายหุ้นกลับได้รับยกเว้นภาษี
สำหรับใครที่ห่วงว่า การเก็บภาษีในตลาดทุนจะส่งผลกระทบต่อการเก็บออมหรือการลงทุนเพื่อเกษียณอายุ ไม่ต้องกังวล เพราะกฎหมายหลายประเทศต่างยกเว้นการเก็บภาษีจากกองทุนรวมหรือการลงทุนระยะยาว ที่เป็นการเก็บออมเพื่อเกษียณอายุ นอกจากนี้ หากกังวลว่าจะกระทบนักลงทุนรายย่อย รัฐบาลก็สามารถกำหนดกำไรขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี เช่น ต้องมีกำไรจากหุ้นเกิน 1 ล้านบาทต่อปี
ที่ผ่านมาเหล่า ‘กูรูการเงิน’ ที่แสดงความเห็นต่อต้านการเก็บภาษีตลาดหุ้นต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งหากจะมีการเก็บภาษีดังกล่าว เสียงเหล่านั้นจึงต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเจืออคติ หวังปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองโดยใช้ท่าทีกังวลเสมือนปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แต่หากพิจารณาโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์จากหลายประเทศที่จัดเก็บภาษีตลาดหุ้นจะพบว่า การเก็บภาษีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้มากถึงขั้น ‘อวสานตลาดทุน’
เอกสารประกอบการเขียน
Is capital taxation always harmful for economic growth?
The effect of capital gains tax policy changes on long-term investments
The stock market effects of a securities transaction tax: quasi-experimental evidence from Italy
Tags: Economic Crunch, Stock Market Tax, ภาษีตลาดหุ้น